เรื่องที่ใช้สำหรับเล่นโขนตามที่รู้จักกันแพร่หลายมาจนปัจจุบันนี้คือ “รามเกียรติ์” ซึ่งมีหลายสำนวนด้วยกัน ทั้งไทย ชวา เขมร และอินเดียซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของเรื่อง เรื่องรามเกียรติ์หรือรามายณะนี้แต่งโดยพระฤาษีวาลมิกิ เมื่อหลายพันปีก่อน ชาวอินเดียจะมีความเคารพนับถือมาแต่สมัยโบราณกันว่าผู้ใดได้อ่านหรือฟังเรื่อง “รามเกียรติ์” ก็สามารถล้างบาปได้
เรื่องรามเกียรติ์หรือรามายณะเป็นเรื่องราวของพระนารายณ์ที่อวตารปางหนึ่งเป็น “พระราม” เพื่อคอยปราบอสูรที่คอยเบียดเบียนเหล่าเทวดา และมนุษย์ให้ได้รับความเดือดร้อนอยู่เสมอ สงครามระหว่างพระรามกับทศกัณฐ์ซึ่งเป็นพญายักษ์ครองกรุงลงกา เกิดจากทศกัณฐ์ไปลักพานางสีดามเหสีของพระรามมาเพื่อเป็นชายาของตนเอง พระรามและพระอนุชาคือพระลักษณ์จึงได้ออกติดตาม จนกระทั่งได้สองพญาวานรคือพญาสุครีพเจ้าเมืองขีดขิน และท้าวมหาชมพูเจ้าเมืองชมพูมาเป็นบริวาร โดยมีหนุมานเป็นทหารเอก กองทัพของพระรามจึงจองถนนข้ามทะเลไปสร้างพลับพลา และตั้งค่ายประชิดกรุงลงกาเพื่อทำศึกกับทศกัณฐ์ จนกระทั่งฝ่ายพระรามได้รับชัยชนะ
การแสดงเบิกโรง “นารายณ์ปราบนนทุก” นี้เป็นการแสดงเบิกโรงชุดหนึ่งก่อนการแสดงโขน ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในเรื่อง “นารายณ์สิบปาง” กล่าวถึงนนทุกมีหน้าที่ล้างเท้าให้เทวดา นางฟ้า ที่กำลังจะเดินทางไปเฝ้าพระอิศวรผู้ประทับอยู่บนยอดเขาไกรลาศ เหล่าเทวดานางฟ้าเหล่านั้นชอบหยอกล้อนนทุกโดยการเขกศีรษะจนนนทุกหัวล้าน นนทุกจึงไปเฝ้าพระอิศวรเพื่อขอพรให้ตนเองมีนิ้วเพชร ชี้ผู้ใดผู้นั้นจะถึงแก่ความตาย แล้วนนทุกก็ใช้นิ้วเพขรไล่ชี้เหล่าเทวดา นางฟ้าทั้งหลายล้มตาย พระอิศวรจึงให้พระนารายณ์มาปราบนนทุก พระนารายณ์จึงแปลงร่างเป็นหญิงงามมาหลอกล่อชวนนนทุกให้รำตาม จนถึงท่ารำท่าหนึ่ง (ท่านาคาม้วนหาง) เมื่อนนทุกรำตามโดยใช้นิ้วเพชรชี้เข้าที่ขาตนเองจึงขาหักล้มลง พระนารายณ์แปลงจึงกลับคืนร่างเดิมเพื่อสังหารนนทุก ฝ่ายนนทุกก็ตัดพ้อว่า ทำไมพระนารายณ์ต้องแปลงตัวเป็นหญิง ไยไม่มาต่อสู้กันซึ่งๆหน้าคงเพราะพระนารายณ์เกรงกลัวนิ้วเพชรของตน พระนารายณ์จึงสาปนนทุกให้ไปเกิดใหม่มีสิบเศียร ยี่สิบกร อันพระองค์จะอวตารเป็นมนุษย์มีเพียงสองกรไปราญรอนในชาติหน้า เมื่อพระนารายณ์สังหารนนทุกแล้ว นนทุกก็มาเกิดเป็นท้าวทศกัณฐ์ โอรสท้าวลัสเตียน แห่งกรุงลงกา ส่วนพระนารายณ์ก็อวตารมาเป็นพระราม โอรสท้าวทศรถ แห่งกรุงอโยธยา
รามเกียรติ์ฉบับของไทยได้มีการแต่งเป็นตอนๆหรือทั้งเรื่อง เพื่อใช้สำหรับการแสดงโขน หนังใหญ่ และละครนั้น มีหลักฐานปรากฏว่าได้แต่งขึ้นในยุคสมัยที่แตกต่างกันดังนี้
บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยา
๑. รามเกียรติ์คำฉันท์
รามเกียรติ์สำนวนนี้มีกล่าวไว้ในหนังสือจินดามณีของพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เข้าใจว่าพระโหราธิบดีคงจะหยิบยกมาจากคำพากย์ของเก่าที่แต่งไว้สำหรับเล่นโขนหรือเล่นหนัง ซึ่งแต่งไว้เป็นเรื่องราวแต่ได้สูญหายไปแล้ว คงเหลือที่นำมาเป็นตัวอย่างในหนังสือจินดามณี ๓ – ๔ บทเท่านั้น
๒. รามเกียรติ์คำพากย์
รามเกียรติ์สำนวนนี้หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้แบ่งตีพิมพ์ไว้เป็นภาค โดยมีเนื้อเรื่องติดต่อกันไปตั้งแต่ภาค ๒ ตอน “สีดาหาย” ไปจนถึงภาค ๙ ตอน ”กุมภกรรณล้ม” เข้าใจว่าคำพากย์เหล่านี้แต่เดิมใช้เล่นหนัง ต่อมาภายหลังได้มีผู้นำมาใช้เล่นโขนด้วย
๓. รามเกียรติ์บทละครครั้งกรุงเก่า
สำนวนนี้กล่าวความตั้งแต่ตอน “พระรามประชุมพล” จนถึง “องคตสื่อสาร” บทละครนี้ไม่เคยตีพิมพ์ออกเผยแพร่ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรามเกียรติ์บทละครในรัชกาลที่ ๑ จะเห็นว่ามีเนื้อความไม่ตรงกันในบางแห่งบางตอน และถ้อยคำในบทละครก็ดูไม่เหมาะสม จึงเข้าใจว่าน่าจะเป็นบทละครรามเกียรติ์ฉบับเชลยศักดิ์ ที่เจ้าของละครคนใดคนหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาคัดลอกไว้
บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี
รามเกียรติ์สำนวนนี้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์ไว้เพียง ๔ ตอน โดยทรงพระราชนิพนธ์ไม่เรียงตามลำดับเรื่อง คือ ตอนพระมงกุฎ หนุมานเกี้ยวนางวานรินจนถึงท้าวมาลีวราชเสด็จมา ท้าวมาลีวราชว่าความจนถึงทศกัณฐ์เข้าเมือง และตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด และพระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัทจนถึงหนุมานผูกผมนางมณโฑกับทศกัณฐ์
บทละครรามเกียรติ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
๑. บทละครรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑
ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงมีพระราชประสงค์จะรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ที่กระจัดกระจายให้รวมเป็นเรื่องเดียวกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ประชุมบทละครเรื่องรามเกียรติ์
พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ มีเรื่องราวยืดยาวติดต่อกันไป นับเป็นวรรณคดีไทยเรื่องเดียวที่ยาวที่สุดในวรรณกรรมไทย เพราะต้องเขียนในสมุดไทยถึง ๑๑๗ เล่มสมุดไทย
๒. บทละครรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๒
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงเห็นว่าบทพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ เยิ่นเย้อเกินไปไม่เหมาะสำหรับนำมาเล่นโขน พระองค์จึงทรงคัดเลือกเอาเรื่องรามเกียรติ์บางตอน คือตั้งแต่หนุมานถวายแหวนไปจนถึงทศกัณฐ์ล้ม มาแต่งขึ้นใหม่สำหรับเล่นโขนหลวงเป็นหนังสือ ๓๖ เล่มสมุดไทย
๓. บทละครรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๔
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นอีกสำนวนหนึ่งคือ ตอน “พระรามเดินดง” เป็นหนังสือ ๔ เล่มสมุดไทย และทรงพระราชนิพนธ์แปลงบทละครเบิกโรงเรื่อง “นารายณ์ปราบนนทุก” กับเรื่อง “พระรามเข้าสวนพระพิราพ” ขึ้นอีก ๒ ตอน
๔. บทร้อง และบทพากย์รามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงค้นคว้าศึกษาที่มาของเรื่องรามเกียรติ์จากคัมภีร์รามายณะของฤาษีวาลมิกิ แล้วทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “บ่อเกิดแห่งรามเกียรติ์” ขึ้น และได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อง และบทพากย์สำหรับเล่นโขนขึ้นอีก ๖ ชุด คือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา และชุดนาคบาศ
บทพระราชนิพนธ์เหล่านี้ทรงดำเนินเรื่องตามคัมภีร์รามายณะของฤาษีวาลมิกิ โดยได้ทรงชี้แจงว่า
“บทละครเรื่องรามเกียรติ์ที่รวมอยู่ในเล่มนี้ เป็นบทที่ข้าพเจ้าได้แต่งขึ้นเป็นครั้งคราวสำหรับเล่นโขน มิได้ตั้งใจที่จะให้เป็นหนังสือกวีนิพนธ์สำหรับอ่านเพราะๆหรือดำเนินเรื่องราวติดต่อกัน บทเหล่านี้ได้แต่งขึ้นสำหรับความสะดวกในการเล่นโขนโดยแท้ จึงมีทั้งคำกลอนอันเป็นบทร้อง ทั้งบทพากย์ และเจรจาอย่างโขนระคนกันอยู่ตามแต่จะเหมาะแก่การเล่นออกโรงจริง”
บทโขนของกรมศิลปากร
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ กรมศิลปากรได้ทำการรื้อฟื้น ปรับปรุงนาฏศิลป์ และดุริยางคศิลป์ของไทยขึ้นมาใหม่ โดยในครั้งแรกได้นำบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ มาปรับปรุงเพื่อแสดงโขนออกแสดงให้ประชาชนชม ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงบทโขนชุดหนุมาอาสาขึ้นมาใหม่ ซึ่งดำเนินเรื่องตามพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ โดยเรียบเรียงให้มีทั้งบทขับร้องตามแบบละครใน และมีบทพากย์บทเจรจาตามแบบแผนการแสดงโขนแต่โบราณ