ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ควรหาซื้อและ รับประทานยาเอง เพื่อระงับอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น
ยาแก้หวัด และแก้ปวดหัว ตัวร้อน บางประเภทมีตัวยา ” ฟีนาซีตีน ” (Phenacetin) ซึ่งมีผลทำให้การทำงานของไตผิดปกติ
ยาแก้แพ้ ประเภทแอนติฮิสตามีน (Antihistamine) เป็นยารักษาโรคภูมิแพ้ อาการหวัดคัดจมูก และอาการแพัต่าง ๆ ยาประเภทนี้อาจส่งผลข้างเคียงแก่ทารกในครรภ์อาจทำให้ถึงพิการได้ถ้ากินมากๆ
ยาระงับประสาท ต่าง ๆ (Tranquillizers) อาจมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการหรือคลอดออกมาแล้วมีอาการเซื่องซึม ถ้าท่านเครียดมาก จนแก้ไขไม่ได้ด้วยตนเอง อาจจะขอคำปรึกษาจากแพทย์ ประจำตัว
ยาลดความอ้วน ไม่ใช่วิธีการควบคุมน้ำหนักที่ถูกต้องระหว่างการตั้งครรภ์
ยาปฏิชีวนะ อาจะส่งผลให้เด็กมีฟันเหลืองและไม่แข็งแรงรวมทั้งยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนิโคติน คาเฟอีน และสารอื่น ๆ อีกมากมายหลายชนิด
ทางที่ดีเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุดคือ หลีกเลี่ยงจากยาทุกประเภท ยกเว้นตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ข้อระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
ยาบางชนิดที่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ อาจมีผลต่อสุขภาพของผู้เป็นมารดาโดยตรง หรืออาจผ่านรกเข้าไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ บางชนิดที่ใช้ในหญิงที่ให้นมบุตร สามารถผ่านไปเจือปนอยู่ในน้ำนมของมารดา มีผลต่อสุขภาพของทารกที่กินนมมารดาได้ และบางชนิดถ้าใช้ในทารกโดยตรง ก็อาจมีโทษต่อทารกได้ ดังนั้น ในการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตรและในทารก จึงต้องระมัดระวังอย่างพิเศษ
ในที่นี้ จะขอสรุปเฉพาะยาที่ใช้บ่อยในการรักษาโรคทั่วไปเท่านั้น คงไม่ครอบคลุมถึงยาทุกชนิดที่มีผลต่ออนามัยของมารดาและเด็ก
1. ยาที่อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการ ซึ่งไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ที่พบบ่อยเช่น
- ฮอร์โมนเพศหญิง – เอสโตรเจน
- สารปรอท
- ยารักษาโรคลมชัก-เฟนิโทอิน มีชื่อทางการค้า เช่น ไดแลนทิน
- แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์)
2. ยาที่อาจมีพิษหรือผลข้างเคียงต่อทารกในครรภ์ ซึ่งไม่ควรใช้ในหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เช่น
- แอสไพริน ถ้ากินในระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกที่เกิดมามีเลือดออกง่าย
- ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ เช่น อินโดเมทาซิน , เฟนิลบิวตาโซน อาจทำให้ทารกเลือดออกง่าย
- เตตราไซคลีน ถ้าใช้ในหญิงตั้งครรภ์ระยะไตรมาสที่ 2 และ 3 อาจทำให้ทารกฟันเหลืองดำ กระดูกเจริญเติบโตผิดปกติ (สมองพิการปัญญาเสื่อม)
- ยาประเภทซัลฟา ถ้าใช้ในหญิงระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกเกิดอาการดีซ่านและสมองพิการได้
- คลอแรมเฟนิคอล อาจทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการตัวเขียว เนื้อต้วอ่อนปวกเปียก ตัวเย็น หมดสติดังที่เรียกว่า เกรย์ซินโดรม
- สเตรปโตไมซิน คาน่าไมซิน , เจนตาไมซิน ถ้าใช้นาน ๆ อาจทำให้ทารกหูพิการได้
- ยาเสพติด (เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน) ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้กดศูนย์ควบคุมการหายใจของทารก (ทำให้ทารกเกิดมาหยุดหายใจ) หรือมีอาการขาดยา ทำให้ทารกชักได้
- ฟีโนบาร์บิทาล ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจกดศูนย์ควบคุมการหายใจของทารก (ทำให้ทารกเกิดมาหยุดหายใจ) หรือมีเลือดออกได้
- ยาแก้ชัก เช่น ไดแลนทิน อาจทำให้ทารกเลือดออกง่าย
- ยานอนหลับ เช่น เมโพรบาเมต อาจทำให้ทารกเจริญเติบโตช้า
- ยารักษาคอพอกเป็นพิษ ได้แก่ เมทิมาโซล อาจทำให้ทารกเกิดโรคต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย ตัวเตี้ยแคระและปัญญาอ่อน
- ยารักษาเบาหวานชนิดกิน เช่น คลอร์โพรพาไมด์ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในเด็กแรกเกิดได้
- ยารักษา มาเลเรีย คลอโรควีน อาจทำให้มีพิษต่อหูของเด็ก
- ยาควินิน ถ้าให้จำนวนมาก อาจทำให้แท้งบุตร หรือมีพิษต่อหูของเด็กได้
- ยาความดัน รีเซอร์พีน ถ้าใช้ในระยะใกล้คลอด อาจทำให้ทารกแรกเกิดมีอาการคัดจมูก ตัวเย็น หัวใจเต้นช้า ตัวอ่อนปวกเปียก
- ยาพวกโพรพราโนลอล อาจทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า ทารกแรกเกิดมีชีพจรเต้นช้า หรือเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- บุหรี่ ถ้าสูบมากอาจทำให้ทารกตายในครรภ์ แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด หรือทารกอาจเกิดมาน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
3. ยาที่อาจมีอันตรายต่อหญิงที่ตั้งครรภ์
ยาที่อาจมีโทษหรืออันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์โดยตรงเช่น
- แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตอรอยด์ อาจทำให้คลอดเกินกำหนด และคลอดยาก
- เตตราไซคลีน อาจมีพิษต่อตับอย่างรุนแรง จนเป็นอันตรายได้
- ไนโตรฟูแรนโทอิน อาจทำให้ตับอักเสบ โลหิตจาง
4. ยาที่ควรหลีกเลี่ยงในระยะให้นมบุตร
มารดาที่เลี้ยงบุตรด้วยนมตัวเอง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่สามารถปนอยู่ในน้ำนม ซึ่งอาจมีโทษต่อทารกได้ เช่น
- เตตราไซคลีน อาจทำให้ฟันเหลืองดำและกระดูกเจริญผิดปกติ
- ซัลฟา อาจทำให้ทารกมีอาการดีซ่าน และสมองพิการ
- ซัลฟา ไนโตรฟูแรนโทอิน อาจทำให้ทารกเกิดโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้ามีภาวะพร่องเอนไซม์ จี-6-พีดี
- คลอแรมเฟนิคอล อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ
- อะม็อกซีซิลลิน อาจทำให้เด็กท้องเดิน
- เมโทรไนดาโซล อาจทำให้เด็กเบื่ออาหาร อาเจียน
- แอสไพริน อาจทำให้เกิดผื่นในทารก
- แอลกอฮอล์ บาร์บิทูเรต อาจทำให้เด็กง่วงซึมได้ และถ้าแม่ดื่มสุรามาก ๆ อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตสมองเด็ก
- ฮอร์โมนเพศ เช่น เอสโตรเจน โพรเจสเตอโรนแอนโดรเจน อาจทำให้น้ำนมลดน้อยลง หรือหยุดไหล
- ยารักษาเบาหวานชนิดกิน ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารก
- รีเซอร์พีน ทำให้เด็กคัดจมูก มีเสมหะมาก
5. ยาที่ทารกและเด็กเล็กไม่ควรใช้
ยาที่อาจเป็นอันตรายต่อทารก และเด็กเล็ก เช่น
- แอสไพริน ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ อาจทำให้มีเลือดออกได้
- ยาแก้แพ้ ไม่ควรใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 สัปดาห์ อาจทำให้ซึม นอนไม่หลับ หรือชักได้
- เตตราไซคลีน ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี อาจทำให้ฟันเหลืองดำอย่างถาวร และกระดูกเจริญไม่ดี
- คลอแรมเฟนิคอล ห้ามใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 4 เดือน อาจทำให้เด็กตัวเขียว เนื้อตัวอ่อนปวกเปียกหมดสติ ดังที่เรียกว่า เกรย์ชินโดรม
- ซัลฟา ห้ามใช้ในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน อาจทำให้เกิดอาการดีซ่านและสมองพิการได้
- ยาแก้ท้องเดินประเภทลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น ทิงเจอร์ฝิ่นการะบูน, โลโมทิล ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจกดศูนย์การหายใจ เป็นอันตรายได้