เด็กป่วย

วิธีช่วยเหลือจัดการอารมณ์ของเด็กเล็กที่เจ็บป่วยเรื้อรัง

เด็กเล็กกับการเจ็บป่วยเรื้อรัง

เด็กที่อยู่ในสภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง ต้องประสบกับความไม่สบายทางกายจากความรุนแรงของโรค การตรวจรักษาและความไม่สบายใจจากการต้องแยกจากพ่อแม่ไปอยู่โรงพยาบาล ถูกจำกัดอาหารที่ชอบ ไม่ได้เล่นสนุกตามวัย ไม่ได้ไปโรงเรียน ประสบการณ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางด้านอารมณ์

ความรู้ ความเข้าใจในปฏิกิริยาทางจิตใจของเด็กต่อการเจ็บป่วยเรื้อรังจะช่วยให้พ่อแม่ผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดกับเด็ก สามารถช่วยให้เด็กปรับตัวผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี

เด็กจะมีปฏิกิริยาทางจิตใจมากหรือน้อยขึ้นกับ

1.ความรุนแรงของโรค , ระยะเวลาการดำเนินของโรค

2.ความเจ็บปวดที่ได้รับจากการตรวจวินิจฉัยและการรักษา

3.ระยะเวลาที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

4.ลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก

5.ความรักความผูกพันในครอบครัวและทัศนคติในการเลี้ยงดูของพ่อแม่

อารมณ์และพฤติกรรมของเด็ก

โดยทั่วไปเมื่อเด็กไม่สบายจะมีอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้งอแง ติดแม่มากขึ้น เด็กเข้าใจว่าการที่ไม่สบายหรือต้องมาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเพราะเขาเป็นเด็กไม่ดี และถูกลงโทษให้ต้องมาอยู่โรงพยาบาล บางครั้งเด็กคิดว่าแม่เอามาทิ้งเพราะเขาทำผิดหรือแม่ไม่รัก เด็กจะรู้สึกโกรธและแสดงออกทางพฤติกรรมต่อต้าน เช่น ไม่ยอมกินอาหาร ไม่ยอมกินยา มีพฤติกรรมกลับไปเป็นเด็กเล็ก เช่น ดูดนิ้ว โยกตัว ไม่พูด ปัสสาวะรดที่นอน พฤติกรรมอื่น ๆ เช่นกินน้อย นอนไม่หลับ เหม่อลอย

การช่วยเหลือ

1. เตรียมเด็กก่อนเข้าโรงพยาบาล ควรบอกให้เด็กรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 – 2 วัน โดยใช้ภาษาง่ายๆ ให้เด็กรู้ถึงความจำเป็นในการอยู่โรงพยาบาล เพื่อช่วยให้เขาสบายขึ้น ถ้าเด็กสงสัยเปิดโอกาสให้ซักถาม โดยพูดความจริงกับเด็กว่าเมื่อถึงโรงพยาบาลแล้วจะต้องพบกับอะไรบ้าง เช่น หมอ พยาบาล จะดูแลเขาอย่างไร เขาจะกินอย่างไร นอนอย่างไร การให้เด็กได้เล่นเป็นหมอ เป็นผู้ป่วย จะทำให้เด็กเกิดความเคยชินและคลายกังวล ท่าทีที่พ่อแม่พูดกับเด็กด้วยความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลก็จะทำให้เด็กเกิดความสบายใจไปด้วย

2. แรกรับเข้าโรงพยาบาล เด็กจะต้องร้องไห้ ปล่อยให้เขาร้องสักพักเพื่อจะได้ลดความกลัว ถ้ารู้สึกว่าเขากลัวมาก ควรให้เขาได้พูดคุยกับหมอหรือพยาบาล และพ่อแม่ช่วยปลอบให้ความมั่นใจ เด็กจะสบายใจขึ้นเมื่อมีสิ่งคุ้นเคยที่ชอบมากอยู่ใกล้ ๆ เช่น ของเล่นชิ้นโปรดหรือของใช้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของแม่

3. เมื่อท่านจะกลับ ควรบอกเด็กว่าท่านจะมาอีกเมื่อไหร่ ไม่ควรให้สัญญากับเด็กแล้วไม่ทำตามสัญญา การไปเยี่ยมสม่ำเสมอจะทำให้เด็กรู้ว่าไม่ถูกทอดทิ้ง เมื่อมาเยี่ยมควรทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขาบ้าง เช่น เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า ป้อนอาหาร คุยเล่นด้วยท่าทียิ้มแย้มให้กำลังใจเขา

4. เมื่อกลับบ้าน เด็กอาจจะมีพฤติกรรมที่ติดพ่อแม่มากขึ้น งอแง เอาแต่ใจตัว เกเร แกล้งพี่หรือน้อง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาหลังการเจ็บป่วยและจากการจากบ้าน เพราะเด็กไม่สามารถปรับตัวได้ทันที

เมื่อกลับบ้านในระยะแรก ควรช่วยโดย

4.1 ควบคุมพฤติกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

4.2 ไม่ติเตียนหรือทำโทษเกินไป หรือออกอารมณ์กับเด็ก

4.3 ถ้ามีการอิจฉากันระหว่างพี่น้อง ควรอธิบายให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจ

4.4 เด็กต้องการความเข้าใจและมั่นใจจากท่าน พ่อแม่ควรให้กำลังใจ ค่อย ๆ ฝึกเด็กใหม่ด้วยความใจเย็นและอดทน ไม่ช้าพฤติกรรมทั้งหลายจะกลับคืนปกติได้

ที่มา: ชมรมจิตเวชเด็กแห่งประเทศไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.