นิยายเรื่อง เจ้าชายน้อย คงอยู่ในหัวใจของนักอ่านทั่วโลก โดยไม่มีใครปฏิเสธ แม้แต่ธนบัตรรัฐบาลของฝรั่งเศส (แบงค์ 50 ฟรังค์) ภาพของซูเปรี และภาพประกอบจากเรื่องเจ้าชายน้อย ปรากฏในรูปธนบัตร แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลฝรั่งเศสนั้นให้ความสำคัญแก่วรรณกรรม ให้ค่าแก่คุณค่าของงานเขียน ตอนที่ธนบัตรออกมาใหม่ๆ ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้น และพยายามจะหาธนบัตรใบนั้นมาครอบครอง แถมยังอิจฉาประเทศของเขาที่มองวรรณกรรมในระดับที่ สามารถเอามาเป็นแบงค์ได้ เมื่อลองมองย้อนมาที่เมืองไทยแล้ว วิสัยทัศน์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้นในระดับรัฐบาล
แซง-แต็ก ซูเปรี เกิดวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2443 หรือ ค.ศ.1900 ที่เมืองลียอง ประเทศฝรั่งเศส เขาเป็นบุตรชายคนที่สาม จากพี่น้องสี่คน บิดาของซูเปรีเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุ 4 ขวบ มารดาพาครอบครัวไปอาศัยกับ มาดามตริโกด์ ในวัยเยาว์ซูเปรีเป็นเด็กร่าเริง อายุ 14 ปี เข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียน แซงค์-ฌอง ที่เมืองไฟบวร์ก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อเรียนจบมัธยม ซูเปรสามารถสอบเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมนายเรือ แซงต์ หลุยส์ กรุงปารีสแต่สอบสัมภาษณ์ไม่ผ่าน จนกระทั่งวันที่ 2 เมษายน ค.ศ.1921ถูกเรียกตัวเข้ารับราชการทหาร ประจำกองบังคับการบิน ที่เมืองสตราส์บูร์ก ซูเปรีฝึกบินอย่างหนัก จนได้รับใบอนุญาติเป็นนักบินอาชีพ
ต่อมาเขาเริ่มงานแรกกับบริษัท ลาเตโกแอร์ ที่เมืองตูลูส เป็นนักบินระหว่างเส้นทางตูลูส กับคาซาบลังก้า จนกระทั่งถูกส่งไปรับตำแหน่ง หัวหน้าควบคุมการบินที่ กาพ ซูบี ในประเทศโมร็อคโค แอฟริกา
ที่โมร็อคโค เขามีหน้าที่จัดเก็บถุงพัศดุไปรษณีย์ และคอยช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุเนื่องจากการบิน นี่เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาเขียนนิยายเรื่องแรก “ไปรษณีย์ใต้” ( Southern Mail ) ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1928
หลังจากนั้นเขาเข้าทำงานกับบริษัท อาเอปอสตา ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งอากาศ ในกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา โดยบุกเบิกเส้นทางการบินระหว่าง บัวโนสไอเรส กับปุนตา-อาเรนัส จนกระทั่งปี ค.ศ. 1931 จึงแต่งงานกับ กอนซูเอโล ซุนซิน หลังจากบริษัท อาเอโรปอสตา ล้มละลาย จึงลาออกจากงานในอเมริกาใต้ ไปประจำการเที่ยวบินกลางคืนระหว่าง กาซาบลังกา กับ ปอร์-เอเตียน ที่นี่เองที่ทำให้เขาเขียนนิยายเรื่องที่สองคือ “เที่ยวบินกลางคืน” ( Night Fight ) ทำได้ 3 ปี จึงเข้าทำงานให้กับบริษัท แอร์ฟรานซ์ ในแผนกประชาสัมพันธ์ ในปี ค.ศ.1935 พยายามจะทำลานสถิติเวลาการบินระหว่างปารรีสไปยัง ไซง่อน แต่เครื่องบินขัดข้องอัปปางในทะเลทรายลิเบีย
ส่วนนิยายเรื่องที่สาม เขาใช้เวลาระหว่างพักรักษาตัวการเครื่องบินตก นิยายเรื่องนี้คือ Wind, Sand and Stars นิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลกรองด์ พรีซ์ ดู โร ม็อง จากราชบัณฑิตฝรั่งเศส เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขาถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นผู้สอนเทคนิคการขับขี่เครื่องบิน ทว่าเขากลับออกบินเสยเอง โดยได้ร่วมกับหน่วยลาดตระเวน และทำให้เขาเขียนนิยายเรื่องที่ 4 คือ Fight to Arras
จนกระทั่งกลางปี ค.ศ. 1942 เขาจึงได้เขียนนิยายเรื่อง “เจ้าชายน้อย” ( The Little Prince ) ในช่วงหลังเขาไม่ได้ถูกส่งให้บินบ่อยนัก เนื่องจากอายุมากขึ้น เขาใช้เวลาช่วงนี้เขียนนิยายเรื่องสุดท้าย Gitadelle หรือ The Wisdom of the Sand
จนกระทั่งวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ.1944 เขาออกบินตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า จนล่วงเลยมาถึงบ่ายโมงครึ่งก็ยังไม่ปรากฏแม้เงาแสงจากปีกเครื่องบิน เขาหายสาปสูญ โดยที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ว่าซูเปรีจบชีวิตลงอย่างไร
ผลงานของ อังตวน เดอ แซงแต็ก ซูเปรี
1. Southern Mail ผลงานเล่มนี้แปลเป็นภาษาไทยแล้วชื่อว่า “ไปรษณีย์ใต้” แปลโดย นารีรัตน์
2. Night Fight ผลงานเรื่องนี้แปลเป็นภาษาไทยชื่อปกว่า “เที่ยวบินกลางคืน” ผู้แปลคือ “คันธา ศรีวิมล” ซึ่งมีผลงานแปลมาแล้วหลายเล่ม
3. Wind, Sand and Stars
4. The Little Prince “เจ้าชายน้อย” แปลเป็นภาษาไทยหลายสำนวน แต่ที่ผมรู้สึกว่าดีที่สุดคือสำนวนของ อำพัน โอตระกูล ซึ่งแปลโดยตรงจากภาษาฝรั่งเศส และพิมพ์กับสำนักพิมพ์ ไทยวัฒนาพาณิช เล่มนี้ราคาถูกมาก แม้จะพิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟ เพราะเท่าที่มีผู้นำมาจัดพิมพ์ใหม่ ราคาตกเล่มละ 100 กว่าบาท ซึ่งราคาดังกล่าวสูงมาก และหนังสือก็สวยเกินไป เหมือนทำเอาไว้สำหรับการสะสมมากกว่าเอาไว้ทำไว้อ่าน
5. Airman’s Odyssey
6. Wartme Writings