ประวัติการสร้างสมเด็จวัดระฆัง

การสร้างสมเด็จวัดระฆัง

 พระเครื่องเป็นศาสตร์และศิลป์ที่อยู่คู่กับคนไทยมานาน คนสมัยก่อนมักนำบรรจุกรุไว้ดำรงซึ่งพระพุทธศาสนา ต่อมาอีกไม่นานเมื่อถึงกาลกรุแตก คนที่เชื่อเกี่ยวกับความขลังของพระเครื่องก็จะเก็บไป เมื่อกรุแตกแรกพระราคาองค์ละไม่ถึงบาท มีเป็นปิ๊ปๆ ปัจจุบันพระกรุที่มีอายุน้อยแต่ราคามากอันนี้เองที่กำลังจะกล่าวถึง จนได้รับการขนานนามว่าจักรพรรดิพระเครื่องคือ พระสมเด็จแห่งวัดระฆังโฆษิตาราม เป็นพระเครื่องลักษณะทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ต่อมาพระเครื่องลักษณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ดังเช่นพระสมเด็จจิตรลดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จขาโต๊ะ พระตระกูลสมเด็จมีด้วยกัน3รุ่นคือสมเด็จระฆัง บางขุนพรหม เกศไชโย ความศักดิ์สิทธิ์ของพระสมเด็จองค์นี้ ครั้งแรกคงสู้พระชุดกิมตึ๋งไม่ได้ แต่เมื่อนำพระมาสรงน้ำแล้วสามารถรักษาโรคได้ ทำให้ความนิยมองค์พระสมเด็จมีมากขึ้นป็นลำดับ จนมีการจัดชุดพระเบญจภาคี พระสมเด็จซึ่งมีอายุ130ปี เป็นชุดที่มีอายุน้อยที่สุดในชุดนี้เพราะพระรอดมีอายุมากกว่า1000ปี อีกทั้งการซื้อขายพระสมเด็จวัดระฆังนี้ดุเดือดมาก เคยบันทึกว่าเป็นพระที่มีราคาสูงที่สุดถึง 40 ล้านบาทเลยทีเดียว ก่อนที่เราจะรู้จักกรรมวิธีการสร้างพระสมเด็จอันลือลั่น และมีความศักดิ์สิทธิ์ด้านเมตตามหานิยม อีกทั้งยังคงกระพันด้วย จากการบอกกล่าวหลายๆอย่างเช่น ผู้ที่อมพระสมเด็จแล้วถูกยิงไม่ตาย เป็นต้น ก่อนอื่นเราควรรู้จักผู้สร้างพระสมเด็จซึ่งทุกคนต้องรู้จักดีสำหรับเจ้าพระคุณผู้สร้างนี้

   ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม บางกอกน้อย ธนบุรี นามเดิมว่า โต ได้รับฉายา พฺรหฺมรํสี ถือกำเนิตอนเช้าตรู่ของวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๕๐ ในรัชกาลที่ ๑ ณ บ้านไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเรียนรู้พระปริยัติธรรม ได้อย่างที่เรียกว่า รู้แจ้งแทงตลอด นอกจากท่านจะได้ศึกษาในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆังโฆสิตารามแล้ว ท่านยังได้ฝากตัวศึกษาทางด้านปริยัติและด้านปฏิบัติกับสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน ณ วัดมหาธาตุ เมื่อกิตติศัพท์ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้เสด็จฯ เข้าแปลพระปริยัติธรรมถวายตามหลักสูตรเปรียญ ในเวลานั้นพระองค์ทรงแปลอยู่ ๓ วัน ก็ปรากฎว่าทรงแปลได้หมดจนจบชั้นเปรียญเอก จึงพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยคให้ ทรงถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา อีกทั้งท่านไปพบคัมภีร์ใบลานภาษาสิงหลแตกกรุจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ พร้อมตั้งชื่อพ้องกับเทพที่ เคยมาสอนเทวบัญญัติแก่ท่านชื่อท้าวชินบัญจะระ ต่อมาคาถานี้ชื่อ”คาถาชินบัญชร”ได้ร่วมเสกในพระสมเด็จทั้งสมเด็จวัดระฆัง บางขุนพรหมและเกศไชโย เป็นมหามงคลคาถาที่คนนิยมสวดมากที่สุดก็ว่าได้

   ครั้งเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย และเป็นเมืองที่ร่ำรวยด้วยโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีพระเครื่องซึ่งงดงามไปด้วยพุทธศิลปะสุโขทัยอันอ่อนช้อยลอยเบาและเป็นพุทธศิลปะอันบริสุทธิ์ของชาวไทยเราอีกด้วย และโดยที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีความรู้และแตกฉานทางอักษรโบราณ ท่านจึงสามารถอ่านศิลาจารึกที่ว่าด้วยกรรมวิธีการสร้างพระเครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพระพิมพ์ด้วยเนื้อผงขาว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เนื้อพระสมเด็จ โดยมีเนื้อหลักเป็นปูนขาว (ปูนหิน) หรือปูนเปลือกหอย ผสมผสานด้วยวัตถุมงคลอาถรรพณ์อื่นๆ และมีผงวิเศษซึ่งสำเร็จจากการลบสูตรสนธิ์จากคัมภีร์ทางพุทธาคม เมื่อนำเอามาบดตำกรองจงดีแล้ว จึงนำเอาวัตถุมงคลและอาถรรพ์ต่างๆ เหล่านั้นมาผสมผสานกับดินสอพอง(ดินขาว) แล้วปั้นเป็นแท่งตากให้แห้งแล้วจึงนำเอามาเขียนอักขระเลขยันต์ตามคัมภีร์บังคับบนกระดานโหราศาสตร์ ซึ่งทำจากไม้ต้นมะละกอ เสร็จแล้วจึงลบเอาผงมาสร้างเป็นพระสมเด็จ ที่เราเรียกว่าผงวิเศษ หรือผงพุทธคุณนั่นเอง นอกจากนั้นแล้วยังสันนิษฐานกันว่า ท่านยังเอาข้าวก้นบาตรและอาหารคาวหวานที่ท่านฉันอยู่ ถ้าคำไหนอร่อยท่านจะไม่ฉัน จะคายออกมาแล้วตากให้แห้งเพื่อนำไปบดตำสร้างพระสมเด็จของท่าน ซึ่งถูกต้องตามวิธีการสร้างพระอาหารของชาวรามัญ ส่วนตัวประสานหรือตัวยึดเกาะนั้น ที่เราทราบๆ กันอย่างเด่นชัดก็คือ น้ำมันตังอิ้ว น้ำอ้อย น้ำผึ้ง กล้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เยื่อกระดาษ ได้จากการที่เอากระดาษฟางหรือกระดาษสามาแช่น้ำข้ามวันข้ามคืน จนกระดาษละลายเป็นเมือกดีแล้ว จึงนำเอามากรองเพื่อเอาเยื่อกระดาษมาผสมผสานบดตำลงไป เชื่อกันว่าตัวเยื่อกระดาษนี้เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เนื้อพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามมีความหนึกนุ่ม เนื้อจึงไม่แห้งและกระด้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนผสมที่เป็นประเภทพืช เช่น ข้าว อาหาร กล้วย อ้อย เป็นต้น ก็มีส่วนที่ทำให้เนื้อพระมีความหนึกนุ่มอีกเช่นกัน สำหรับในด้านแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามนั้น ถ้าจักได้พิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้วจักเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย คือเค้าโครงภายนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงเรขาคณิต เป็นการออกแบบที่ทวนกระแสความคิดสร้างสรรของคนโบราณอย่างสิ้นเชิง อาจจะพูดได้ว่าเป็นการออกแบบที่เป็นศิลปะของตนเองอย่างบริสุทธิ์ หาได้อยู่ภายใต้อิทธิพลของศิลปะพระเครื่องสกุลอื่นใดไม่ ทั้งๆ ที่การสร้างพระพิมพ์หรือพระเครื่องได้มีมาแต่ครั้งสมัยคันธารราษฎร์ (อินเดีย) มากกว่า ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ในด้านองค์พระ คงได้แนวคิดและแบบอย่างมาจากพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งส่วนมากจักประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เฉพาะซุ้มเรือนแก้วนั้น คงจักได้แนวคิดมาจากครอบแก้ว ท่านเป็นผู้สำเร็จวิชาโศรฬมงคลคือรู้อนาคต ด้วยได้ปรารภว่าเก็บไว้ให้ดีต่อไปจะหายาก

   เพราะเหตุจากการสร้างที่ถูกต้องตามหลักพุทธวิทยาคม อีกทั้งยังมีท้าวชินบัญจะระชี้แนะเทวบัญญัติทำให้พระสมเด็จทั้ง3รุ่นมีราคาค่างวดที่สูงมาก แต่พระเครื่องเป็นเพียงวัตถุยึดเหนี่ยวจิตใจ เสมือนมีพระอยู่เป็นเครื่องรับประกันไม่ให้ทำชั่ว หากทำกรรมชั่วเมื่อใดพระองค์นั้นจะไม่คุ้มครอง

 

เรื่องโดยคุณสุรเชษฐ์ วันทนียวงค์
๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.