พระไพรสพนั้นเป็นเทพเจ้าที่เป็นองค์แทนแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร นับเป็นคติแบบหนึ่งที่แตกต่างออกไปซึ่งโดยมากมักจะเเสดงรูปลักษณ์แทนด้วยเทวี หรือเทพเจ้าที่มีเพศเป็นหญิงซึ่งแสดงถึงความเจริญงอกงาม ความเป็นมาของเทพ เจ้าองค์นี้มีผู้พยายามนำมาเกี่ยวพันกับพระลักษมีเทวีที่เป็นชายาของพระวิษณุเทพ แต่จากหลักฐานบางประการทำให้เห็นว่า มาจากคติคนละส่วนกันแม้ว่า จะมีคำว่า “แม่โพสพ” เป็นคำไทยที่นิยมใช้มาแต่โบราณกาลก็ตาม ทางด้านพุทธศาสนา (การจัดเทพปกรณัมทางพุทธศาสนาจะแตกต่างจากพราหมณ์ที่แปลงตัวมาเป็นฮินดู) ความสำคัญของพระเป็นเจ้าทั้งแปดนี้มีผลต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มาก โดยจะเเสดงเทพนิมิตรเป็นลางบอกเหตุ ที่เรียกว่า อภิไทโพธิบาทว์ หรือพระคัมภีร์อิติหาสาศาสตร์ อักษรพจน์ที่บรรจุในคัมภีร์จะบอกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เทพเจ้าแสดงเหตุที่เรียกว่าอุบาทว์และการแก้อาถรรพ์เหล่านั้นให้กลับเป็นดีดังกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ขอแจ้งโดยวารบาลี ในพระคัมภีร์ อุบาทว์อุบัตินานา…….ถวายด้วยพระมนต์โอฬาร ในเวทยกิจมหันต์ อาจบำบัดโทษภยันต์ จัญไรภัยอัน จะมาทั้งปวงเหือดหาย พระมนต์อักษรจะหมาย ไว้ให้สืบสาย ดั่งนี้ในลักษณะพระมนต์.” (อักขระวิธีโบราณ)
กำเนิดของพระไพสพนั้นไม่เด่นชัดในเรื่องตำนานดูจะปนกับเทพธิดาโพสพ จนคิดว่าเป็นองค์เดียวกันซ้ำยุคหลังๆยังอาจนับเอาว่าเป็นปางหนึ่งของ พระลักษมีเทวีชายาพระวิษณุเทพ แต่ก็เห็นเป็นคติที่ปรากฏในชั้นหลังๆ ที่ที่เริ่มปฏิวัติตนเองของพราหมณ์มาเป็นฮินดู สำหรับเรื่องแม่โพสพของ ไทยนั้นเป็นที่แพร่หลายมีรูปเคารพแม่โพสพทั่วราชอาณาจักร ทั้งรู้จักชื่นสืบ ๆ กันมา ชาวไทยเมื่อทำนาได้ข้าวแล้ว มักมีพิธีทำบูชาแม่โพสบ เคยเห็นทำสมัยเด็ก ๆ เท่าที่จำได้ คือ มี หวี กระจก แป้ง น้ำหอม หรือ น้ำอบไทย หมากพลู ขนมต้มแดง ต้มขาว ดอกไม้มักเป็น ดอกมะลิ ธูป เทียน ธง ๓ เหลี่ยม ขาว แดง (บางทีเห็นสีน้ำเงิน คนชาวนาชาวป่าไม่รู้จักสีธงชาติ ได้ทำเป็นประเพณีสืบ ๆ กันมา ก่อนกาลปีใช้สีธงชาตินานนักหนาแล้ว) เวลาไปทำพิธีแก่กองข้าว หรือลอมข้าว ต้องอาบน้ำแต่งตัว ใช้เสื้อผ้าใหม่ ไปว่าอย่างไรบ้างไม่รู้ เพราะตอนนั้นเป็นเด็กไม่ค่อยเชื่อถือ ทั้งเคยทำลายพิธีเสียหลายครั้ง เมื่อเห็นเรื่องเช่นนี้ เกิดความชื่นอกชื่นใจต่อประเพณีเคารพนับถือต้นไทยเหลือเกิน และไทยลว้ายังทำกันอยู่ทั่วหมู่ไทยลว้า โดยความที่หมายเอาว่าเป็นหญิงตามตำนานสุวรรณภูมิโบราณที่เป็นการเล่าสืบมาเรื่อง ขุนต้นแรกนา และขวัญข้าวนางโพสพ(มีคำเชิญที่ว่า “..เชิญ..แม่โพศรี แม่โพสพ แม่นพดารา แม่จันเทวี แม่ศรีสุดา เชิญมาแม่มา…” เหล่านี้เป็นต้น) คำอันนี้เป็นเรื่องที่กล่าวถึงคำว่าโพสพที่เป็นเทพธิดานอกจากนั้นมักเกี่ยวกับ เทพทางอินเดียอย่างเป็นชายาองค์หนึ่งของสักกะเทวราชกำลังหมดบารมีจึงมาบำเพ็ญ บารมีเสริมที่เมืองมนุษย์อธิษฐานจนให้เป็นเมล็ดข้าวถวายแก่พระฤาษีประลัยโกฏิ์ จนพระฤาษีใช้ไม้เท้าตีจนเม็ดข้าวที่มีขนาดใหญ่เท่าลูกฟักนั้นเเตกเป็นเม็ดเล็ก บางตำนานก็ว่า ข้าวกลายเป็นแมลงเม่าเล็กบินไปที่ต่างๆทั่วโลกเกิดเป็นพันธ์ข้าวต่างๆขึ้น เรื่องนี้บางท่านว่าเป็นที่มาของคำว่า “ข้าวเม่า” แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานเห็นให้คล้อยตามได้มากนัก
พระไพสพนั้นน่าจะเป็นคติที่ได้มาจากชมพูทวีป(ข้อสันนิษฐาน) เพราะถูกจัดอยู่ในกลุ่มอัฏฐเทพ ที่มีอิทธิพลต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ในวิถีชีวิตมนุษย์ ที่เป็นในทางการให้คุณและโทษที่ดูจะไม่เหมาะจะ เป็นผู้หญิง อันมีรูปธรรมที่นุ่มนวลอ่อนโยน คำว่าไพสพนั้นเน้นถึงเทพเจ้าผู้ดูเเลหรือ คุ้มกฏในเรื่องเกี่ยวกับพืชพรรณธัญญาหาร บางท่านอาจจะสับสนไปปนกับ พระโสมเทพ (เรื่องคล้ายกับว่าเป็นจันทราเทพที่มีทั้งภาคหญิงภาคชาย แต่ในทางโหราศาสตร์นั้นหมายถึงเทพเเห่งดาวโสม-อมตะ ที่หมายถึงดาวที่ชื่อว่า แบ๊คคัส) ที่มีลักษะคล้ายกันคือมีทั้งส่วนที่ว่าเป็นเพศหญิงและเพศชาย
ส่วน เรื่องเทพนิมิตรที่พระไพสพแสดงอาเพทนั้นมีปรากฏการณ ์หลายอย่างที่น่าสนใจและก็มีพระคณาจารย์บางรูปนำไปเป็นอุปเท่ห์ แอบอ้างคุณวิเศษ แบบไม่ถูกต้องนักทั้งทั้งที่โบราณนั้นถือว่าเป็นเรื่อง ไม่เป็นมงคลคืออุบาทว์อย่างเช่นการทำนาน้อยแต่ได้ข้าวมาก ที่มีพระภิกษุอุตริแอบอ้างว่าสวดมนต์บทนั้นบทนี้แล้วมีอานิสงค์ ทำให้ข้าวมีมากขึ้นซึ่งโดยแท้จริงอานิสงค์ที่ว่าก็คือทำให้ คนมักได้หรือขี้เกียจมากกว่า (คิดว่าทำน้อยจะเอามาก) นอกจากนี้ยังมีนิมิตรแปลกๆเช่นไฟไหม้ผ้า หนูกัดผ้า นำเม็ดงามาหีบน้ำมันใช้เมล็ดงาน้อยได้น้ำมันมาก เอาข้าวเปลือกมาสีได้ข้าวสารมาก ข้าวสารแช่น้ำเกิดงอกขึ้น และยังรวมถึงเสาเรือนตกน้ำมัน สัตว์น้ำอย่างเต่าขึ้นมาตายคาเรือน และมีอยู่ประเด็นหนึ่งที่แสดงถึงความไม่เข้าใจในเรื่องกิจพิธีกรรมโบราณ เเอบอ้างเอาข้างตัวทั้งๆที่ปรากฏการณ์นั้นเป็นอุบาทว์(หมายว่าไม่ดี) กลับทำให้เห็นเป็นเรื่องมงคลดีงามไปขัดกับจารีตโบราณ ที่ว่าก็คือเรื่อง “บัวผุด” ที่ดอกบัวผุดขึ้นบนบกหรือในกระถางรองรับน้ำล้างหน้าพระภิกษุบางรูปที่ถูกแอบอ้าง ยกเป็นอริยะบุคคลทั้งๆที่ทำเรื่องไสยเวทในระดับอกุศลธรรมอย่างนำซากศพเด็กมาทำรูปพระพุทธเจ้า (ผิดกฏหมาย -ปรามาสพุทธคุณ)ที่เขียนนี่ไม่ได้โจมตีใครแต่อยากให้ทราบข้อมูลที่ แท้จริงควรมีที่ไปที่มาและควรแยกเรื่องไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์ออกจากกันให้ชัดเจน ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธไสยศาสตร์ว่าไม่มีประโยชน์แต่เราต้องแยกให้ถูกว่าอะไรพุทธอะไรไสย การใช้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะ เลือกเชื่อเลือกทำแบบกรรมใครกรรมมันแต่ต้องไม่ทำเรื่องบริสุทธิ์อย่างพุทธศาสนาให้เป็นสัทธรรมปฏิรูป เรื่องบัวผุดที่ถูกแอบอ้างเป็นบัวพุทธเจ้าตามมติภัทรกัปล์นั้น เห็นจะไม่ถูกต้องเพราะคำภีร์อสิติหาสาศาสตร์ว่าด้วยเรื่องอภิไทโพธิบาทว์ (เทพนิมิตรลางอุบาทว์)นั้นระบุไว้ชัดว่า
“หนึ่งเสาโรงตกมัน หนึ่งบัวสัตบัน มางอกในบ้านดอน…..อุบาทว์พระไพสพหมาย แก่คนทั้งหลาย เฉพาะผู้เคราะห์วารี….”
บัวที่ผุดเกิดในที่ผิดธรรมชาติของเขา โบราณจึงถือว่าไม่เป็นมงคลตามที่กล่าวมา ส่วนบัวผุดที่หมายว่า เป็นบัวพระพุทธเจ้า นั้นมีปรากฏในตำรายาแผนโบราณชัดเจนเรียกว่า “บัวผุด” หรือ “บัวตูม” เป็นบัวบกขนาดใหญ่ที่ขึ้นตามป่าลึกแถบภาคใต้ที่เรียกบัวตูมเพราะ เวลาดอกบานจะมีเสียงดังสนั่นกึกก้องไกลทั่วขุนเขา เรื่องนี้หมอยาโบราณชาวปักษ์ใต้ผู้เชี่ยวชาญจะรู้เรื่องดี บัวนี้เป็นเพียงชนิดเดียวที่โบราณาจารย์กล่าวชัดเจนว่าเป็น “บัวพระพุทธเจ้า” ส่วนในทางลัทธิไสยศาสตร์จะหมายเอาบัวที่บานเองเพราะการสวดมนต์นั้นเป็นบัวมงคล ยังมีอีกตำราหนึ่งที่เรียกว่า “พระปทุม” ที่ต้องสร้างจากบัวที่บานเฉพาะวันที่กำหนดอย่างเช่น วันวิสาขบูชาหรือวันอื่นตามที่ตำราสายนั้นๆกำหนดวิชาเหล่านี้ส่วนใหญ่พบแถบภาคอีสาน
พระไพสพนั้นมักทำเป็นรูปเทวดาผู้ชาย มีเทพพาหนะคือหงส์ พระกรข้างหนึ่งทรงพระขรรค์หมายถึงอำนาจในการรักษาพืชพันธ์ธัญญาหาร มืออีกข้างอาจไม่ทรงเทพอาวุธ อาจประทานพรหรือแสดงอาการอย่างหนึ่งอย่างใด บางภาพศิลปินอาจเพิ่มรวงข้าวเพื่อเเสดงนัยของเทพเเห่งพืชพันธ์ให้เด่นชัด เรื่องราวของเทพเจ้าองค์นี้แม้จะสับสนระหว่างเป็นชายหรือหญิงแต่ก็เป็นความเชื่อ อย่างหนึ่งที่สืบสานมากับสังคมไทยอย่างยาวนานจนนับเป็นประเพณีหนึ่งในวิถีชีวิต ที่ปรากฏในอภิไทโพธิบาทว์ตามที่กล่าวมา…