ลิเก

ลิเก: การแสดงที่เดินทางและวิวัฒนาการมาจากภาคใต้

ลิเก เป็นการแสดงที่ได้วิวัฒนาการมาจากการแสดงของภาคใต้ โดยชาวไทยมุสลิมมีผู้แสดงทั้งหญิงและชายแต่งกาย เป็นตัวละครตามเรื่องที่เล่นตรงกลางเวทีจะขึงฉากตามท้องเรื่องตัวละครจะร้องและร่ายรำไปตามบทร้องและทำนองเพลง เมื่อร้องจบท่อนหนึ่งวงปี่พาทย์ก็จะรับครั้งหนึ่งสลับกันไป ขณะที่ร้องจะมีตะโพนเป็นตัวให้จังหวะ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องจักรๆวงศ์ๆ อิจฉาริษยา ผัวเมีย ผัวมีเมียน้อย ปัจจุบันลิเกได้มีการพัฒนาโดยมุ่งเน้นระบบแสง เสียง ฉาก เครื่องแต่งกาย มีการใช้ดนตรีสากลเข้ามาผสมแต่ ยังคงปี่พาทย์ไว้เป็นหลัก ทุกวันนี้ลิเกได้รับความนิยมลดน้อยลง

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ การแสดง “ดิเก” ของชาวมลายูเป็นแบบนำให้ศิลปินของชาวไทยนำมาแสดงบ้าง โดยใช้เพลงบันตนของมลายูเป็นหลัก และคิดต่อเติมแทรกคำไทยระคนเข้าไป แต่ก็คงใช้รำมะนาตีประกอบอยู่ตามรูปเดิม เมื่อได้โหมโรง และร้องเพลงบันตนตามสมควรแล้ว ก็เริ่มแสดงออกเป็นชุดต่างๆ โดยมากมักเป็นชุดต่างภาษา แต่จะต้องเริ่มด้วยชุดภาษาแขกก่อนภาษาอื่นเสมอ เช่น ชุด แขกรดน้ำมนต์เป็นต้น การแสดงจะมีตัวแสดงแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าไปตามภาษานั้นๆ ผู้แสดงร้องเอง และผู้ตีรำมะนาที่นั่งล้อมวงอยู่นั้นร้องเป็นลูกคู่รับ เมื่อหมดกระบวนของการแสดงชุดหนึ่ง ผู้แสดงเข้าฉากแล้ว พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตนสลับรอการแต่งตัวชุดต่อไป และร้องเพลงภาษานำการแสดงในชุดต่อไปด้วย คือ ถ้าชุดต่อไปจะแสดงมอญก็ร้องเพลงที่เป็นลูกรับภาษามอญ นำให้ตัวแสดงร้องออกมา การแสดงแบบนี้เรียกว่า “ลิเกบันตน” ในสมัยโบราณชอบแสดงก็มีชุดมอญในเรื่องราชาธิราช ตอนพระยาน้อยชมตลาด ชุดลาวในเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนบักป่องบักเป๋อพบพลายบัว และนางแว่นแก้ว เป็นต้น

ในระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้ การบรรเลงปี่พาทย์ตามงานก็ประกวดประขันกันนักหนา อันการบรรเลงปี่พาทย์นั้น มีวิธีบรรเลงแบบหนึ่งที่นิยมกันมากในสมัยนั้น คือ เมื่อร้อง และบรรเลงเพลง ๓ ชั้น เป็น “แม่บท” จบไปแล้ว ก็ต่อท้ายด้วยเพลงเล็กๆสั้นๆหรือเพลงภาษาต่างๆเป็น “ลูกบท” อีกเพลงหนึ่ง แล้วจึงออกลูกหมด แสดงว่าจบ ในสมัยนี้ได้มีผู้คิดใช้ตัวแสดงเข้าผสม คือ เมื่อร้อง และบรรเลงเพลงลูกบทภาษาใด ก็ปล่อยตัวแสดงชุดภาษานั้นอย่างที่ลิเกบันตนแสดงออกมา ร้อง และรำไปตามกระบวนเพลง แต่ใช้ปี่พาทย์รับแทนลุกคู่ที่ตีรำมะนาอย่างลิเกบันตน การแต่งตัวก็แต่งเพียงใช้เสื้อผ้าแพรพรรณธรรมดา หากแต่ให้มีสีสันฉูดฉาดบาดตา ตัวผู้ชายใช้โพกผ้า หรือสวมสังเวียนที่ศีรษะ และตัวผู้หญิงก็สวมช้องผมปลอมเท่านั้น ชุด และการแสดงก็อนุโลมอย่างลิเกบันตน เมื่อหมดชุดหนึ่งตัวแสดงก็เข้าฉากไป ต่อจากนั้นปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลง ๓ ชั้น ที่เป็นแม่บทขึ้นใหม่ และออกลูกบท เปลี่ยนชุดหรือภาษาเพื่อแสดงต่อไป การแสดงแบบนี้เรียกว่า “ลิเกลูกบท”

ต่อมามีผู้ปรับปรุงลิเกบันตนกับลิเกลูกบทเข้าผสมกัน แต่ให้แต่งตัวด้วยเครื่องที่ปักดิ้นเลื่อมแพรวพรายอย่างละครรำ และแสดงเป็นเรื่องยาวๆอย่างละคร โดยเมื่อปี่พาทย์โหมโรงไปจนจบแล้ว ก็บรรเลงเพลงภาษาต่างๆเรียกว่า ออกภาษาหรือออกสิบสองภาษา แทนการร้องบันตนภาษาต่างๆ พอถึงภาษาแขกอันเป็นอันดับสุดท้าย พวกตีรำมะนาก็ออกมานั่งล้อมวงหน้าวงปี่พาทย์ พอปี่พาทย์หยุด พวกตีรำมะนาก็ร้องเพลงบันตนภาษาต่างๆอีกพักหนึ่ง แล้วเริ่มแสดงชุดแขกตามแบบลิเกบันตน แต่ใช้ปี่พาทย์รับ เป็นการคำนับครูเสียชุดหนึ่ง พอหมดชุดแขกจึงเริ่มจับเรื่องที่จะแสดงต่อไป ผู้แสดงใช้ท่ารำตามแบบละครรำ แต่มุ่งหมายไปในทางดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว มีตลกคะนองบ้าง ท่ารำจึงต้องลดลงไป ส่วนการร้องใกล้ไปทางแบบลิเกบันตน แต่ใช้ปี่พาทย์รับ และเป็นประเพณีว่า การแสดงลิเกต้องใช้ผู้ชายล้วน แม้ตัวนางก็ใช้ผู้ชายแสดง ในสมัยก่อนลิเกแบบนี้เรียกว่า “ลิเกทรงเครื่อง” ได้ตั้งโรงแสดงเก็บค่าดูอย่างละครรำ เช่น ลิเกของพระยาเพชรปาณี เป็นต้น ต่อมาในวงการลิเกทรงเครื่องเห็นว่า การแสดงชุดแขกเต็มตามแบบลิเกบันตน ทำให้เสียเวลาที่จะเข้าเรื่องมาก จึงงดการร้องบันตนประกอบการตีรำมะนานั้นเสีย พอปี่พาทย์บรรเลงออกภาษาแล้ว ก็ออกแสดงแขกเพียงเล็กน้อย มีการซักติดตลกพอควร และบอกเรื่องราวที่จะแสดง เป็นการคำนับครูตามประเพณี แล้วก็จับเข้าเรื่องทีเดียว ในตอนนี้ได้เกิดมีเพลงร้องสำหรับดำเนินเรื่องขึ้นประจำการแสดงลิเก เช่นเดียวกับเพลงร่ายของละคร (อ่านได้จากละครนอก ละครใน) เพลงนั้นคือ เพลงหงส์ทองชั้นเดียว ลิเกสมัยนี้ต่างกับลิเกสมัยก่อนคือจะไม่ค่อยรำ โดยมากใช้เพียงพูดๆร้องๆ แบมือไปมา พอปี่พาทย์ทำเพลงเชิดก็เดินเข้าฉากไปเลย ที่ยังยึดถือศิลปการรำอยู่บ้างก็มีน้อยเต็มที

ในสมัยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมทางศิลปกรรมเกี่ยวกับการแสดงละคร พุทธศักราช ๒๔๘๕ กล่าวไว้ว่า ละครประเภท “นาฏดนตรี”ี ซึ่งเฉลี่ยความสำคัญให้แก่ดนตรี การขับร้อง คำพูด และบทบาท ซึ่งแบ่งเป็น สุขนาฏดนตรี ทัศนากร วิจิตรทัศนา และวิพิธทัศนา การแสดงลิเกก็นับเข้าอยู่ในประเภทนาฏดนตรีด้วย

เรื่องที่แสดง

เดิมทีเมื่อลิเกได้ขยายวิธีการแสดงมาถึงลิเกลูกบท ก็ยังใช้เรื่องนั้นๆหรือเรื่องที่เป็นภาษาต่างๆชุดเล็กๆดังได้กล่าวมา ต่อมาเมื่อลิเกได้วิวัฒนาการมาถึงลิเกทรงเครื่อง โดยดำเนินวิธีเลียนแบบละครรำ จึงใช้เรื่องนิยายโบราณ เช่น หมื่นหาญกับทิดเพชรบ้าง เรื่องที่ละครรำเคยแสดงมาแล้ว เช่น แก้วหน้าม้า ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ บ้าง ในตอนหลัง เมื่อได้แสดงเป็นประจำในสถานที่เก็บเงินแก่ผู้เข้าชม ซึ่งเรียกติดปากกันต่อมาว่า “วิก” การแสดงแสดงลิเกจึงมักนำเรื่องยาวๆมาแสดงติดต่อกันไปทุกๆคืน หลายๆคืนจึงจะจบเรื่อง ซึ่งทำให้ผู้ชมการแสดงติดใจ ต้องไปซื้อบัตรเข้าดูต่อเรื่อยๆไปทุคืน และยิ่งมีคณะลิเกหลายคระแสดงประกวดประขันกันหลายวิกขึ้น เจ้าของคณะก็ต้องค้นหาเรื่องที่สนุก และมีวิธีการแสดงให้แปลกออกไป จนถึงกับนำเอาพงศาวดารของชาติต่างๆ เช่น สามก๊ก ซิเต็งวัน ราชาธิราช เป็นต้น มาแสดงก็มี

วิธีการแสดงลิเกสมัยนั้น แม้จะมุ่งความรวดเร็วของการดำเนินเรื่อง และตลกขบขันเป็นจุดสำคัญก็จริง แต่ก็ยึดถือหลักของละครรำเป็นมาตรฐานอยู่มาก เช่น อิเหนา การแสดงก็ต้องเป็นไปอย่างเรียบร้อย แช่มช้า มุ่งศิลปการร้อง และระมากขึ้นกว่าแสดงเรื่องที่เป็นละครนอก บทร้องบางบทอาจนำเอาบทละครในจริงๆมาใช้ก็ได้ ถ้าเป็นการแสดงเรื่องที่เป็นละครนอกแล้ว ก็จะดำเนินการแสดงให้มีตลกขบขัน รวดเร็วละม้ายคล้ายคลึงไปกับแบบละครนอก แต่ไม่ให้เหมือนละครนอกจริงๆ ถ้าการแสดงนั้นเป็นเรื่องภาษาต่างๆแล้ว ลิเกจะหาวิธีแสดงของตนออกไปอย่างอิสระ แต่การพลิกแพลงอย่างอิสระนี้ ผู้ประดิษฐ์ก็ต้องมีแบบแผนอันดีเหมือนกัน

ปัจจุบัน ลิเกมีการแสดงตามจังหวัดต่าง ๆในภาคกลาง จังหวัดที่มีคณะลิเกอยู่เป็นจำนวนมากคือ พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี อ่างทองสิงห์บุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น

ดนตรีประกอบการแสดง วงปี่พาทย์

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.