บทพากย์
เนื่องจากการแสดงโขนจะต้องสวมหัวโขนปิดหน้า จึงต้องมีผู้ร้อง และเจรจาแทนตัวโขน บทพากย์เป็นบทประพันธ์ประเภทกาพย์ มีทั้งกาพย์ยานี และกาพย์ฉบัง เมื่อพากย์จบไปบทหนึ่งก็จะตีตะโพนรับ และกลองทัดตีตาม แล้วลูกคู่ร้องรับด้วยคำว่า “เพ้ย” พร้อมๆกัน บทพากย์โขนแบ่งเป็น ๕ ประเภท คือ
๑. พากย์เมืองหรือพากย์พลับพลา ใช้พากย์ตอนผู้แสดงออกท้องพระโรงหรือออกพลับพลา
๒. พากย์รถ พากย์รถนี้จะรวมถึงการพากย์ช้าง และพากย์ม้าด้วย ใช้ในกรณีที่ผู้แสดงออกรบ อาจจะทรงรถ ทรงม้าหรือทรงช้างก็ได้
๓. พากย์ชมดง ใช้ในโอกาสชมนกชมไม้ โดยใช้เพลงชมดงใน มีเครื่องดนตรี คือ ตะโพน และฉิ่งประกอบจังหวะ
๔. พากย์โอ้ ใช้ในโอกาสที่ผู้แสดงเศร้าโศก คร่ำครวญ ร้องไห้ด้วยความเสียใจ การพากย์โอ้จะแตกต่างกับการพากย์แบบอื่นเนื่องจากจะมีดนตรีรับ ก่อนที่ลูกคู่จะร้องรับด้วยคำว่า “เพ้ย”
๕. พากย์บรรยาย และพากย์เบ็ดเตล็ด เป็นการพากย์เพื่อแสดงการสนทนา หรือเล่าเรื่อง ซึ่งไม่จัดอยู่ในประเภทของการพากย์ที่ได้กล่าวมาแล้ว
บทเจรจา
เป็นการร่ายยาวที่ส่งสัมผัสกันไปเรื่อยๆใช้ได้ในทุกโอกาส โดยผู้พากย์จะต้องจดจำเนื้อเรื่องในตอนนั้นทั้งหมด เพื่อจะนำมาผูกในตอนเจรจาได้ทันท่วงที ซึ่งโบราณาจารย์ได้ผูกขึ้นเป็นแบบแผนเฉพาะตอนหนึ่งๆ เรียกว่า “กระทุ้ง” สำหรับใช้เจรจาโต้ตอบระหว่างผู้แสดงโขน
การขับร้อง
การขับร้องจะแบ่งนักร้องเป็น ๒ พวก คือ ต้นเสียง และลูกคู่ ต้นเสียงทำหน้าที่ร้องขึ้นต้นบทโดยร้องคนเดียว เมื่อหมดวรรคแรกของคำกลอน ลูกคู่ก็จะร้องรับในวรรคต่อไป โดยลูกคู่จะต้องร้องพร้อมกัน ๒ คนเป็นอย่างน้อย แต่ไม่เกิน ๖ คน