ธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กสำคัญกับร่างกายอย่างไร

พูดถึงธาตุเหล็ก…อย่าเข้าใจผิดว่าเหล็กเป็นท่อนๆนะคะ ธาตุเหล็กเป็นสารที่ร่างกายต้องการเป็นประจำทุกวัน โดยต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งค่ะ รู้ไหมค่ะว่าธาตุเหล็กนั้นเป็นส่วนประกอบในการสร้างสีเม็ดเลือด ทำหน้าที่พาออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย แล้วถ้าร่างกายขาดจะเป็นอย่างไนนะ

ธาตุเหล็ก เป็นสารที่ร่างกายต้องการเป็นประจำทุกวัน โดยต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีหน้าที่ที่สำคัญ ๆ คือ ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบในการสร้างสีเม็ดเลือด (ฮีโมโกลบิน) ซึ่งทำหน้าที่พาออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้มีแรงในการทำงาน และธาตุเหล็กยังมีความสำคัญต่อพัฒนาการ สติปัญญา และการเรียนรู้ในเด็กตั้งแต่ทารก ตลอดจนทุกวัย

ในเด็กทารก โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ทำให้พัฒนาการด้านการใช้อวัยวะเคลื่อนไหวต่าง ๆ และการประสานการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ลดลง พัฒนาการด้านจิตใจและพฤติกรรมด้อยกว่าเด็กปกติ เด็กจะติดแม่หรือพี่เลี้ยง ขลาดกลัว ไม่กล้าลอง และเรียนรู้จากสิ่งรอบ ๆ ตัว ทำให้โอกาสการเรียนรู้ลดน้อยลง การเสียศักยภาพพัฒนาการและการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากปัญหานี้เป็นการสูญเสียถาวร แม้จะมีการแก้ไขโลหิตจางให้หายได้ แต่ความสามารถในการเรียนรู้ไม่สามารถแก้ไขให้กลับสู่ระดับเดิมตามศักยภาพได้อีก

ในเด็กโตขึ้นมาตั้งแต่วัยก่อนเรียนตลอดจนวัยรุ่น โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กทำให้มีผลต่อสมาธิการเรียน ความจำ และความสามารถในการเรียนรู้และสติปัญญา พบว่าถ้าโลหิตจางเกิดในช่วงวัยที่โตแล้ว เมื่อแก้ไขโลหิตจางได้ก็สามารถแก้ให้ระดับการเรียนรู้อยู่ในระดับเดียวกับเด็กที่ไม่มีปัญหาได้ แต่ถ้าเด็กมีปัญหามาตั้งแต่วัยทารก และเกิดปัญหาซ้ำในวัยที่โต ส่วนที่เกิดปัญหาในช่วงทารกก็ไม่สามารถแก้ไขได้อยู่ดี

ด้วยความสำคัญดังกล่าว การป้องกันไม่ให้เกิดการขาดธาตุเหล็กจนถึงขั้นโลหิตจางในแม่และเด็ก จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันปัญหาในทารกและเด็กวัยต่าง ๆ

การขาดธาตุเหล็กในระยะตั้งครรภ์ ทำให้เสี่ยงต่อการคลอดลูกก่อนกำหนด หรือน้ำหนักคลอดต่ำ (น้อยกว่า 2,500 กรัม) เด็กเหล่านี้จะมีธาตุเหล็กสะสมในร่างกายน้อย แม้จะให้นมแม่อย่างเต็มที่ก็จะยังไม่พอ ต้องได้รับการเสริมยาน้ำธาตุเหล็กตั้งแต่อายุ 2 เดือน

สำหรับเด็กที่คลอดน้ำหนักปกติและครบกำหนดมักไม่มีปัญหาโลหิตจาง จนอายุ 4-6 เดือนไปแล้ว เนื่องจากได้กินนมแม่ ซึ่งเหล็กถูกดูดซึมไปใช้ได้ดีและยังสามารถใช้เหล็กที่สะสมในช่วงอยู่ในครรภ์มารดามาใช้ด้วย แต่พอเลยช่วงอายุนี้แล้ว นมแม่อย่างเดียวไม่สามารถให้ธาตุเหล็กได้อย่างเพียงพอ ต้องมีการให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กมากพอ จึงจะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในช่วงอายุที่นับว่าวิกฤติ คือระยะขวบปีแรก ซึ่งถ้าเกิดปัญหาจะมีผลต่อศักยภาพการเรียนรู้และเป็นการสูญเสียไปอย่างถาวร ทำให้มีขีดความสามารถในการเรียนรู้เมื่อโตขึ้นต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ขอเน้นว่าการเสริมธาตุเหล็กหรือการได้อาหารที่มีธาตุเหล็กอย่างเหมาะสมพอเพียง ไม่ได้ช่วยให้เด็กกลายเป็นเด็กฉลาด อัจฉริยะ แต่เป็นการช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพ

ปัญหาการขาดธาตุเหล็กในเด็กโต เกิดจากการได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ เนื่องจากความซับซ้อนของการดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารที่ได้จากแหล่งเนื้อสัตว์และพืชนั้นแตกต่างกัน การจัดอาหารโดยแค่คำนวณว่ามีปริมาณเหล็กเหล็กอยู่เท่าใดนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากเหล็กที่อยู่ในแหล่งเนื้อสัตว์มี 2 ลักษณะ

ลักษณะหนึ่งนั้นดูดซึมไปใช้ได้ดี (ดูดซึมไปใช้ได้ร้อยละ 15-25) แต่เหล็กในอีกลักษณะจะเป็นกลุ่มเดียวกับเหล็กที่อยู่ในอาหารพวกพืช ซึ่งจะดูดซึมได้ดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับสารอาหาร หรือสารที่ไม่ใช่อาหารที่รับประทานไปพร้อมกันนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้การดูดซึมเหลือเพียงร้อยละ 2-10 เท่านั้น การรับประทานอาหารจึงต้องจัดอาหารหลายชนิดร่วมกันอย่างเหมาะสม

สารอาหารที่ช่วยส่งเสริมการดูดซึม คือ วิตามินซี และอาหารที่มีเนื้อสัตว์อยู่ด้วย ส่วนสารที่ขัดขวางการดูดซึม ได้แก่ ไฟเตท ในธัญชาติและถั่วเมล็ด และสารแทนนิน ซึ่งพบในพืชบางชนิด ในน้ำชา กาแฟ

ในแต่ละวันร่างกายคนเราต้องการธาตุเหล็ก สำหรับใช้ประมาณวันละ 1 มก. ในเด็กวัยต่าง ๆ และผู้ชายผู้ใหญ่ และประมาณวันละ 1.5-2 มก. ในผู้หญิงตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ การจะได้ธาตุเหล็กจากอาหารให้เพียงพอต้องกินในปริมาณ 10-20 มก. หรือสูงกว่านั้น ขึ้นกับว่าอาหารที่รับประทานดูดซึมได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมดังที่กล่าวแล้วข้างต้น

นอกจากปัจจัยเนื่องอาหารแล้ว การสูญเสียเลือดประจำแบบเรื้อรัง เช่น การติดเชื้อพยาธิ โดยเฉพาะพยาธิปากขอ ซึ่งมักพบในเด็กโตที่ชอบวิ่งตามพื้นดินและไม่ใส่รองเท้า หรือถ่ายอุจจาระตามพื้นดิน ไม่ใช้ส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ การเสียเลือดในกระเพาะอาหาร ลำไส้ รวมทั้งริดสีดวงทวาร ซึ่งคิดว่ามีเลือดออกเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นก็สามารถทำให้เกิดโลหิตจางได้ ถ้าปล่อยทิ้งไว้แม้จะกินอาหารเพียงพอ แต่มีการสูญเสียเลือด ก็เท่ากับว่ามีรูรั่ว ทำให้เติมเท่าไรก็ไม่เต็ม

ดังนั้น การดูแลให้ได้ธาตุเหล็กพอเพียงจึงต้องจัดการทั้งเรื่องของอาหาร และปัจจัยด้านสุขภาพอีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.