“Quite simply, why are you doing this?”
“Quite simply,
to see if there’s anything out there beyond death.
Philosophy failed. Religion failed.
Now, it’s up to the physical sciences.”
คงมีผู้อ่านมากมายหลายท่านที่ซาบซึ้งและจำภาพฉากสุดท้ายในภาพยนตร์เรื่อง “GHOST” กันได้ดี Sam Wheat (Patrick Swayze) ตัวนำในเรื่อง ค่อยๆเดินเข้าไปหาแสงสว่างจ้าสีฟ้าขาวนวลตา และถ้าหากสังเกตให้ดีจะเห็นเงาจางๆ ที่มีลักษณะคล้ายคนยืนเรียงรายต้อนรับกันอยู่ แม้ว่ามันจะเป็นฉากสุดท้ายของภาพยนตร์ แต่มันกลับเป็นฉากที่อิงอยู่บนความจริงมากที่สุดในขณะที่ฉากประสพการณ์การตายของตัวละครอื่นๆในเรื่องกลับถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสอนศีลธรรมอย่างจงใจจนดูเป็นเรื่องน่าขบขันไป ฉากสุดท้ายที่เห็นนั้น เป็นความจริงที่ได้จากการค้นคว้าและสืบทราบจากปากคำคนไข้ที่เคยตายไปชั่วขณะหลายร้อยรายของบรรดานายแพทย์ที่เชื่อถือได้หลายท่านที่เคยศึกษาเกี่ยวกับการตายของมนุษย์ ฉากจบของภาพยนตร์เมโลดรามาเรื่อง “GHOST” กลับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงเรื่องภาพยนตร์นิยายวิทยาศาสตร์ “FLATLINERS” ที่อิงอยู่บนความเป็นจริงของวิทยาการในปัจจุบัน นำปัญหาทางปรัซญาและศาสนา จิตวิทยา มารวมกันไว้ เพื่อตอบตำถามที่มีมาตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์คนแรกในโลก คำถามที่ว่า “คนเราตายแล้วไปไหน?”
เรื่องราวของ “การตาย”
ตามบทความที่เขียนโดย Bette L. Runk นักเขียนและบรรณาธิการทางวิทยาศาตร์ของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐ [National Institute of Mental Health หรือที่เรียกย่อว่า “NIMH” ซึ่งเป็นสถาบันค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ปรากฏในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องแรกของ Don Bluth เรื่อง “THE SECRET OF NIMH” (1982) นั่นเอง] และ Dr. Calvin J. Frederick ศาสตราจารย์จากสถาบันเดียวกันและเป็นอาจารย์สาขาจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน อธิบายไว้ดังต่อไปนี้ว่า
“การตาย” ภาวะการหยุดของระบบชีวิตอย่างไม่สามารถเปลี่ยนให้หวนกลับคืนมาได้ ซึ่งเป็นการเข้าสู่ภาวะของการตายอย่างชัดเจน การตายนั้นมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพของระบบสิ่งมีชีวิตทุกประการ นั่นคือ มีการสูญเสียลักษณะของสิ่งมีชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง
การตายทางสรีรวิทยา
ลักษณะของอาการตาย เกิดขึ้นโดยแบ่งออกได้เป็นหลายระดับ ระดับแรก คือ การตายทางสรีระ”(somatic death) ซึ่งเป็นการตายของระบบอินทรีย์รวมทั้งระบบ โดยปกติจะเกิดขึ้นก่อนการตายของส่วนอวัยวะ เซลล์ และส่วนต่างๆของเซลล์ในระบบต่อไป “อาการตายทางสรีระ” สังเกตุได้จากการหยุดทำงานของการเต้นหัวใจ ระบบหายใจ การเคลื่อนไหว ปฎิกิริยสรีเฟลกซ์ และการทำงานของสมอง การจะชี้ให้แน่ชัดว่าจุดใดเป็นเวลาที่เกิดการตายทางสรีระขึ้นอย่างแน่นอนนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทั้งนี้ ก็เพราะอาการป่วยที่เกิดขึ้นชั่วคราวในผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น อาการขั้นโคม่า อาการหมดสติแบบซิงโคปี [syncope – อาการสลบชั่วคราวเนื่องจากมีโลหิตมาเลี้ยงสองไม่พอ] หรือ อาการภาวะตกอยู่ในภวังค์ (trance) ก็ดี ล้วนแล้วแต่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับอาการตายเป็นอย่างยิ่ง
หลังจากผ่านระดับการตายทางสรีระไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่จะติดตามมาอีกหลายประการก็จะถูกใช้เป็นตัวชี้เวลาและสภาพของการตาย ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้แก่ อาการแรก “อัลกอร์ มอร์ติส” (algor mortis) คือ อาการที่ร่างกายเริ่มมีอุณหภูมิลดต่ำลงหลังจากมีการตายเกิดขึ้น เกิดจากสิ่งแวดล้อมซึ่งมักจะมีระดับอุณหภูมิต่ำกว่าร่างกายอยู่แล้วเป็นตัวถ่ายทอดความร้อนออกไป อาการต่อมา “ริกอร์ มอร์ติส” (rigor mortis) คือ อาการแข็งตัวของกล้ามเนื้อลายที่เป็นโครงของร่างกาย จะเริ่มแสดงอาการระหว่าง 5-10 ชั่วโมงหลังจากการตาย แต่จะหายไปเองหลังจากเวลาผ่านไป 3-4 วัน อาการต่อไป “ลิวอร์ มอร์ติส” (livor mortis) คือ อาการที่ร่างกายส่วนที่อยู่
ด้านล่างเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงคล้ำเนื่องมาจากการตกตะกอนของเลือด หลังจากการตายได้ไม่นาน เลือดจะเริ่มจับตัวเป็นก้อนพร้อมกันกับการเกิดภาวะออโตไลสิส (autolysis) ซึ่งเป็นแตกสลายของเซลล์ หลังจากนี้ การเน่าสลายของเนื้อเยื่อต่างๆก็จะติดตามมาจากปฏิกิริยาของเอนไซม์และตัวแบคทีเรีย
อวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายตายด้วยอัตราความเร็วที่แตกต่างกัน_ _ แม้ว่า_เซลล์สมองจะสามารถอยู่รอดได้เพียงไม่นานกว่า 5 นาทีหลังจากการตายทางสรีระ แต่ระบบอวัยวะหัวใจกลับสามารถอยู่รอดได้นานประมาณ 15 นาที และระบบอวัยวะไตกลับสามารถอยู่ได้นานถึง 30 นาที_ [ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะจำฉากบทสนทนาช่วงที่ตัวนำในภาพยนตร์เรื่อง “THE ABYSS” (1989) ช่วยภรรยาว่ายน้ำใต้ทะเลโดยไม่สวมชุดประดาน้ำกลับฐานได้] ด้วยเหตุนี้เอง อวัยวะบางส่วนจึงสามารถถูกผ่าตัดนำออกจากศพของผู้ที่เพิ่งจะเสียชีวิตและนำไปผ่าตัดเปลี่ยนใส่ให้กับคนไข้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ตามที่เราทราบกันอยู่
คำจำกัดความของ “ความตาย”
แนวความคิดที่ใช้อธิบายว่า อะไรคือสิ่งบ่งชี้ถึงความตาย ย่อมจะมีแตกต่างกันไประหว่างชนชาติวัฒนธรรมตลอดจนยุคสมัยที่ความคิดแปรเปลี่ยนกันไป ในสังคมตะวันตก ความตายมักจะถูกมองตามกันมาว่าคือการจากไปของวิญญานที่หลุดลอยออกจากร่าง ด้วยแนวความคิดอันนี้เอง ธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์จึงได้รับการถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับรูปสมบัติของร่างกาย และเนื่องจากเชื่อกันว่าวิญญานเป็นสิ่งที่ไม่มีการแสดงผลทางรูปวัตถุ การจากไปของวิญญานจึงเป็นสิ่งที่มองไม่สามารถมองเห็นได้และไม่สามารถตัดสินสภาพการณ์ได้ตามสภาพที่สังเกตุเห็น ดังนั้น เมื่อพิจารณาหลักการของตามแนวความคิดอันนี้ “การหยุดหายใจ”จึงได้รับการถือว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความตายตลอดมา
มาสมัยบัจจุบัน ถือกันว่าความตายเกิดขึ้นเมื่อระบบที่ทำหน้าที่ยังชีพหยุดทำงาน นั่นคือระบบหายใจและระบบการหมุนเวียนของโลหิต (สามารถสังเกตุได้อย่างชัดเจนจากการหยุดเต้นของหัวใจ) _แต่แนวความคิดอันนี้ก็ได้รับการคัดค้านจากการแพทย์สมัยใหม่ที่มีความก้าวหน้า เนื่องจากสามารถประคับประคองการทำงานของระบบหายใจและระบบหัวใจได้ด้วยการใช้อุปกรณ์สมัยใหม่เข้าช่วย ดังนั้น แนวความคิดเกี่ยวกับการตายที่ทันสมัยมากขึ้นโดยเน้นการตายของสมองจึงเริ่มได้รับการยอมรับเข้ามาแทนที่ เมื่อยึดตามหลักการอันนี้ แนวความคิดที่ถือว่าการตายเริ่มขึ้นเมื่อการทำงานของสมองสูญเสียไปอย่างไม่สามารถทำให้หวนคืนมาได้จึงเริ่มปรากฎขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้แต่แนวความคิดในเรื่องความตายโดยยึดถือการทำงานของสมองเป็นเกณฑ์ ก็ยังได้รับเสียงคัดค้านด้วยเช่นกัน เพราะเหตุว่าคนๆหนึ่งสามารสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานของระบบสมองส่วนบนทั้งหมดไป ในขณะที่ระบบสมองส่วนล่างซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานอัติโนมัติ เช่น ระบบหายใจ สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ
[อาการทำนองนี้คืออาการที่คนไทยมักเรียกกันว่า “เจ้าหญิงนิทรา” ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับ_ตายทั้งเป็น_ อาการคน-ข้เหล่านี้จะปรากฏในนิยายเรื่อง “LEGION: The Exocist III” และภาพยนตร์ชิงรางวัลออสการ์ประจำปี 1990 เรื่อง “AWAKENINGS”] ด้วยเหตุผลที่มีมาเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านในขณะนี้จึงเริ่มโต้แย้งว่า ควรจะถือว่าการตายมีขึ้น
เมื่อสภาพของจิตสำนึกหรือปฏิกิริยารับสนองระว่างกันทางสังคมของสมองสูญสิ้นไป เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์นี้แล้ว การสูญเสียความสามารถในการทำงานของสมองส่วนบนตอนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เรียกว่า “neocortex” จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการตายได้
แนวความคิดของสังคมโดยส่วนรวมเกี่ยวกับเรื่องความตายเป็นสิ่งที่สร้างความสนใจไม่เพียงแต่ในหมู่นักวิชาการเท่านั้น การที่เทคโนโลยีด้านการแพทย์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามทางด้านศีลธรรมติดตามมารวมทั้งปัญหาในการนิยามการตายตามกฏหมายอีกด้วย ประเด็นต่างๆที่เคยมีผู้ถกเถียงกันมาแล้วก็มี อาทิเช่น ใครควรจะเป็นผู้ตัดสินหลักบรรทัดฐานเรื่องการตาย? นายแพทย์ สถาบันนิติบัญญัติ หรือบุคคลแต่ละรายไปในการตัดสินความตายของตนเอง? การปล่อยให้เข้าสู่ความตายโดยการตัดระบบเครื่องช่วยชีวิตภายนอกทางการแพทย์ออก เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้โดยถูกศีลธรรมและถูกกฏหมายหรือไม่? คนเรามีสิทธิ์หรือไม่ในการเรียกร้องให้หยุดการช่วยชีวิตด้วยวิธีการพิเศษเพื่อที่จะได้ตายอย่างสงบ? ผู้เป็นญาติสนิทใกล้ชิดหรือผู้ปกครองตามกฏหมาย จะสามารถกระทำการใดๆแทนคนไข้ที่อยู่ในอาการโคม่า ซึ่งกำลังจะตายในสภาพการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่? คำถามเหล่านี้ทั้งหมด ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการค้นหาคำตอบให้ได้อย่างรีบเร่ง เนื่องด้วยเทตโนโลยีการผ่าตัดเปลี่ยนเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆกำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว การต้องการอวัยวะสำหรับผ่าตัดจะต้องนำมาชั่งน้ำหนักโดยคำนึงถึงสิทธิของผู้บริจาคที่กำลังจะตายอีกด้วย
จิตวิทยาของความตาย
การดูแลช่วยเหลือคนไข้ที่กำลังจะตายตลอดจนครอบครัวกลายมาเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจกันใหม่นับตั้งแต่ทศวรรษที่1960เป็นต้นมา นักมรณวิทยา (thanatologist – ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับสภาวะการณ์และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวของผู้ที่กำลังจะตาย) ได้วินิจฉัยแยกแยะระยะความรู้สึกของผู้ที่กำลังจะตายจะต้องประสบออกเป็นระยะดังนี้ คือ
1. การรู้สึกปฏิเสธและโดดเดี่ยว เช่นความรู้สึกที่ว่า “ไม่จริง! ต้องไม่ใช่ฉันแน่!”
2. การรู้สึกโกรธ ฉุนเฉียว อิจฉา และเคียดแค้น เช่นความรู้สึกที่ว่า “ทำไมฉันต้องเป็นอย่างนี้ด้วย?”
3. การรู้สึกอยากต่อรอง เช่นความรู้สึกที่ว่า “ถ้าต่อนี้ไปฉันเป็นคนดี ฉันจะอยู่ต่อได้ไหม?”
4. การรู้สึกเศร้า หดหู่ เช่นความรู้สึกที่ว่า “อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์”
5. การยอมรับ
ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าระยะต่างๆที่กล่าวมาแล้วไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเรียงตามลำดับ นอกจากนี้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นยังอาจจะเป็นการผสมผสานระหว่าง ความหวัง ความรู้สึกทุกข์ทรมาน และความหวาดกลัวร่วมด้วยก็เป็นได้ โดยทั่วไป สภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้ที่กำลังจะตายมักจะเผชิญกับปัญหาที่ไม่เคยพบมาก่อนในสถานการณ์อันนี้ ด้วยวิธีการเดียวกับที่เขาใช้ตอนเผชิญกับปัญหาต่างๆเมื่อครั้งที่มีชีวิตอยู่
บรรดาครอบครัวหรือญาติมิตรที่ต้องสูญเสียผู้ที่ตนรักไป ต่างก็ต้องผ่านระยะการรู้สึกปฏิเสธและยอมรับเหมือนกับผู้ที่ตายเช่นกัน แต่ว่า ความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปแล้วจะมีลำดับที่แน่นอนกว่า ซึ่งมักจะเริ่มปรากฏในช่วงระยะก่อนที่ผู้ที่ตนรักจะตาย หากเป็นความโศกเศร้าที่เกิดโดยมีการทำใจไว้แล้วเพราะทราบล่วงหน้ามาก่อน ความทุกข์ที่ตามมาภายหลังก็จะทุเทาลงไปได้บ้าง แต่หากเกิดจากการตายที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ความรู้สึกโศกเศร้าเสียใจในช่วงระยะที่เกิดตามมาหลังจากมรการตายเกิดขึ้นแล้ว มักจะเกิดอยู่นานกว่าและรุนแรงกว่ามาก [ในภาพยนตร์เรื่อง “FLATLINERS” จะเห็น Rachel (Julia Roberts) เห็นพ่อฆ่าตัวตายยสมยังเป็นเด็ก หนำซ้ำ ยังถูกแม่ด่าว่าเป็นเพราะความผิดของตน ความรู้สึกผิดอันนี้จึงฝังใจไปจนโต เกิดความหมกมุ่นในการศึกษาเรื่องของความตาย) ระยะนี้ ผู้ที่มีจิตใจเป็นทุกข์มักจะร้องไห้ นอนไม่ค่อยหลับ และทานอาหารไม่ค่อยลง บางคนอาจจะรู้สึกตกใจหวาดกลัว โมโห และคับแค้นใจที่ถูกทอดทิ้ง เมื่อเวลาผ่านไป อาการทุกข์ใจอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอาการซึมเศร้า และเกิดความรู้สึกเหงาหงอยเปล่าเปลี่ยวต่อไปอีกนาน ซึ่งบางครั้งก็เกิดขึ้นจากการซ้ำเติมที่การให้กำลังใจปลอบประโลมจากสังคมและบุคคลภายนอกตามประเพณีในกรณีนี้ ค่อยๆหายไปตามเวลา แต่ในที่สุด ผู้ที่ยังมีชีวิตยู่ก็จะเริ่มเลิกวิตก มีกำลังใจกลับคืนมา เริ่มรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับผู้อื่น และเริ่มหาประสบการณ์ใหม่ต่อไป
การดูแลคนไข้ทึ่มีอาการป่วยขั้นสุดท้าย (terminally ill patient) จะต้องใช้แพทย์และนักมรณวิทยาที่มีความสามารถพิเศษ [ในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “FLATLINERS” จะเห็นแพทย์ฝึกหัดหญิง Rachel อีกเช่นกัน ที่กำลังศึกษาทางด้านมรณวิทยาเป็นการส่วนตัว โดยการสัมภาษณ์คนไข้ที่เคยตายไปชั่วขณะและให้คำปรึกษากับคนไข้ที่กำลังจะตาย] บุคคลเหล่านี้จะต้องพยาายามต่อสู้กับความกลัวของตนเองที่มีเกี่ยวกับความตายให้ได้ ก่อนที่จะสามารถให้คำปรึกษากับผู้ที่กำลังจะตายได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบัน หลักการที่กล่าวว่าคนไข้ส่วนมากซึ่งกำลังจะตายควรจะได้รับการบอกเล่าถึงเรื่องนี้นั้น เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นแพทย์จะไม่เห็นด้วยก็ตาม และแน่นอนว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้ไหวพริบและการดูแลเอาใจใส่อย่างดี คนไข้ส่วนใหญ่ แม้กระทั่งเด็กก็ตาม ในที่สุดแล้ว ก็มักจะรู้ตัวว่าตนเองกำลังจะตายอยู่ดี ดังนั้นการที่ช่วยเหลือให้พวกเขาได้ทราบความจริงล่วงหน้า จึงเป็นการทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากการเสแสร้งที่ว่างเปล่าไร้ความหมาย และเป็นการให้กำลังใจสนับสนุนให้เขาแสดงความรู้สึก
ที่แท้จริงออกมา หากสามารถทำให้ใเกิดความอบอุ่นและความมั่นใจกับคนไข้ที่กำลังจะตายได้ คนไข้ที่ทราบข่าวก็จะสามารถพบกับความตายได้ในสภาพที่เหมาะสม อันเป็นสภาพที่มีเกียรติและสงบสันติ
มรณวิทยา (THANATOLOGY)
วิชามรณวิทยา คือ การศึกษาหรือศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องประสบการณ์ของความตายและความรู้สึกของผู้ที่ต้องสูญเสียเนื่องมาจากความตาย แม้ว่าคนทุกคนในทุกสังคม ล้วนแล้วแต่เคยได้มีการคาดการณ์ถึงความตายด้วยกันทั้งสิ้น แต่การศึกษาถึงประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างมีระบบกลับเพิ่งได้รับการพันาขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้เอง การศึกษาเรื่องราวที่น่ากลัวและเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากเช่นความตายนี้ เป็นเรื่องที่ต้องห้ามในสังคมมาตลอด มาจนกระทั่งเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ซึ่งหลายคนก็ยังคงเชื่อว่า การศึกษาถึงความตายเป็นการกระทำที่เลือดเย็นและแล้งน้ำใจ อย่างไรก็ตาม นักมรณวิทยาต่างก็มีความเชื่อว่างานการค้นคว้าของตนมีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยเหลือมนุษย์ทุกคนได้ต่อไป เพราะไม่ว่าใคร ในที่สุดแล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น
ในยุคทศวรรษที่ 1950 และ 1960 งานค้นคว้าของนักสังคมศาสตร์หลายรายได้เปิดทางให้กับการศึกษาด้านจิตวิทยาของการตายขึ้น อีกทั้งยังได้พัฒนาโปรแกรมการให้คำปรึกษาและจิตบำบัดสำหรับจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ขั้นรุนแรง ที่มีส่วนเกี่ยวพันกับความตายในสังคมปัจจุบันอีกด้วย งานค้นคว้าที่ถือกันว่ามีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณชนในเรื่องของความตายและความรู้สึกโศกเศร้าเพราะการสูญเสียมากที่สุดในยุดปัจจุบัน คือ ผลงานของจิตแพทย์ชาวสวิส ชื่อ Elizabeth Kubler Ross
คนเราตายแล้วไปไหน?
การฟื้นคืนจากความตาย
เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง การจะประกาศได้ว่ามีความตายเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อสังเกตุเห็นว่าไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆถึงการทำงานของระบบหายใจและหัวใจหยุดเต้นแล้ว ใครก็ตามที่สามารถรอดชีวิตจากสภาวะอันนี้ไปได้ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หาได้ยากเต็มที ย่อมจะสร้างความเกรียวกราวบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างมากในฐานะ”ผู้กลับมาจากความตาย” อีกทั้งยังสามารถสร้างความนับถือเลื่อมใสให้กับผู้ที่พบเห็นอีกด้วย แต่ทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างได้เปลี่ยนไปจนหมดสิ้น ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดที่มีความก้าวหน้ามากในปัจจุบัน เรื่องเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไป ในการผ่าตัดระบบอวัยวะหัวใจที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก อาจจะมีการหยุดการทำงานของหัวใจได้นานถึงหลายชั่วโมง และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการอ่านสัญญานจากอุปกรณ์พิเศษ คือ “เครื่องอิเลคโตรเอ็นเซ็ฟฟาโรกราฟ” (electroencephalograph) ซึ่งเป็นเครื่องบันทึกการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าจากการทำงานของสมอง (electroencephalogram) หรือที่นิยมย่อกันว่า EEG สามารถใช้เป็นตัวบอกถึงการมีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดีก็ตามที แต่ยังมีคนไข้บางรายเหมือนกันที่อ่านสัญญานคลื่นสมองเป็นเส้นตรง (flat EEG) ได้แล้ว ก็ยังสามารถฟื้นกลับคืนมาได้เป็นปกติอย่างสมบูรณ์เหมือนปาฏิหาริย์ [นี่คือที่มาของชื่อภาพยนตร์เรื่อง “FLATLINERS” ซึ่งหมายถึง “ผู้มีเส้นสัญญานคลื่นสมอง EEG” เป็นเส้นตรง มิใช่เส้นสัญญานของชีพจร คือ EKG (electrocardiogram) ที่วัดการเต้นของหัวใจ]
เมื่อมีเหตุการร์เช่นนี้เกิดขึ้น แพทย์จึงต้อง “บัญญัติความหมายของความตาย” ขึ้นใหม่โดยที่ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบรรทัดฐานที่ใช้อยู่ เป็นสิ่งที่แน่นอนปราศจากข้อสงสัยโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม หากกลั่นกรองดูแล้ว ปัจจุบันแพทย์มองการตายโดยแยกออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “clinical death” ซึ่งหมายถึง การที่แม้ว่าภาวะที่สิ่งบ่งชี้ถึงการมีชีวิตอยู่จะหายไปจนหมดสิ้นแล้วก็ตาม แต่กรรมวิธีการช่วยชีวิตให้ฟื้นได้อย่างทันท่วงทีจะสามารถทำให้คนไข้มีชีวิตกลับคืนมาได้โดยปกติ ในภาวะการณ์เช่นนี้ คนไข้จะถูกเรียกว่ามีอาการ “near death (ใกล้ความตาย)” มากกว่าจะเป็นการตายอย่างแท้จริง การตายประเภทที่สองคือ “biological death” ซึ่งอาจจะมีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับ “clinical death” ทุกประการ ยกเว้นระยะเวลาของอาการเช่นนี้จะทำให้เกิดการเน่าสลายของระบบอินทรีย์กายภาพ ทำให้การมีชีวิตกลับคืนมาเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้โดยสิ้นเชิง
แพทย์จึงจำต้องพยายามบัญญัติความหมายของ”ความตาย”ขึ้นใหม่ทั้งที่ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบรรทัดฐานที่ใช้อยู่นั้นเป็นสิ่งแน่นอนและปราศจากข้อสงสัยโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม หากกลั่นกรองดูแล้ว ปัจจุบัน แพทย์มองการตายโดยแยกออกเป็นสองประเภท ประเภทแรกคือ “clinical death” ซึ่งหมายถึง ภาวะที่แม้ว่าสิ่งบ่งชี้ถึงการมีชีวิตจะหายไปจนหมดสิ้นก็ตาม
สำหรับกรณีของการตายประเภทที่สองนี้ จุดที่น่าสงสัยประการหนึ่งคือช่วงระยะเวลาก่อนที่ร่างกายจะเข้าสู่ภาวะ”biological death”ที่ตามมาโดยอัตโนมัติ แม้ว่ามีการสันนิษฐานมานานแล้วก็ตามว่า การขาดอ็อกซิเจนจะทำให้เกิดความเสียหายของสมอง (brain damage) โดยที่ไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้หากมีเวลานานกว่า 5-6 นาที ปัจจุบันนี้ก็มีหลักฐานแสดงแล้วว่า ในสภาวะพิเศษบางครั้ง ช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะสามารถยาวนานกว่านี้มากก็เป็นได้ เหตุการณ์ในครั้งนั้น เกิดขึ้นที่บริเวณนอกชายฝั่งอลาสก้าออกไป เมื่อวันที่ 4 กันยายน 1983 เจ้าหน้าที่ช่วยชีวิตบนเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งได้ดึงร่างของของเด็กหญิงอายุเพียงสามขวบขึ้นมาจากทะเลที่กำลังบ้าคลั่งและมีน้ำที่อุณหภูมิกำลังเย็นจัด เด็กหญิงคนนั้นชื่อ Misty Dawn Densmore เป็นผู้ประสบอุบัติเหตุเรือแตกพร้อมกับคุณแม่ ก่อนหน้าที่จะมีผู้ช่วยเธอขค้นมานี้ 30 นาที ผู้เป็นแม่เห็นเธอหยุดหายใจแล้วกับตา และร่างกายก็กลายเป็นสีเขียว ซึ่งก็หมายความว่า “ตาย” ไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะนั้นเอง ศัลยแพทย์ประจำการบินบนเฮลิคอปเตอร์ลำนั้น คือนาย Martin J. Nemiroff ก็อดสงสารไม่ได้เนื่องจากความรู้สึกคิดถึงลูกสาวตนเองที่มีอายุไล่เลี่ยกัน ทำให้เขารีบดูดน้ำทะเลจำนวนเกือบหนึ่งลิตรออกจากปอดของMisty จากนั้นจึงรีบช่วยผายปอดด้วยการพ่นลมเข้าไปในปากต่อไป หลังจากที่เธอ”ตาย”ไปเป็นเวลาประมาณ 40 นาที Misty ก็ไอสำลักน้ำลาย สามารถฟื้นมีชีวิตกลับคืนมาได้และต่อมาก็หายเป็นปกติ Nemiroff ตั้งสมมติฐานว่าการที่เธอรอดชีวิตมาได้แบบนี้เนื่องมาจากสาเหตุที่น้ำทะเลในขณะนั้นมีความเย็นจัด ได้ช่วยรักษาปริมาณอ็อกซิเจนในสมองของเธอเอาไว้ด้วยวิธีการบางอย่างที่ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัด [ถึงจุดนี้ คงต้องให้ท่านผู้อ่านกลับไปนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง “THE ABYSS” อีกครั้งหนึ่ง]
หากเราพิจารณาย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่ามีกรณีที่มีผู้เสียชีวิตไปแล้วระยะหนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็สามารถกลับฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถอธิบายได้แน่ชัดอยู่หลายราย อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าถึงสิ่งที่ตนเองได้ประสบพบเห็นมาหลังจากตายไปแล้วที่พิศดารและเหลือเชื่อยิ่ง อย่างไรก็ตาม คำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่น่าพอใจกลับไม่เคยมีการศึกษาหรืออธิบายไว้เลย และแล้ว มาในช่วง ทศวรรษที่ 1960 จุดผกผันครั้งสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์การศึกษาเรื่องความตายก็เกิดขึ้น
ผู้บัญญัติคำว่า “ประสบการณ์ใกล้ความตาย” (Near Death Experience)
เมื่อปี 1943 พลทหารผู้หนึ่งประจำกองทัพบกสหรัฐ ชื่อนาย George Ritchie อายุ 22 ปี นอนแน่นิ่งอยู่ในห้องคนไข้โรคติดต่อของโรงพยาบาลทหารที่เมือง Abilene มลรัฐเท็กซัส เจ้าหน้าที่แพทย์ที่ประจำการอยู่ในขณะนั้น ได้ประกาศว่าเขาถึงแก่กรรมแล้วด้วยโรคปอดบวม เขาถูกเอาผ้าห่มปิดหน้าและกำลังถูกเตรียมตัวที่จะย้ายไปไว้ที่ห้องเก็บศพอยู่แล้ว แต่ก็ด้วยปฏิภาณในหน้าที่ของพยาบาลชายผู้หนึ่ง ที่ยืนยันว่าเขาเห็นมือของ”ศพ”เคลื่อนไหวได้ และขอร้องให้แพทย์ลองช่วยเขาดูอีกครั้ง แพทย์คนนั้นจึงฉีดสาร adrenalin (อะเดร็นนาลีน – ฮอร์โมนช่วยกระตุ้นหัวใจ) โดยตรงเข้าไปในหัวใจของ Ritchie ผลลัพธ์ที่ได้คือ Ritchie ค่อยๆฟื้นมีชีวิตกลับคืนขึ้นมาใหม่อย่างที่ไม่มีผู้ใดคาดคิด แล้วยังสามารถไปเรียนต่อจนสำเร็จจบเป็นจิตแพทย์ออกมาประกอบวิชาชีพได้อย่างปกติ
แต่สิ่งสำคัญของเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เขาสามารถฟื้นจากความตาย กลับเป็นเรื่องที่เขาสามาารถจดจำประสบการณ์ช่วงเวลาที่ขาย”ตาย”ไปได้อย่างชัดเจน คนส่วนใหญ่พากันหว่านล้อมให้เขาเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพียงภาพหลอนที่เกิดขึ้นในจิตใจเขาเอง ก่อนหน้านี้ก็มีผู้ตายแล้วฟื้นกลับมาเล่าถึงประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกันนี้หลายรายแล้วแต่ไม่มีผู้ใดสนใจ ขณะนั้นอยู่ระหว่างทศวรรษที่60 นักศึกษาหนุ่มระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญาของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียผู้หนึ่งชื่อ Raymond A. Moody (เรย์มอนด์ เอ. มูดี้) ซึ่งมีโอกาสได้ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย กลับรับฟังเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นายแพทย์ Ritchie เล่าว่า ในขณะที่เขาตายไปนั้นเขามีประสบการณ์ที่ชัดเจนมาก เขามองเห็นศพของตนเองนอนนิ่งอยู่บนเตียงของโรงพยาบาลจากระยะที่ห่างออกมา จากนั้นก็ล่องลอยผ่านอุโมงค์มุ่งตรงไปยังแสงสว่างจ้าข้างหน้า มองเห็นตัวตนที่มีลักษณะเหมือนแสงสว่าง เกิดความรู้สึกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก มองเห็นเหตุการณ์ทุกอย่างในชีวิตของเขาที่ผ่านมา(life review)อย่างสมบูรณ์ชัดเจนเหมืนจริงเป็นสามมิติ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีผลกระทบต่อตัว Ritchie เองอย่างลึกซึ้ง เพราะเขาเชื่อว่า เขามีโอกาสได้มองเห็นชีวิตหลังการตายได้ชั่วครู่หนึ่ง
นาย Moody กล่าวว่า ตอนนั้น ความคิดที่ว่าคนเราอาจจะมีชีวิตหลงเหลืออยู่ได้ในรูปของวิญญานหลังจากที่ร่างกายของเราสูญไปเพราะความตาย เป็นเรื่องที่เขาไม่เคยมีอยู่ในหัวมาก่อนเลย เขาเชื่อตลอดมาว่า ความตายคือการดับสูญของร่างกายเช่นเดียวกับจิต แต่เมื่อเขาได้มาพบ Dr. Ritchie ก็ทำให้แปลกใจมากว่าจิตแพทย์ที่น่าเชื่อถือและมีผู้ไว้วางใจเช่นนี้ เหตุใดจึงกล้าประกาศต่อสาธารณชนว่า เขาเคยมองเห็นชีวิตหลังความตายชั่วครู่หนึ่ง
หลังจากที่ได้ยินเรื่องนี้ Moody เก็บเอาเรื่องนี้ไว้ในใจ และศึกษาต่อไปจนกระทั่งสำเร็จระดับปริญญาเอกสาขาปรัชญาเมื่อปี 1969 จากนั้นเขาก็เริ่มเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นต่อไป ในตอนนี้เองที่เขาได้พบกับเรื่องราวของประสบการณ์ใกล้ความตายอีกครั้งหนึ่ง
ก่อนหน้านั้นหนึ่งปี เขามีนักศึกษาคนหนึ่งที่เกือบจะต้องเสียชีวิตไป Moody จึงถามไปว่าเขามีประสบการณ์ตอนนั้นเป็นเช่นใดบ้าง เมื่อเขาได้ยินสิ่งที่นักศึกษาผู้นั้นเล่า ก็ถึงกับตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ทั้งนี้ก็เพราะเหตุการณ์ที่เขาได้ยินมีลักษณะะเกือบจะเหมือนกับที่ Ritchie เคยเล่าเมื่อสี่ปีที่แล้วทุกประการ
จากนั้นเขาก็เริ่มเสาะหานักศึกษาที่รู้จักผู้ที่เคยมีประสบการณ์ใกล้ความตายมาแล้วไปเรื่อยๆ เมื่อเขาเข้าศึกษาต่อในวิชาการแพทย์เมื่อปี 1972 ก็รวบรวมกรณีศึกษาจากผู้ที่มีความซื่อตรงไว้ใจได้มากกว่า 8 ตัวอย่าง และเมื่อเข้ามาอยู่ในโรงเรียนการแพทย์แล้ว เขาก็สามารถรวบรวมได้มากพอจยสามารถเขียนเป็นหนังสือได้ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า “Life After Life (ชีวิตหลังการมีชีวิต)” ถึงแม้หนังสือเล่มนี้มีลักษณะที่ไม่เป็นเชิงวิชาการทางวิทยาศาตร์มากนัก แต่กระนั้นก็ยังได้ Elizabeth Kubler Ross มาเขียนคำนำให้ และกลายเป็นจุดผกผันที่สำคัญที่สุดต่อสาธารณะชนที่มีต่อแนวความคิดเรื่องการตายในยุคปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้กลายเป็นเบสต์เซลเลอระดับนานาชาติไปในเวลาอันรวดเร็ว
Dr. Moody ตั้งชื่อเรียกประสบการณ์เช่นนี้ในหนังสือเล่มนั้นว่า “ประสบการณ์ใกล้ความตาย (Near-Death Experience) หรือย่อว่า NDE” ผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้ตามมารายอื่นอาจจะเรียกชื่อต่างออกไป แต่ต่างก็มักจะหมายถึงประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกัน
ลักษณะของ NDE
ในหนังสือเล่มล่าสุดของ Dr. Moody อธิบายว่า จากการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อมาหลังจากหนังสือเล่มแรก NDE ที่มีผู้ประสบประกอบด้วยลักษณะหลักที่ร่วมกันได้ 9 ประเภท เขาสรุปขึ้นมาจากการสอบถามคนหลายร้อยคนและพบว่า มีทั้งคนที่เคยมีประสบการณ์เพียงบางส่วนในเก้าประเภทนี้ แต่บางรายก็มีประสบการณ์ที่ครบสมบูรณ์ทั้งเก้าประการ ลักษณะของ NDE มีดังต่อไปนี้คือ
1. ความรู้สึกรับรู้ถึงการตาย
คนหลายคนในขณะที่มี NDE มักจะไม่รู้ตัวหรือคาดคิดได้ว่านี่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการตาย พวกเขาจะพบว่าตนเองล่องลอยอยู่เบื้องบน มองลงมาเห็นร่างของตนเองจากระยะห่างออกไป ในทันทีนี้เอง ก็เริ่มรู้สึกกลัว และ/หรือ สับสน พวกเขาจะเริ่มสงสัยว่า “นี่เรามาลอยอยู่บนนี้แล้วมองเห็นร่างตนเองได้อย่างไร?” ณ จุดนี้ เขาอาจจะจำไม่ได้ว่าร่างที่เขาเห็นอยู่นี้เป็นร่างของตนเอง ผู้ที่มี NDE อาจจะพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู้ที่เขาเห็นอยู่ใกล้ๆด้วยการพยายามจับต้องตัว แต่เมื่อเขาลองดู มือจะผ่านแขนของผู้ที่ต้องการจับไปราวกับว่าไม่มีอะไรเลย [ที่กล่าวมาในช่วงนี้ ผู้ที่ชมภาพยนตร์เรื่อง “GHOST” แล้วคงจะจำได้ดี]
หลังจากผ่านช่วงนี้ไป ความรู้สึกสับสนจะเริ่มลดน้อยลง ความรู้สึกที่เป็นสุข อิสระ จะเข้ามาแทนที่เหมือนกับลูกโป่งที่เพิ่งถูกตัดเชือกให้ลอยไป มันเป็นความรู้สึกสุขที่อิ่มเอม สมบูรณ์อย่างยากที่จะบรรยายได้ และต่อมา เขาจะเริ่มมีความเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างมากยิ่งขึ้น
2. ความรู้สึกสงบสันติ ไร้ความเจ็บปวด
ในขณะที่คนไข้ยังอยู่ในร่างของตน บ่อยครั้งมักจะรู้สึกเจ็บปวดจากอาการต่างๆ แต่เมื่อใดที่สายลูกโป่งถูกตัดออก ความรู้สึกสงบสันติ ไร้ความเจ็บปวดอย่างสิ่งเชิงก็จะเข้ามาแทนที่ นักวิจัยบางรายตั้งทฤษฎีอธิบายว่า เมื่ออยู่ในอาการเจ็บปวดทรมาณอย่างแสนสาหัส สมองจะหลั่งสารเคมีชนิดหนึ่งออกมาเพื่อระงับอาการปวด แต่ก็ยังไม่มีใครที่จะสามารถทำการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีนี้ได้ว่าจริงหรือเท็จเพียงใด
3. ประสบการณ์ “นอกร่าง”
บ่อยครั้งทีเดียวเมื่อถึงจุดที่แพทย์กล่าวว่า “เขา(เธอ)สิ้นใจแล้ว” คนไข้จะเริ่มเห็นภาพมีมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เขาจะรู้สึกเหมือนกับว่าตนเองลอยสูงขึ้นแล้วมองลงมาเห็นร่างกายของตน ส่วนใหญ่เล่าว่าในตอนที่เกิดสภาวะเช่นนี้ เขารู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นเพียงจิตสำนึกจุดเดียวที่ปราศจากร่าง เขารู้สึกว่าเหมือนกับอยู่ในร่างใหม่อะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ร่างกายเดิม แต่อย่างน้อยก็รู้สึกว่าร่างวิญญานนี้มีมือมีแขน ส่วนเมื่อถูกถามว่าร่างใหม่ทั้งหมดมีรูปร่างเป็นเช่นใด ผู้เล่าส่วนใหญ่มักจะสับสนและตอบไม่ถูก
4. ประสบการณ์เรื่องอุโมงค์
ประสบการณ์นี้ โดยทั่วไปจะเกิดขึ้นหลังจากที่รู้สึกว่าหลุดลอยออกจากร่างไปแล้ว ในตอนนี้เองที่ผู้มี NDE จะเริ่มรู้สึกตัวว่า เหตุการณ์ทั้งหมดกำลังเกิดขึ้นจากผลของความตาย
ณ จุดนี้ ช่องทางเข้าที่มีลักษณะคล้ายอุโมงค์จะเปิดออกอยู่ตรงหน้า และจะรู้สึกเหมือนกับมีแรงดูดเข้าไปในความมืด พวกเขาจะเริ่มล่องลอยเข้าไปในความมืดนี้ เมื่อมาถึงตรงส่วนปลายของอุโมงค์ก็จะพบแสงสว่างเจิดจรัส
ก่อนหน้าที่จะได้มีการค้นพบของ Dr. Moody ในเรื่อง NDE เกี่ยวกับประสบการณ์ในเรื่องอุโมงค์นี้ มีภาพเขียนสมัยศตวรรษที่ 15 อยู่ภาพหนึ่ง เขียนโดย Hieronymus Bosch (ฮิรานนิมัส บาส – นักเขียนรูปชาวดัทช์) ชื่อ “The Ascent into the Empyrean (การขึ้นสู่สวรรค์ชั้นสูงสุด)” ที่สามารถบรรยายถึงลักษณะของประสบการณ์อันนี้ได้เป็นอย่างดี คำบรรยายลักษณะของอุโมงค์ที่มีผู้ประสบมักจะมีแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยส่วนรวมแล้วจะเหมือนกันทุกรายไป คือ ลักษณะของการเคลื่อนผ่านไปตามช่องทางจนกระทั่งพบแสงสว่างจ้า
5. กลุ่มตัวตนแห่งแสงสว่าง
เมื่อเคลื่อนผ่านอุโมงค์ไปแล้ว ผู้ที่มี NDE มักจะได้พบตัวตนที่เป็นแสงสว่าง ตัวตนเหล่านี้ไม่ได้ประกอบด้วยแสงสว่างธรรมดา เพราะพวกเขาจะมีลักษณะเรืองแสงที่งดงามและเจิดจ้ามากและเป็นแสงที่ส่องสว่าง สามารถซึมซาบผ่านทุกสิ่งทุกอย่างและทำให้คนที่ได้พบเกิดความรักขึ้นในจิตใจอย่างท่วมท้น มีผู้เล่าว่าแสงสว่างที่เห็นนั้นเจิดจ้าแรงกว่าแสงใดๆในโลกที่เคยพบเห็นมา แต่กระนั้น กลับไม่รู้สึกแสบตาแต่ประการใด ตรงกันข้าม กลับรู้สึกอบอุ่น เต็มไปด้วยพลังของความมีชีวิตชีวา
ในสถานะการณ์ช่วงนี้ ผู้ที่มี NDE มักจะได้พบกับญาติมิตรที่เสียชีวิตไปแล้ว บ่อยครั้งที่มีผู้เล่าว่าญาติมิตรเหล่านี้อยู่ในร่างที่ไม่สามารถจะบรรยายลักษณะได้เช่นเดียวกับร่างของตนเอง นอกจากนี้ บางรายยังเล่าว่า ได้เห็นทิวทัศน์เป็นทุ่งหญ้างดงามที่เต็มไปด้วยดอกไม้นานาพรรณ [การบรรยายในช่วงนี้คงจะทำให้ท่านผู้อ่านบางท่านคิดถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “ALWAYS” (1989) ของผู้กำกับ Steven Spielberg]
ในภาวะเช่นนี้ การสื่อสารจะไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดคุยกันเลย จะสามารถติดต่อกันได้ทางจิตแทน ทำให้เข้าใจกันและกันได้ทันที
6. องค์ประทีป
หลังจากได้พบกับกลุ่มตัวตนที่เป็นแสงสว่างแล้ว ผู้ที่มี NDE มักจะได้พบองค์ประทีปที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด คนที่มีพื้นฐานทางศาสนาคริสต์มักจะใช้คำบรรยายสิ่งที่พบนี้ว่าเป็น”พระผู้เป็นเจ้า”หรือ”พระเยซู” ส่วนผู้ที่มีพื้นฐานทางศาสนาอื่นก็อาจจะเรียกว่า “พระพุทธเจ้า” หรือ “พระอะหล่า” แม้ว่าจะมีบางคนที่กล่าวว่าสิ่งที่พบนั้น ไม่ใช่ทั้งพระผู้เป็นเจ้าหรือพระเยซูก็ตาม แต่ก็จะรู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่และความศักดิ์สิทธิ์ขององค์ประทีปนี้
ไม่ว่าองค์ประทีปที่กล่าวถึงจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งนี้ก็ได้แผ่ความรู้สึกรักและความเข้าใจมาสู่ผู้ได้พบเหนอย่างเต็มเปี่ยม ท่วมท้นจนกระทั่งคนส่วนมากอยากจะอยู่ด้วยตลอดไป แต่พวกเขาก็ทำไม่ได้ ณ จุดนี้ พวกเขามักจะได้รับคำบอก ซึ่งส่วนใหญ่จากองค์ประทีปนั้นว่า เขาจะต้องกลับไปสู่ร่างเดิมของตนเองในโลก แต่ก่อนอื่น เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องพาพวกเขาไปพบ”การทบทวนชีวิต”
7. การทบทวนชีวิต
เมื่อการทบทวนชีวิตเกิดขึ้น สิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่างๆจะหมดไป สิ่งแวดล้อมรอบกายจะเปลี่ยนไป มองเห็นเป็นสีสามมิติที่เหมือนจริงทุกอย่างและเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ผู้นั้นเคยกระทำมาในอดีตทุกประการ
การเกิดสภาวะเช่นนี้มักจะอยู่ในลักษณะการมองจากสายตาของบุคคลที่สาม และช่วง”เวลา”ที่เกิดขึ้นจะแตกต่างจาก”เวลา”ที่เรารู้จักกันอยู่ การบรรยายที่ใกล้เคียงที่สุดเห็นจะได้แก่การที่เคยมีผู้กล่าว “เหมือนกับการเห็นชีวิตทั้งชีวิตในขณะเดียวกัน”
ในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะได้เห็นสิ่งต่างๆที่เคยทำมาทุกอย่างเท่านั้น แต่ยังจะได้รู้สึกสำนึก รับรู้ทันทีว่าผลแห่งการกระทำทุกๆอันในชีวิตที่ผ่านมามีผลต่อผู้อื่นอย่างไร [นี่คือ โครงเรื่องส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง “FLATLINERS”]
ตัวอย่างเช่น หากคุณได้เห็นตัวเองกระทำสิ่งที่ประสงค์ร้ายลงไป ทันทีทันใดนั้น คุณจะรู้สึกรับรู้จิตสำนึกของผู้นั้นได้ทันทีว่า เขามีความโศกเศร้า เจ็บช้ำน้ำใจ อย่างไร ซึ่งมันจะทำให้คุณรู้สึกเสียใจและสำนึกผิด
ในทางตรงกันข้าม หากคุณกระทำสิ่งใดไปด้วยความรักต่อผู้ใด ทันทีทันใดนั้น คุณก็จะรับรู้จิตใจของเขาที่รู้สึกถึงความเอื้ออารีย์และความสุขใจ
องค์ประทีปจะเป็นผู้ชี้นำผ่านสภาวะเช่นนี้โดยถามว่า ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาได้ทำกรรมดีอันใดไว้บ้าง องค์ประทีปจะเป็นผู้ช่วยดูแลต่อไปจนกระทั่งการทบทวนจบลง
คนที่เคยผ่านการทบทวนชีวิตเช่นนี้มาแล้วทุกๆคน ต่างก็จะมีความเชื่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของคนเราคือการมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์
สำหรับคนส่วนใหญ่ สิ่งสำคัญรองลงมาของชีวิตคนเราคือ ความรู้ เพราะในขณะที่พวกเขามองดูตนเองในอดีตที่กำลังเริ่มเรียนรู้สิ่งต่างๆ องค์ประทีปจะคอยชี้แนะให้ทราบว่า สิ่งที่คนเราจะนำติดตัวไปได้หลังจากตายแล้วคือความรู้และความรักเท่านั้น
เมื่อผู้ที่ผ่านประสบการณ์เช่นนี้รอดกลับมาจากความตาย มักจะมีความกระหายความรู้เป็นอย่างสูง บ่อยครั้งที่พวกเขาจะกลายเป็นนักอ่านหนังสือตัวยงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะเป็นคนไม่ชอบหนังสือมากนักก็ตาม หรือไม่ก็จะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียน หรืออาจจะไปศึกษาต่อในสาขาอื่นที่แตกต่างจากที่ตนเคยเล่าเรียนมา
8. การล่องลอยสู่ฟากฟ้าอย่างรวดเร็ว
ผู้ที่มี NDE ทุกรายมิใช่ว่าจะมีประสบการณ์เรื่องอุโมงค์ทุกรายไป บางรายเล่าว่ามี “ประสบการณ์การลอยตัว” ซึ่งพาให้เขาล่องลอยสู่ฟากฟ้าอย่างรวดเร็ว มองเห็นจักรวาลจากมุมมองที่นักบินอวกาศหรือจากดาวเทียมเท่านั้นจึงจะมองเห็นได้
เมื่อปี 1944 จิตแพทย์บำบัด นักค้นคว้า นักปรัชญาชื่อก้องโลก C. G. Jung (คาร์ล กุสตาฟ ยูง – นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ นักค้นคว้าทางจิตชื่อดังชาวสวิส) ก็เคยมีประสบการณ์แบบนี้ครั้งหนึ่งเมื่อเขาเกิดอาการหัวใจวายขึ้นมา เขากล่าวว่าเขารู้สึกเหมือนร่างกายลอยสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงจุดที่อยู่เหนือพื้นโลก
9. ความรู้สึกที่ไม่อยากกลับ
สำหรับคนหลายคน NDE เป็นสิ่งที่สร้างความรู้สึกน่าอภิรมย์อย่างยิ่ง จนถึงขนาดที่เกิดควงามรู้สึกว่าไม่อยากกลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ บ่อยครั้งที่จะมีคนไข้เกิดอาการโมโหนายแพทย์ที่ช่วยพาเขากลับมาเป็นอย่างมาก แต่ความโมโหจะเกิดอยู่ไม่นานนัก หากเวลาผ่านไปประมาณหนึ่งสัปดาห์ พวกเขาก็จะเริ่มรู้สึกสุขใจที่ได้กลับคืนมา แม้ว่าเขาจะคิดถึงและเสียดายความสงบสุขเหล่านั้นอยู่ก็ตาม แต่พวกเขาก็ดีใจที่ได้มีโอกาสมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
มีจุดน่าสนใจอยู่ประการหนึ่งตรงที่ว่า ผู้ที่มี NDE มักจะได้รับข้อเสนอให้เลือกว่าจะอยู่หรือจะกลับ บางครั้งอาจจะเป็นองค์ประทีปหรือไม่ก็เป็นญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วเป็นผู้หยิบยื่นข้อเสนอนี้ให้
ทุกคนที่ Dr. Moody เคยสอบถามมาต่างกล่าวว่า ตนเองหากเป็นตัวคนเดียวไม่มีใครให้ต้องห่วงก็จะขออยู่ต่อไป แต่พวกเขามักจะเลือกกลับมาใหม่ด้วยสาเหตุที่มียังมีลูกเล็กๆเหลืออยู่ หรือไม่ก็เพราะจะทำให้สามีภรรยาหรือพ่อแม่ต้องคิดถึง
บทสรุป
หนังสือเล่มนี้ได้สร้างคำถามที่ไม่สามารถหาคำตอบได้หลายประการ อีกทั้งยังสร้างความโกรธให้กับผู้ที่ไม่ยอมเชื่อในเรื่องนี้อย่างมาก โดยกล่าวว่ากรณีศึกษาเพียงแค่ไม่กี่ร้อยราย ไม่สามารถกล่าวได้ว่ามีคุณค่าหรือน่าเชื่อถือได้ในโลกของการศึกษาด้วย”วิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง” นายแพทย์หลายรายกล่าวว่าตนเคยช่วยชีวิตคนไข้ที่ตายให้กลับฟื้นคืนมาได้หลายร้อยราย แต่ไม่เคยได้ยินเรื่องประสบการณ์ใกล้ความตายมาก่อนเลย บางรายกล่าวว่ามันเป็นเพียงการแสดงของอาการป่วยทางจิตอย่างหนึ่ง บางรายกล่าว NDE เกิดขึ้นได้กับเฉพาะผู้ที่เคร่งศาสนามากเท่านั้น ในขณะที่บางรายกลับกล่าวว่านี่เป็นการเข้าสิงของปีศาจแบบหนึ่งไป แพทย์บางรายกล่าวว่าจะไม่มีวันเกิดเหตุการณ์แบบนี้กับผู้ที่เป็นเด็กแน่นอน เนื่องจากว่าเด็กไม่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมมาเหมือนกับผู้ใหญ่ บางรายสรุปว่า จำนวนผู้ที่มี NDE ยังมีน้อยเกินไปกว่าจะมีคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม Dr. Moody กล่าวว่า ยังมีกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมทั้งตนเองด้วยที่พยายามศึกษาค้นคว้าในเรื่องนี้ต่อไป งานการค้นคว้าที่ผ่านมาตลอดหนึ่งทศวรรษได้ทำให้เรื่องเหล่านี้มีความกระจ่างยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนลงไปได้ ที่เป็นเช่นนี้ อาจจะเป็นเพราะเส้นที่ขีดกั้นระหว่างคำจำกัดความของ”ชีวิต”และ”ความตาย”ที่แท้จริงขวางกั้นเราอยู่ คำจำกัดความที่เป็นคำตอบต่อคำถามเชิงปรัชญาที่ว่า หากเป็นผู้ที่มีชีวิตรอดกลับมาเล่าเรื่องต่างๆให้เราฟังได้ บุคคลเหล่านี้ก็ยังมิได้พบกับความตายอย่างแท้จริง แต่เมื่อใดที่ผู้หนึ่งผู้ใดพบกับความตายอย่างแท้จริง เขาก็ไม่สามารถกลับมาเล่าให้เราฟังได้เช่นกัน