สุชาติ สวัสดิ์ศรี อดีตบรรณาธิการ “โลกหนังสือ” , “สังคมศาสตร์ปริทรรศ” , “บานไม่รู้โรย” และ “ช่อการะเกด” เขาผ่านงานบรรณาธิการมาอย่างโชกโชนและต่อเนื่อง ผ่านช่วงวิกฤติทางการเมือง ทางธุรกิจหนังสือมาหลายยุคหลายสมัย
ณ วันนี้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี พำนักอยู่บ้านย่านดอนเมือง ในสวนริมทางรถไฟ ดูเหมือนเขาจะมีความผูกพันกับรถไฟอยู่ไม่มากก็น้อย และเคยเอ่ยปากบ่อยครั้งว่า “ผมเป็นคนโลว์เทค”
เป็นโอกาสที่ดีที่พวกเรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมพี่สุชาติ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากงานหนังสือริมน้ำครั้งสุดท้าย
ผม , เอื้อ อัญชลี , สุภาพ พิมพ์ชน , ทินกร หุตางกูร , ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร และปรียา รวมตัวกันสองแห่งคือที่ท่าพระจันทร์ และบ้านทินกร ก่อนจะไปยังจุดหมายของเรา…รังสิต
บ้านเดิมของพี่สุชาติอยู่ที่ทุ่งสีกัน จนกระทั่งถูกกลุ่มนายทุนไล่ที่ พี่สุชาติจึงต้องหาที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านแห่งใหม่ จนกระทั่งมาได้ที่แถวดอนเมือง ซึ่งเป็นทำเลที่ค่อนข้างดี เพราะสมัยที่มาซื้อผืนดินแถบนี้ยังเป็นสวน มีเพียงทางรถไฟตัดผ่านเท่านั้น
แต่ในปัจจุบันซอยทางเข้ามหาวิทยาลัยรังสิต ทำให้ที่ดินแถบนี้มีราคาสูงขึ้น นอกจากจะมีถนนตัดผ่าน ยังมีถนน Local Road ตัดขนานทางรถไฟ ทำให้การกระจายตัวของหมู่บ้านจัดสรรค์ขยายวงกว้าง
เรามาถึงบ้านพี่สุชาติราว ๆ บ่ายสองโมง อากาศร้อนอบอ้าว ผมเคยมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่นั่นนานมากสักสองปีก่อน สภาพที่เห็นครั้งก่อนกับครั้งนี้จึงแตกต่างกัน
แต่ทางเข้าบ้านพี่สุชาติยังคงเหมือนเดิม และยิ่งร่มรื่นขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
ตอนแรกเราหลงทิศ และหาบ้านไม่เจอ จึงต้องสอบถามจากชาวบ้านแถวนั้น บังเอิญพี่ศรีดาวเรือง ขี่จักรยานออกมาซื้อของ เราจึงโชคดีที่ไม่ต้องขับรถหา
อันที่จริงจุดหมายของเรานอกจากจะมาเยี่ยมพี่สุชาติแล้ว ผมยังมีเป้าหมายที่รอคอยมานานคือ มาชมภาพเขียน ภาพพิมพ์ ของพี่สุชาติ
เมื่อเข้ามาถึงบริเวณบ้าน เราก็พบกับรูปเขียนต้อนรับ ที่พี่สุชาติเขียนขึ้นเป็นพิศษ
บริเวณบ้านมีตัวเรือนด้วยกัน 3 หลัง เรายังเห็นกล่องใส่หนังสือ และต้นฉบับมากมายกองอยู่ พี่สุชาติบอกว่านี่เป็นผลพวงจากการย้ายมาจากบ้านเก่า ทุกวันนี้ยังหาที่เก็บหนังสือได้ไม่ไหมด เพราะมีเยอะมาก บางกล่องต้องนำมาไว้ข้างนอก เสี่ยงต่อมดต่อปลวกพอสมควร
บริเวณบ้าน ซึ่งเรือนหลังนี้นอกจากจะเป็นห้องสมุดแล้วยังเป็นที่เก็บผลงาน ทางด้านภาพเขียนและภาพพิมพ์ เอาไว้จำนวนมาก จากการไถ่ถามพี่สุชาติ เราจึงรู้ว่าพี่สุชาติใช้เวลาเขียนภาพมากว่าสี่ห้าปีแล้ว
ส่วนบริเวณนี้เป็นสวน ปลูกทั้งพืชสวนครัว ไม้ผล แล้วก็ไม้ประดับ พี่ศรีดาวเรืองยังเลี้ยงปลาดุกเอาไว้ในบ่อข้างเรือนสองชั้นด้วย
โต๊ะทำงาน ที่นั่งเขียนหนังสือ มองออกไปเป็นสวน บนโต๊ะเต็มไปด้วยกองเอกสารอ้างอิง
จากซ้ายชุดขาว ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร , ทินกร หุตางกูร คนที่สามเสื้อเข้ม สุภาพ พิมพ์ชน หันหน้าให้กล้องคือ เอื้อ อัญชลี และพี่สุชาติ ในอริยาบทสบาย ๆ ช่วงบ่ายคล้อย แสงแดดสีเหลืองอบอุ่น
เรานั่งคุยกันไปเรื่อย ๆ หลายเรื่องหลากรส ทั้งงานชุมนุมช่างวรรณกรรมครั้งล่าสุด ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 มีนาคม 2544 ซึ่งเป็นงานระลึกถึง 96 ปี กุหลาบ สายประดิษฐ์ (ซึ่งเวลาหายไปหนึ่งปี จากการเปลี่ยนแปลงเวลาในช่วงที่ จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ประกาศ พี่สุชาติให้ทัศนะว่า ยังกับหนังแนวไซไฟ :-) ) และ 72 ปี คณะสุภาพบุรุษ
เราคุยกันจนถึงบทวิพากษ์ของธดา ที่มีต่อซัมเมอร์ และ อะ เดย์
จนกระทั่งช่วงเวลาที่เรารอคอยก็มาถึง
พี่สุชาติ กำลังเปิดผลงานภาพเขียนสีน้ำมันให้ศักดิ์ชัยชม ด้วยความตื่นตาตื่นใจ เพราะผลงานมีนับร้อย ๆ ชิ้น บางชิ้นใส่อยู่ในกรอบ บางชิ้นวางซ้อนทับ ส่วนภาพสเก็ตก็เก็บอยู่ในแฟ้มอย่างดี
แต่ละภาพมีหลายยุค ทำให้เห็นวิวัฒนาการในการเขียนภาพ (ภาพบน ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร กำลังชมภาพอย่างตื่นตะลึง)
ภาพบางส่วนใน Gallery ส่วนตัว ซึ่งมีมากพอ ๆ กับหนังสือ ระหว่างที่เราทั้งเปิดดู ทั้งงัดดู พี่สุชาติก็จะอธิบาย เทคนิคของการทำภาพชิ้นนั้น ๆ ให้ทราบ และแกถ่อมตัวว่าฝีมือยังอยู่ในขั้นอนุบาล แต่เท่าที่เราเห็นนั้น พิสูจน์ได้ว่าเป็นการเขียนภาพที่เอาจริงเอาจัง และมีพัฒนาการในการเขียนเป็นอย่างยิ่ง เราจึงคิดกันเล่น ๆ ว่าที่แกไม่เขียนเรื่องสั้นนั้น เป็นเพราะเอาพลังสร้างสรรค์มาปล่อยกับงานศิลปะนี่เอง :)
วันนั้นเราอยู่จนกระทั่งหัวค่ำ เอื้อ อัญชลี และสุภาพต้องกลับไปเลี้ยงแมวที่นครปฐม ศักดิ์ชัย ลัคนาวิเชียร เตรียมตัวไปปากช่องเขียนหนังสือ ส่วนทินกร หุตางกูรกำลังแก้ไขเรื่องสั้น “ทัจมาฮาล” เรื่องรักโรแมนติคที่กำลังจะรวมในหนังสือ “เรื่องรักธรรมดา” เราจึงจำต้องลาจากกันอีกครั้ง แต่การจากลาก็คือ การเริ่มต้นพบกันอีกครั้งหนึ่ง
ที่มา Thaiwriter.net