พร้อมกับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 90 Amy Tan [เอมี่ ทาน] นักเขียนหญิงอเมริกันเชื้อสายจีนสร้างความเกรียวกราวอย่างมากในแวดวงวรรณกรรมอเมริกันเมื่อนิยายเรื่อง THE JOY LUCK CLUB ได้รับรางวัลและคำนิยมจากนักวิจารณ์ในวงการ ทั้งยังได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างสูง ความสำคัญของนิยายเรื่องนี้ ไม่แต่เพียงเป็นการหยิบเสนอส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมจีนในยุคหลัง หรือบรรยายความคิดของคนอเมริกันเชื้อสายจีนในยุคใหม่เท่านั้น แต่เรื่องราวทั้งหมด ถูกถักทอด้วยด้วยอักษรเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนเชื้อสายอเมริกัน 4 ครอบครัว สองวัฒนธรรม สองยุคสมัย โดยมีสายใยแห่งความสัมพันธ์ของแม่และลูกเป็นสายใยเชื่อมประสาน
หลังจากนิยายเรื่องแรกของเธอนี้ประสพความสำเร็จอย่างงดงาม ข้อเสนอในการขอนำไปสร้างภาพยนตร์เริ่มหลั่งไหลมาสู่ แต่ Tan ก็ยังลังเลอยู่มากในการที่จะให้นิยายเรื่องนี้ถูกนำไปสร้างและกำกับโดยผู้ที่มีความไม่เหมาะสม เพราะตลอดประวัติศาสตร์การสร้างภาพยนตร์ของบริษัทผู้สร้างหลักในฮอลลีวู้ด ไม่มีภาพยนตร์เรื่องใดเลยที่เคยสร้างภาพพจน์ของคนเอเซียในฐานะตัวละครหลักอย่างสมจริง และสำหรับโครงการภาพยนตร์เรื่อง THE JOY LUCK CLUB หากจะสร้างให้ได้เนื้อหาครบถ้วนถูกต้องตรงตามนิยายแล้ว นอกจากตัวละครหลักจะต้องเป็นคนเอเซียทั้งหมดแล้ว ยังจะต้องใช้ตัวละครหลักถึง 8 คน
โครงการสร้างภาพยนตร์จากนิยายเรื่อง THE JOY LUCK CLUB มาถึงมือผู้กำกับเชื้อสายจีน Wayne Wang [เวย์น หวาง] ในระหว่างปี 1989 ในขณะที่เขากำลังโปรโมทหนังของเขาเรื่อง EAT A BOWL OF TEA อยู่ที่เทศกาลภาพยนตร์ที่เมือง Cannes หลังจากเขาประสพความสำเร็จจากหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชาวจีนในสหรัฐมาแล้วถึง 3 เรื่อง เขาคิดว่าเขาไม่ควรสร้างภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาซ้ำซ้อนเกี่ยวกับคนจีนในสหรัฐอีกแล้ว แต่เมื่อเขาได้อ่านนิยายเรื่องนี้จบลง พลังจากเนื้อหาของนิยายผลักดันให้เขาตัดสินใจติดต่อกลับไปหา Tan ทันที เขากล่าวกับเธอว่า “ยังไม่เคยมีผู้ใดสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับคนอเมริกันเชื้อสายจีนในระดับที่ใหญ่ขนาดนี้มาก่อนเลย ครั้งนี้จะมีความหมายที่สำคัญเหลือเกิน”
เมื่อโครงการได้ตัวผู้กำกับ Wang ผู้มีความเหมาะสมอย่างยิ่งนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเอาชนะอุปสรรคในการสร้างบทภาพยนตร์ที่จะต้องนำเรื่องราวของตัวละครถึง 8 ตัวนี้บรรจุลงในภาพยนตร์ความยาวเพียงสองชั่วโมง “ผมเองก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรกับบทภาพยนตร์ ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่ามันเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยต้องสร้างเป็นมินิซีรี่ส์ถึงจะพอ” แต่ผู้กำกับ Wang ก็ยังคงยึดมั่นกับโครงการที่จะต้องถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครแม่และลูกสาวทั้ง 8 คนจนครบถ้วนให้ได้
ในที่สุด Ron Bass [รอน บาส] เจ้าของรางวัลออสการ์บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเรื่อง RAIN MAN (1988) ซึ่งเป็นผู้ร่วมอำนวยการสร้างโครงการหนังเรื่องนี้ ได้มาร่วมเขียนบทและแนะนำให้สร้างบทโดยให้เรื่องราวทั้งหมดมารวมศูนย์กันที่งานเลี้ยงส่งตัวละครบุตรสาวชื่อ June [จูน] ก่อนเดินทางไปประเทศจีน Bass สารภาพว่าตัวเขาเองเพียงแต่ร่างโครงหลักดังกล่าวนี้เท่านั้น รายละเอียดปลีกย่อยอื่น Amy Tan เจ้าของผลงานดั้งเดิมเป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ต่อจนเสร็จสมบูรณ์ครบถ้วนดังที่ทุกคนตั้งใจไว้แต่ต้น
ทีมงานนำโครงการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้มาเสนอที่บริษัทของ Oliver Stone โดยได้พบกับผู้สร้างผู้กำกับชื่อดังรายนี้พร้อมกับ Janet Yang รองประธาน ทั้งสองให้การสนับสนุนด้วยความกระตือรือร้นเป็นอย่างดี เมื่อได้ชื่อ Oliver Stone หนุนหลังแล้ว โครงการสร้าง THE JOY LUCK CLUB ก็เป็นอันหมดปัญหาด้านเงินทุนไปแล้วครึ่งหนึ่ง
ภาพยนตร์เรื่อง THE JOY LUCK CLUB ออกฉายเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี 1993 ประสพความสำเร็จอย่างดีทั้งรายได้และคำวิจารณ์ กลายเป็นบันได้อีกก้าวหนึ่งแห่งความสำเร็จและการประกาศศํกดิ์ศรีของผู้สร้างภาพยนตร์ชาวเอเซีย
****************************************
สี่ครอบครัว แปดแม่ลูก สองชั่วคน
แก่นเนื้อหาภาพยนตร์เรื่อง THE JOY LUCK CLUB สอดประสานอยู่กับคน 4 ครอบครัว อันได้แก่ ครอบครัว Woo, Hsu, Jong และ St.Clair [วู,ซู,จอง, เซ็นต์แคร์] มารดาทั้ง 4 คนก่อนอพยพมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ล้วนมีอดีตประวัติชีวิตอันโชกโชนลำเค็ญมิผิดจากคำบอกเล่าของบรรดาชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศอื่น
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผ่านสู่ยุคสมัยใหม่ของคนอเมริกันเชื้อสายจีนรุ่นแรก คำบอกเล่าเหล่านี้จึงเหลือกลายเป็นเพียงตำนานกึ่งนิยายซึ่งเด็กรุ่นใหม่มิอาจเชื่อได้อย่างเต็มใจนัก คำถามจากภาพยนตร์เรื่องนี้ในฉากหนึ่ง จึงออกจะเป็นการกระตุ้นเตือนจิตสำนึกของชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าในประเทศใดให้ฉุกคิดได้ไม่ต่างกัน ลูกสาวตัวเอกของเรื่องกล่าวปรารภกับบรรดาเพื่อนของคุณแม่ว่า “หนูไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแม่เลย…” “อะไรกัน! เป็นลูกทั้งที จะไม่รู้จักแม่ตัวเองได้อย่างไร!” คำนำของ Amy Tan ในนิยายเรื่องนี้ เขียนอุทิศว่า “แด่ คุณแม่…และความทรงจำของคุณแม่ของท่าน… แม่ถามฉันครั้งหนึ่งว่า ฉันจะไปจำอะไรได้ [นิยายเรื่อง]นี้ และอีกมากมาย[คือความทรงจำเหล่านั้น]”
****************************************
ครอบครัว WOO
แม่: Suyuan Woo [ซูหยวน วู]
ลูก: Jing-mei “June” Woo
[จิงเหม่ย วู (จูน)]
Suyuan เป็นภรรยาของนายทหารพรรคก๊งมินตั๋งในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ให้กำเนิดลูกสาวทารกฝาแฝดอยู่สองคน ในขณะที่กองทัพญี่ปุ่นเริ่มมีชัยชนะมากขึ้นทุกขณะ สามีจึงให้เธอลี้ภัยมาอยู่อาศัยอยู่ที่เมืองกุ้ยหลินโดยที่ตนเองต้องทิ้งลูกเมียอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่จุงกิง ต่อมาก็ขาดการติดต่อไป ไม่นาน มีข่าววงในแจ้งว่ากองทัพญี่ปุ่นกำลังจะบุกกุ้ยหลิน เธอจึงต้องรีบเดินทางอย่างฉุกละหุกเพื่อไปกลับไปหาสามีที่จุงกิงพร้อมกับประชาชนชาวจีนหลายพันคนที่มุ่งหน้าอพยพออกจากกุ้ยหลิน เกือบทุกคนต่างต้องทนเดินทางด้วยเท้าเพราะไม่มีรถจะให้โดยสาร Suyuan ต้องทนความลำบากอย่างแสนสาหัสตลอดทางเนื่องจากต้องนำลูกน้อยฝาแฝดใส่รถเข็นติดไปด้วย ตามทางเดินมีผู้ทิ้งทรัพย์สมบัตินานาชนิดไว้เกลื่อนกลาดตลอดทางด้วยไม่สามารถทนนำติดตัวไปได้อีกต่อไป Suyuan พยายามทิ้งสิ่งของไปทีละน้อยจนกระทั่งเหลือสมบัติที่มีค่าที่สุดติดกายเพียงไม่กี่ชิ้นรวมทั้งลูกน้อยทั้งสอง ในที่สุด Suyuan ในสภาพป่วยอิดโรยเต็มที ตัดใจทิ้งลูกน้อยไว้ตามลำพัง ปล่อยให้สุดแต่วาสนาจะพาไป
เมื่อสงครามสงบลง Suyuan พบว่าสามีเสียชีวิตแล้ว เธออพยพไปอยู่สหรัฐ แต่งงานกับสามีคนที่สองซึ่งลำบากเร่ร่อนมาด้วยกันระหว่างสงครามจนมาอยู่ที่สหรัฐ ให้กำเนิดบุตรสาวชื่อ Jing-mei หรือ June ตลอดระยะเวลา Suyuan ไม่เคยลืมลูกน้อยทั้งสองที่ตนทิ้งไว้ที่ประเทศจีนเลย พยายามเขียนจดหมายติดต่อญาติและเพื่อนที่เหลืออยู่ในประเทศจีนเพื่อตามหาลูกสาวสองคนตลอดเวลาโดยไม่เคยสิ้นหวัง แต่สำหรับ June เด็กสาวอเมริกันกลับไม่เคยคิดว่าเรื่องราวทั้งหมดที่เคยได้ยินมาตลอดวัยเด็กจะเป็นเรื่องจริงจัง จนกระทั่ง จดหมายแจ้งข่าวการค้นพบลูกฝาแฝดของ Suyuan มาถึง แต่แมันก็สายเกินไปเสียแล้วสำหรับ Suyuan ซึ่งเสียชีวิตกระทันหัน June จึงต้องทำหน้าที่แทนมารดาต่อความฝันในการไปพบพี่สาวทั้งสองของตนในประเทศจีน
****************************************
ครอบครัว JONG
แม่: Lindo Jong [ลินโด จอง]
ลูก: Waverly Jong
[เวเวอร์ลี่ จอง]
Lindo เกิดที่ประเทศจีนในครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก เธอจึงถูกมารดาจับหมั้นให้กับครอบครัวของคหบดีตระกูลหนึ่งตั้งแต่อายุเพียงสี่ขวบ ธรรมเนียมนี้นับเป็นเรื่องสามัญในสังคมจีนที่เก็บกดและเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองของยุคนั้น เธอเล่าว่า “นับแต่นั้นมากว่าสิบปี แม่ฉันทำราวกับว่าฉันเป็นของตระกูลอื่นไปเสียแล้ว”
เมื่อเธอเติบใหญ่ถึงวัยสิบห้า แม่ของเธอจึงให้เข้าพิธีวิวาห์ตามที่ได้ตกลงไว้ทันที จากนั้นจึงอพยพไปอยู่ภาคใต้ ทิ้ง Lindo ไว้กับครอบครัวสามีตามลำพัง เธอพยายามทำหน้าที่ภักดีต่อครอบครัวของสามีอย่างสุดความสามารถ แต่กระนั้น เธอกลับไม่สามารถทำหน้าที่ประการสำคัญที่สุดของการเป็นสะใภ้จีนให้สำเร็จได้ นั่นคือ การให้กำเนิดทายาทชายสืบสกุล แต่ด้วยสติปัญญาและไหวพริบของหญิงจีนยุคใหม่อย่าง Lindo กลับสามารถนำประเพณีความเชื่อโบราณประสานเหตุการณ์จนทุกอย่างลงเอยไปได้ด้วยดี
ต่อมาเธออพยพมาอยู่ที่สหรัฐ แต่งงานใหม่มีบุตรสาวชื่อ Waverly ความมั่นใจและเชาว์ปัญญาของ Lindo ถูกส่งผ่านมายังบุตรสาวอเมริกันเชื้อสายจีนนี้อย่างเต็มที่ Waverly เป็นเด็กอัจริยะแชมป์หมากรุกรุ่นเยาว์ ถึงกับได้ขึ้นปกนิตยสาร LIfe กลายเป็นความภาคภูมิใจของ Lindo อย่างยิ่ง แต่ความรั้นและช่องว่างระหว่างวัยเสริมกับความเป็นเด็กอเมริกันของ Waverly กลับสร้างบทเรียนราคาแพงให้กับเธอ แม้กระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ บทเรียนวัยเด็กก็ยังเฝ้าตามเหมือนเสียงว่ากล่าวของมารดาจะติดตัวไปไม่รู้จบ Waverly เคยแต่งงานกับสามีคนแรกเป็นชาวจีนเพื่อตามใจมารดาจนได้ให้กำเนิดหลานสาวหนึ่งคน แต่การแต่งงานกลับต้องล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง Waverly เตรียมเริ่มชีวิตคู่ใหม่กับหนุ่มผิวขาว เพื่อพิสูจน์ตนเอง
****************************************
ครอบครัว HSU
แม่: An-mei Hsu [อันเหม่ย ซู]
ลูก: Rose Hsu Jordan
[โรส ซู จอร์แดน]
เมื่อ An-mei อายุได้เพียงสี่ขวบ หลังจากที่บิดาของเธอเสียชีวิตไปแล้ว แม่ของเธอถูกประกาศตัดญาติ และถูกไล่ออกจากบ้านเนื่องจากทุกคนพบว่าเธอยอมตกลงไปเป็นเมียน้อยของเศรษฐีคนหนึ่ง ทุกคนไม่ยอมให้อภัยเธอแม้แต่วันที่เธอกลับมาเยี่ยมไข้แม่ของตน วันนั้นAn-mei ตัดสินใจไม่ยอมจากหน้าแม่ของตนไปอีกแล้ว เธอตามแม่ไปอยู่ด้วยกันที่บ้านเศรษฐี
เมื่อ An-mei อพยพมาอยู่สหรัฐ แต่งงานใหม่ให้กำเนิดบุตรสาวชื่อ Rose เธอพบรักกับหนุ่มผิวขาวลูกชายเจ้าของกิจการพิมพ์ยักษ์ใหญ่ กระทั่งได้แต่งงานให้กำเนิดหลานสาวหนึ่งคน แต่แล้วชีวิตแต่งงานของ Rose ก็เริ่มสั่นคลอนเมื่อเธอพยายามเอาใจสามีทุกวิถีทางจนกระทั่งไม่เห็นคุณค่าที่แท้จริงของตนเอง เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งแม่ของ An-mei เคยยอมกล้ำกลืนทนจนกระทั่งทุกอย่างสายเกินไป
****************************************
ครอบครัว ST.CLAIR
แม่: Ying-ying St.Clair
[อิงอิง เซ็นต์แคร์]
ลูก: Lena St. Clair
[ลีน่า เซ็นต์แคล์]
Ying-ying เกิดในตระกูลที่มีฐานะดีในประเทศจีน เมื่ออายุ 16 ได้แต่งงานกับเศรษฐีหนุ่มเจ้าสำราญ ในตอนแรกความรักดูจะหวานชื่นเหมาะสมกันกับสาวสังคมอย่างเธอ แต่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากให้กำเนิดบุตรชายแล้ว สามีก็เริ่มแสดงลายสันดานดิบของผู้ชายออกมาให้เห็น ความปวดร้าวที่เกิดจากการต้องทนทุกข์เก็บกดความโกรธแค้นตลอดมา ค่อย ๆ สั่งสมจนกระทั่งวันหนึ่ง เธอต้องลงมือกระทำสิ่งที่ทำให้ต้องเสียใจไปตลอดชีวิต
หลายปีต่อมาเธออพยพมาอยู่สหรัฐ แต่งงานใหม่ให้กำเนิดบุตสาวชื่อ Lena เหตุการณ์ในอดีตที่เธอกระทำในประเทศจีนยังตามมาหลอกหลอน หลายครั้งในวัยเด็ก Lena มักจะพบมารดานั่งเหม่อลอยเหมือนคนไร้วิญญาณอยู่ผู้เดียว แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาการของ Ying-ying จึงค่อยหายไปราวกับว่าเธอลืมเหตุการณ์นั้นได้แล้ว
Lena แต่งงานกับสามีเชื้อสายจีน เธอกลายเป็นผู้ที่ไม่กล้ามีปากเสียงหรือร้องเรียกสิทธิ์ของตนกับสามีแม้แต่น้อย เมื่อ Ying-ying ผู้แม่มองเห็นสภาพครอบครัวของลูกสาวเป็นเช่นนี้ เธอย่อมรู้ดีว่า การเก็บกดอารมณ์ไว้จะส่งผลเช่นใดต่อครอบครัวในบั้นปลาย เธอไม่เคยลืมเหตุการณ์ของตนในประเทศจีน
สโมสรโชคสุข
Suyuan มารดาของ June คือผู้ให้กำเนิดความคิดการก่อตั้งสโมสร Joy Luck ตั้งแต่ครั้งยังอยู่ในประเทศจีน เธอจะชวนบรรดาเพื่อน ๆ มากินเลี้ยงสังสรรค์กันที่บ้านเพื่อเล่นเกมส์ไพ่นกกระจอกในขณะที่คนจีนส่วนใหญ่กำลังอดอยากและขวัญหนีกับสภาวะสงคราม “เราจะแกล้งทำเป็นว่าทุกสัปดาห์คือวันตรุษจีน ทุกสัปดาห์เราจะพยายามลืมสิ่งเลวร้ายในอดีตที่เคยเกิดขึ้นกับเรา ห้ามไม่ให้คิดเรื่องเลวร้ายแม้แต่เรื่องเดียว เรากินกันอย่างอิ่มหนำ เราหัวเราะ เราเล่นไพ่กัน แพ้ชนะไม่สำคัญ เราเล่าเรื่องสนุก ๆ ให้กันและกันฟัง และทุกสัปดาห์ เราต่างตั้งความหวังว่าเราจะต้องโชคดี [Luck] และความหวังนั้นคือความสุข [Joy] ของพวกเรา และนั่นละคือที่มาที่เราเรียกงานเลี้ยงสโมสรของพวกเราว่า Joy Luck”
*******************************************
AMY TAN ผู้เขียน
Amy Tan เกิดที่เมือง Oakland เมื่อปี 1952 หลังจากที่พ่อแม่อพยพสู่ประเทศสหรัฐได้แล้วราวสองปีครึ่ง แม้ว่าพ่อแม่ตั้งความหวังไว้อยากให้เธอเติบโตขึ้นโดยมีอาชีพเป็นศัลยแพทย์ผ่าตัดสมองเป็นงานหลัก และนักเล่นเปียโนเป็นงานรอง แต่เมื่อเธอโตขึ้นกลับกลายมาเป็นผู้บริหารโครงการสำหรับเด็กพิการ และต่อมาก็ได้กลายมาเป็นผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการหนังสือ เธอเดินทางไปเยี่ยมประเทศจีนเป็นครั้งแรกในปี 1987 และพบว่า ดังที่คุณแม่ของเธอเคยกล่าวไว้ “ทันทีที่ฝ่าเท้าเหยีบบแผ่นดินจีน ฉันก็กลายเป็นคนจีน”
Amy Tan จบปริญญาโททางด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย San Jose State University บทความของเธอเคยได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Life, The State of the Language, และ The Threepenny Review นวนิยายของเธอเคยได้รับการตีพิมพ์ลงใน The Atlantic, Grand Street, Lear’s, McCall’s และนิตยสารอื่น ๆ อีกหลายฉบับ
นิยายเรื่องยาวของเธอที่ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1989 เรื่อง THE JOY LUCK CLUB คือนิยายเรื่องแรกที่ติดอันดับขายดีและสร้างชื่อเสียงให้กับเธอในเวลาอันรวดเร็ว นิยายเรื่องนี้สามารถติดเข้ารอบสุดท้ายของรางวัล National Book Award กับ National Book Critics Circle Award และต่อมาก็ได้รับรางวัล Bay Area Reviewers Award for Fiction ในปี 1990 นิยายเรื่องที่สองของเธอคือ THE KITCHEN GOD’S WIFE ติดอันดับขายดีและได้รับคำชื่นชมจากวงการวรรณกรรมไม่แพ้นิยายเรื่องแรก กำลังได้รับการเตรียมสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยทีมงานชุดเดิมจาก THE JOY LUCK CLUB
ปัจจุบัน Amy Tan และสามีของเธอ Lou DeMattei อาศัยอยู่ในเมือง San Francisco