ขับเสภา เสภาทรงเครื่อง

เสภาทรงเครื่อง

มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาดูเหมือนกับจะพึงพอใจในการเล่านิทานกันทั้งสิ้น อินเดีย และไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน แต่เนื่องด้วยต้นเหตุ การขับเสภาในเมืองไทยเราเคยมีคติอยู่อย่างหนึ่ง ที่ผู้เฒ่าผู้แก่พูดกันเสมอว่า ถ้าเล่านิทานในเวลากลางวันเทวดาจะแช่ง เห็นจะเป็นเพราะเทวดาก็ชอบฟังนิทานเหมือนกับมนุษย์เรา เพราะกล่าวกันว่า ในเวลากลางวันพวกเทวดามีกิจธุระต้องไปเฝ้าพระอิศวรหรือพระเป็นเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเสีย ถ้ามนุษย์เล่านิทานในเวลากลางวันเทวดาก็ไม่มีโอกาสได้ฟังเธอจึงสาปแช่ง และมนุษย์เราโดยเฉพาะชาวไทยจึงมีประเพณีเล่านิทานให้ฟังในเวลากลางคืน การเล่านิทานนี้เองที่ค่อยๆวิวัฒนาการมาจนกลายเป็นการขับเสภา คือการเล่านิทานเป็นคำกลอน ในสมัยโบราณการเล่านิทานเป็นคำกลอนหรือขับเสภานี้ เคยใช้ว่ากันด้วยกลอนสด คือ ผู้ขับแต่งกลอนด้นด้วยปฏิภาณของตน และนิทานหรือเรื่องราวที่นำมาแต่งกลอนด้นใช้ขับเป็นเสภาในชั้นแรก คงจะใช้แต่เรื่องที่เป็นการสรรเสริญเทพเจ้าหรือพระมหากษัตริย์ หรือเชิดชูเกียรติคุณของวีรบุรุษ เช่นเรื่อง มหาภารตะหรือรามายณะ ส่วนเรื่องอันเป็นเบ็ดเตล็ดก็ปล่อยไว้ให้เป็นนิยายสำหรับเล่ากันเช่นเดิม

มีข้อที่ควรสังเกตคือ เสภาเป็นสิ่งที่อุบัติขึ้นจากพิธีอันเป็นมงคลดังกล่าว แม้จะได้นำมาเป็นเครื่องมหรสพอย่างหนึ่งก็ตาม ก็ยังมีประเพณีขับเสภาในงานอันเป็นสวัสดิมงคล เช่น งานโกนจุก งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น งานจำพวกเปรตพลีหรืองานอวมงคลหามีเสภาไม่ และการขับเสภาก็นิยมมีกันแต่ในเวลากลางคืนเท่านั้น เพราะคงถือว่าเป็นประเภทเดียวกันกับการเล่านิทาน แม้ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งท่านผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ราว พ.ศ. ๒๐๑๑ ตอนที่ว่าด้วยกำหนดเวลาอันเป็นพระราชานุกิจของพระเจ้าแผ่นดินว่า “หกทุ่มเบิกเสภาดนตรี” ซึ่งแสดงว่าเสภาเป็นสิ่งที่ไพเราะน่าฟัง ถึงแก่ตั้งกฎไว้เป็นพระราชกิจประจำวัน และพระเจ้าแผ่นดินทรงสดับในเวลาว่างพระราชภาระตอนกลางคืน ส่วนบทที่ขับผู้ขับจะใช้บทกวีที่มีผู้แต่งไว้ขับบ้าง หรือขับเป็นกลอนสดของตนเองตามพอใจบ้าง

เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน

ส่วนเรื่องขุนช้างขุนแผน อันเป็นบทประจำสำหรับขับเสภาที่เราใช้กันในสมัยนี้ คงจะคิดแต่งกันขึ้นเมื่อราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะเนื้อเรื่องของขุนช้างขุนแผนนั้นได้เค้าความของเหตุการณ์ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มาแต่ง ด้วยมีกลอนตอนต้นของเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนกล่าวบ่งไว้ว่า
“จะกล่าวถึงเรื่องขุนแผนกับขุนช้าง ทั้งนวลนางวันทองผ่องศรี
ศักราช (แปด) ร้อยสี่สิบเจ็ดปีกัน พ่อแม่เขาเหล่านี้คนครั้งนั้น”

ศักราชที่กล่าวนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ตกคำว่า “แปด” ไปหนึ่งคำ ถ้าเป็นไปตามที่ทรงสันนิษฐาน ก็เป็นจุลศักราช ๘๔๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๒๘ ซึ่งอาจเป็นปีที่รวมเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องขุนช้างขุนแผนหรืออะไรสักอย่างหนึ่ง แต่ปีที่ขุนแผนเกิดนั้น อาจเป็นปีขาล จุลศักราช ๘๔๔ เพราะมีกล่าวไว้ในกลอนบทเสภานั้นเองว่า ขุนแผนเกิด “ปีขาล วันอังคาร เดือนห้า ตกฟากเวลาสามชั้นฉาย” หรืออาจเป็นปีขาลต่อมาอีกรอบหนึ่ง ตรงกับจุลศักราช ๘๕๖ ก็ตรงกับ พ.ศ. ๒๐๒๕ ตกอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ขุนแผนก็คงมีวัยหนุ่มฉกรรจ์รับราชการอยู่ในรัชกาลนั้น ซึ่งคงจะเป็นเรื่องเล่ากันเป็นนิทานมาก่อน แล้วจึงได้นำมาผูกเป็นกลอนเสภาขึ้นภายหลัง

ปี่พาทย์ประกอบเสภา

อนึ่งการขับเสภาแต่สมัยโบราณ ไม่มีเครื่องดนตรีชนิดใดประกอบ นอกจากกรับที่ผู้ขับขยับประกอบแทรกแซงสอดสลับในทำนองขับของตนเท่านั้น เนื่องจากการขับเสภาเป็นที่นิยมแพร่หลาย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็โปรดฟังการขับเสภาเป็นอย่างยิ่ง ถึงแก่มีเสภาเป็นของหลวงประจำพระองค์ ทรงมีพระราชดำริเห็นว่า คนขับเสภาถึงแม้ว่าจะได้ผลัดเปลี่ยนขับคนละตอนตามถนัดแล้วก็ตาม คนขับก็ยังเหน็ดเหนื่อย มีเวลาพักไม่เพียงพอ จึงโปรดเกล้าให้จัดวงปี่พาทย์เข้าประกอบเป็นอุปกรณ์การขับเสภา โดยให้แทรกเพลงร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ และบรรเลงเพลงหน้าพาทย์เหมือนอย่างการแสดงละคร ตอนใดดำเนินเรื่องก็ขับ ตอนใดเป็นถ้อยคำรำพันหรือข้อความอื่นที่ควรแก่การร้องส่งก็ร้อง จะเป็น “ช้าปี่” หรือ “โอ้ปี่” อย่างละครก็ได้ ตอนใดเป็นบทไปมาหรือรบ ปี่พาทย์ก็บรรเลงเพลงกราวนอก กราวใน หรือเชิด เป็นอย่างที่ท่านสุนทรภู่กล่าวไว้ในกลอนว่า “เสียงส่งกราวเชิดเพลงโหน่งเหน่งไป” การขับเสภาที่มีปี่พาทย์ก็เห็นจะเริ่มขึ้นแต่รัชกาลที่ ๒ นั้นเป็นครั้งแรก โดยมีหลักฐานอยู่ในกลอนคำไหว้ครู ซึ่งแต่งในรัชกาลที่ ๒ ว่า

“เดิมเมื่อครั้งจอมนรินทร์แผ่นดินลับ เสภาขับยังหามีปี่พาทย์ไม่
ครั้นมาถึงพระองค์ผู้ทรงชัย ก็เกิดมีขึ้นในอยุธยา”

และถือเป็นแบบฉบับมาจนทุกวันนี้ แต่ปี่พาทย์ที่ใช้ในสมัยนั้นมีเพียงระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ปี่ กลอง และตะโพน ภายหลังทรงเห็นว่าเวลาตะโพนตีประกอบจังหวะกับการร้องส่งภายในอาคาร ย่อมมีเสียงดังเกินความต้องการไปมาก จึงโปรดให้นำ “เปิงมาง” มาติดข้าวสุกถ่วงเสียง ตีประกอบจังหวะแทนตะโพน เรียกชื่อในการนี้ว่า “สองหน้า” ก็เป็นประเพณีสืบมาอีกอย่างหนึ่ง

เคล็ดลับของเพลงปี่พาทย์ประกอบเสภา

เพลงปี่พาทย์ประกอบเสภามีเคล็ดลับอย่างหนึ่ง คือ ตามธรรมดาคนขับเสภาหรือนักร้องที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ ต้องร้องเพลงทุกเพลงได้ถูกต้องตรงระดับเสียงของเครื่องดนตรี โดยไม่ต้องเคาะเสียงดนตรีให้ฟังก่อน แต่ในการเอื้อเฟื้อของอาจารย์ทางดนตรีได้หาวิธีบอกเสียงให้ผู้ร้องทราบไว้สำเร็จแล้ว โดยใช้หลักวิชาเป็นเครื่องประกอบ คือ

๑. เพลงโหมโรงของโบราณ จะต้องจบลงตรงเสียงอันเป็นคู่แปด (Octave) กับเสียงลูกรองยอดของระนาดเอก หรือฆ้องวงใหญ่
๒. เพลงที่รับจากร้องส่งทุกเพลงต้องออกลูกหมด และลูกหมดทุกชนิด ก็จบลงตรงเสียงลูกรองยอดของระนาดเอก หรือฆ้องวงใหญ่เช่นเดียวกัน เสียงลูกรองยอดนี้เทียบได้กับเสียง “เร” ของดนตรีสากล ซึ่งเป็นเสียงที่สำคัญที่สุดของนักร้องเพลงไทยที่จะต้องยึดถือ เมื่อกระนี้แล้วถ้าผู้ขับร้องสำเหนียก และรักษาเสียงนั้นไว้ได้แม่นยำ ก็จะร้องเพลงต่อๆไปได้โดยไม่ผิดเพี้ยนเลย

เพลงโหมโรงเสภา

การโหมโรงละครรำนั้น บรรเลงตั้งแต่เพลงตระ ไปจนถึงเพลงกราวใน ชุบ และเพลงลา เช่นเดียวกับโหมโรงเย็น เมื่อจะลงโรงปี่พาทย์(เริ่มแสดง) คือ บรรเลงเพลงวา ละครก็ปล่อยตัวแสดงออกมา และดำเนินเรื่องต่อไป การบรรเลงโหมโรงเสภาในสมัยนั้นก็คงจะต้องโหมโรงอย่างละครรำ และจบลงด้วยเพลงวา แล้วผู้ขับเสภาจึงเริ่มขับไหว้ครู และดำเนินเรื่องต่อไปเช่นเดียวกัน

ในที่นี้อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้วินิจฉัยคำว่า “วา” ว่าเหตุที่เพลงที่บรรเลงสำหรับลงโรงนี้เรียกว่า “วา” เพราะคำว่า “วา” มักนิยมใช้กันในมาตรวัดซึ่งมีอัตรา ๔ ดอก ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับการแสดงหรืออะไรในตอนนี้เลย แต่บังเอิญมานึกถึงคำโบราณซึ่งใช้เป็นภาษาพูดกันอยู่อย่างหนึ่ง มีความหมายคล้ายกับคำว่า “ปล่อย” เช่น ผู้ที่พลัดตกจากที่สูงโดยไม่มีท่ามีทาง แขนขาก็ไม่ทำงานอย่างหนึ่ง หรือปล่อยตัวลงมาโดยเจตนา แต่มือและเท้าก็คงปล่อยไปตามเรื่อง เหมือนดั่งไม่มีความรู้สึกอย่างหนึ่ง หรือนอนหงายอย่างปล่อยมือปล่อยเท้าให้เหยียดออกไปโดยไม่คำนึงว่ามือ และเท้าจะเป็นอย่างไรอีกอย่างหนึ่ง อาการเช่นนี้มักเรียกกันว่า “วาตีนวามือ” คือ “ปล่อยตีนปล่อยมือ” ถ้าคำว่า “วา” มีความหมายว่าปล่อย ซึ่งดูจะเป็นการลากคำเข้าไปหาความอยู่บ้าง แต่ถ้ามีความหมายเช่นนั้นได้น่าจะอุปโลกน์ว่า “เพลงวา” คือ “เพลงปล่อย” หมายความถึงเพลงสำหรับปล่อยตัวละครออกมาแสดงนั่นเอง

เมื่อการบรรเลงปี่พาทย์ประกอบเสภาต้องโหมโรงอยู่เป็นเวลานานกว่าจะถึงเพลงวา เป็นการเสียเวลาที่ผู้คอยฟังจะทนรออยู่ได้ และถ้ายิ่งเป็นองค์พระมหากษัตริย์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งจะทรงรำคาญเวลาที่รอนี้ยิ่งขึ้นอีกหลายเท่า จึงโปรดเกล้าฯให้รวบรัดตัดความบรรเลงแต่เพลง “วา” เป็นเพลงโหมโรงเพลงเดียว ก็เป็นการทันอกทันใจผู้ฟังเสภามากขึ้น จึงถือเป็นประเพณีดังนี้สืบมา แต่วิสัยศิลปินก็เหมือนนักเลงวิทยาการทั้งหลาย ถ้าต้องทำสิ่งใดซ้ำซากอยู่เช่นนี้ทุกครั้งโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงเสียบ้างแล้ว ก็ย่อมเกิดความเบื่อหน่าย และเห็นเป็นไม่มีความเปลี่ยนแปลงงอกงาม จึงมีผู้ประดิษฐ์คิดเอาเพลงอื่นอันมีจังหวะหน้าทับเป็นประเภทเดียวกับเพลงวามาบรรเลงแทน ต่อเมื่อจะลงจบให้เสภาขับ จึงนำทำนองอันเป็นวิธีจบของเพลงวาไปใช้ต่อท้าย ส่วนเพลงอื่นๆต่อจากนั้น ก็ได้เปลี่ยนแปลงจากแบบละครมาเป็นเพลงพม่าห้าท่อน และจร เข้หางยาว ฯลฯ จนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ เพลงประกอบเสภาได้ขยายตัวขึ้นเป็น ๓ ชั้น เพลงโหมโรงก็ขยายขึ้นเป็น ๓ ชั้นตามไปด้วย แต่คงยึดถือทำนองตอนจบของเพลงวามาต่อท้ายทุกเพลง เป็นแบบแผนประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้

เพลงเสภาทรงเครื่อง

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี้ วงปี่พาทย์ซึ่งได้ขยายตัวออกไปจนถึงเป็นเครื่องใหญ่ มีความนิยมประกวดประขันเรื่องวงปี่พาทย์กันมากขึ้น จนถึงแก่เสภาที่เคยเป็นประธาน และปี่พาทย์ที่เป็นแต่อุปกรณ์ก็กลับให้เสภาไปเป็นเครื่องอุปกรณ์ของปี่พาทย์ การขับเสภามีแต่เพียงเล็กน้อยพอเป็นพิธี วิธีการบรรจุเพลงก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนละครดังเป็นมาแต่ก่อน คือเริ่มด้วย
๑. ปี่พาทย์โหมโรงแล้วคนขับก็ขับเสภาไหว้ครู และดำเนินเรื่อง
๒. ร้องส่งเพลงพม่าห้าท่อนแล้วขับเสภาดำเนินเรื่องต่อไปเล็กน้อย
๓. ร้องส่งเพลงจระเข้หางยาวแล้วขับเสภาคั่น
๔. ร้องส่งเพลงสี่บทแล้วขับเสภาคั่น
๕. ร้องส่งเพลงบุหลันแล้วขับเสภาคั่น

ต่อไปไม่มีกำหนดเพลง แต่คงสลับกันเช่นนี้ตลอดไปจนจวนจะหมดเวลา จึงส่งเพลงส่งท้ายอีกเพลงหนึ่ง เพลงส่งท้ายนี้แต่เดิมใช้เพลงกราวรำ ต่อมาจึงเปลี่ยนแปลงเป็นเพลงอกทะเล เต่ากินผักบุ้ง หรือพระอาทิตย์ชิงดวง ฯลฯ แต่เดิมมาเพลงที่ใช้ตั้งแต่โหมโรงจนจบเวลาบรรเลง ใช้เพลง ๒ ชั้นทั้งนั้น ต่อมาจึงประดิษฐ์เพลงต่างๆเหล่านี้ขึ้นเป็น ๓ ชั้นเกือบทั้งหมด ศิลปแห่งการขับเสภามีปี่พาทย์ ประกอบ หรือปี่พาทย์มีขับเสภาประกอบดังกล่าวนี้ เรียกกันว่า “เสภาทรงเครื่อง” คือ ขับเสภามีร้องส่งให้ปี่พาทย์รับ

ครั้นภายหลัง เมื่อความนิยมฝ่ายดนตรีปี่พาทย์มีมากขึ้น และคนขับเสภาก็อาจจะน้อยตัวลง สมัยหลังๆมา เสภาเคยอยู่คู่กับวงปี่พาทย์จึงหายไป แต่การบรรเลง และร้องส่งเพลงต่างๆดังที่เคยมีมาแต่ก่อน เหมือนที่มีเสภาประกอบก็ยังคงอยู่ แม้วงเครื่องสายหรือวงดนตรีชนิดอื่นๆที่ขับร้อง และบรรเลง ก็ใช้เป็นแบบแผนประเพณีเช่นนี้เหมือนกัน คือ โหมโรง แล้วพม่าห้าท่อน จระเข้หางยาว ฯลฯ เป็นลำดับไปดังกล่าวแล้ว

เพลงกราวรำเสภา

พลงสำหรับขับร้องในเวลาเลิกการบรรเลงเสภา แต่โบราณมักจะใช้เพลงกราวรำเป็นประจำ ซึ่งคงจะกลายมาจากการแสดงละคร เพราะการแสดงละครเวลาเลิกนั้น ปี่พาทย์ย่อมบรรเลงเพลงกราวรำชั้นเดียว แต่เสภาจะแผลงเป็นวิธีร้องส่งด้วยเพลงกราวรำเช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนเสียงจบตอนสุดท้ายให้ต่างกันเสียเท่านั้น เพลงกราวรำเพลงเดียวกันนี้ แยกออกเป็นเพลงที่ใช้ต่างวาระกัน โดยเปลี่ยนเสียงตกเสียงสุดท้ายได้ถึง ๓ อย่าง คือ
๑. บรรเลงเวลาเลิกการแสดงละครหรือการแสดงอื่นๆหรือทำเป็น ๒ ชั้นแทรกอยู่ในเพลงวานั้นเอง
๒. ใช้ร้องส่งในตับมโหรีเรียกว่า “กราวรำมอญ”
๓. ใช้ร้องส่งเวลาเลิกการบรรเลงเสภา

ทั้งหมดนี้เสียงท้ายที่สุดอันเป็นเสียงจบจะแตกต่างกันทั้งสิ้น ถ้าจะเทียบกับโน้ตสากล เมื่อบรรเลงในบันได “ซอล” กราวรำของละครก็จบด้วยเสียง “เร” ส่วนกราวรำมอญในตับมโหรีจบด้วยเสียง “ลา” และกราวรำเสภาจบด้วยเสียง

ความหมายของเพลงกราวรำเสภามีอยู่เพียงว่า เสียดายที่เวลาขับร้อง และบรรเลงจะต้องสิ้นสุดลงเสียแล้ว ขอฝากความอาลัย และไมตรีไว้แด่ท่านผู้ฟังทุกท่าน แต่เพลงนี้เป็นเพลงที่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดนำมาแต่งขึ้นเป็น ๓ ชั้นเลย ทั้งนี้น่าจะเป็นด้วยรูปของเพลงอย่างหนึ่ง กับความนิยมในกาลสมัยอย่างหนึ่ง รูปของเพลงถึงแม้จะมีผู้แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ หรือต้นรัชกาลที่ ๔ ก็คงเป็นเพลงพื้นๆเรียบๆ ไม่มีที่สะดุดใจอย่างใด เข้าใจว่าระหว่างที่เพลง ๓ ชั้นยังมิได้เกิดแพร่หลายนั้น เพลงสำหรับใช้ขับร้องส่งท้ายของเสภา ก็คงหันมาใช้เพลงจำพวกที่มีสร้อย มีดอก เช่น เพลงเต่ากินผักบุ้ง และพระอาทิตย์ชิงดวง กันเสียหมดแล้ว ซึ่งทำให้เพลงกราวรำเสภาค่อยๆเลือนหายไปเสียก่อน เพราะสู้เพลงจำพวกมีสร้อย และดอกไม่ได้ เมื่อมาถึงสมัยที่มีการแต่งเพลง ๓ ชั้นแพร่หลายขึ้น นักแต่งเพลงก็เป็นอันตัดเพลงกราวรำเสภาออกจากวงการที่จะทำเป็นเพลงส่งท้าย ๓ ชั้นเสียทีเดียว มุ่งทำแต่เพลงจำพวกมีสร้อยมีดอก หรือจำพวกขับร้องสอดล้อกับดนตรี เช่น เพลงอกทะเล เป็นต้น ส่วนเพลงกราวรำเสภาก็คงเป็นเพลงในอัตรา ๒ ชั้นอย่างเดิม อาจารย์มนตรี ตราโมท ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่เพื่อใช้ขับร้อง ณ สังคีตศาลา เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๓ เป็นครั้งแรก ดังนี้
บทร้องเพลงกราวรำเสภา

อนิจจา ร้องมา มิทันไร เวลาล่วง เลยไป ได้กำหนด
การบรรเลง ขับร้อง จะต้องงด จำกล่าวบท อำลา ด้วยอาลัย
ขอฝากความ ไมตรี อารีสมาน แต่ปวงท่าน ด้วยจิต พิสมัย
จงระรื่น ชื่นบาน สำราญใจ บำราศภัย ไกลทุกข์ ทุกท่านเทอญ ฯ

กรับเสภา

กรับ เป็นสิ่งสำคัญของการขับเสภาอีกอย่างหนึ่ง กรับเสภานี้ ตามปกติทำด้วยไม้ชิงชันรูปสี่เหลี่ยม แต่ลบเหลี่ยมเสียนิดหน่อยเพื่อมิให้บาดมือ และให้สามารถกลิ้งตัวของมันเองกลอกกระทบได้สะดวก ขนาดของกรับเสภา หนาด้านละประมาณ ๕ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ ซม. มีจำนวน ๒ คู่ หรือ ๔ อัน ต่อผู้ขับ ๑ คน ผู้ขับใช้กรับนี้ถือเรียงไว้ในฝ่ามือของตนข้างละคู่กล่าวขับไปพลาง มือทั้งสองข้างจะขยับกรับในมือแต่ละข้าง ให้กลอกกระทบกันเข้าจังหวะกับเสียงขับ

ประเภทของจังหวะกรับ

เพลงกรับแต่โบราณ เท่าที่ทราบมามีอยู่ ๔ อย่าง คือ

๑. กรอ ใช้เวลาก่อนเริ่มต้นที่จะขับ เป็นการลองกรับ และเตือนประสาทมือที่จะขยับตอนหนึ่ง กับระหว่างพักในตอนดำเนินเรื่องอีกตอนหนึ่ง
๒. ไม้หนึ่ง ใช้ขยับในตอนขับไหว้ครูตอนต้น ในสมัยโบราณวิธีขยับจะเลียนเสียงจากเครื่องหนังประกอบจังหวะของหน้าทับปรบไก่ ๒ ชั้น สมัยหลังต่อมาเมื่อเกิดเพลง ๓ ชั้น และหน้าทับ ๓ ชั้นกันขึ้นโดยทั่วไป การขยับกรับก็ขยายตัวเลียนตามหน้าทับ ๓ ชั้นประเภทปรบไก่ขึ้นบ้าง
๓. ไม้สอง มักใช้ขยับเมื่อขับบทไหว้ครูตอนท้าย และต่อมาก็มีการขยายตัวขึ้นไปตามหน้าทับ ๓ ชั้น
๔. ไม้รบ (บางทีก็เรียกว่า “ไม้สาม”) ใช้ขยับเวลาเนื้อเรื่องดำเนินไปในทางดุเดือด โลดโผน เช่น รบ หรือหึงหวง หรือทะเลาะกัน เป็นต้น

ที่กล่าวมานี้ เป็นหลักเกณฑ์สังเขปที่พอจะสามารถนำมากล่าวให้เห็นได้ เพราะกรับเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดของการขับเสภา และมีศิลปในการขยับกรับให้กลอกกระทบกันเป็นจังหวะต่างๆมากมายหลายอย่าง ซึ่งผู้กล่าวขับจะต้องเป็นผู้ขยับกรับเอง ถ้าคนหนึ่งขับ อีกคนหนึ่งขยับกรับ ก็จะเป็นไปได้อย่างไม่สนิทสนมเหมาะสมตามบทบาท และทำนองขับ โบราณาจารย์จึงให้ผู้ขับเสภาขยับกรับด้วยตนเองทั้งสิ้น เพราะทำนองของเสภาเป็นลำนำ สำหรับดำเนินลีลา และบทไปเท่านั้น ไม่เป็นเพลงหรือมีจังหวะแน่นอน ยากที่ผู้หนึ่งจะรู้ใจอีกผู้หนึ่งได้

เสภารำ

เสภาเรื่อง”ขุนช้างขุนแผน”ได้เค้าเรื่องจากนิยายอิงพงศาวดารมาแต่งเป็นกลอนขึ้น ใช้ขับเป็นทำนองฟังกันเล่นแทนเล่านิทานตั้งแต่ราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดให้แทรกการร้องส่งมีปี่พาทย์รับ และบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ประกอบตามท้องเรื่องอย่างละคร เพลงที่ร้องส่งเป็นเพลง ๒ ชั้น และชั้นเดียวทั้งสิ้น
ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ศิลปทางดุริยางค์ขยายตัวขึ้นโดยนิยมเพลงที่มีอัตรา ๓ ชั้นกันทั่วไป เพลงที่ร้องส่งในการประกอบเสภาก็กลายเป็นเพลง ๓ ชั้นไปด้วย และเพลงหน้าพาทย์ประกอบเรื่องก็เลิกใช้กันตั้งแต่นั้น ต่อมาเมื่อนักขับเสภาเห็นว่า การขับเสภาแล้วร้องส่งแทรกเพลงเท่านั้น มีรสชาติแต่การฟังอย่างเดียว ใคร่จะให้ผู้ชมได้ออกรสชาติในทางดูขึ้นอีก จึงคิดเพิ่มเติมหาศิลปินทางนาฏศิลปมาทำบทบาทตามท้องเรื่องที่ขับ และรำตามจังหวะเพลงปี่พาทย์ ในขั้นนี้การร้องส่ง และการบรรจุหน้าพาทย์กลับไปเข้าแนวที่ปรับปรุงขึ้นในรัชกาลที่ ๒ อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับผู้รำ

วิธีขับเสภาประกอบด้วยการร้องส่งที่มีปี่พาทย์บรรเลง และมีตัวละครเป็นผู้รำตามบทและเพลงนี้ เรียกว่า “เสภารำ” แต่เสภารำในตอนนี้เป็นเสภารำชนิดเรียบร้อย ผู้ขับก็ขับไปตามบทที่ร้อยกรองขึ้นอย่างเคร่งครัด ผู้รำก็รำอย่างงดงามตามแบบแผน อันบทเสภาที่ใช้ขับนั้น มีอยู่หลายสำนวน ทั้งนี้ก็เพราะนอกจากจะประกวดประขันกันในเชิงขับแล้ว ยังประกวดประขันในเชิงถ้อยคำสำนวนด้วย เพียงแต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็มีนักแต่งกลอนเสภาอยู่ไม่น้อยทีเดียว เพราะฉะนั้นบทเสภาในตอนเดียวกันจึงมีได้หลายสำนวน ส่วนบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่หอพระสมุดฯพิมพ์นั้น ได้คัดเลือกมาจากหลายสำนวนด้วยกัน แล้วปรับปรุงให้สุภาพ และได้เนื้อถ้อยกระทงความขึ้น

เสภารำที่รู้จักในสมัยหลังเป็นเสภารำอีกแบบหนึ่ง ซึ่งต่างกับเสภารำที่กล่าวมา เสภารำที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเสภารำชนิดสุภาพ เมื่อมีมากขึ้นก็ทำให้รู้สึกเนือยไป ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง จึงมีนักขับเสภาที่แต่งกลอนเองได้ คิดแต่งกลอนสำหรับใช้ขับประกอบตัวแสดงขึ้นอีกแบบหนึ่ง โดยเดินเรื่องตามเค้าเดิม แต่ให้มีบทตลกขบขันแทรกอยู่ตลอด ดังนั้นบางท่านจึงเรียกเสภาชนิดนี้ว่า “เสภาตลก” ผู้แต่งคนแรก กล่าวกันว่าชื่อ “ขุนราม (โพ)” แต่ขุนราม (โพ)นี้ น่าจะเป็นขุนพลสงคราม (โพ) กำนันตำบลบ้านสาย จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเล่าลือกันว่าขับเสภาดีนัก เสภารำแบบตลกนี้ ท่านผู้แต่งได้เลือกเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนเข้าห้องนางแก้วกิริยา มาเป็นเนื้อเรื่อง ความสนุกขบขันอันเกี่ยวกับบทเสภาตอนนี้อยู่ที่ถ้อยคำพลิกแพลง และการแสดงของผู้ขับกับผู้รำ

วิธีการแสดงเสภารำแบบตลกนี้ คนขับเท่ากับเป็นตัวแม่คู่ของสวดคฤหัสถ์หรือจำอวด ใช้ถ้อยคำในบทขับ และเจรจาด้วยปฏิภาณ ทำให้เกิดความสนุกสนานขบขันไปในตัว มีการลำเอียงเข้าข้างตัวนายโรง (ขุนแผน) แกล้งตัวตลก (ม้า) และบางทีก็เกี้ยวพาราสีตัวนาง (แก้วกิริยา) จึงนับว่าคนขับเป็นคนสำคัญที่สุดในชุดเสภารำแบบนี้ เนื่องจากเสภารำแบบตลกชุดเข้าห้องนางแก้วกิริยานี้ ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๖ ขุนสำเนียงวิเวกวอน (น่วม บุญเกียรติ) จึงร่วมกับนายเกริ่น และนายพัน คิดเสภาตลกขึ้นอีกชุดหนึ่ง เลียนแบบขุนช้างขุนแผนตอนนี้ โดยนำเอาเรื่อง “พระรถ” ตอนฤาษีแปลงสารมาปรับปรุง แต่ครั้นนำออกแสดงได้ไม่กี่ครั้งก็ต้องเลิกล้มไป เพราะสู้ขุนช้างขุนแผน ตอนเข้าห้องนางแก้วกิริยาไม่ได้ จะเห็นได้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดีถึงขนาดแล้ว จะนำสิ่งอื่นขึ้นเทียมโดยยืมวิธีการของเขาไปใช้นั้น ย่อมได้ไม่ดีเท่ากับของเดิมเขาเป็นแน่แท้

เสภารำแบบตลกยังมีอีกตอนหนึ่งที่ชอบแสดงกัน คือ ตอนขุนแผนเข้าห้องนางวันทอง ซึ่งต่อจากตอนเข้าห้องนางแก้วกิริยา แต่ถึงแม้เนื้อเรื่องที่แสดงเป็นตอนต่อจากกันก็จริง ถ้าหากพินิจพิจารณาถ้อยคำสำนวนตลอดวิธีการแสดงแล้ว จะเห็นว่าเป็นคนละสำนวน และคนละวิธีกับตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา จึงน่าสันนิษฐานว่าผู้แต่ง และปรับปรุงตอนขุนแผนเข้าห้องนางวันทองนี้ ไม่ใช่คนเดียวกันกับผู้แต่งตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยา

วิธีแสดงในตอนขุนแผนเข้าห้องนางแก้วกิริยานั้น คนขับทำหน้าที่เปรียบเสมือนแม่คู่ของสวดคฤหัสถ์หรือจำอวด ใช้ชั้นเชิงในคำขับเสภาเข้าข้างตัวนายโรง (ขุนแผน) และแกล้งตัวตลก (ม้า) เปิดช่องให้ตัวตลกขอเปลี่ยนตัวทำหน้าที่นายโรงบ้าง ซึ่งล้วนแต่หาเชิงขบขันไปในเนื้อเสภาจริงๆ และถ้อยคำที่ขบขันก็ไม่หยาบโลนหรือสองง่ามมากนัก ส่วนตอนขุนแผนเข้าห้องนางวันทอง จะดำเนินวิธีแสดงห่างจากวงการของเสภาออกไปมาก จนกล่าวได้ว่าใกล้ไปทางละครนอกหรือจำอวดมากกว่า เพราะหน้าที่ของคนขับเสภา นอกจากในตอนต้นประเดิมเรื่องเล็กน้อยแล้ว ต่อไปก็เกือบจะไม่มีหน้าที่เข้าประกอบการแสดงทีเดียว จะมีอยู่บ้างก็เพียงขับเชื่อเรื่องให้ดำเนินติดต่อกันเท่านั้น และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความขบขันนั้น มักใช้ถ้อยคำที่เป็นสองง่าม ซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังผู้ดูมีใจเอนเอียงคิดว่าหยาบโลนอยู่ตลอด

สิ่งสำคัญที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่งคือ การดำเนินเรื่องของเสภารำในบทขับสามัญนั้น เมื่อขุนแผนออกจากห้องนางแก้วกิริยา และนางแก้วกิริยาชี้ห้องนางวันทองให้รู้จักแล้ว ขุนแผนก็้เข้าห้องนางวันทอง ชมม่านที่นางวันทองปักแล้วก็ฟันม่าน ต่อจากนั้นก็แกล้งกระทำต่อขุนช้างต่างๆนานา เช่น โกนหัว มอมหน้า เหล่านี้เป็นต้น แล้วจึงปลุกนางวันทองและพาไป แต่การแสดงเสภารำแบบตลกนี้ มิได้ดำเนินเรื่องเช่นนั้น เมื่อขุนแผนออกจากห้องนางแก้วกิริยา และนางแก้วกิริยาชี้ห้องนางวันทองให้แล้ว ขุนแผนก็เดินไปเข้าห้องนางวันทอง โดยการแสดงเสภาจะตั้งต้นย้อนเวลาไปใหม่ สมมติว่าเป็นเวลากลางวัน ในวันเดียวกับที่ขุนแผนมาจากกาญจนบุรี ยังไม่ถึงบ้านขุนช้าง ในเวลากลางวันนี้ขุนช้างเกิดอยากดื่มสุราขึ้นมา จึงชวนบ่าวไพร่ให้เลี้ยงสุรากัน การที่ให้ขุนช้างคิดเลี้ยงสุรากันขึ้นแต่ตอนกลางวัน ก็เพื่อเป็นเหตุสนับสนุนให้ขุนช้างเมามาย และหลับไม่สมประดี จนขุนแผนจะทำอะไรก็ไม่ตื่น เรื่องต่อจากนี้ขุนแผนก็เข้าห้องแล้วแกล้งทำแก่ขุนช้างต่างๆนานาเหมือนบทเสภาสามัญโดยตลอด

cr: sarakadee.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.