ตำนานเทพเจ้ากรีก

ตำนานเทพเจ้ากรีก ปฐมเหตุแห่งอุบัติของโลก

ตำนานเทพเจ้ากรีกเป็นตำนานที่เล่าขานถึงเรื่องราวของเทพเจ้า เทพี วีรบุรุษ และสัตว์ประหลาดในเทพปกรณัมกรีก ตำนานเหล่านี้ถูกเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษและได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรมกรีกโบราณ

ตำนานเทพเจ้ากรีกมักสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ ความศรัทธา และค่านิยมของชาวกรีกโบราณ ตัวอย่างเช่น ตำนานมักกล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างเทพเจ้ากับเหล่าอสูรร้าย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกลัวและความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติของชาวกรีกโบราณ นอกจากนี้ ตำนานยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวกรีกโบราณเชื่อว่าเทพเจ้ามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์

ตำนานเทพเจ้ากรีกมีเนื้อหาที่หลากหลายและน่าสนใจ เรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นวรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์มากมาย ตำนานเทพเจ้ากรีกจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่ยังคงได้รับการถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ปฐมเหตุแห่งอุบัติของโลกนั้นปรากฏตามบทกวีของฮีสิออดกล่าวว่า ในกาลครั้งอดีตก่อนทวยเทพอุบัตินับยุคไม่ถ้วนมาแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายยังรวมอยู่ในกำพืดอันเดียว ซึ่งเป็นความว่างเปล่าอันปราศจากรูปเท่านั้น เรียกว่า เคออส (Chaos) เป็นความเวิ้งว้างมหึมาหาขอบเขตมิได้

ต่อมาอีกนับกัปป์ไม่ถ้วน โลกพิภพจึงผุดขึ้นเป็นประดุจฐานอันกว้างใหญ่ไพศาลเพื่อเป็นจอมมารดาของสิ่งทั้งมวล
เรียกว่า จีอา (Gaea) หรือ จี (GE) ในภาษากรีก เทลลัส (Tellus) ในภาษาโรมัน มีสวรรค์ดาษดาด้วยดาวพราวแพรวล้อมรอบ ซึ่งจะเป็นที่สถิตจีรังกาลของทวยเทพสืบไป สวรรค์นึ้ตามภาษากรีกเรียกว่า อูรานอส (Ouranos) ส่วนโรมันเรียกว่า ยูเรนัส (Uranus)

ถือกันว่าเป็นจอมบิดาคู่กันกับจีจอมมารดร จอมบิดาและมารดานี้ประกอบด้วยทิพยภาพก็จริง แต่ก็หาสมมติขึ้นเป็นองค์เทพไม่ คงปรากฏแต่ว่ามีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้เกิดแผ่นดินไหว ลมพายุและภูเขาไฟระเบิดได้

สถานที่สำคัญและเขาโอลิมปัส ชาวกรีกโบราณเชื่อว่า โลกที่สร้างขึ้นตามทำนองดังกล่าวนี้มีสัณฐานแบนกลม มีประเทศของตนอยู่กลาง โดยมีห้วงสมุทรเมดิเตอร์เรเนียนแบ่งแผ่นดินออกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน และทะเลนี้ต่อไปออก ทะเลดำ ซึ่งสมัยโน้น เรียกว่าทะเล ยูซินี (Euxine) 2 ทะเลนี้เท่านั้นที่เป็นทะเลที่ชาวกรีกสมัยโบราณรู้จัก

ภาคเหนือสุดของพื้นพิภพนั้นเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นภูมิลำเนาของชนชาติที่ผาสุขชาติหนึ่ง เรียกว่า ชาติไฮเพอร์โบเรียน (Hyperborean) อาศัยอยู่ในถิ่นลับแล ซึ่งจะไปทางบกหรือทางทะเลก็ไม่ถึงทั้งสิ้น อยู่พ้นเทือกเขาสูงขึ้นไปทางทิศเหนือของดินแดน เฮลลัส (Hellas) ซึ่งเป็นชื่อของประเทศกรีซสมัยโน้น ว่ากันว่าดินแดนของชนชาติไฮเพอร์โบเรียนเป็นดินแดนที่สงบสันติสุข มีแต่ความสบายด้วยประการทั้งปวง ส่วนทางใต้ของพิภพใกล้ กับทางไหลของมหาสมุทรก็มีชนชาติที่ผาสุขและมีคุณธรรมเช่นเดียวกับไฮเพอร์โบเรียนอาศัยอยู่อีกชาติหนึ่ง เรียกว่า
อีธิโอเพียน (Ethiopion) เป็นที่โปรดปรานของเหล่าเทพยิ่งนัก ถึงกับเหล่าเทพเคยไปร่วมพิธี พลีกรรมและงาน มหกรรมสมโภชของชนชาตินั้นเนือง ๆ

ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ทางฟากตะวันตกของโลกริมมหาสมุทรเรียกว่า ทุ่งอีลิเชียน (The Elysian
Fields) เป็นที่ซึ่งพวกมนุษย์ที่เหล่าเทพโปรดจะได้ไปอยู่ เขาถือว่า ผู้ใดดำเนินวิถีชีวิตด้วยคุณความดีจะได้รับกรุณาโดยเหล่าเทพพาไปให้ได้เสพอมฤตภาพ  คืออยู่ค้ำฟ้าเป็นสุขตลอดกาลในที่นั้นส่วนดินแดนใกล้เคียงแถบตะวันออก และตามริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนั้น เป็นที่อยู่ของชนชาติ ต่าง ๆ ที่ชาวกรีกรู้จัก พ้นจากดินแดนเหล่านี้ไปในทะเลตะวันตกล้วนเป็นที่อยู่ของพวกยักษ์อมนุษย์ และแม่มด ทั้งสิ้น

ในประเทศกรีซมีภูเขาสูงอยู่หลายลูก ที่มียอดสูงสุดได้แก่ ขุนเขาโอลิมปัส อยู่ในแถบเทสซาลี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศกรีซ มียอดสูงสุดเกือบ 2 ไมล์ หรือประมาณ 9,800 ฟุต ดู ตระหง่านเยี่ยมเทียมฟ้า
ชาวกรีกโบราณถือว่ายอดเขาโอลิมปัสนี้พุ่งขึ้นไปจรดสวรรค์ทีเดียว

กำเนิดเทพกับการแย่งอำนาจในตำนานเทพเจ้ากรีก

จีกับอูรานอสเถลิงอำนาจอยู่ ณ เทือกเขาโอลิมปัส ต่อมาไม่นานก็ให้กำเนิดเทพบุตรและเทพธิดา 12 องค์ 6 องค์เป็นเทพบุตร ทรงนามตามลำดับว่า โอเซึยนัส , ซีอัส ,ครีอัส ,ไอเพอร์เรียน ,ไอแอพิทัส และโครนัส อีก 6 องค์เป็นเทพธิดา ทรงนามว่า อิเลีย ,รีอา ,ธีมิส ,ธีทิส,เนโมซินี และฟีบี เทพและเทวีทั้ง 12 องค์นี้รวมกัน เป็นคณะ เรียกว่า ไทแทน (Titan) หรือเรียกอีกอย่างว่า ไจแกนทีส (Gigantes) ซึ่งเป็นต้นศัพท์คำว่า ไจแอนท์ แต่ละองค์ มีกายใหญ่มหึมา อูรานอสแสนจะเกรง กลัวในความมีกายใหญ่ยิ่ง และทรงพลังของเทพบุตรและเทพธิดาคณะนี้ จึงจับ
ทั้งหมดโยนลงในเหวลึกใต้บาดาลมืดสนิท เรียกว่า ตรุทาร์ทะรัส (Tartarus) และจองจำ ไว้มั่นคง เพื่อป้องกันมิให้
เทพกุมารองค์ใดใช้พลังเป็นปฏิปักษ์กับเธอได้

เมื่ออูรานอสจองจำเทพทั้ง 12 องค์ไว้ ก็ตายใจว่าคงไม่มีองค์ใดหลุดหนีขึ้นมาได้ แต่เหตุจะให้คณะไทแทน ไม่ต้องถูกจองจำอยู่นานอุบัติขึ้น เนื่องจากอูรานอสกับจีให้กำเนิดเทพบุตรอีก 3 องค์เป็นเทพบุตรยักษ์ตาเดียว เรียกว่า ไซคลอปส์ (Cyclops) มีนามตามลำดับว่า บรอนทีส ,สเทอโรพีส และ อาจีส อูรานอสจับเทพบุตรทั้ง 3 โยนลงขังไว้ในตรุทาร์ทะรัส อีก บรอนทีสนั้นคือ ฟ้าลั่น สเทอโรพีสคือ ฟ้าแลบ ส่วนอาจีสคือแสงสว่างวาบ

เมื่อลงไปถึงที่คุมขังจึงทำให้เกิดแสงสว่างไปทั่วทั้งบาดาล ช่วยให้คณะเทพไทแทนเกิดความกล้าที่จะแสวงความเป็นไท และต่อมาก็มีเทพบุตรของอูรานอสถูกโยนลงไปสมทบอีก 3 นามว่า คอตทัส ,เบรียรูส และไกจีส
แต่ละองค์มีมือตั้งร้อย

เจ้าแม่จีไม่พอใจที่อูรานอสปฏิบัติกับลูก ๆ แต่ห้ามเท่าใดอูรานอสก็ไม่ฟัง เจ้าแม่โกรธนักจึงลงไปใต้บาดาล ยุยงลูก ๆ ในคณะไทแทนให้ร่วมคิดกันแย่งอำนาจ บิดาให้จงได้ ในบรรดาเทพไทแทนนี้มีโครนัสน้องสุดท้องคนเดียวที่กล้าจะทำตาม เจ้าแม่จึงปล่อยให้หลุดจากพันธนาการ มอบเคียวเป็นอาวุธ พร้อมทั้งอวยพรให้เธอมีชัย โครนัสถืออาวุธคู่มือเข้าโจมจับบิดาโดยไม่ให้รู้ตัว แล้วขึ้นครองบัลลังก์หมายจะเป็นใหญ่ในจักรวาลชั่วนิรันดร

ฝ่ายอูรานอสบันดาลโทสะกล้า จึงสาปแช่งโครนัสให้ถูก ลูก ๆ ของตัวเองแย่งอำนาจในกาลภายหน้าเช่นกัน โครนัสไม่แยแสใน คำสาปของบิดา จัดแจงปล่อยเทพภราดรและภคินีให้เป็นไททั้งหมด ทุกองค์แสนจะปิติและรู้คุณ
โครนัสในการที่หลุดพ้นจากการจองจำได้เป็นไท จึงพร้อมใจกันยอมยกให้โครนัสเป็นใหญ่ปกครองตน

โครนัสเลือกเทพภคินีองค์หนึ่งคือ รีอา เป็นคู่ครอง และปันส่วนอื่น ๆ ให้เทพภราดรภคินีปกครองโดยทั่วถึงกัน

โครนัสถูกโค่นเทพบัลลังก์

โครนัส (Cronus) หรือภาษาโรมันเรียกว่า แซ็ทเทิร์น ดำรงความเป็นใหญ่ในเหล่าเทพทั้งปวงอยู่ ณ เทือกเขาโอลิมปัสเป็นสุขสงบมาจนกระทั่งถึงกาล วันหนึ่งมีเทวบุตรองค์หนึ่งเกิดแก่เธอ คำสาปของอูรานอสผุดขึ้น ในความทรงจำทันที เธอจึงรีบไปหาเจ้าแม่รีอาและจับกุมารนั้นกลืนกินเสีย ต่อมาถึงโอรสจะเกิดอีกสักกี่องค์ โครนัส ก็จับกินสิ้นทุกองค์ แม้เจ้าแม่รีอาจะวอนขอให้งดเว้น ไท้เธอก็ไม่ยอมฟัง

ในที่สุดเจ้าแม่รีอาจึงตั้งปณิธานว่าจะเอาชนะ ไท้เธอด้วยอุบายให้จงได้ ดังนั้นพอประสูติโอรสองค์ใหม่คือ ซุส (Zeus) หรือ ยูปิเตอร์ (Jupiter) ตามภาษาโรมัน เจ้าแม่เธอก็ซ่อนไว้เสีย โครนัสได้ข่าวเทพกุมารองค์ใหม่เกิด จึงรีบมาหมายจะจับกินเสียเจ้าแม่รีอาแสร้งทำเป็นวอนขอพอเป็นพิธี แต่ในที่สุดก็ทำเป็น โอนอ่อนผ่อนตาม เอาก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งซึ่งห่อผ้าอ้อมเตรียมไว้แล้วส่งให้ พลางทำเป็นเศร้าโศกนักหนา โครนัสไม่ทันดู รับก้อนหิน สำคัญว่าเป็นบุตรจึงกลืนกินแล้วก็กลับไป

เจ้าแม่รีอาจัดแจงฝากฝังเทพทารกให้อยู่ในความทะนุถนอมกล่อมเลี้ยงของนางอัปสรนีเรียด นางอัปสรจึงพา ซุสไปไว้ในถ้ำบนยอดเขาไอคา ณ ที่นั้น นาง แอมัลเธีย (Amalthea) บุตรสาวของ มิลิสซัส เจ้าครองเกาะครีต ได้รับธุระอนุบาลซุสด้วยนมแพะ นางแอลมัลเธียนี้บางตำนานกล่าวว่าเป็นนางแพะ และว่าภายหลังซุสได้ประสิทธิ์ประสาทให้ เป็นดาวฤกษ์กลุ่มหนึ่งในสวรรค์ เป็นการตอบแทนคุณความดีของนางที่มีแด่ไท้เธอ และประทานเขาข้างหนึ่งให้แก่นางอัปสรที่โอบอุ้มทะนุถนอมไท้เธอมาแต่น้อย เป็นเขาสารพัดนึก ซึ่งนางอัปสรจะนึกเอาอะไรก็ได้ดังประสงค์ รูปเขา บรรจุแพะของมองมูน จึงถือกันเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่ง เรียกว่า เขาแห่งความมากมูน (the hornof plenty) มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

อนึ่ง เพื่อป้องกันเสียงร้องของเทพกุมารซุส มิให้ดังขึ้นไปถึงโครนัส พวก คิวรีทิส สาวกของเจ้าแม่รีอาซึ่งรับ
หน้าที่เป็นอาจารย์ของซุส ยังคิดแบบกระบวนเต้นรำแบบหนึ่งประกอบด้วยเสียงประติรพเซ็งแซ่ และเสียงประสาน
อาวุธสนั่นอึกทึกกลบเสียงของซุสไว้ด้วย

ฝ่ายโครนัสสำคัญว่าคำสาปของบิดาไม่เป็นผลแล้วก็สิ้นวิตก มิได้แยแสกับเสียงเอ็ดอึงของคิวรีทิส กว่าจะรู้ว่าเป็นเสียงลวงไท้เธอมิให้รู้ ว่าซุสยังดำรงชนม์อยู่ก็สายไปเสียแล้ว ซุสและบิดาประจัญกันอย่างดุร้าย ไม่นานโครนัสก็เป็นฝ่ายปราชัย

ซุสจึงเข้ายึดอำนาจไพบูลย์ไว้ และหารือเจ้าแม่รีอา ตกลงกันเอาน้ำสำรอกที่นางมีทิส (Metis) ธิดาของโอเชียนัสประกอบขึ้น บังคับให้โครนัสดื่มสำรอกกุมารที่กลีนเข้าไปออกมาหมด ทุกองค์ คือ โปซิดอน, ฮาเดส, เฮสเทีย, ดีมิเตอร์ และ ฮีรา (Poseidon, Hades, Hestia, Demeter, Hera) ตาม ลำดับ ส่วนก้อนหินที่โครนัสถูกหลอกให้กลืนก็สำรอกออกมาด้วย หินก้อนนี้ภายหลังได้เอาไปเก็บรักษาไว้เป็นที่เคารพบูชาแทนองค์ซุส ณ วิหารเดลฟี (Delphi)

เมื่อยึดอำนาจสูงสุดสำเร็จ ซุสก็เลือกฮีราเทวีภคินีองค์หนึ่งเป็นคู่ครอง และแบ่งสันปันส่วนอาณาเขตให้เทพภราดรปกครองทั่วทุกองค์ ส่วนเทพและเทพีที่เฉลียว ฉลาดที่สุดในเหล่าเทพไทแทน คือ เนโมซินี ,โอเชียนัส และไฮเพอร์เรียน ต่างองค์ต่างก็ยอมอยู่ในอำนาจของซุสโดยดุษฎี

แต่เทพไทแทนองค์อื่น ๆ ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมด้วยจึงเป็นเหตุให้เกิดศึกใหญ่ขึ้นขับเขี้ยวพันตูกันอย่างเอาเป็นเอาตาย

ศึกยักษ์

ซุสอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส เห็นฝ่ายปัจจามิตรมีจำนวนมากกว่า แต่ละองค์ล้วนทรงพลังน่าเกรงขาม จอมทัพที่เป็นขุนพลใหญ่ของเหล่าเทพไทแทนในขณะนั้นคือ แอตลาส (Atlas) จึงเป็นเหตุให้ไท้เธอหันไปผูกสัมพันธไมตรีกับพวกไซคลอปส์ ยักษ์ตาเดียว ซึ่งยังถูกขังอยู่ในตรุทาร์ทะรัสใต้บาดาล ให้ยักษ์เหล่านี้ประกอบอสุนีบาต สำหรับไท้เธอใช้เป็นอาวุธ แลกกับความเป็นไทในการที่จะได้ปลดปล่อยจากตรุที่คุมขัง

อาวุธใหม่นี้มีอานุภาพร้ายกาจก่อความตระหนกและสยบสยอนให้เกิดแก่เหล่าเทพไทแทนขัาศึกอย่างใหญ่หลวง
ถึงจะรวมกันสู้รบอย่างหักหาญสักเพียงใดก็ไม่อาจเอาชนะซุสได้ รบกันอยู่ 10 ปี ในที่สุดพวกไทแทนจึงยอมศิโรราบ รับรองความเป็นใหญ่ของซุส

เทพไทแทนที่ยอมแพ้บางองค์ก็ถูกทุ่มทิ้งลงจำขังไว้ในตรุทาร์ทะรัสอีกวาระหนึ่ง และตัวแอตลาสเองเมื่อพ่ายแพ้ให้แก่ซุส ก็ถูกลงโทษให้แบกสวรรค์อยู่ตลอดเวลา

ส่วนโครนัสหนีเตลิดไปตั้งหลักแหล่งในต่างแดนแคว้นเฮสเพอเรีย คือ อิตาลี เดี๋ยวนี้ และครองความเป็นใหญ่ในประเทศนั้นเป็นสุขสงบสืบมาอีกช้านาน

ชาวกรีกโบราณเชื่อกันเป็นมั่นเหมาะว่า บริเวณที่เทพทั้ง 2 ฝ่ายกระทำมหายุทธการครั้งนั้น อยู่ในแคว้นเทสซาลีตรงที่มีภูมิประเทศขรุขระลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาก ซึ่งเขาว่าเป็นไปด้วยฤทธิ์อำนาจของพวกเทวดาทุ่มก้อนหินประหัตประหารกันบ้าง ก่อภูเขาขึ้นจะให้ถึงที่ประทับของซุสเพื่อชิงอสุนีบาตบ้าง เป็นต้น

เมื่อซุสได้เถลิงอำนาจสูงสุดเป็นเทพบดี ณ ยอดเขาโอลิมปัส และเพิกถอนอำนาจของเทพไทแทนหมดแล้ว ก็นึก กระหยิ่มว่า จะได้ครองไอศวรรย์แห่งทวยเทพอันช่วงชิงไว้ได้โดยมิชอบด้วยความสงบราบคาบสิ้นเสี้ยนหนาม
ที่ไหนได้ เจ้าแม่จีปฐพีเทวียังคุมแค้นหมายจะลงทัณฑ์ซุสที่ล่วงสิทธิโดยชอบธรรมของเทพไทแทนโอรสของเจ้าแม่ ให้สาสมกับความแค้นจึง เนรมิตอสูรขึ้นตนหนึ่ง เรียกว่า ไทฟอน (Typhon) เป็นยักษ์ดุร้ายมีกายประกอบด้วย หัวมังกรนับร้อย มีเปลวไฟพวยพุ่งออกจากดวงตา จมูกและปาก แผดเสียงก้องกัมปนาทอยู่เนืองนิตย์

ยังความ สยบสยอน ให้บังเกิดแก่ทวยเทพ ถึงแก่หนีเตลิดจากเขาโอลิมปัสไปหลบซ่อนในอียิปต์ตามกัน มิหนำซ้ำอารามที่กลัวจัดเกรงอสูรมหาวินาศจะตามไป เทพเหล่านั้นยังจำแลงองค์ เป็นสัตว์นานาชนิดด้วยเพื่อมิให้อสูรจำได้ ซุสจำแลง เป็นแกะ ส่วนฮีราจำแลงเป็นโค

ถึงอย่างไรก็ดี ในไม่ช้าราชาแห่ง ทวยเทพก็เกิดความละอายในการหลบหนีอย่างขลาดกลัวของไท้เธอ ซุสจึงกลับคืนสู่เขาโอลิมปัสด้วยความมั่นหมายจะฆ่ายักษ์ไทฟอนด้วยอสุนีบาตให้จงได้ การสู้รบ ดำเนินไปเป็นเวลานาน

ในที่สุดซุสก็ประหารศัตรูลงได้ แต่ไม่นานก็มียักษ์อีกตนหนึ่งอุบัติขึ้นโดยการเนรมิตของ เจ้าแม่จี ชื่อว่า เอนเซลาดัส (Enceladus) เข้าต่อรบกับซุสเพื่อแก้แค้นแทนไทฟอน ซุสจับ เอนเซลาดัสได้ล่ามโซ่แน่นหนาขึงพืดตรึงไว้ใต้ภูเขาเอตนา แต่กว่าจะสงบเงียบเอนเซลาดีสก็คำรนคำรามแผดเสียงกึกก้อง กระเหี้ยน กระหือรือและครวญครางพิลึกพิลั่นอยู่ช้านาน บางทีก็พ่นไฟขึ้นหวังจะทำอันตรายเทพบดีผู้พิชิตตนอีกด้วย

ต่อมากาลผ่านไปเอนเซลาดัสจึงหยุดสำแดงฤทธิ์อาละวาด เพียงแต่ขยับตัวทำให้เกิดแผ่นดินไหวเป็นครั้งคราวเท่านั้น นิยายอิทธิฤทธิ์ตอนนี้เป็นตอนที่คนโบราณผูกขึ้นอธิบายปรากฏการณ์เกี่ยวกับภูเขาไฟระเบิด
และแผ่นดินไหวนั่นเอง

https://en.wikipedia.org/wiki/Greek_mythology

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.