จำเรียง พุธประดับ

นางสาวจำเรียง พุธประดับ

นาฏศิลป์ไทยนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นเอกที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างสรรค์ไว้ให้ เสมือนหนึ่งอัญมณีอันสูงค่าที่ประดับประดาเพิ่มเสน่ห์และศรีสง่าแก่ลูกหลานไทยทุกคน ศิลปะอันเลิศล้ำแขนงนี้ ได้รับการถ่ายทอดต่อกันมาจากบรมครูในอดีตรุ่นแล้วรุ่นเล่าจนมาถึงทุกวันนี้

ครูจำเรียง พุธประดับ นับเป็นนาฏศิลปินผู้มีอาวุโสสูงสุดในปัจจุบัน ผู้มีความรอบรู้ด้านนาฏศิลป์ไทยอย่างลึกซึ้ง และถือเป็นเสาหลักสำคัญในการถ่ายทอดความรู้อันถูกต้องตามแบบฉบับดั้งเดิมที่ท่านสามารถจดจำได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำที่สุด

ครูจำเรียง พุธประดับ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๕๙ ที่จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันอายุ ๘๕ ปี ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมจากโรงเรียนประจำจังหวัดเพชรบุรีแล้ว ท่านก็ออกจากโรงเรียน เพื่อฝึกฝนนาฏศิลป์ไทยอย่างจริงจัง ด้วยมีความประทับใจจากการที่ได้มีโอกาสไปเห็นการฝึกโขนและละครหลวงที่วังสวนกุหลาบซึ่งญาติที่เป็นข้าราชบริพารอยู่ในวังนั้นพาไปชม

ต่อมา ครูจำเรียงก็ได้รับการคัดเลือกให้ฝึกละครหลวง ในสังกัดกรมพิณพาทย์หลวง กระทรวงวังในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยอยู่ในความปกครองของเจ้าจอมมารดาสาย และคุณจอมละม้าย ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อเริ่มแรกครูจำเรียงได้รับการฝึกหัดละครขั้นพื้นฐานอย่างเข้มงวดกับครูจุไร สุวรรณทัต โดยฝึกเป็นตัวนาง เริ่มต้นด้วยการฝึกฝนท่ารำเบื้องต้น ไปจนถึงท่ารำขั้นสูง อันได้แก่ ระบำดาวดึงส์ ระบำพรหมศาสตร์ ระบำเมฆขลา และระบำสี่บถ เป็นต้น ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีใจรักในทางนาฏศิลป์อย่างแท้จริง ประกอบกับความวิริยะอุตสาหะ ทำให้ครูจำเรียงมีทักษะในการรำดีเด่น ทั้งยังสามารถจดจำท่ารำ และจังหวะลีลาที่ได้เรียนรู้มาได้อย่างแม่นยำ จากนั้น ครูจำเรียง พุธประดับ ก็ได้มีโอกาสฝึกฝนนาฏศิลป์เพิ่มเติมกับหม่อมครูต่วน (ศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก) ครูแปลก และครูท่านอื่นๆ ที่บ้านของเจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์อีกด้วย

ต่อมาทางการได้มีคำสั่งให้โอนย้ายโขนละครหลวงจากกรมพิณพาทย์หลวงกระทรวงวัง มาสังกัดในกรมศิลปากร ครูจำเรียงจึงได้ย้ายสังกัดมาอยู่ที่โรงเรียนศิลปากร แผนกนาฏดุริยางค์ โดยรับหน้าที่เป็นครูสอนวิชานาฏศิลป์และการละคร และเป็นศิลปินผู้แสดงนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรด้วย

ด้วยความสามารถอันโดดเด่น ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความแม่นยำในกระบวนรำ ทำให้ครูจำเรียงได้รับการมอบหมายให้แสดงเป็นนางเอก และตัวเอกฝ่ายนางใน และได้รับการวางตำแหน่งให้รำเป็นตัวนางคู่หน้าเสมอ ผลงานการแสดงเด่นๆ ที่ครูจำเรียงเคยได้รับบทแสดง ได้แก่

    • แสดงเป็นนางนารายณ์ ในการแสดงโขนชุดนารายณ์ปราบนนทุก
    • แสดงเป็นพราหมณ์เกศสุริยงในละครนอกเรื่องสุวรรณหงส์ ตอนพราหมณ์เล็ก พราหมณ์โต
    • แสดงเป็นนางจันทร์ ในละครเรื่องพระร่วง
    • แสดงเป็นรจนา ในละครนอกเรื่องสังข์ทองตอนเลือกคู่
    • แสดงเป็นนางสีดา (เบญกายแปลง) ในโขนชุดนางลอย
    • แสดงเป็นนางพญาคำปิน ในละครเรื่องพญาผานอง เป็นต้น

ในระหว่างที่รับราชการอยู่ที่กรมศิลปากรนั้น ครูจำเรียง พุธประดับ ได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกับครูนาฏศิลป์ท่านสำคัญของกรมศิลปากรหลายท่าน อาทิ คุณหญิงเทศ นัฏกานุรักษ์ ครูมัลลี คงประภัศร์ ครูลมุล ยมะคุปต์ ครูผัน โมยากุล ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี และครูเฉลย ศุขวณิช เป็นต้น

นอกจากงานสอนและงานแสดงอันเป็นงานหลักในหน้าที่แล้ว ครูจำเรียงยังได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะพาบรรดาศิลปินและนักเรียนนาฏศิลป์เดินทางไปแสดงเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ สหภาพพม่า ราชอาณาจักร ลาว เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และสหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นต้น ทั้งยังได้เป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อมคณะศิลปินเพื่อแสดงในโอกาสที่มีพระราชอาคันตุกะและแขกของรัฐบาลเดินทางมาเยือนประเทศไทยในหลายโอกาส นอกจากนั้น ท่านยังเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ท่ารำสำหรับการแสดงชุดต่างๆ หลายชุดอีกด้วย

ครูจำเรียงได้รับราชการอยู่ในกรมศิลปากรจนมีความก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับตำแหน่ง สุดท้ายที่ท่านได้รับก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อปี ๒๕๒๐ คือ นาฏศิลปิน ระดับ ๗ ซึ่งนับเป็นนาฏศิลป์ท่านแรกของกรมศิลปากรที่ได้ระดับ ๗ และแม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว กรมศิลปากรยังตระหนักถึงคุณค่าและความสามารถอันเต็มเปี่ยมของท่าน จึงได้เชิญให้ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทยที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากรมาตราบจนปัจจุบัน

งานสำคัญที่สุดงานหนึ่งที่ครูจำเรียงมีความภาคภูมิใจยิ่ง คือการที่ได้ถวายการสอนนาฏศิลป์แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีที่วังคลองเตยมาเป็นเวลานานปีตราบจนปัจจุบันนี้

ครูจำเรียง พุธประดับ เป็นครูนาฏศิลป์อาวุโสท่านสำคัญผู้เป็นที่เคารพอย่างสูงของบุคคลในวงการนาฏศิลป์ไทย ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่สามารถจดจำท่ารำของบรมครูโบราณได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำที่สุด และมีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยความเมตตาเปี่ยมด้วยวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง จากเกียรติประวัติอันดีเด่นทั้งปวงที่ท่านได้บำเพ็ญมา ส่งผลให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์-ละคร) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑

เมื่อนึกถึงการถ่ายภาพครูจำเรียง พุธประดับ ผมตั้งใจแต่แรกว่าจะถ่ายภาพท่านในลักษณะที่ย้อนรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งที่ท่านยังแสดงเป็นตัวนางของคณะนาฏศิลป์ กรมศิลปากร เมื่อหลายสิบปีก่อนด้วยเหตุว่า ครูจำเรียงท่านสูงอายุมาก ประกอบกับมีอาการปวดขา ไม่สามารถตั้งท่ารำได้สะดวกเหมือนเดิม อีกทั้งที่ผ่านมา ผมได้ถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติ ที่เป็นนาฏศิลปินในท่ารำมาหลายท่านแล้ว คิดว่าน่าจะถ่ายภาพในแนวที่แตกต่างจากเดิมบ้าง จึงเรียนให้ท่านทราบถึงความประสงค์ ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด สิ่งสำคัญในการนี้คือผมจะต้องหาภาพถ่ายในอดีตของท่านที่เหมาะกับการนำมาประกอบกับภาพปัจจุบันที่ผมจะถ่ายให้ได้ ดังนั้น เมื่อได้ไปพบท่านที่บ้าน ผมจึงขอชมภาพเก่าๆ ที่ท่านเก็บไว้ และพบภาพถูกใจภาพหนึ่ง คือภาพที่ท่านแสดงเป็นนางมณีเมขลา ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่าเป็นภาพที่คุณระบิล บุนนาค ช่างภาพมือหนึ่งของประเทศไทยในยุคนั้นเป็นผู้ถ่ายไว้

ในส่วนการถ่ายภาพของผม ผมได้ใช้ฉากกระดาษสีขาวเป็นฉากหลังในการถ่ายภาพครูจำเรียง โดยจัดภาพให้ท่านนั่งบนเก้าอี้ทอดสายตาออกไป และเว้นที่ว่างบนกระดาษสีขาวพอสมควรเผื่อเอาไว้สำหรับซ้อนภาพเก่าเข้าไปภายหลัง จากนั้นผมก็ได้นำภาพเก่าของครูจำเรียงมาถ่ายก๊อบปี้เป็นฟิล์มเอาไว้ เมื่อได้ภาพครูจำเรียงทั้งในปัจจุบันและอดีตตามที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนที่เหลือก็คือการทำงานในห้องมืด อันที่จริง ด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ภาพในลักษณะซ้อนกันเช่นนี้สามารถทำได้โดยง่ายดาย แต่ผมยังไม่มีความชำนาญในทางคอมพิวเตอร์พอ ประกอบกับยังอยากใช้เทคนิคห้องมืดแบบโบราณอยู่ จึงได้เลือกวิธีนี้ในการทำภาพครูจำเรียง ขั้นตอนโดยย่อก็คือผมได้กะตำแหน่งของภาพเก่าและภาพใหม่ที่จะให้ซ้อนกันตามที่ต้องการ แล้วอัดรูปทั้ง ๒ ทีละรูป ลงบนกระดานแผ่นเดียวกัน ฟังดูไม่ยากนัก แต่กว่าจะสำเร็จได้ก็ใช้เวลานานพอสมควร ในขณะทดลองอยู่นั้นผมได้ทดลองทั้งแบบที่ทำให้ภาพเก่าและภาพปัจจุบันคมชัดเหมือนกัน และแบบที่ให้ชัดเฉพาะภาพในปัจจุบัน แต่ทำให้ภาพเก่าไม่คมชัด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบดูแล้ว อย่างหลังให้ผลที่ดีกว่า เพราะผมต้องการเน้นภาพถ่ายครูจำเรียงเป็นหลัก ส่วนภาพเก่าเป็นส่วนประกอบที่ช่วยส่งเสริมให้บรรลุตามแนวความคิดที่ตั้งไว้และทำให้ภาพสมบูรณ์ขึ้นครับ

แม้ว่าทุกวันนี้ครูจำเรียง พุธประดับ จะมีวัยล่วงเข้า ๘๕ ปี และมีสุขภาพที่ไม่แข็งแรงนัก แต่ท่านก็ยังมีจิตใจที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความรักและหวงแหนนาฏศิลป์ไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย และยังสู้อุตส่าห์อุทิศตนถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนนาฏศิลป์รุ่นหลานด้วย ความหวังอันเต็มเปี่ยมว่าในวันหนึ่ง เขาเหล่านั้นจะเป็นผู้รับหน้าที่ส่งต่อมรดกอันล้ำค่าชิ้นนี้ไปยังลูกหลานไทยในอนาคตอย่างถูกต้องและยั่งยืน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.