คำว่า “เพลง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลไว้ว่า ลำนำ, ทำนอง, คำขับร้อง, ทำนองดนตรี, กระบวนวิธีรำดาบรำทวน, ชื่อการร้องแก้กันมีชื่อต่างๆ เช่น เพลงปรบไก่ เพลงฉ่อย เป็นต้น
ถ้าจะเลือกคำแปลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะอธิบายครั้งนี้ ก็มีแต่คำว่า ลำนำ, ทำนอง, คำขับร้อง และชื่อการร้องแก้กัน อันมีชื่อต่างๆนั้นเท่านั้น คำที่ขับร้องก็ดี การร้องแก้กันก็ดี ย่อมมีลำนำ และทำนองผสมอยู่แล้ว จึงจะนับว่าเป็นเพลง ถ้ามีแต่เพียงคำขับร้องแก้กันโดยไม่มีลำนำ ทำนอง คือเสียงที่ประดิษฐ์ให้มีความสั้นยาวเบาแรง และสูงๆต่ำๆสลับสับสนกันแล้ว ก็จะเป็นเพลงไปไม่ได้ นี่เป็นของธรรมดา และยิ่งกว่านั้นยังจะต้องมีจังหวะเป็นเครื่องควบคุมเพลงด้วยอีกอย่าง จึงจะครบองค์ของเพลง
ส่วนเพลงที่เรียกว่าเพลงพื้นเมือง หมายถึงเพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็ประดิษฐ์แบบแผนการร้องของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาพูดที่เพื้ยนแปร่งแตกต่างกัน เพลงแบบนี้มักนิยมร้องกันในเวลาเทศกาล หรืองานที่มีการชุมนุมผู้คนในหมู่บ้านมาร่วมรื่นเริงกันชั่วครั้งคราว เช่น ตรุษสงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า และในการลงแขกเอาแรงกันในกิจอันเป็นอาชีพ เช่น เกี่ยวข้าว นวดข้าว เป็นต้น เพลงที่ต่างถิ่นต่างก็ประดิษฐ์ทำนอง และถ้อยคำไปตามความนิยม และสำเนียงพูดนี้ แต่ละเมืองแต่ละตำบล ก็ย่อมผิดแผกแปลกกันไปตามพื้นของเมือง และตำบลนั้นๆ เพลงเหล่านี้ได้ฝังตัวติดอยู่ในความทรงจำของชาวเมืองสืบต่อกันลงมาเป็นชั้นๆอย่างแน่นแฟ้นตามถิ่นที่อยู่นั้นๆ จึงเรียกกันว่าเพลงพื้นเมือง เพลงชนิดนี้เป็นเพลงที่มีทำนองง่าย และเหมาะแก่สำเนียงชาวเมือง ไม่ต้องมีเครื่องดนตรีสิ่งใดประกอบ เครื่องประกอบจังหวะก็ใช้เพียงตบมือเท่านั้น ต่อมาภายหลังจึงวิวัฒนาการมาใช้เครื่องดนตรีบางอย่างเข้าประกอบ แต่ก็เลือกแต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ
เรื่องของเพลงที่ร้องกัน ก็ดูเหมือนจะมีอยู่อย่างเดียว ไม่ว่าทำนองเพลงชนิดไร คือ เรื่องผู้ชายเกี้ยวผู้หญิง แล้วผู้หญิงก็ตอบหรือซักถาม หรือว่าผู้ชายให้เจ็บๆเท่านั้น สิ่งสำคัญของการร้องก็อยู่ที่ผู้ร้องเพลงคิดด้นกลอนสด ร้องแก้กันด้วยปฏิภาณ อันทำให้เกิดรสสนุกขึ้นทั้งสองฝ่าย มาในตอนหลังๆผู้ว่าเพลงมีความชำนิชำนาญแคล่วคล่องขึ้น จึงคิดหาหนทางแยกแยะการร้องเพลงไปต่างๆนานา เช่น ลักหาพาหนี ชิงชู้ ตีหมากผัว อะไรเหล่านี้ เป็นต้น ในที่สุดถึงแก่ร้องเป็นเรื่องเป็นราวอย่างละคร
หลักฐานเกี่ยวกับการเล่นเพลงพื้นเมืองมีปรากฏในสมัยอยุธยา ชื่อที่พบ คือ เพลงเรือ เพลงเทพทอง ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์ มีชื่อเพลงพื้นเมืองปรากฏอยู่ในจารึกวัดโพธิ์ และในวรรณคดีต่างๆสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ปรากฎชื่อ คือ เพลงปรบไก่ เพลงเรือ เพลงสักวา แอ่วลาว ไก่ป่า เกี่ยวข้าว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีการเล่นเพลงเรือ สักวา ในเทศกาลทอดกฐิน มีเพลงฉ่อย ลิเก ลำตัด และตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมานั้น มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นเมืองไว้ให้อ่าน และใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเป็นจำนวนมาก