ความเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกร่างกาย
ความเปลี่ยนแลงภายนอกทั่วไปที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนในคุณแม่ทุกคน คือ คุณจะเริ่มอ้วนขึ้นโดยเฉพาะรอบเอว ท้อง เต้านม และสะโพก ในช่วงนี้คุณสามารถดูแลภาวะดังกล่าวให้มีความสมดุลได้เป็นลำดับ ความเปลี่ยนแลงที่เกิดขึ้นสามารถสังเกตุได้คือ
เต้านม
การขยายตัวของเต้านมจะทำให้หัวนมโตขึ้น และเริ่มมีสีคล้ำ บริเวณรอบ ๆ หัวนม จะเห็นเป็นเส้นเลือดฝอยเล็ก ๆ เต้านมจะขยายเต็มที่ในช่วง 6 สัปดาห์
ความรู้สึกในการรับรสชาติของอาหาร
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายที่ส่งผลต่อ การรับรู้รสชาติต่าง ๆที่เปลี่ยนไป บางรายอาจจะแพ้กลิ่นอาหารจนทำให้เกิดอาการอาเจียน เวียนศรีษะ ส่วนมากจะเป็นช่วงระยะ 3 เดือนแรก โดยเฉพาะคุณแม่ท้องแรก แต่ในบางรายอาจจะมีอาการแพ้มากผิดปกติ ในกรณีนี้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดที่ถูกต้อง
ปัสสาวะบ่อย
การปัสสาวะจะเริ่มถี่ขึ้น จากเดิมเป็นวันละประมาณ 2-6 ครั้ง เนื่องจากการขยายตัวของมดลูกไปกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการบีบตัวมากกว่าปกติ สำหรับผู้ที่มีประวัติทางครอบครัวที่เป็นโรคเบาหวาน ควรจะได้รับการตรวจอย่างละเอียดจากแพทย์ที่คุณฝากครรภ์ เพราะการปัสสาวะบ่อยอาจจะมีสาเหตุมาจากการเป็นโรคเบาหวานแทรกซ้อนได้
อาการหน้ามืดเป็นลม
เกิดจากความดันของโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เรียกว่า
โปรเจสเตอโรน ถูกผลิตออกมามากและ ทำให้กล้ามเนื้อ ของหลอดเลือดคลายตัว ความดันโลหิตลดต่ำลง เป็นเหตุให้เกิดอาการหน้ามีด ตามัว เป็นลมง่าย เมื่อเกิดอาการอย่างนี้ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะภายใน 15 สัปดาห์ อาการดังกล่าวจะค่อยๆหายไปและร่างกายของคุณจะเริ่มปรับตัวได้ในที่สุด
ผิวหนัง
บางรายจะเปลี่ยนจากคนที่เคยผิวมันมาเป็นผิวแห้ง รวมทั้งมีการแตกของผิวหนังเนื่องจากการขยายตัว คุณควรป้องกันโดยการทาโลชั่น หรือเบบี้ออยล์ ตามส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้องที่จะมีการแตกของผิวหนัง ได้มากที่สุด นอกจากนี้อาจมีอาการตกกระ ขึ้นฝ้า และเล็บมือเล็บเท้าจะเริ่มเหลืองบ้าง แต่พอหลังคลอดจะหายไปเอง
อารมณ์แปรปรวนได้ง่าย
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย บางครั้งคุณจะรู้สึกว่า ตัวเองเป็นอะไรไป
ทำไมจึงหงุดหงิดง่าย หรือสิ่งที่เคยชอบก็กลับไม่ถูกใจขึ้นมาเสียเฉยๆ ทางแก้ไขก็คือ พยายามพักผ่อนให้มาก หากิจกรรมเล็กๆน้อยๆทำ เพื่อช่วยให้เพลิดเพลินได้ในบางช่วง เพราะอารมณ์หงุดหงิด ขี้โมโหของคุณ อาจส่งผลกับลูกในท้องของคุณได้
การขาดธาตุเหล็ก
คุณแม่เมื่อตั้งครรภ์จะต้องมีการสร้างระบบเม็ดเลือดแดงในร่างกาย ให้เพียงพอ เพราะเลือดแดงส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเลี้ยงทารกในครรภ์ และนี่คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณเกิดอาการของการขาดธาตุเหล็กได้ การเสริมธาตุเหล็ก ทำได้โดยการรับประทานอาหารที่มี ธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ผักบุ้ง เนื้อสัตว์ต่างๆ หรืออาจรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กตามที่แพทย์สั่ง
ปวดหลัง
เนื่องจากท้องที่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คุณต้องแบกรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น การเคลื่อนตัวและการเดินทางเป็นไปได้อย่าง ลำบาก คุณแม่ควรได้รับการนั่งพักบ่อยๆ ไม่ควรเดินทางระยะไกลจนเกินไป ควรเลือกเก้าอี้นั่งที่เอนเล็กน้อย เพื่อเป็นการพักท้อง และลดอาการปวดหลังได้เป็นครั้งคราว
ปอดและการหายใจ
โดยเฉพาะในช่วงที่ครรภ์แก่ขึ้น เนื่องจากมดลูกดันกระบังลมขึ้นไป ทำให้หายใจไม่สะดวก วิธีแก้ไขให้นำหมอนมาหนุนหลังไว้ หรือหาเก้าอี้ที่นั่งสบายๆ คือ ไม่สูงหรือเตี้ยเกินไปนัก
เส้นเลือดขอด
เมื่อท้องเริ่มขยายใหญ่ขึ้น การหมุนเวียน ของโลหิตเริ่มไม่สะดวกตามไปด้วย เนื่องจากถูกกดจากน้ำหนักตัว ซึ่งมีผลทำให้เกิดอาการเส้นเลือดขอด คุณควรหมั่นนั่งและเปลี่ยนอากัปกิริยาบ่อยๆ ไม่ควรยืนท่าเดียวเป็นเวลานานๆ ควรรู้จักผ่อนขาไปมา เพื่อให้เลือดได้หมุนเวียนบ้าง หรือนั่งแช่เท้าในน้ำอุ่นก็จะช่วยให้อาการทุเลาลงได้