ขนมกรุบกรอบ

ขนมกรุบกรอบทำเด็กไทยเสี่ยงสารพัดโรค

น.ส.ประไพศรี ศิริจักรวาล หัวหน้าฝ่ายมนุษยโภชนา สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง “ภัยขนมกรุบกรอบ ทำร้ายสุขภาพเด็กไทย” ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ว่า ขนมปังประเภทแม็กซิกันบัน หรือขนมปังก้อน ซึ่งเป็นขนมที่กำลังได้รับความนิยมมาก มีไขมันปริมาณสูง โดย ขนมปัง 1 ก้อน มีปริมาณไขมันอยู่ที่ 32.5 กรัม คิดเป็น 50% คอเลสเตอรอลอยู่ที่ 117 มิลลิกรัม คิดเป็น 39% น้ำตาลอยู่ที่ 27.7 กรัม ซึ่งเกินกว่าปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน ซึ่งถือว่าอันตรายมาก ที่ขนมเพียง 1 ชิ้น ให้ปริมาณไขมันอิ่มตัว น้ำตาล สูงอย่างมาก หากรับประทานมากจะนำไปสู่โรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจ และเบาหวานได้

นักวิจัยรายนี้ กล่าวว่า ขนมและอาหารว่างประมาณ 700 ตัวอย่าง มีเพียง 10% ผ่านเกณฑ์โภชนาการ และใน 10% นี้ก็ไม่ได้ผ่านทั้งหมด แบ่งออกได้ 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มลูกอม หมากฝรั่ง เยลลี พบน้ำตาลและสารให้ความหวานเป็นส่วนผสมจำนวนมาก 2.กลุ่มช็อกโกแลต มีไขมันกับน้ำตาลในปริมาณสูง 3.กลุ่มถั่วและเมล็ดพืช มี ไขมันและโซเดียมมาก 4.กลุ่มปลาเส้นปรุงรสต่างๆ ปลาอบกรอบ แม้จะมีโปรตีน แต่มีโซเดียมสูง ยิ่งปรุงรสเข้มข้นก็ยิ่งมีโซเดียมมากขึ้น 5.กลุ่มมันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ข้าวอบกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ แป้งทอด จะเต็มไปด้วยโซเดียมและไขมัน

งานวิจัยระบุอีกว่า ขนมกรุบกรอบกว่า 90% นอกจากมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยยังมีสารที่อันตรายต่อสุขภาพ มีโซเดียมและส่วนผสมให้เกิดรสเค็มสูงมาก ทั้งที่เด็กไม่ควรได้รับโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม แต่ผลการศึกษาพบเด็กได้รับโซเดียมจากขนมมากกว่าเกณฑ์ 3-4 เท่า ซึ่งไตจะทำงานหนัก เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง และเป็นต้นเหตุให้เด็กขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย กลายเป็นเด็กอ้วน ฟันผุ เพราะขนมและน้ำอัดลม

นพ.จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน หัวหน้าหน่วยสำนักงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ไทยมีประชากรวัยเด็กประมาณ 10 ล้านคน มีเด็กอ้วนประมาณ 20% หรือร่วม 2 ล้านคน เด็กอ้วนเหล่านี้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดภาวะไตวายในอายุน้อยลงจากโรคเบาหวาน โรคอ้วน

“สถานการณ์โรคอ้วนของเด็กไทยน่าวิตกมาก โรงเรียนขนาดกลางมีเด็กอ้วน 20% และครึ่งหนึ่งของ 20% มีปัญหาความดันสูง ปริมาณน้ำตาลสูง และปริมาณไขมันสูง หรือ 1 ใน 10 ของเด็กทั้งโรงเรียนมีปัญหาสุขภาพจากความอ้วนและขนมขบเคี้ยว

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรกำหนดให้ขนมทุกชนิดติดฉลาก จำกัดการโฆษณาเนื่องจากในปี 2548 ผู้ผลิตขนมทุ่มโฆษณาขนมถึง 1,117 ล้านบาท โดยโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์มากที่สุด 970 ล้านบาท และกระทรวงศึกษาธิการห้ามให้ทุกโรงเรียนจำหน่ายน้ำอัดลม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.