ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อย และจำเป็นจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย โรคไต หรือหลอดเลือดในสมองแตก เป็นต้น การรักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้น มีทั้งการรักษาโดยใช้ยาและไม่ใช่ยาประกอบกัน หากผู้ป่วยต้องทานยาลดความดันโลหิต ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ยาดังกล่าว
ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารด้านยา โรงพยาบาลเวชธานี ให้ข้อมูลว่า การทานยาลดความดันโลหิต ควรทานยาสม่ำเสมอ ไม่หยุดยา หรือปรับขนาดยาขึ้นลงเอง ผู้ ป่วยหลายท่านเมื่อทานยาไประยะหนึ่งแล้วความดันโลหิตลดลง และไม่มีอาการผิดปกติอะไร อาจเข้าใจว่าหายแล้ว ไม่มีอันตราย จึงหยุดทานยาไปเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคเรื้อรัง ไม่หายขาด ต้องใช้ยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง การทานยาแล้วความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติแสดงว่าควบคุมความดันโลหิตได้ดี ลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ แต่หากหยุดยาเมื่อใด ความดันโลหิตจะกลับมาสูงอีกและอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้
นอกจากนี้ หากมีเพื่อนหรือคนรู้จักแนะนำยา หรืออาหารเสริมที่ระบุว่ามีผลดีในการลดความดัน ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรเปลี่ยนยาหรือรับประทานยาเพิ่มเอง เนื่องจากการได้รับยาลดความดันโลหิตมากเกินไปอาจทำให้ความดันลดต่ำจนเป็น อันตรายได้
อย่างไรก็ตาม การทานยาลดความดันโลหิตนั้น ควรทานในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อ ให้ยาออกฤทธิ์ควบคุมความดันได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น ทานยาตอนเช้า ก็ควรทานตอนเช้าทุกวัน ไม่เปลี่ยนเป็นบางวันเช้า บางวันเย็น บางวันก่อนนอน เป็นต้น ส่วนจะทานยาก่อนหรือหลังอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของยาแต่ละชนิด ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจก่อนเริ่มทาน
กรณีลืมทานยา หากยังมีเวลาอีกนานกว่าจะถึงมื้อถัดไปให้ ทานทันทีที่จำได้ แต่หากอีกไม่นานจะถึงมื้อถัดไปให้มื้อถัดไปตามปกติ ไม่ต้องทานเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะจะทำให้ความดันลดต่ำลงอย่างมาก และอาจเกิดอาการหน้ามืด เป็นลมได้
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาลดความดันโลหิตในกลุ่มยาขับปัสสาวะ จะ ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ โดยทั่วไปหากทานวันละ 1 ครั้ง ควรทานตอนเช้า แต่หากต้องทานวันละ 2 ครั้ง ควรทานตอนเช้าและกลางวัน ไม่ควรทานตอนเย็นหรือก่อนนอน เพราะจะทำให้ต้องลุกมาปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อยครั้ง
นอกจากการทานยาแล้ว ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วยเพื่อให้ควบคุมความดันได้ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น หากผู้ป่วยมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน การลดน้ำหนักสามารถลดความดันโลหิตได้ 5-20 มิลลิเมตรปรอท ต่อการลดน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม
ควรทานผัก ผลไม้ให้มาก เพื่อลดปริมาณไขมันในอาหารโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ลดทานเกลือโซเดียมให้น้อยกว่า 6 กรัมของโซเดียมคลอไรด์ต่อวัน ควรออกกำลังกายชนิดแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็วๆ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และเกือบทุกวัน จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 ดริ้งค์ ต่อวันในผู้ชาย และไม่เกิน 1 ดริ้งค์ ต่อวันในผู้หญิงและคนน้ำหนักน้อย (1 ดริ้งค์ เทียบเท่ากับ 44 มิลลิลิตร ของสุรา 40% หรือเท่ากับ 355 มิลลิลิตร ของเบียร์ 5% หรือ 148 มิลลิลิตร ของเหล้าองุ่น 12%).