ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้มีมากมายเชียวค่ะ
บ้างเชื่อว่า ความรู้สึกเจ็บปวดเกิดขึ้นในคนเรา เมื่ออายุราว 13 สัปดาห์ในท้องแม่
บ้างก็ว่าความรู้สึกนี้จะไม่เกิดขึ้นจนกว่า จะเข้าสัปดาห์ที่ 25-30 ของการตั้งครรภ์ และ
บางคนเชื่อว่า ความรู้สึกดังกล่าวเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ระหว่างที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนา และเติบโตจนกระทั่งคลอด โดยทุกความเชื่อมีเหตุผลประกอบหนักแน่นค่ะ เช่น เหตุผลของความเชื่อว่า ทารกมีความรู้สึกเจ็บปวดตั้งแต่อายุ 13 สัปดาห์ ในครรภ์ ก็คือ ช่วงเวลาดังกล่าว ระบบประสาทในสมองกำลังพัฒนา และต่อเชื่อมกับประสาทสันหลังแล้ว
อย่างไรก็ตาม ไม่มีเหตุผลไหนที่สร้างความน่าสนใจได้เท่ากับการค้นพบว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะห่อตัวเมื่อถูกเข็มแทง แทนที่จะกระเถิบเท้าหนีดังเช่นที่เด็กหรือผู้ใหญ่ทำ ซึ่งนั่นอาจจะสื่อความหมายของความรู้สึกเจ็บปวดได้ และเนื่องจากปัจจุบัน ด้วยวิทยาการการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้สามารถผ่าตัดถ่ายโลหิตให้กับ ทารกในครรภ์ได้แล้ว ทำให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายว่า ควรจะให้ยาแก้ปวดแก่ทารกในครรภ์หรือไม่ ผู้ที่เห็นว่าควรให้บอกว่า การผ่าตัดจะทำได้เมื่อทารกน้อยในครรภ์มีอายุราว 19 สัปดาห์ ซึ่งทารกจะแสดงปฏิกิริยาทันทีขณะได้รับการผ่าตัดถ่ายเลือด และนี่ก็น่าจะเป็นสัญญาณแสดงถึงความรู้สึกตึงเครียดและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ส่วนผู้ที่เห็นว่าให้ยาแก้ปวดนั้นไม่จำเป็น บอกว่า ปฏิกิริยาที่ทารกในครรภ์แสดงออกมานั้นเป็นเพียงปฏิกิริยาสะท้อนกลับ เพราะประสาทส่วนที่รับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดจะก่อตัวขึ้น ในราวสัปดาห์ที่ 22-24 ของการตั้งครรภ์
ในส่วนของนักจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้ไว้ว่า แม้แต่เด็กที่โตแล้วยังต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความรู้สึกเจ็บปวดนี้ เพราะมันอาจกลายเป็นความรู้สึกฝังใจที่ก่อให้เกิดปัญหาทางใจในภายหลังได้ ถ้าไม่มีการเตรียมตัวและเตรียมความเข้าใจ พร้อมกับช่วยผ่อนคลายความรู้สึกเครียด และบรรเทาความเจ็บปวดจากการผ่าตัด ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตามเสียงส่วนใหญ่ยังเห็นว่า ข้อดีของความรู้สึกเจ็บปวดนี้มี เพราะทำให้แม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับลูกน้อยในครรภ์หรือเปล่า จะได้หาทางแก้ไขได้ทันท่วงที และสำหรับทารกแรกเกิดแล้ว ความรู้สึกตึงเครียดและเจ็บปวดระหว่างการคลอด จะส่งผลต่อฮอร์โมนซึ่งกระตุ้นในการหายใจครั้งแรก ช่วยให้หัวใจเต้น และกล้ามเนื้อได้รับอ็อกซิเจนแน่นอน เรื่องนี้ยังต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพื่อหาความจริงกันต่อไปค่ะ