นางประยูร ยมเยี่ยม

นางประยูร ยมเยี่ยม ศิลปินแห่งชาติ

นางประยูร ยมเยี่ยม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลำตัด) พุทธศักราช ๒๕๓๗

โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

เมื่อฉบับที่แล้วผมได้นำเสนอเรื่องราวพร้อมทั้งภาพของ “หวังเต๊ะ” ยอดศิลปินลำตัดชายมือ ๑ ของประเทศไทยผ่านไปแล้ว ในฉบับนี้ ผมก็ได้นำภาพ “แม่ประยูร” ยอดลำตัดฝ่ายหญิงที่ผมถ่ายไว้ในคราวเดียวกันมาให้ชม ซึ่งหากท่านลองนำภาพของทั้ง ๒ ท่าน มาวางดูคู่กัน ท่านก็จะได้เห็นว่าอารมณ์ของภาพทั้ง ๒ เมื่ออยู่คู่กันนั้นดีกว่าการดูทีละภาพมาก เมื่อได้เห็นภาพแม่ประยูรในฉบับนี้แล้ว ก็ลองมาอ่านประวัติความเป็นมาของท่านดูกันนะครับ ว่ากว่าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นที่สุดแห่งวงการลำตัดฝ่ายหญิงของประเทศ ท่านได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมาอย่างไรบ้าง

แม่ประยูร มีชื่อและนามสกุลจริงว่า นางประยูร ยมเยี่ยม เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖ ที่จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบันอายุ ๖๘ ปี ท่านมีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก สามารถอ่านบทร้อยกรองได้อย่างไพเราะ ทั้งยังมีความทรงจำดีเยี่ยม เมื่ออายุได้ราว ๑๓-๑๔ ปี คุณตาของท่านซึ่งมองเห็นแววว่าท่านน่าจะเป็นนักแสดงที่ดีได้ จึงสนับสนุนให้เอาดีทางด้านการแสดงโดยการไหว้วานคนรู้จักที่ชื่อนายแดงให้ช่วยหาครูสอนเพลงพื้นบ้านให้ นายแดงจึงได้พาแม่ประยูรไปเรียนกับครูบาง ที่ตำบลบางไผ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งครูบางก็ได้สอนการเล่นลำตัดให้จนแม่ประยูรเล่นได้ดี และเริ่มออกแสดงลำตัดเป็นครั้งแรกเมื่อราวปี ๒๔๙๑ ขณะที่มีอายุได้ ๑๕ ปี

ครั้นอายุประมาณ ๑๘ ปี แม่ประยูรก็ได้สมัครเข้าเล่นลำตัดกับคณะแม่จำรูญ ซึ่งเป็นลำตัดที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งแม่จำรูญก็ได้ช่วยถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านและลำตัดให้แม่ประยูรอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความชำนาญและมีประสบการณ์ยิ่งขึ้น สามารถด้นกลอนสด และแต่งคำร้องได้อย่างเฉียบแหลมคมคาย และได้มีโอกาสออกแสดงเป็นประจำ จนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป ในช่วงที่ร่วมคณะลำตัดกับแม่จำรูญนั้น แม่ประยูรก็ได้พบกับ “หวังเต๊ะ” และได้ร่วมประชันลำตัดกันอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นคู่ประชันลำตัดยอดนิยมสูงสุด จากนั้นก็ได้แต่งงานอยู่กินกันจนมีบุตรด้วยกัน ๒ คน ก่อนที่จะหย่าขาดจากกัน แต่ก็ยังคงแสดงลำตัดร่วมกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน (ซึ่งผมก็ได้เล่าความยิ่งใหญ่และโด่งดังของทั้ง ๒ ท่านนี้เอาไว้แล้วในฉบับก่อน จึงจะไม่ขอเล่าซ้ำอีก)

นอกจากลำตัดแล้ว แม่ประยูรยังมีความสามารถในการแสดงเพลงพื้นบ้านอีกหลายประเภท ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ และเพลงขอทาน เป็นต้น ท่านได้ตระเวนออกแสดงเพลงพื้นบ้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำตัด ไปทั่วประเทศและยังเป็นผู้ริเริ่มในการนำลำตัดมาจัดทำเป็นเทปคาสเซ็ทท์ และวิดีโอออกจำหน่ายหลายชุด ได้แก่ ชุดจุดเทียนระเบิดถ้ำ ชุดดังระเบิด ชุดเกิดแก่เจ็บตาย และชุดชายสอนหญิง เป็นต้น

แม่ประยูรได้ช่วยเหลือสังคมส่วนรวมด้วยการร่วมแสดงในงานการกุศลต่างๆ มิได้ขาด ตลอดจนเป็นสื่อช่วยการประชาสัมพันธ์และการรณรงค์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ อาทิ การรณรงค์ต่อต้านภัยจากคอมมิวนิสต์ และการต่อต้านโรคเอดส์ เป็นต้น โดยแต่งเนื้อร้องลำตัดที่ทันต่อเหตุการณ์ สามารถสื่อความหมายให้ผู้ฟังได้รับทั้งข้อมูลข่าวสารในรูปแบบใหม่ที่ให้ความบันเทิงอย่างแยบคายและสนุกสนาน ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังมีความมุ่งมั่นที่จะเผยแพร่และรักษาไว้ซึ่งเพลงพื้นบ้านต่างๆ อันเป็นศิลปะวัฒนธรรมที่สูงค่าของชาติเอาไว้ โดยได้อุทิศตนถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์ทางด้านนี้ให้แก่นิสิตนักศึกษาในสถานศึกษาต่างๆ เช่น วิทยาลัยนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ตลอดจนผู้ที่มีใจใฝ่ศึกษาโดยทั่วไป ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจอย่างละเอียดไม่ปิดบัง ทั้งสาธิตให้ดูอย่างชัดเจน และเอาใจใส่ฝึกฝนแก้ไขให้อย่างใกล้ชิด จนสามารถสร้างศิลปินเพลงรุ่นใหม่ที่มีความสามารถหลายคน จนสามารถนำไปเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวได้ ศิษย์ของท่านเหล่านี้ยังเป็นความหวังและกำลังสำคัญที่จะช่วยกันสืบทอดศิลปะแขนงนี้ให้ยั่งยืนต่อไปได้ นอกจากนั้น ท่านยังได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไปแสดงเผยแพร่ในจังหวัดต่างๆ เนื่องในงานเทศกาลสำคัญๆ หรืองานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ยิ่งไปกว่านั้น แม่ประยูรยังเคยได้รับเชิญให้นำคณะลำตัดไปแสดงที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย โดยได้ออกตระเวนแสดงลำตัดให้คนไทยในสหรัฐอเมริกาชมถึง ๓๓ รัฐ เป็นเวลานานกว่า ๓ เดือน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากผู้ชมอย่างดียิ่ง

จากเกียรติประวัติของการเป็นยอดศิลปินลำตัดฝ่ายหญิงที่ไม่มีใครเทียบเทียมได้ ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยกย่องให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลำตัด) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ เป็นท่านที่ ๒ ต่อจากลุงหวังเต๊ะ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติไปก่อนหน้านั้นแล้ว

เนื่องจากเมื่อฉบับก่อน ผมได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายภาพลุงหวังเต๊ะ และแม่ประยูรไปแล้ว ฉบับนี้จึงขอนำภาพบรรยากาศเบื้องหลังการถ่ายทำมาให้ท่านชมเพิ่มเติมแทนการฉายหนังซ้ำกัน

ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่านครับ ผมได้นำเสนอเรื่องราวและภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติ กว่า ๑๐๐ ท่าน ที่ผมได้ไปตระเวนถ่ายภาพมาให้ท่านได้ชมกันในคอลัมน์นี้เป็นเวลากว่า ๒ ปี จนครบถ้วนเสร็จสมบูรณ์แล้ว ดังนั้นคอลัมน์ “คนในภาพถ่าย” นี้ก็จะจบชุด “ศิลปินแห่งชาติ” ลงเพียงเท่านี้ และจะเปลี่ยนชื่อเป็นชุด “สู่โลกกว้าง” แทน ทั้งนี้หมายถึงว่าคอลัมน์นี้จะยังคงอยู่ตามเดิม แต่บุคคลในภาพถ่ายที่ผมจะนำเสนอนั้น จะไม่จำกัดอยู่เพียงศิลปินแห่งชาติ หรือกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป หากจะเป็นการเปิดออกสู่โลกกว้างเหมือนชื่อของชุดที่อุตส่าห์ตั้งขึ้นใหม่ ที่เกิดความคิดเช่นนี้ก็เนื่องมาจากเสียงสะท้อนของท่านผู้อ่านที่มีเข้ามา ตลอดจนผู้คนที่รู้จักคุ้นเคยที่มักจะถามผมอยู่เสมอว่า “ทำไมถึงถ่ายแต่ภาพคนแก่ๆ ไม่ถ่ายภาพคนหนุ่มคนสาวบ้าง” ซึ่งผมก็ต้องอธิบายไปว่า ในเมื่อผมตั้งวัตถุประสงค์ในการทำงานชุดนี้ว่าเป็นการถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติ ภาพที่จะถ่ายก็ย้อมจะต้องจำกัดอยู่ในกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้เท่านั้น และการที่ใครสักคนจะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาตินั้น แต่ละท่านล้วนต้องสั่งสมประสบการณ์ และสร้างผลงานศิลปะในแนวทางแห่งตนมาเป็นระยะเวลายาวนาน จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นยอดแห่งทางนั้นๆ จริงๆ ทั้งยังต้องผ่านกระบวนการสรรหาที่ละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายขั้นตอน จนเป็นที่แน่ใจได้ว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนกระบวนความตามที่กำหนดไว้ทุกประการ หาได้ใช้วิธีการจับสลากหรือตั้งเอาตามชอบใจของผู้ใดไม่ ดังนั้นจึงไม่มีเด็กๆ หรือหนุ่มสาวคนใดที่เคยได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติเลย ท่านที่ได้รับตำแหน่งนี้ที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาก็อายุ ๔๘ ปี แต่แทบจะเป็นรายเดียวก็ว่าได้ นอกจากนั้นล้วนมีเลข ๕ ๖ ๗ ๘ หรือ ๙ นำหน้าอายุทั้งสิ้น และบางท่านกว่าที่ผมจะได้ถ่ายภาพท่าน ก็มีอายุล่วงเลย ๑๐๐ ปี ไปแล้ว นี่คือกรอบบังคับที่ผมเลือกไม่ได้สำหรับการถ่ายภาพชุดนี้ แต่เมื่อมีข้อทักท้วงเช่นนี้เข้ามามากมาย ผมจึงตั้งใจว่าในชุดใหม่นี้ ผมก็จะไม่หากรอบมาบังคับตัวเองเช่นเดิมอีกต่อไป แต่จะเลือกถ่ายภาพบุคคลจากหลากหลายวงการที่ผมคิดว่าน่าสนใจ ซึ่งอาจจะมีตั้งแต่ วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน ผู้สูงอายุ จนถึงวัยที่เรียกว่า “ไม้ใกล้ฝั่ง” หลายท่านจะเป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดีในสังคม แต่หลายท่านก็อาจเป็นคนที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่ผมเห็นว่าน่าถ่ายภาพจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ในการนี้ จะมีภาพถ่ายส่วนหนึ่งที่ผมเคยถ่ายเก็บไว้นานแล้ว แต่ยังไม่เคยนำออกเผยแพร่มาก่อน ซึ่งหลายท่านก็จากไปแล้ว และหลายท่านแม้ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ก็อาจดูแตกต่างจากเมื่อวันที่ผมถ่ายภาพเอาไว้ นอกจากการเปลี่ยนแปลงดังที่ว่ามานี้แล้ว ผมยังจะเปลี่ยนแปลงวิธีการเขียนเรื่องจากที่เคยเป็นชีวประวัติแบบเป็นงานเป็นการยาวๆ มาเป็นการเขียนเรื่องที่เบาๆ และกระชับลง ไม่ลงลึกในรายละเอียดเหมือนที่ผ่านมา เพราะมีเพื่อนฝูงที่พูดจาแบบจริงใจ และไม่เกรงใจผมหลายคนพูดถึงคอลัมน์ของผมว่า “ดูแต่รูป ไม่ค่อยได้อ่านเรื่อง”

สำหรับศิลปินแห่งชาติที่จะได้รับการยกย่องใหม่ในอนาคต ผมก็ขออาสาที่จะติดตามไปถ่ายภาพมาให้ท่านชมกันในคอลัมน์นี้เช่นกัน

คนในภาพถ่ายชุดใหม่นี้คงจะเริ่มต้นต่อไป หากรักกันจริงก็ขอให้ติดตามกันเหมือนเดิมนะครับ ผมจะได้มีกำลังใจออกไปถ่ายรูปผู้คนมาให้ดูกันไปอีกนานๆ ครับ

 

ขอขอบคุณ

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล

บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ

คุณบันลือ อุตสาหกิจ แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.