ประเพณีการสร้างพระพุทธรูปของชาวสยามมีมาช้านานและหลากหลายตามแต่ปราชญ์แห่งท้องถิ่นนั้นจะคิดประดิษฐ์จารีตประเพณีที่มีปรัชญาหรือแนวคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นแก่นแกนของวัฒนธรรม พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์หรือสิ่งที่ทำให้น้อมใจนึกไปถึงคุณความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า“พุทธคุณ” ที่มีการแสดงไว้สามประการคือ
๑. พระบริสุทธิคุณ คือมีความบริสุทธิ์ของจิตอย่างยิ่งเป็นจิต บริสุทธ์ที่เข้าถึงต้นธาตุต้นธรรม
๒. พระกรุณาธิคุณ คือมีเจตจำนงค์ในการช่วยสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์อย่างยิ่งที่ไม่มีพระโพธิสัตว์องค์ใดจะมีได้เสมอเหมือนกล่าวกันว่า(มติเถรวาท)พระโพธิสัตว์ที่บำเพ็ญบารมีแก่กล้าขนาดนิยตะโพธิสัตว์คือเที่ยงแท้ต่อการบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นอาจมีพระเมตตาบารมี(อยากให้เป็นสุข)ได้ใกล้เคียงหรือเสมอกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แต่พระกรุณาบารมี(อยากช่วยให้พ้นทุกข์)นั้นมิอาจทัดเทียมน้ำพระทัยแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย
๓. พระปัญญาธิคุณ คือความเลิศล้ำทางปัญญารู้แจ้งแทงตลอดทางมายาและสัจจะและยอดยิ่งในการมีพระปัญญาวินิจฉัยเทศนาธรรมะให้พระสาวกบรรลุตามได้ จะเห็นได้ว่าความหมายของ “พุทธคุณ” ที่แท้จริงนั้นแตกต่างจากความหมายหรือนัยของนักนิยมเครื่องรางของขลัง เพราะแท้ที่จริงพระพุทธคุณคือคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้แต่สิ่งที่เรียกว่า ฤทธิ อำนาจที่เกิดปาฏิหาริย์นั้น พระบรมศาสดามิได้ยกย่องว่าเป็นองค์คุณแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย โดยอรรถะและพยัญชนะที่ไม่ควรทำสิ่งที่พระบรมศาสดาประสงค์ให้ผิดเพี้ยนไปจึงควรเรียกความศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏในเครื่องรางหรือแม้แต่ที่ปรากฏในพระพุทธรูปว่า “อิทธิคุณ” จึงจะเหมาะสมกว่าโดยไม่ทำให้เกิดสัทธรรมปฏิรูปแบบไม่ตั้งใจ พระพุทธศาสนานั้นเน้นแก่นเเท้คือความเข้าใจในชีวิตมีสุขด้วยการพ้นทุกข์แบบเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมีใช่การยกย่องอำนาจฤทธิ์เดชที่เป็นของชั่วคราวไม่ยั่งยืนแต่หากแก่นของพระพุทธศาสนานั้นประเสริฐเลิศล้ำละเอียดจนปถุชนอาจมีมนสิการเข้าถึงได้ยากจึงจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “กระพี้ธรรม” ห่อหุ้มเพื่อบำรุงแก่นธรรมนั้นให้คงอยู่การสร้างพระเครื่องรางต่างๆมิใช่มติของพุทธศาสนาที่เป็นแก่นแท้โดยตรงแต่เป็นสิ่งที่ห่อหุ้มบำรุงเลี้ยง “แก่นธรรม”ด้วยการโยงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่ยังข้องอยู่ในโลกียวิสัยให้เกาะอยู่ที่ไตรสรณาคมอันเป็นเหตุสำคัญที่คอยชักจูงคนให้เข้ามาศึกษาพุทธศาสนาจนเข้าถึงแก่นธรรมแท้ได้
การสร้างพระเครื่องหรือพระพุทธรูปอาจเป็นดาบสองคมที่ทำให้คนลุ่มหลงเพราะลูบคลำพระพุทธศาสนาอย่างผิดเป้าพุทธประสงค์ทั้งการหลงกับฤทธิอำนาจนั้นหรือลูบคลำอย่างในฐานะเหตุที่มาแห่งลาภสักการะกับอีกนัยหนึ่งเป็นการบำรุงเลี้ยงศรัทธาของพุทธศาสนิกมิให้เบี่ยงเบนออกนอกจารีตแห่งพุทธปรัชญาจนมีโอกาสบ่มเพาะบารมีของตนเองจนรู้เเจ้งเห็นจริงในธรรมะของพระศาสดาไดในที่สุด
การสร้างพระพุทธรูปแม้ในพระบาลีมิได้กล่าวโดยตรงว่าเป็นเหตุแห่งบุญก็ตามแต่ก็มีประโยชน์ในการทำให้น้อมรำลึกถึงพุทธคุณที่แท้หากพิจารณาโดยถูกวิธีได้ ความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปนั้นจึงมาจากอำนาจแห่งเทวดาที่รักษาพระพุทธศาสนาบันดาลให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์นานาประการเพื่อยังศรัทธาของพุทธบริษัท ทั้งบางประการอาจเกิดจากพุทธบารมีที่เป็นเรื่องอจินไตยไม่อาจอธิบายตามวิสัยปุถุชนจากที่กล่าวถึง “พระพิไชยสงคราม”หรือพระโพธินิพพานห้ามสมุ(ทัย)ว่ามีอานุภาพเสริมสวัสดิมงคลแก่เจ้าของเป็นที่ประจักษ์มาแต่โบราณจึงเป็นประเพณีที่พุทธมามกะชนนิยมดำเนินตามสร้างพระบรรจุดวงชะตาโดยเปรียบเอาพระรูปแห่งองค์พระปฏิมาเป็นประดุจตัวถังของรถ การบรรจุดวงชะตาเปรียบเสมือนเครื่อง แรงศรัทธาคือน้ำมันพึงอภิปรายแสดงได้ว่า รถนั้นหากมีตัวถังไม่มีเครื่องก็มิอาจแล่นไปได้ และเมื่อมีเครื่องแล้วได้น้ำมันคือ ศรัทธาที่ทำการกราบไหว้เป็นนิตย์ น้อมจิตถึงพุทธานุภาพ รถนั้นก็จะแล่นสู่ที่หมายดังประสงค์คือพระที่สร้างขึ้นเมื่อบรรจุดวงหมั่นกราบไหว้อธิษฐานความมุ่งหวังก็อาจสำเร็จได้
การสร้างพระโพธิห้ามสมุ(ทัย) นั้นยากมากด้วยความยากลำบากในการหาวัสดุจึงมีการคิดดัดแปลงสร้างเป็นพระพุทธปฏิมาโลหะปางมารวิชัยเรียกกันว่า “พระชัย” โดยมีชื่อเต็มว่า “พระชัยวัฒนะ” เป็นแบบที่ทางการสร้างถวายองค์พระมหากษัตริยาธิราชตามที่ทราบกันว่า “พระชัยประจำรัชกาล” และเจ้านายสำคัญๆต่อมาสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสสเทโว)ได้ทรงดัดแปลงประกอบพิธีหล่อประทานให้ศิษยานุศิษย์บรรจุดวงชะตาไว้สักการะบูชาจึงถือเป็นประเพณีสืบมาจนมาถึงสมัยเจ้าคุณมงคลราชมุนี (สนธิ์ ยติธโร)ได้ดัดแปลงออกไปอีกโดยนำดวงชะตาใส่ในรูปพระมหากัจจายน์และภควัมปติซึ่งแกะด้วยไม้รักซ้อน ซึ่งในสำนักของสมเด็จพระสังฆราช(อยู่ ญาโณทัย)ก็มีการจัดสร้างพระปิดตาบรรจุดวงเช่นกัน
การหล่อสร้าง “พระชัย”ด้วยโลหะนั้นนิยมสร้างอาถรรพ์ความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการลงอักขระเลขยันต์ในโลหะที่จะนำมาเป็นทองชนวนหล่อพระ โดยได้ใช้ตำราที่สืบทอดมาจากท่านเจ้ามาวัดสามปลื้ม เรียก “ตำราการสร้างพระสำคัญ” ประกอบด้วยยันต์ ๑๐๘ดวงและนะอักขระวิเศษอยู่ ๑๔ องค์ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นจะเป็นตำราที่ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์มากกว่าจะมีอายุนานถึงสมัยอยุธยาตามที่มักอ้างกันว่าสืบจากสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วแต่ครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในแผ่นดินศรีอยุธยา เพราะหากคำนึงถึงประวัติศาสตร์ก็มิอาจเป็นได้ด้วยสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วเป็นพระมอญคือ “พระมหาเถระคันฉ่อง” เชี่ยวชาญวิปัสสนาธุระจึงไม่น่าส่งเสริมเรื่องคาถาอาคมอีกประการด้วยเป็นภิกษุมอญตำรับเลขยันต์ถ้ามีจริงว่าสืบจากท่านจึงน่าเป็นอักขระภาษามอญมากกว่าประการนี้ก็อาจมีผู้แก้ว่าเมื่อมาอยู่ที่ศรีอยุธยาจะชำระพระตำราให้เป็นภาษาหนังสือใหญ่(ขอม)ตามจารีตไทยนั้นก็เห็นไม่น่าสอดคล้องเพราะผิดธรรมเนียมลัทธิไสยเวทที่มักถือคติตามครูอาจารย์ไม่ดัดแปลงทั้งเมื่อพิจารณารูปแบบอักขระการวางอักษรก็เป็นแบบสยามมากกว่ารับมาจากมอญจึงเสนอแง่คิดมุมมองให้ผู้รู้ลองวินิจฉัยดูเพราะหลักฐานเท่าที่ค้นได้นั้นไม่เพียงพอที่จะชี้ชัดลงไป
ตำราการสร้างพระสมัยอยุธยานั้นมีขั้นตอนมากกว่ายันต์๑๐๘ นะ๑๔ ที่ใช้ในปัจจุบันมากเพราะมีถึงหลายพับสมุดไทยมีเลขยันต์มากมายที่ประดิษฐ์ขึ้นที่ไม่ระบุในยันต์๑๐๘ นะ๑๔ ที่นิยมใช้กันเพราะแต่ครั้งโบราณนิยม เช่นพระยันต์พุทธไตรรัตนาธิคุณ ยันต์สัมพุทเธ ยันต์สัตตะปริต ยันต์อักขระวิเศษ ยันต์ ปฐมอักขระ ฯลฯ แม้การลงอักขระเลขยันต์ที่หล่อพระก็มิได้ทำตามจารีตโบราณครบถ้วนด้วยดัดแปลงให้เกิดความสะดวกเเก่ผู้ประกอบพิธีเป็นสำคัญรายละเอียดจึงขอข้ามเสีย การหล่อพระชัยนี้ต่อมาได้ดัดแปลงมาเป็นพระพุทธปฏิมาขนาดเล็กนิยมนำติดตัวเป็นพระเครื่องเชื่อถือว่ามีคุณวิเศษเป็นที่นิยมของผู้สนใจเรื่องพระเครื่องแต่ประเด็นนี้ในส่วน การหล่อพระกริ่งในไทยที่กระทำเป็นรูปพระไภษัชคุรุโดยคณาจารย์ฝ่ายเถรวาทจะเว้นเสียไม่อภิปรายด้วยเห็นว่าไม่ถูกจารีตและผิดพระธรรมวินัยทั้งเนื้อหาเลขยันต์ที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีส่วนใดเลยที่เกี่ยวกับพระไภษัชคุรุของมหายานมีเพียงรูปแบบเท่านั้น จึงฝากให้เป็นประเด็นที่ผู้รู้ในทางพระพุทธศาสนาได้ถกแถลงกันถึงความถูกต้องต่อไป เพราะไม่เช่นนั้น “พระกริ่ง” ที่ฝ่ายเถรวาทระดมสร้างนั้นจะหามติหรือลัทธิว่าเข้าทางฝ่ายใดไม่เจอ จึงเกิดหัวข้อหารือว่า “สมควรหรือไม่ที่สร้างรูปพระไภษัชคุรุ โดยฝ่ายเถรวาท” ท่านผู้รู้ที่อ่าน “อุณมิลิต” สามารถแสดงความเห็นเป็นบทความเชิงวิชาการเรื่องนี้ส่งมาได้หากทางฝ่ายวิชาการพิจารณาแล้วเห็นว่า มีสาระประโยชน์จะนำเผยแพร่และมอบของที่ระลึกให้ครับ
การบรรจุดวงชะตาใน “พระชัย” นั้นในส่วนพิธีกรรมที่จัดเพื่อคนทั่วไปนั้นคงมีขั้นตอนเช่นเดียวกับพระโพธิห้ามสมุ(ทัย)ผิดกันที่ฐานปิดนั้นใช้โลหะปิดหรือเทปูนซีเมนต์ผสมผงวิเศษปิดแทนแต่คำนึงถึงความแน่นหนาเป็นสำคัญ แต่การบรรจุดวงนั้นเพิ่มจากพระโพธิ์ฯหน่อยหนึ่งคือต้องกรึงเจดีย์ด้วยไม้โพธินิพพาน แล้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุอรหันต์ได้แก่ พระโมคคัลลา พระสารีบุตร พระสีวลี พระธาตุพิมพา พระธาตุมหากัจจายน์ แล้วผนึกเจดีย์ให้แน่นหนามั่นคง จากนั้นนำแผ่นดวงชะตาที่คำนวณดวงพิไชยสงคราม ที่ถูกต้องลงบนพระยันต์ดวงพิไชยสงครามซึ่งมีพิธีเฉพาะพอขยายเพื่อยืนยันถึงความละเอียดของพิธีกรรมเช่น เหล็กจารบังคับให้ใช้ไม้ไชยพฤกษ์หรือไม้ชุมแสง ลงอักขระในวงแหวนเพชร แหวนปัทมราช แหวนนิล แหวนนพรัตน์ แหวนนาคอุเคนทร์ จึงเอาชาดหรคุณลบดวงชะตาแล้วเจิมด้วยจันทร์แดง จันทร์ขาว จันทร์คณา กฤษณา กลำภักเครื่องหอม เจิมดวงชะตา พร้อมเชิญเทวดามารักษาดวงชะตาผู้เป็นเจ้าของด้วยพระคาถาว่า “ โองการเรภะคะวะโต ปัจเจกะโพธิสิทธิเตเชนะ ……….อิสีสิทธิวิชาธะระปะติฏฐิตังเม สวาหายะ” และพระคาถานวเทวาภิบาลเป็นเสร็จกิจพิธีกรรม
เมื่อบรรจุดวงชะตาให้นำเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ อรหันต์ธาตุวางบนแผ่นดวงพิชัยสงครามถมด้วยเครื่องยา ผงวิเศษ วัตถุทางโภคทรัพย์และนำใบศรีมหาโพธิที่ล่วงเองมาลงรูปองค์ภควัมปติและหัวใจโสฬสแล้วคาดด้วยแผ่นเงินบริสุทธิ์ลงพระคาถา สัมฤทธิมนตร์ว่า “เยธัมมาเหตุปะภะวาเตสังเหตุ ตะถาคะโต อาหะ เตสัญจะโย นิโรโธ จะเอวังวาทีมหาสมโณ”คาดพันรอบเจดีย์จึงนำแพรเก้าสีห่อเจดีย์อีกชั้นมัดด้วยสายสิญจ์หรือไหมเจ็ดสีคอยฤกษ์เวลาที่เหมาะสมกับเกณฑ์ชะตาเจ้าของพระและบรรจุตามขั้นตอนแบบพระโพธิห้ามสมุ(ทัย)ทุกประการอาจเพิ่มลดขั้นตอนตามมติของอาจารย์ผู้บรรจุก็ได้เป็นข้อปลีกย่อยมิใช่หลักใหญ่ของพิธีกรรมจึงไม่อาจคำนึงความถูกต้องหรือผิดจากจารีต
ในการบรรจุดวงนั้นหากผู้ใดไม่รู้วันเดือนปีเกิดที่แน่นอนก็ให้จารึกดวงประสูตรขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแทนได้กระทำในฤกษ์ที่เหมาะสมก็มีคุณดุจกัน พระชัยที่บรรจุดวงชะตานี้ถือเป็นของมงคลประจำตัว ที่มีคุณานุภาพทางค้ำคูนดวงชะตา เป็นสิริและมงคลแก่ผู้สักการะ ที่นำมาเล่านี้เป็นวิธีบรรจุตามที่กระทำโดยทั่วไป ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช(แพ ติสสเทโว)ทรงรับสั่งเรียกพระชัยบรรจุดวงตามที่เล่ามานี้ว่า “พระสมภาร” คือเป็นใหญ่กว่าพระพุทธรูปทั้งปวงที่มีอยู่ในบ้านนั้นนั่นเอง…………