จามเทวี ลำพูน

วรรณกรรมสองแคว ตอนที่ 6 เรื่อง นิทาน “จามเทวี”

วรรณกรรมสองแคว ตอนที่ 6 เรื่อง นิทาน “จามเทวี
วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีทั่วประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือตอนบนหรือล้านนาไทย
วรรณกรรมเรื่องนั้นก็คือ “เรื่องเกี่ยวกับพระนางจามเทวี”
ถ้าหากว่าเราจะไปอ่านหนังสือที่เป็นวรรณกรรมเรื่องนี้
ก็จะมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งชื่อ “จามเทวีวงศ์
ซึ่งเขียนเป็นภาษาไทยมีภาษาบาลีกำกับเอาไว้ด้วย
ท่านที่เป็นพระภิกษุอ่านก็จะมีความพอใจ
ส่วนท่านที่ไม่ทราบภาษาบาลีก็ไม่เป็นไรก็พออ่านได้
แต่ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องจามเทวีวงศ์ที่เป็นหนังสือเล่มนั้น
จะกล่าวถึงจามเทวีวงศ์ที่เป็นวรรณกรรมของชาวบ้าน
ที่ชาวบ้านเขาเล่าต่อกันมาจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่
จังหวัดลพบุรีขึ้นไปจนถึง จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผมจะเล่าเป็นเรื่องชาวบ้าน
เพราะฉะนั้นหลายตอนอาจจะแตกต่างจากที่ปรากฏในหนังสือจามเทวีวงศ์

ในเรื่องจามเทวีวงศ์ เริ่มแรกที่สุดเล่าถึงว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ณ
สถานที่แห่งนั้นพระพุทธเจ้าทรงฉันสมอ สมอ หรือ ลูกสมอ ทางภาคกลางเรียกว่า
“สมอ” ทางภาคอีสานเรียกว่า “บั๊กส้มม๊อ” แต่ถ้าเป็นทางล้านนาทางเชียงใหม่
ลำพูน เราเรียกว่า “ต้นบันนะ” ถ้าเป็นภาษาบาลีใช้คำว่า “หะรีตะกะ” คำว่า
“ฉัน” ใช้คำว่า “ภุญชัยยะ”
เพราะฉะนั้นบริเวณที่พระพุทธองค์เสด็จฉันสมอจึงมีชื่อเป็นภาษาบาลีว่า
“หะริตะกะภุญชัยยะ” ซึ่งเรียกนานๆเข้าก็กร่อนเสียงไปกลายเป็น “หริภุญชัย”
บริเวณที่พระองค์ฉันสมอและทรงวางเม็ดสมอไว้ตรงนั้น ฤาษีตนหนึ่งชื่อว่า
“สุเทวฤาษี” ก็เลยมาจัดการสร้างเมืองขึ้นบริเวณนั้น แล้วให้ชื่อเมืองว่า
“หริภุญชัย”

เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้วฤาษีก็มิได้คิดครองเมืองเอง
แต่ฤาษีได้ส่งฑูตคนหนึ่งซึงภาษาบาลีใช้ชื่อฑูตว่า “คะวายังฑูตังนามัง”
จึงให้ฑูตมีนามว่าตาคนนี้เดินทางไปละโว้เพื่อเชิญเจ้าเมืองละโล้มาครองหริภุญชัย
เจ้าเมืองละโว้เป็นคนที่เรียนทางด้านรัฐศาสตร์ อาจจะจากสำนักสมอคอน
จังหวัดลพบุรีก็ได้ เจ้าเมืองละโว้จึงมีความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์มาก
เมื่อฑูตไปถึงก็ปรากฏว่าเจ้าเมืองละโว้ยังผนวชอยู่
ยังบวชอยู่มาครองเมืองหริภุญชัยไม่ได้ แต่โปรดให้พระชายาคือ
“พระนางจามเทวี” มาครองเมืองหริภุญชัยแทน

พอถึงตรงนี้ก็น่าจะดูชื่อคำว่า ” จามเทวี” กันสักนิดหนึ่ง
คำที่น่าสนใจมากก็คือคำว่า “จาม” นั้นเป็นเสียงครึ่งระเบิดครึ่งเสียดแทรก
ดูกันจริงๆแล้ววเสียงคำว่า “จาม” เป็นคำว่า “สยาม” คำว่า
“ฉาน”

มันมีความเกี่ยวข้องในกลุ่มชนเผ่าสยามหรือคนเผ่าไทยในปัจจุบันมากทีเดียว
ที่สำคัญคือพวกสยามพวกนั้น พวกจาม พวกสยาม พวกชาน
บางส่วนก็เข้าไปอยู่ในประเทศอินเดีย ชาวอินเดียเรียกพวกนี้ว่า สยาม
แต่แขกในประเทศอินเดียสมัยก่อนหรือสมัยนี้ก็แล้วแต่ออกเสียง ส
ข้างหน้าไม่ชัด จะต้องเอาเสียง อ มานำ ตัวอย่างเช่นคำว่า “สตรี”
แขกก็ออกไม่ได้ก็มักออกเป็น “อิสตรี” ออกนานๆก็กลายเป็น “อิตถี”ด้วยซ้ำ
ในขณะเดียวกันแขกออกชื่อลุ่มแม่น้ำสินธุ แบบที่เราออกไม่ถนัดจะออกเป็น
“อินดู” หรือ “อินเดส”

เพราะฉะนั้นในแผนที่ภาษาอังกฤษของประเทศอินเดียจึงเขียนชื่อแม่น้ำสินธุเอาไว้ว่า
” INDES” ฉะนั้นเวลาที่พวกสยามเข้าไปอยู่ในประเทศอินเดียก็เรียก สยาม
ไม่ได้ ก็จะเอาเสียง อ นำเสียง ส ก็เกิดเป็น “อัสสะยัม”
เรียกนานเข้าก็กลายเป็นคำว่า “อัสสัม” ไปได้เช่นเดียวกัน ขนาดคำว่า
“อัสสัม” แขกยังออกเสียงไม่ค่อยจะได้ดีนักเพราะเสียง ส
ที่เป็นเสียงเสียดแทรกที่ปุ่มเหงือกนั้นแขกออกไม่ค่อยจะถนัด
ก็มักจะเปลี่ยนเสียง ส ให้เป็นเสียง ห เสียงเหอะ
ซึ่งเป็นเสียงเสียดแทรกที่ลำคอ จากคำว่า “อัสสัม”ก็กลายเป็นคำว่า “อะหัม”
ก็กลายเป็นคำว่า “อาหม” ในภาษาของเรา ดังนั้นก็แปลว่า คำว่า
“อาหม”กับคำว่า “จาม” ก็เป็นคำเดียวกันเพียงแต่กลายไปกลายมา
ท่านอย่าไปคิดมาก เสียง ส เสียง ห เปลี่ยนกันได้เสมอ
ลองฟังคนทางเชียงใหม่เขาพูดว่า “เอาไปเสีย” เขาจะพูดว่า “เอาไปเหีย”
สังเกตไหมว่าเสียง ส เสียง ห เปลี่ยนกันได้เปลี่ยนกันไปเปลี่ยนกันมา
เป็นอันว่าเจ้าเมืองละโว้ก็ให้พระนางจามเทวีไปครองเมืองหริภุญชัย
พระนางจามเทวีก็เดินทางจากเมืองละโว้มาทางเรือโดยลงแม่น้ำลพบุรีไปต่อเข้าที่แม่น้ำเจ้าพระยา
จากแม่น้ำเจ้าพระยาก็ต่อเข้ามาถึงนครสวรรค์ปัจจุบัน
ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อ พอถึงนครสวรรค์พระนางจามเทวีก็ขึ้นไปตามลำน้ำปิง
ท่านที่มาจากนครสวรรค์หรือท่านที่จะมาพิษณุโลกก็จะต้องผ่านลำน้ำปิง
เลยโรงเรียนนวมินทราก็เป็นลำน้ำปิง พระนางจามเทวีก็ไปสายนั้นล่ะ
ลำน้ำตรงบริเวณนั้นมันคดไปคดมาตั้งเก้าครั้ง จึงได้ตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า
“เก้าเลี้ยว” เพราะต้องเลี้ยวถึงเก้าครั้ง ปัจจุบันก็คือ อำเภอเก้าเลี้ยว
จังหวัดนครสวรรค์ นี่ก็เป็นการบอกชื่อสถานที่ว่ามันมีที่มาอย่างไร
วิชาที่บอกชื่อสถานที่ เรียกเป็นภาษาคติชนวิทยาว่า “วิชาภูมินามวิทยา”
เป็นอันว่าถึงเก้าเลี้ยว พระนางจามเทวีก็ผ่านไปทาง “บางตาหงาย”
“ดงแม่นางเมือง” ทางบรรพตพิสัย แต่ก่อนไม่มีชื่อพวกนี้
เข้าไปถึงขาวรลักษบุรีออกไปทางคลองขลุง แล้วก็เข้าสู่กำแพงเพชร
แต่ก่อนยังไม่มีกำแพงเพชร แต่ก็มีชื่อเกี่ยวกับนิทาน
ตำนานของพระนางจามเทวีอยู่หลายที่ เช่น บ้านปากอ่าง ท่าเสากระโดง
ท่านที่อยู่ที่กำแพงเพชรก็คงจะสืบค้นดู
จากกำแพงเพชรเรือก็ขึ้นไปตามลำน้ำปิงตามลำดับ
ถึงสถานที่แห่งหนึ่งห่างจากกำแพงเพชรไปประมาณ ๖๘ กิโลเมตรไปถึง ณ
สถานที่นั้นก็เกิดฝนตก ฝนตกอยู่พักใหญ่ก็หยุดตก
เสื้อผ้าของพระนางจามเทวีก็เปียก พอแดดออกที่หลังจากฝนตก
พระนางจามเทวีก็เอาเสื้อผ้าออกตาก
บริเวณที่พระนางจามเทวีเอาเสื้อผ้าตากนั้นก็ชื่อว่า “บ้านตาก”
ปัจจุบันก็เป็น อำเภอบ้านตาก จังหวดตากซึ่งอยู่ห่างจาก
อำเภอเมืองตากไปประมาณ ๒๓ กิโลเมตร แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ก็คือว่า
ตากผ้ากันไปตากผ้ากันมาผ้าก็ไปแห้งที่ ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก
สงสัยเรือจะย้อนไปย้อนมาหรือเปล่าก็ไม่ปรากฏ
ทางนิทานพื้นบ้านเขาว่าไว้อย่างนั้นว่าที่เสื้อผ้าของพระนางจามเทวีตากเอาไว้แห้งก็ให้ชื่อว่า
“ระแหง” คือ ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก พระนางจามเทวีก็เดินทางต่อไป
มาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง
พระนางจามเทวีมีความเหงาคิดถึงพระสวามีที่เมืองละโว้
เหงามากเลยในบริเวณนั้น
เขาก็เลยตั้งชื่อบ้านนั้นตามอาการของพระนางจามเทวีว่า “จามเหงา” เสียง จ
ก็เปลี่ยนเป็นเสียง ส ดังที่ได้กล่าวไว้ จากคำว่า “จามเหงา” ก็กลายเป็น
“สามเงา” ก็เป็นชื่อ อำเภอสามเงา
จังหวัดตากในปัจจุบันซึ่งห่างจากบ้านตากขึ้นไปประมาณ ๓๗ กิโลเมตร
แต่ถึงอย่างไรก็ดีตำนานเกี่ยวกับสามเงาของชาวสามเงา อำเภอ
สามเงาก็มีเฉพาะของเขา
จะเป็นเรื่องว่าด้วยเงาของพระพุทธรูปที่อยู่ที่หน้าผา
เมื่อพระนางจามเทวีเดินทางขึ้นไปตามลำน้ำปิงต่อไปอีก
ก็ไปถึงบริเวณหนึ่ง บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่แห้งแล้ง เป็นดงแต่แห้งแล้ง
ข้าวปลาอาหารแทบไม่มีให้กินเลย เกิดความอดยากอย่างรุนแรง คำว่า
“อดยากอย่างรุนแรงมาก”เขาใช้คำว่า”แจม”
พระนางจามเทวีจึงตั้งชื่อสถานที่แห่งนั้นว่า “แม่แจ่ม” ปัจจุบันก็คือ
อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อดอยากมากๆเข้าคงไปไม่ไหวแน่
พระนางจามเทวีจึงลี้ไพร่พลเดินทางไปตามลำน้ำลงมาจนถึงสถานที่แห่งหนึ่งมีข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์
ไพร่พลทั้งหมดจึงได้กินข้าวปลาอาหารรอดตาย พระนางจามเทวีก็อุทานออกมาว่า
“ฮอด” แปลว่า รอดตายแล้วคราวนี้ ปัจจุบันสถานที่นั้นก็คือ อำเภอฮอด
จังหวัดเชียงใหม่ จากอำเภอฮอดก็ไต่ลำน้ำมาจนถึง “จอมทอง”
จากจอมทองเข้ามาลำน้ำลี้ต่อมาลำน้ำกวงเข้ามาหริภุญชัย
พระนางจามเทวีก็อยู่เมืองหริภุญชัยอย่างเป็นสุข

เวลาที่พระนางจามเทวีเดินทางมานั้น พระนางจามเทวีทรงตั้งครรภ์
แล้วคลอดออกมาก็มีโอรสสององค์ องค์โตชื่อ “มหันตยศ” องค์เล็กชื่อ
“อนันตยศ” เป็นโอรสแฝด พระนางจามเทวีทราบดีว่า
ถ้าให้โอรสทั้งคู่อยู่ด้วยกันต้องทะเลาะแย่งชิงอะไรกันแน่
ฉะนั้นพระนางจามเทวีเดินทางมาสร้างเมืองอีกเมืองหนึ่ง
โดยเดินทางลงมาทางใต้จากหริภุญชัย
เดินทางมาเจอสถานที่แห่งหนึ่งทางมันแยกออกเป็นสองแพ่ง
มิทราบว่าจะเดินทางไปทางไหนดีจนเกิดการถกเถียงกันมากที่เดียว
บริเวณนั้นจึงมีชื่อเมืองเป็นภาษาบาลีว่า “เววาทะภาษิตนคร”
เถียงกันไปเถียงกันมาตกลงกันไม่ได้ก็เลยลองเดินดูว่าจะไปทางไหนดี
ตรงนั้นก็เลยชื่อว่า “เมืองลอง” ปัจจุบันก็คือ อำเภอลอง จังหวัดแพร่
เดินกันไปเดินกันมาก็ไปถึงลำปางสังเกตดูเส้นทางมันย้อนชอบกล
ขึ้นไปถึงบริเวณที่เป็นเมืองๆหนึ่งมีไก่เยอะ เป็นนครเดิมที่เรียกว่า
“นครกุ๊กๆไก่เอิ่ก” กุ๊ก กุ๊ก ตะ ภาษาบาลีแปลว่า ไก่กุ๊กไก่เอิ่ก
ก็คือเมืองที่ไก่ขันอยู่
พระนางจามเทวีก็เลือกบริเวณที่เป็นม่อนพญาแจ้หลายอย่าง
ดูภูมิประเทศเสร็จเรียบร้อยจึงให้สร้างเมืองที่นั้นแล้วให้ชื่อเมืองนั้นว่า
“เขลางนคร” หรือลำปาง
ตรงนี้ถ้าจะวิเคราะในเชิงภาษาความเกี่ยวพันระหว่างคำว่า “ละโว้” หรือ
ลพบุรี กับลำพูน ลำปาง ลำพูนไปยังหริภุญชัยนั้นต่อเนื่องกัน ดูคำว่า
“ละโว้” หรือ “ละพะปุละ” ละพะปุละ แปลว่า กำแพง ละพะปูน จาก
ละพะปูนเรียกนานๆเข้าก็กลายเป็น ลำพูนได้
เพราะฉะนั้นชื่อเมืองลำพูนมันมีที่มาทาง ละพะปุระ ละพะปูน หรือ
ลพบุรีก็อาจจะเป็นไปได้ หรือถ้าจะดุอีกแง่หนึ่งในเชิงภาษาของเมืองลำปาง
ลำปาง เสียง ล เสียง ป เสียงเปอะในภาษาล้านนามันตรงกับเสียง พ
เพราะฉะนั้นละปะ ละปูน ลำปางก็มีทางเป็นไปได้เหมือนกัน

คราวนี้ก็มาถึงเมื่อพระนางจามเทวีมาครองเมืองหริภุญชัยนั้น
ข่าวความงดงามและความเฉลียวฉลาดของพระนางจามเทวีนั้นก็เลื่องลือไปไกลจนถึงขุนหลวงวิลังคละ
คาดว่าอยู่บริเวณภูเขาสูงเขต อำเภอเสมิง จังหวัดเชียงใหม่

ขุนหลวงวิลังคละเมื่อทราบข่าวความงดงามของพระนางจามเทวีก็จัดการยกลี้พลขึ้นมาตั้งทัพอยู่บริเวณเชิงดอย
ซึ่งน่าจะเป็นดอยสุเทพ แต่ตอนนั้นยังไม่มีชื่อ
ตั้งทัพอยู่ที่นั้นแล้วก็ขว้างอาวุธเข้ามาในเมืองลำพูน
จากเชิงดอยสุเทพตักตรงเข้าลำพูนก็ประมาณ๒๖กิโลเมตร
ขว้างเข้ามาด้วยกำลังแขนยังกับปืนใหญ่ขนาดสำคัญๆทีเดียว
อาวุธที่ขว้างเข้ามานั้นชื่อว่า “เสน่า” ก็คือ หอกสั้นนั้นเอง
ขว้างเข้ามาพร้อมกับจดหมาย ในจดหมายนั้นระบุว่า

“ที่เรายกกองทัพมาคราวนี้ก็ไม่ได้ต้องการเข้าโจมตีเมืองลำพูน
แต่เราต้องการพระนางจามเทวีไปเป็นชายา
ถ้าแม้นพระนางจามเทวียอมไปเป็นชายาเรา
เราก็จะไม่ยกทัพเข้าไปโจมตีเมืองลำพูน
แต่ถ้าไม่ยอมเราก็จะขว้างอาวุธเข้าเมืองลำพูน”

พระนางจามเทวีนั้นเห็นว่าขุนหลวงวิลังคละมีกำลังมากมายนักหนาเกินคนธรรมดาเห็นว่าหริภุญชัยจะสู้ไม่ไหวแน่
ก็เลยเขียนราชสาส์นตอบกลับไปว่า ” เรายินดีเป็นชายาของท่าน
แต่วันนี้เรามาพบท่านมิได้ประชวรด้วยโรคพระลำดับเดือน
แต่เราได้ฝากเครื่องอุปโภคบริโภคมาให้ท่าน
เมื่อท่านได้รับแล้วก็จงรีบใช้รีบกินทันที
เมื่อกินเมื่อใช้แล้วจงเขียนจดหมายขว้างมาให้เรา
พระนางจามเทวีก็จัดเอาผ้านุ่งของพระนางที่ติดกับประจำเดือนมาพับเป็นหมวกอย่างสวมก็เป็นเครื่องอุปโภคให้ขุนหลวงวิลังคละสวม
ขณะเดียวกันก็นำพลูนำหมากเข้ามาจีบ
แต่ก็คงจะนำไปทำแบบสกปรกหน่อยคือติดประจำเดือนอะไรทำนองนี้
จีบหมากจีบพลูเสร็จก็เอาใส่พานหมากไปขึ้นคานหาบแบกแห่ไป
มีขบวนฟ้อนไปให้เจ้าคะมุ
เจ้าคะมุตั้งทัพรับอยู่พอได้ยินเสียงฟ้อนมาก็เอาขบวนฟ้อนออกมารับด้วย
รับไปเสร็จอ่านจดหมายก็มีความดีใจจัดการกินหมากทันทีแล้วก็เอาหมวกขึ้นไปสวมหัว
พอสวมหมวกกินหมากซึ่งพระนางจามเทวีทำเอาอาถรรพ์มาเท่านั้นวิทยาคมก็สื่อมไป
ขุนหลวงวิลังคละก็จัดการเขียนจดหมายตอบไปว่า ”
บัดนี้เราได้กินได้ใช้สิ่งที่ท่านได้ให้มาแล้ว”
จดหมายนั้นก็ติดไปกับเสน่าพุ่งเข้าใส่เมืองลำพูน
พระนางจามเทวีได้อ่านจดหมายแล้วก็ยกกองทัพออกไป ที่ยกทัพออกไปก็เพราะว่า
พอขุนหลวงวิลังคละสวมหมวกแล้วกินหมากแล้วพุ่งเสน่าออกมานั้นมันไม่ถึงเมืองลำพูน
แต่มันไปตกบริเวณที่หนองน้ำ เรียกว่า “หนองเสน่า” ในปัจจุบัน
แล้วก็มีคนมาเอาจดหมายไปให้พระนางจามเทวีอ่าน
พระนางจึงทราบว่าขุนหลวงวิมังคละหมดวิทยายุทธ์แล้ว
ก็ยกทัพออกขับไล่ขุนหลวงวิมังขละย้อนกลับขึ้นไปทางเหนือบนภูเขาตามเดิม
ถ้าเราอยากดูรูปร่างขุนหลวงวิมังคละก็ไม่ยาก
ถ้าแม้นมีโอกาสไปที่เชียงใหม่ ก็นั่งรถสายเชียงใหม่ไปทางอำเภอหางดง
อำเภอสันป่าตอง อำเภอฮอด ก็ได้
ยังไม่ทันหมดเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ก็จะถึงอำเภอแม่เฮียก
ที่ตรงนั้นจะมีหมู่บ้านชื่อหมู่บ้าน “บ้านฝิน”
เลี้ยวทางขวามือไปจะเห็นว่ามีพระพุทธรูปขาวองค์ใหญ่ประทับอยู่บนภูเขา
นั้นคือวัดพระธาตุดอยคำ
เมื่อขึ้นไปก็จะพบรูปปั้นของขุนหลวงวิมังคละถือเสน่า นัยน์ตาหม่นหมอง
มองไปทางทิศที่จะไปสู่เมืองลำพูน
แสดงว่าคงคิดถึงพระนางจามเทวีเป็นอันมากแต่มิทราบว่าจะทำประการใดก็ยกทัพกลับไป
ตำนานของพระนางจามเทวีที่นำเสนอในครั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากคำบอกเล่า
ถ้าท่านอ่านจากหนังสือจามเทวีวงศ์ก็จะเห็นว่ามีความแตกต่างจากที่ได้กล่าวอยู่หลายประการซึ่งเป็นสำนวนอันแตกต่างกัน

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.