การแสดงหุ่นไทย

การแสดงหุ่นไทย

สมัยอยุธยา

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุด ที่กล่าวถึงการเล่นหุ่นในประเทศไทย คือ จดหมายเหตุของบาทหลวงตาชาร์ต ผู้เป็นราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งประเทศฝรั่งเศส ที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ และจดหมายเหตุของลาลูแบร์ ผู้เป็นอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) จดมายเหตุทั้ง ๒ ฉบับได้บันทึกถึงการเล่นหุ่น เอกสารดังกล่าวทำให้สันนิษฐานได้ว่า การแสดงหุ่นอาจเกิดก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้มีการแสดงเรื่อยมา แต่จะเป็นรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดไม่มีหลักฐานยืนยัน หรือการแสดงหุ่นอาจเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สืบค้นได้ในเวลานี้ จึงจำเป็นต้องถือว่า ได้มีการแสดงหุ่นตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๒๘ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามีการแสดงหุ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลาประมาณ ๓๐๐ ปี

สมัยกรุงธนบุรี

สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช มีหลักฐานการเล่นหุ่นในงานพระราชพิธีต่างๆอยู่ในหมายรับสั่งหลายฉบับ เช่น พ.ศ. ๒๓๑๙ พระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระพันปีหลวง กรมหลวงพิทักเทพามาต (พระราชมารดา) ณ วัดบางยี่เรือนอก ให้มีการแสดง โขน งิ้ว หนังกลางวัน และหุ่น ในพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตจากนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว มาประดิษฐานในพระราชวังกรุงธนบุรีใน พ.ศ. ๒๓๒๒ มีการมหรสพสมโภชพระแก้วมรกต โดยมีการเล่นมหรสพต่างๆรวมทั้งหุ่นด้วย

สมัยรัตนโกสินทร์

หมายรับสั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชวงศ์จักรี หมายรับสั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และหมายรับสั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีข้อความให้มีการมหรสพต่างๆตามโบราณราชประเพณี และสมัยนิยม ได้แก่ โขน ละคร งิ้ว หนัง และหุ่น

หลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๓ คือ “คำให้การของจีนกั๊ก” ปรากฏอยู่ในประชุมพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๓ ฉบับเรียบเรียงโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกว่า พ.ศ. ๒๓๘๙

“พระยาสวัสดิวารีจัดเรือสำเภาให้จีนกั๊กบรรทุกสินค้าไปขายให้เจ้าเมืองเกาะบาหลี ครั้นกลับมาถึงพระนคร ให้ถามคำให้การ จีนกั๊กให้การว่า เจ้าเมืองเกาะบาหลีถามถึงการมหรสพในกรุงรัตนโกสินทร์ จีนกั๊กได้ให้การว่า มีการมหรสพ โขน ละคร หุ่น และหนัง เป็นที่พอใจแก่เจ้าเมืองเกาะบาหลี”

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี มีหมายรับสั่งหลายฉบับกล่าวถึงการมหรสพต่างๆ รวมถึงการเล่นหุ่นในงานสมโภช งานพระเมรุ และงานพระราชพิธีสำคัญๆต่างๆ พระราชพิธีที่น่าสนใจคือ งานสมโภชช้างเผือกใน พ.ศ. ๒๓๙๗ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการมหรสพสมโภชฯ และการเล่นหุ่นเป็นมหรสพหนึ่งที่ทรงโปรดเกล้าฯให้มี

ประชุมพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ บันทึกว่า พ.ศ. ๒๔๐๖ พระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ (พระองค์เจ้าชายกุญชร) โอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นเจ้ากรมมหรสพ และเจ้ากรมหุ่นของหลวงสิ้นพระชนม์ ทรงโปรดเกล้าให้พระองค์เจ้าชายสิงหนาทราชดุรงค์ฤทธิ์ พระโอรสในพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมมหรสพ และเจ้ากรมหุ่นของหลวง บันทึกนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และความนิยมในการเล่นหุ่นว่ามีความนิยม และมีภารกิจในการแสดงมาก จึงยกฐานะให้เป็นกรมหุ่นด้วยเสมอคู่กับกรมมหรสพ ในสมัยอยุธยาไม่พบชื่อกรมหุ่น พบแต่กรมมหรสพ การยกฐานะเป็นกรมหุ่นเมื่อไรยังสืบไม่พบหลักฐาน สันนิษฐานว่าตั้งกรมหุ่นในสมัยรัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา

เอกสารราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์ ได้แก่ หมายรับสั่ง จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ราชกิจจานุเบกษา บันทึกงานพระเมรุตลอดรัชกาล เช่น งานพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ณ ท้องสนามหลวง พ.ศ. ๒๔๑๒ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีโขน ละคร หนัง และหุ่น เล่นสมโภช ๓ วัน ๓ คืน งานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์อายุครบ ๑๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ ทรงโปรดเกล้าให้มีมหรสพฉลองพระนคร ณ ท้องสนามหลวง ๔ วัน มีโขน หุ่น งิ้ว ละครไทย ละครชาตรี และทิ้งทานผลกัลปพฤกษ์ งานสมโภชพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเปล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัตจากยุโรปสู่พระนครใน พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นเวลา ๒๔ วัน มีมหรสพต่างๆตามราชประเพณี รวมการเล่นหุ่นไว้ด้วย

เหตุการณ์สำคัญที่มีผลต่อประวัติศาสตร์การมหรสพไทยคือ ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว. หลาน กุญชร) เจ้ากรมมหรสพ เจ้ากรมหุ่นหลวง เจ้ากรมโขน เจ้ากรมรำโคม และเจ้ากรมปี่พาทย์ เจ็บป่วยทุพลภาพ ต้องถวายบังคมลาออกจากราชการ เลิกเล่นโขน ละครทั้งปวง และถึงอสัญกรรมใน .พ.ศ. ๒๔๖๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ใดมาเป็นเจ้ากรมแทน ทำให้กรมหรสพ หุ่นหลวง โขน และปี่พาทย์ ขาดการกำกับดูแลส่งเสริมอย่างใกล้ชิด

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ใน พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงโปรดเกล้าให้รวมกรมโขน และกรมปี่พาทย์ไว้กับกรมมหรสพเป็นกรมเดียว มีข้อสังเกตว่าไม่ได้กล่าวถึงกรมหุ่น และกรมรำโคมไว้ด้วย ตลอดรัชกาลที่ ๖ ไม่พบเอกสารราชการที่กล่าวถึงการแสดงหุ่นของหลวงในงานพระเมรุ และพระราชพิธี แต่ในงานพิธี และงานรื่นเริงของชาวบ้านทั่วไปยังนิยมชมการแสดงหุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็ก
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชนิยมส่วนพระองค์ในการละครอย่างตะวันตก สันนิษฐานว่าการแสดงหุ่นของหลวงก็คงได้รับผลกระทบจนเสื่อมความนิยมลงเป็นอันดับ
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ตลอดรัชกาลประเทศไทยประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ กรมมหรสพถูกยุบให้มารวมไว้กับกระทรวงวังใน พ.ศ. ๒๔๖๙

พ.ศ. ๒๔๗๕ สมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีการปรับปรุงหน่วยราชการให้มีประสิทธิภาพ และประหยัด อาจเป็นเหตุที่ทำให้การมหรสพทุกชนิดของราชการตกต่ำมากที่สุด มหรสพ และการละเล่นหลายประเภทจึงขาดผู้สืบทอดศิลปการแสดง ส่งผลให้มหรสพ และการละเล่นบางอย่างสาบสูญไปจากสังคมไทย ได้แก่ การเล่นหุ่นหลวง มอญรำ เทพทอง รำโคม ระเบง โมงครุ่ม กุลาตีไม้ ไม้ลอย ญวนหก นอนหอก นอนดาบ ไต่ลวด กระอั้วแทงควาย แทงวิไสย วิ่งวัว และขี่ช้างไล่ม้า ฯลฯ

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีกลุ่มปัญญาชนไทย ที่มองเห็นการณ์ไกล ได้ให้ความสนใจ และสนับสนุนเพื่อการสืบทอดศิลปการแสดงละครนอก หนังใหญ่ หุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็กให้อยู่คู่สังคมไทย อันได้แก่ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ), พลตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, อาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย, ครูสาคร ยังเขียวสด ผู้สืบทอดศิลปการแสดงหุ่นละครเล็ก, อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต และท่านอื่นๆอีกมาก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.