ประวัติศาสตร์ยุโรปโบราณมีปรากฎว่าชนชาติยิวคือ ชนหมู่น้อยชั้นต่ำระดับทาสแรงงาน ทำให้ถูกดูแคลนและกลั่นแกล้งเรื่อยมา แต่กระนั้นความเคร่งครัดศรัทธาที่มีต่อศาสนายิวได้กลายเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งชนชาติและเป็นโล่ต้านชะตากรรมอยู่เสมอ เมื่อยุโรปเข้าสู่ยุคคริสต์ศาสนาเรืองอำนาจ ชาวยิวในยุโรปกลับยิ่งถูกเกลียดชังมากยิ่งขึ้น ด้วยการถูกประนามว่า คนยิวคือผู้ทรยศ ยิวคือ “ผู้สังหารพระคริสต์” กระแสความเกลียดชังต่อต้านคนยิว [anti-Semitism] ไหลซึมผ่านกาลเวลามาตลอดประวัติศาสตร์
ถึงศตวรรษที่ 19 สถานภาพของคนยิว จึงเริ่มได้รับการปลดปล่อย ได้รับการยอมรับ มีสิทธิ์เท่าเทียมในสังคมมากขึ้น นั้นแต่นั้น คนยิวสามารถเลื่อนเข้าสู่สถานภาพของสังคมในระดับกลางและสูงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่มพานิชย์ การเมือง วิทยาการ สัญญาณที่บ่งบอกถึงความปราชญ์เปรื่องและความรุ่งโรจน์ที่น่าปิติสำหรับชาวยิวในปลายศตวรรษที่ 19 นี้ สำหรับชาวยุโรปอื่นแล้ว มันคือ สัญญาณอันตรายของคนยิวที่กำลังจะครอบครองดินแดนทั่วยุโรปทั้งทวีป ความรู้สึกเกลียดชังคนยิวยิ่งฝังรากลึกและรุนแรงยิ่งขึ้น
เดือนมกราคม ปี 1933 ประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง Adolph Hitler (1898-1945) ผู้นำพรรคนาซีเริ่มแผนรณรงค์ต่อต้านคนยิวอย่างเป็นระบบ เริ่มด้วยการนิยามคำว่า “คนยิว” ตามสายพันธุ์ อันเป็นการโหมโรงของกฎหมายและคำสั่งต่อต้านคนยิวโดยเฉพาะที่จะมีตามมาอีกนับไม่ถ้วน คนยิวที่มีฐานะดีจำนวนหนึ่งเริ่มอพยพหนีจากเยอรมนี ในขณะเดียวกันชาวยิวอีกมาก ยังไม่ยอมละทิ้งประเทศชาติอันถือเป็นบ้านเกิดของตน
เดือนพฤศจิกายน 1938 เยอรมนีเกิดเหตุการณ์บุกเข้าทำลายร้านค้า มีการบุกปากระจกทุบบ้านเรือนและเผาวัดยิวระบาดไปทั่วประเทศ เหตุการณ์ครั้งนี้รู้จักกันสืบมาว่า “The night of the broken glass.” เนื่องมาจากนักการทูตเยอรมันคนหนึ่งถูกลอบฆ่าในกรุงปารีสด้วยฝีมือของคนยิว ความเกลียดชังคนยิวของคนเยอรมันถูกโหมถึงขีดสุด
สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการหลังจากเยอรมนีนำทัพบุกเข้ายึดประเทศโปแลนด์ในเดือนกันยายน 1939 ผลครั้งนี้ย่อมหมายความว่า ชนชาวยิวจำนวนอีกราว 2 ล้านคน จะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรคนาซีเยอรมนี
มาตรการของเยอรมนีที่มีต่อคนยิวในประเทศโปแลนด์รุนแรงเฉียบขาดมากยิ่งกว่าในประเทศเยอรมนีเองเสียด้วยซ้ำ คนยิวที่นี่ถูกบังคับให้ย้ายเข้าไปแออัดอยู่ รวมกันในเขตที่เรียกว่า “ghetto” [เก็ตโต้] มีการสร้างกำแพงและล้อมรั้วลวดหนามแน่นหนา กลายเป็นเขตสลัมจากผลทางการเมืองที่มีสภาพแร้นแค้นอัตคัด ถูกจำกัดสิทธิ์ในทุกด้าน สินค้าที่ผ่านตลาดมืดเข้ามาในเขตกักกันมีราคาสูงลิบลิ่ว
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง นาซีเยอรมนีส่งหน่วยจู่โจมพิเศษเบุกประเทศรัสเซีย มีคำสั่งตั้งหน่วยสังหารจำนวนหลายพันนาย ให้ฆ่าคนยิวทุกคนทันทีที่พบเห็น โลกเริ่มได้รับรู้ข่าวลือเรื่องความโหดร้ายของนาซีต่อชาวยิว
หนึ่งเดือนหลังการปฏิบัติการครั้งนั้น Hermann Goering [ เกอริ่ง (1893-1946)] ผู้นำหมายเลขสองของนาซีเยอรมนี ออกคำสั่งให้เริ่มปฎิบัติการตามแผนขั้นสุดท้ายต่อคนยิวที่อยู่ในเขตปกครองของเยอรมนีทั่วยุโรป แผนนโยบายนี้ เรียกว่า “the final solution to the Jewish question”
เดือนกันยายน 1941 คนยิวในเยอรมนีตีตราความเป็นยิวด้วยการต้องติดเครื่องหมายดาวหกแฉกสีเหลือง และถูกนำตัวส่งไปยังเขตกักกันซึ่งตั้งอยู่ในประเทศโปแลนด์กับรัสเซีย ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน มีจำนวนคนยิวที่ถูกกักกันตัวถึงหลายหมื่นคน และช่วงเวลานี้เองที่แผนการขั้นสุดท้ายที่แท้จริง ได้ปรากฏต่อชีวิตคนยิวภายใต้เงาอำนาจนาซีเยอรมนี คนยิวถูกลำเลียงไปสู่ค่ายกักกันสำหรับรอความตาย
“death camp” หรือ “ค่ายมรณะ” เหล่านี้ เป็นค่ายที่ถูกสร้างขึ้นบนแผ่นดินประเทศโปแลนด์ในระหว่างถูกยึดครอง มีห้องที่ทำขึ้นพิเศษสำหรับรมแก๊สพิษเพื่อการสังหารโดยที่เหยื่อจะไม่ทราบล่วงหน้าเลย ทหารนาซีจะนำตัวผู้ถูกกักกันไปยังห้องที่มีลักษณะคล้ายห้องอาบน้ำรวม มีฝักบัวติดไว้ให้อาบ ทุกคนจะได้รับแจ้งว่ากำลังจะถูกทำการชำระล้างเพื่อฆ่าเชื้อโรค หลังจากเสียชีวิตจากแก๊สพิษหมดแล้ว ศพจึงถูกนำไปกองเผาในโรงเผาอีกทีหนี่ง คนยิวที่ยังเหลืออยู่ภายนอก มักจะมองปล่องควันไฟเหล่านี้ด้วยความสงสัยผสมกับความกลัวโดยที่ไม่ทราบถึงความตายที่กำลังรออยู่นี้เลย
คนยิวที่ถูกลำเลียงมาสู่ค่ายมรณะเหล่านี้มักจะมาจากเขตกักกันที่อยู่ใกล้กัน คนยิวที่ถูกนำตัวมาจากเขตกักกันในกรุง Warsaw แห่งเดียวมีจำนวนถึง 300,000 คน การลำเลียงเที่ยวแรกมักจะเป็นผู้หญิง เด็ก และคนชรา หรือคนที่ไม่สามารถทำงานได้ ส่วนคนที่ยังมีสมรรถภาพพอที่จะทำงานได้ จะถูกเกณฑ์ไปทำงานในโรงงาน จนกระทั่งถูกส่งไปสู่ความตายที่ถูกกำหนดโดยพวกนาซีเช่นเดียวกัน
การลำเลียงคนยิวสู่ค่ายมรณะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงฤดูร้อนและใบไม้ร่วงของปี 1942 ที่หมายและจุดประสงค์ของการลำเลียงแต่ละเที่ยวไม่เคยมีการประกาศให้ทราบ แต่กระนั้น ข่าวการกระทำฆาตกรรมหมู่ของนาซีเยอรมนี ในที่สุดก็เริ่มมีเล็ดลอดออกสู่โลกภายนอกทีละน้อย
โดยปกติแล้ว การลำเลียงคนยิวจะกระทำด้วยขบวนรถไฟขนสินค้า ขบวนหนึ่งจะมีคนยิวราวหนึ่งพันคนถูกอัดขึ้นตู้รถจนเต็มขนัดเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย น้ำหนักจำนวนมากทำให้รถไฟต้องวิ่งอย่างเชื่องช้า คนป่วยหรือคนชราจึงมักจะเสียชีวิตในระหว่างการเดินทาง
ในบรรดาค่ายมรณะในประเทศโปแลนด์ ค่ายในเมือง Auschwitz [เอ๊าชวิตซ์] ซึ่งอยู่ใกล้กับเมือง Kracow [คร๊ากคาว – เมืองหนึ่งทางใต้ของประเทศโปแลนด์] คือค่ายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ผู้ที่ถูกนำตัวมาที่นี่ ถูกลำเลียงมาจากทั่วทวีปยุโรป ภายในค่าย ผู้ถูกกักกันจำนวนหนึ่งจะถูกว่าจ้างให้ทำงานอุตสาหกรรม บางส่วนถูกนำไปทดลองทางการแพทย์ และแม้ว่าคนยิวและคนเชื้อสายยิปซีจะถูกส่งเข้าห้องแก็สอย่างไม่หยุดหย่อนอยู่แล้ว ผู้ถูกกักกันอีกหลายแสนคน ก็ต้องเสียชีวิตลงด้วยสาเหตุอื่นเสียก่อน ไม่ว่าจะจากการอดอาหาร ป่วยด้วยโรค หรือถูกยิงตาย โรงเผาขนาดใหญ่หลายโรงถูกสร้างขึ้นเพื่อทำการเผาศพผู้ตายเป็นการทำลายหลักฐาน ในปี 1944 เครื่องบินจารกรรมของฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถถ่ายภาพค่ายกักกันไว้ได้ในระหว่างสืบหาเป้าโจมตีทางอุตสหกรรม ตัวโรงงานถูกทิ้งระเบิดพินาศ แต่ห้องแก๊สยังคงมีอยู่เหลือไว้ให้เห็นเป็นพยาน
เมื่อสงครามสงบลงในปี 1945 เหตการณ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของนาซีเยอรมนีต่อคนยิวครั้งนี้ ถูกเรียกว่า Holocaust [“การเผาผลาญจนสิ้น”] มีผู้ประมาณว่า จำนวนตัวเลขคนตายจากการนี้มีถึงเกือบ 6 ล้านคน ราว 3 ล้านคนถูกฆ่าในค่ายกักกันมรณะ ราว 1.4 ล้านคนถูกยิงตาย และอีก 6 แสนคนต้องตายเพราะทนสภาพในเขตกักกันไม่ไหว แม้ว่าจะมีผู้ตกเป็นเหยื่อในการฆาตกรรมหมู่ด้วยจำนวนที่มากมายเพียงนี้ แต่กว่าที่จะมีความพยายามในการค้นหาหลักฐานและสืบหาความจริงอย่างจริงจังของเหตุการณ์ Holocaustกลับต้องใช้เวลาถึงเกือบยี่สิบปี มิเช่นนั้น เรื่องนี้อาจจะต้องกลายสภาพไป เหลือเป็นเพียงตำนานที่มิอาจพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่ เนื่องจากหลักฐานพยานส่วนใหญ่ มักจะเป็นเพียงคำบอกเล่าของพยานชาวยิวที่สามารถเอาชีวิตรอดพ้นมาได้เท่านั้น ในจำนวนนี้ มีชายคนหนึ่งชื่อ Poldek Pfefferberg [โพลเด็ค เฟ็ฟเฟอร์เบร์ก] รวมอยู่ด้วย
ปี 1980 Pfefferberg อดีตชายหนุ่มผู้เป็นหนึ่งในจำนวนผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น บัดนี้เขากลายเป็นชายในวัยเกษียณ ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ในสหรัฐตั้งแต่ปี 1947 จนกลายมาเป็นประชาชนชาวอเมริกัน แปลงชื่อและเปลี่ยนนามสกุลใหม่ให้เป็นอเมริกันมากขึ้นว่า Leopold Page เปิดร้านขายเครื่องหนังอยู่แถบย่านคนมีเงิน Beverly Hills ในนคร Los Angeles หากไม่บอกคงไม่มีใครทราบว่า ภายใต้ท่าทางอเมริกันชนเต็มขั้นและสูงวัยเช่นนั้น เขาแบกความฝันที่สืบจากฝันร้ายวัยหนุ่มไว้อยู่เรื่องหนึ่ง ความฝันในการประกาศสรรเสริญชื่อของชายผู้หนึ่งให้โลกต้องจารึก บุคคลที่เขาจะไม่มีวันลืมตราบชีวิตนี้
เดือนตุลาคมปีเดียวกันนั่นเอง Thomas Keneally [โธมัส เคนีลลี่ (1935-)] นักเขียนมีชื่อชาวออสเตรเลีย แวะเข้ามาในร้านของ Pfefferberg เพื่อเลือกซื้อกระเป๋าหนังใส่เอกสาร ในระหว่างการรอชำระเงินอยู่นั้น เมื่อ Pfefferberg ทราบว่าเขาเป็นนักเขียน เขาแสดงท่าทางตื่นเต้นอย่างประหลาดจน Keneally ก็แปลกใจ และกล่าวว่าเขามีเรื่องราวยอดเยี่ยมที่อยากจะเสนอให้เขาเขียนเป็นหนังสือ มันคือเรื่องที่เขาเคยเล่าให้ใครต่อใครฟังและอยากให้โลกได้รับรู้อยู่เสมอมา มันเป็นเรื่องจริงที่เกิดกับตัวเขาเอง เขาและคนยิวกว่าหนึ่งพันคน รอดชีวิตมาได้เพราะผู้ชายชื่อ Oskar Schindler [ออสคาร์ ชินด์เลอร์]
เดือนกันยายนปี 1939 ในขณะที่คนยิวในโปแลนด์กำลังถูกรวบรวมจับกุมตัวโดยกองกำลังเยอรมัน นักธุรกิจเชื้อสายออสเตรียชื่อ Oskar Schindler เดินทางมาที่เมือง Kracow ด้วยจุดประสงค์เพื่อหาผลประโยชน์และความมั่งมีส่วนตน บุคลิกฟุ้งเฟ้อและชอบสนุกของเขา ทำให้สนิทสนมชอบพอกับเหล่าเจ้าหน้าที่ทหารนาซีในเมืองนั้นได้อยางง่ายดาย เขากลายเป็นเจ้าของกิจการโรงงานทำภาชนะเครื่องเคลือบโลหะกับดินเผาแห่งหนึ่ง โรงงานแห่งนี้ถูกพวกนาซียึดมาจากกิจการของคนยิวตามนโยบายต่อต้านยิว โรงงานถูกนำมาดำเนินการผลิตสำหรับกองทัพนาซีแทน
คนงานจำนวนมากมายในโรงงานแห่งนี้ เป็นคนยิวที่ถูกเกณฑ์มาทำงานโดยไร้ค่าจ้าง ทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ด้วยสติปัญญาของเสมียนบัญชีชาวยิวของเขาชื่อ Itzhak Stern [อิ๊ตซาค สเติร์น] ก็อาจกล่าวได้ว่าทำให้โรงงานแห่งนี้กลายสภาพประดุจสถานหลบภัยนาซีของคนยิวจำนวนหนึ่งได้อย่างแยบยล
เดือนมีนาคม 1941 ขณะที่มีคำสั่งให้กวาดต้อนคนยิวทุกคนเข้ารวมไว้ในเขต ghetto ประจำเมืองอยู่นั้นSchindler กลับกำลังสานความร่ำรวยเสพสุขอย่างเต็มที่ เขาเอาเงินทองที่ได้มา ทำการติดสินบนเจ้าหน้าที่นาซีเพื่อให้ได้ทำสัญญาขายสินค้าในตลาดมืด และยังยอมทุ่มเงินติดสินบนไม่ให้คนงานชาวยิวของเขาต้องถูกย้ายตัวออกไป เพื่อกิจการโรงงานของเขาจะได้สามารถดำเนินต่อไป
ฤดูหนาวปี 1942 ผู้บัญชาการทหาร หน่วย SS* นายหนึ่งชื่อ Amon Goeth [อามอน เกิธ] เดินทางมาที่เมือง Krakow เพื่อจัดตั้งค่ายแรงงานในเมือง Plaszow [ปลาสซาว] ที่อยู่ใกล้กัน เขาได้รับคำสั่งให้รื้อเขต ghetto เสีย และนำคนยิวที่เหลืออยู่ไปไว้ที่ Plaszow ให้หมด Schindler รู้สึกตกตะลึงต่อความพฤติกรรมโหดของ Goeth เท่า ๆ กับการที่ต้องเห็นโรงงานของเขาต้องว่างลง เขารีบผูกมิตรกับ Goeth โดยทันที พยายามเกลี้ยกล่อมทุกวิถีทางให้ Goeth อนุญาตให้โรงงานของเขาเปิดดำเนินต่อไปในลักษณะค่ายแรงงานขนาดเล็ก เขานำกำไรมากมายที่ได้รับไปซื้อเครื่องอภินันทนาการบำเรอ Goeth กับนายทหารระดับสูงเป็นการตอบแทน และยังพยายามติดสินทุ่มเงินบนซื้อชีวิตคนงานชาวยิวหลายคนให้รอดพ้นจากความตายมาได้อย่างหวุดหวิดหลายครั้ง แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับการถูกจับจากการกระทำนี้ก็ตาม
[* SS ย่อมาจาก Schutzstaffel หรือ “ผู้พิทักษ์” ในภาษาเยอรมัน เป็นหน่วยทหารระดับสูงที่ทำหน้าที่เป็นองครักษ์ของ Hitler และยังมีอำนาจหน้าที่เทียบเท่าหน่วยตำรวจพิเศษอีกด้วย]
ปี 1944 เถ้าถ่านสีขาวจากซากศพยิวนับหมื่นที่กำลังมอดไหม้อยู่ในโรงเผา ล่องลอยไปทั่วเมืองดุจหิมะ มีคำสั่งจากเบื้องบนให้นำคนยิวทั้งหมดใน Plaszow ไปที่ Auschwitz สิ่งนี้ทำให้ Schindler ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องไปจาก Krakow เสียที เขากับ Stern ต้องรีบทำรายชื่อคนงานชาวยิวที่ถือว่า “มีความจำเป็นอย่างยิ่ง” จนขาดไม่ได้และต้องให้ติดตามไปด้วย นำเข้าเจรจาต่อรองกับ Goeth พร้อมกับเงินสดหลายปึกใหญ่ ขอทำการย้ายคนงานจำนวน 1,100 คนไปยังโรงงานใหม่ที่ตั้งอยู่ในเมือง Brunnlitz บนชายแดนประเทศเช็คโกสโลวาเกีย Schindler ประสบความสำเร็จในการเจรจา คนงานชาวยิวตามรายชื่อนั้นถูกนำตัวไปยังโรงงานที่ Brunnlitz โดยสวัสดิภาพ
ตลอดระยะเวลา 7 เดือน Schindler จัดการให้โรงงานของเขาผลิตแต่สิ่งที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อกองทัพนาซี เมื่อสงครามสงบลง Schindler ต้องตกอยู่ในสภาพสิ้นเนอประดาตัว และไม่ประสบความสำเร็จทางธุกิจอีกเลย แต่คนงานชาวยิวซึ่งเคยตกอยู่ภายใต้อารักษ์ของเขาที่เรียกว่า “Schindlerjuden” [“คนยิวของชินด์เลอร์”] ตลอดจนลูกหลานของคนยิวกลุ่มนี้สืบมาถึงปัจจุบัน กลับสรรเสริญและสำนึกบุญคุณของเขาไม่รู้สิ้น
Thomas Keneally นำเรื่องราวที่เขาได้ยินจาก Pfefferberg ประกอบกับการค้นคว้าและสัมภาษณ์กลุ่ม Schindlerjuden ที่ยังคงมีชีวิตเหลืออยู่ในปัจจุบัน ให้กำเนิดนิยายชื่อ “SCHINDLER’S ARK” โดยถือว่าการกระทำของ Schindler ที่ได้ช่วยชีวิตชาวยิวไว้จำนวนหนึ่งจนสามารถสืบลูกหลานต่อมาจนถึงปัจจุบัน ย่อมเทียบได้กับ นาวาของโนอา [Noah’s Ark] ในพระคัมภีร์เก่า ซึ่งได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์จากความตายเมื่อครั้งน้ำท่วมโลก Keneally ได้รับรางวัล Booker Prize ประจำปี 1982 จากหนังสือเล่มนี้ รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติทางวรรณกรรมของกลุ่มประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ ต่อมา เมื่อถูกตีพิมพ์ในสหรัฐ นิยายเรื่องนี้จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “SCHINDLER’S LIST” ด้วยเหตุผลทางการตลาด
ปีเดียวกันนี้เอง ความฝันของ Pfefferberg ยังคงดำเนินต่อไป โครงการสร้างภาพยนตร์จากนิยายเรื่องนี้ตกถึงมือผู้กำกับอเมริกันซึ่งกำลังโด่งดังสุดขีดจากภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดตลอดกาลในขณะนั้น “E.T.-THE EXTRA TERRESTRIAL” (1982) Steven Spielberg (1947 -) เขากลับเก็บเรื่องนี้ไว้นานกว่า 10 ปี
ตลอดระยะเวลา เขาต้องพบกับความผิดหวังทั้งด้านรายได้และคำวิจารณ์จากภาพยนตร์แนวชีวิตของเขา ตลอดจนต้องทนคำปรามาสจากนักวิจารณ์ว่า เขาไม่สามารถสร้างหนังผู้ใหญ่ที่ดีได้ ในโลกของนักสร้างภาพยนตร์ เขาคือเด็กที่ไม่ยอมโต Spielberg ยอมรับด้วยการกล่าวว่า “ผมรู้สึกกลัวการสร้างเรื่อง SCHINDLER’S LIST สิ่งนี้เองที่ทำให้ผมรีรอผลัดการสร้างมาปีแล้วปีเล่า ผมยังไม่แก่พอที่จะสร้างเรื่องนี้ได้ในปี 1982” แต่ความเป็นคนยิวของเขาไม่ยอมให้เขาทิ้งมันไป แม้เวลาจะล่วงเลยไปนานถึงหนึ่งทศวรรษ
คริสต์มาส ปี 1993 ภาพยนตร์เรื่อง “SCHINDLER’S LIST” ออกฉายเป็นครั้งแรก กลายเป็นภาพยนตร์แนวชีวิตเรื่องแรกของเขา ที่ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ชนิดเกือบเป็นเอกฉันท์ นอกจากนี้ ยังประสพความสำเร็จทางรายได้ และยังนำรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมและภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปี 1992 ของสถาบันศิลปะวิทยาการภาพยนตร์ของฮอลลีวู้ด หรือ Oscar มาสู่เขาหลังจากการรอคอยอันแสนนาน
ณ วันนี้ “SCHINDLER’S LIST” คือ บทพิสูจน์วุฒิภาวะทางศิลปะการสร้างภาพยนตร์ของ Steven Spielberg แล้วหรือไม่ แม้หลายคนจะยอมรับแต่หลายคนก็ยังลังเล หลายเสียงเกรงว่าเขาอาจจะไม่สามารถกลับไปสร้างความบันเทิงบริสุทธิ์ในรูปแบบเดิมได้อีกต่อไป หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็ดูจะเป็นเรื่องน่ายินดีกับการเติบโตของชีวิตเด็กยิวคนหนึ่งมิใช่หรือ?