ดนตรีประกอบการแสดงโขน

เสียงโขนสุดเฟื่องฟู วงพิณพาทย์แห่งเทวดา ดนตรีประกอบการแสดงโขน

วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขน ได้แก่ วงปี่พาทย์ (บางทีก็เรียก “พิณพาทย์”) ซึงประกอบไปด้วย ปี่ ระนาด ฆ้อง กลอง ตะโพน บางสมัยก็จัดเป็นวงเครื่องห้าตามแต่ฐานะของผู้เป็นเจ้าของงาน

๑. โขนกลางแปลง เป็นการแสดงบนพื้นดินกลางสนาม ไม่มีฉาก มีบทพากย์ และเจรจาสำหรับบรรยายเรื่อง วงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการแสดงในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเพียงวงปี่พาทย์เครื่องห้า มีเครื่องบรรเลงคือ ปี่กลาง ฆ้องวงใหญ่ ตะโพน กลองทัด (แต่เดิมใช้เพียง ๑ ลูก ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๑ จึงเพิ่มเป็น ๒ ลูก) และฉิ่ง โดยจะมี ๒ วงเป็นอย่างน้อย ตั้งใกล้ฝ่ายมนุษย์วงหนึ่ง และใกล้ฝ่ายยักษ์อีกวงหนึ่ง เพื่อที่เวลาบรรเลงจะได้ยินทั่วกันทั่ง ๒ ฝ่าย เพลงที่ใช้บรรเลงนั้นมีแต่เพลงหน้าพาทย์ (หมายเหตุ : เพลงประกอบกิริยาอาการ)เท่านั้น

๒. โขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงที่ปลูกสร้างขึ้น วิธีการแสดงและวงปี่พาทย์จะเหมือนกันกับโขนกลางแปลง แต่วงปี่พาทย์จะตั้งบนร้านที่ยกสูงขึ้น โดยวงหนึ่งจะตั้งหัวโรง อีกวงหนึ่งตั้งไว้ท้ายโรงหรือจะตั้งทางซ้าย และขวาของโรง แต่เดิมใช้ปี่พาทย์เครื่องห้า เพิ่งมาเพิ่มระนาดทุ้มกับฆ้องวงเล็กเป็นวงเครื่องคู่ในสมัยหลังนี้เอง ปี่พาทย์ทั้งสองวงนี้จะบรรเลงเป็นระเบียบมากขึ้นกว่าโขนกลางแปลง ส่วนเพลงที่ใช้บรรเลงนั้นมีแต่เพลงหน้าพาทย์เช่นเดียวกับโขนกลางแปลง

๓. โขนโรงใน เป็นการแสดงโขนผสมผสานกับละครใน มีทั้งการพากย์ และเจรจาอย่างโขน กับมีต้นเสียง และลุกคู่อย่างละครใน การบรรเลงปี่พาทย์จึงต้องบรรเลงอย่างละครใน โขนประเภทนี้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๓ คงเป็นวงเครื่องห้า จึงมีการเพิ่มเติมเป็นวงเครื่องคู่ และสมัยรัชกาลที่ ๔ วงปี่พาทย์ก็พัฒนาขึ้นเป็นวงเครื่องใหญ่ คือ มีปี่ใน ปี่นอก ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบ และโหม่ง เวลาร้องหรือปี่พาทย์รับจะใช้กรับอย่างละครในตีเป็นจังหวะ เวลาบรรเลงรับเพลงที่ต้นเสียง และลูกคู่ร้อง ก็ผลัดกันรับคนละคำขึ้นอยู่กับเพลงนั้นมีกี่ท่อน วงหนึ่งจะต้องรับไปทุกท่อนจนจบเพลงจึงจะเปลี่ยนวง เพื่อผลัดกันบรรเลงต่อไป

๔. โขนหน้าจอ โขนหน้าจอจะมีลักษณะโรงแบบโรงหนังใหญ่ การบรรเลงของวงปี่พาทย์ยังคงเหมือนโขนโรงใน แต่ลดวงปี่พาทย์เหลือเพียงวงเดียว โดยตั้งหันหน้าเข้าหาโรงเช่นเดียวกับการแสดงหนังใหญ่ ภายหลังได้มีการเปลี่ยนแปลงให้วงปี่พาทย์มาตั้งอยู่ข้างต้นเสียง และลูกคู่ด้านหลังจอเพื่อมิให้บังสายตาคนดู โขนหน้าจอจะมีการร้องรับตามแบบการแสดงหนังใหญ่

๕. โขนฉาก การบรรเลงของวงปี่พาทย์เป็นเช่นเดียวกับโขนโรงใน เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่แสดงเท่านั้น และมีการมีการร้องรับแบบละครใน

เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบกิริยาอาการและบทบาทต่าง ๆ ของโขน
เพลงเข้าม่าน ประกอบการเดินเข้าฉากในระยะใกล้ๆ ของหุ่นตัวเอก
เพลงเสมอ ประกอบการไปมาในระยะใกล้ๆ
เพลงเชิด ประกอบการไป มาในระยะไกล ๆ และใช้ในการต่อสู้
เพลงตระนิมิตร ประกอบการแปลงกายของตัวหุ่นที่เป็นตัวเอก ๆ
เพลงชุบ ประกอบการเดินของนางกำนัล เช่น เมื่อนางยี่สูนใช้นางกำนัลให้ไปตามพราหมณ์ ปี่พาทย์ก็จะทำเพลงชุบ
เพลงโลม ประกอบการโลมเล้าเกี้ยวพาระหว่างตัวหุ่นที่เป็นตัวเอก มักต่อด้วยเพลงตระนอน
เพลงตระนอน ใช้สำหรับหุ่นตัวเอกเมื่อจะเข้านอน โดยมาบรรเลงต่อจากเพลงโลม
เพลงโอด ประกอบการเศร้าโศกเสียใจ
เพลงโล้ ประกอบการเดินทางทางน้ำ เช่น พระอภัยมณีโดยสารเรือสำเภาหรือเกาะหลังเงือกว่ายน้ำหนีผีเสื้อ
เชิดฉิ่ง ประกอบการเดินทาง การเหาะ เช่น เบญจกายเหาะมายังเขาเหมติรันเพื่อแปลงเป็นสีดาลอยน้ำไปลวงพระราม หรือการติดตาม เช่น พระลอตามไก่ รามสูรตามนางเมขลา
เชิดกลอง บรรเลงต่อจากเพลงเชิดฉิ่ง
เพลงรัวต่างๆ ประกอบการแผลงอิทธิฤทธิ์ หรือแปลงตัวอย่างรวบรัด
เพลงกราวนอก ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายมนุษย์
เพลงกราวใน ประกอบการยกทัพตรวจพลของกระบวนทัพฝ่ายยักษ์

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.