ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา

ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา

ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พ.ศ. ๒๕๓๖
โดย นิติกร กรัยวิเชียร

ในบรรดาศิลปินแห่งชาติทั้งหมดนั้น มีผู้ที่เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์นับรวมทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และยังคงมีชีวิตอยู่ ๑๘ ท่าน ในจำนวนนี้ มี ๓ ท่านที่แตกแขนงย่อยออกมาอีกว่าเป็นผู้ชำนาญการทางด้านกวีนิพนธ์อันได้แก่ท่านอังคาร กัลญาณพงศ์ อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา และอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งทั้ง ๓ ท่าน ต่างก็มีลีลา และแนวคิดในการนำเสนอผลงานกวีนิพนธ์เป็นเอกลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจนไม่ซ้ำแบบกัน สำหรับเรื่องราวของท่านอังคารและอาจารย์เนาวรัตน์นั้น ผมได้เสนอผ่านไปเรียบร้อยแล้ว ในฉบับนี้ ผมจะได้กล่าวถึงอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) อีกท่านหนึ่ง ที่มีอัจฉริยภาพในการใช้วรรณศิลป์เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมด้วยหวังให้เกิดความรักและความเข้าใจกันในหมู่มวลมนุษยชาติที่รวมตัวกันอยู่เป็นสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่รวมแห่งปัญหานานาประการ

อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ ๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๒ ปัจจุบันมีอายุ ๘๑ ปี ได้รับการศึกษาทั้งระดับประถม และมัธยมจากโรงเรียนเซนโยเซฟ คอนแวนต์ ท่านเป็นผู้ที่เรียนหนังสือเก่งมาโดยตลอด จนเคยได้รับรางวัล Prize of honour ภาษาฝรั่งเศษซึ่งเป็นรางวัลที่มีเกียรติยศสูงสุดของโรงเรียนในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ ๘ เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ ๘ แล้ว ท่านก็สามารถสอบไล่ได้เป็นที่ ๑ ของประเทศไทย และได้รับทุนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่คุณอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านได้กลับไปสอนหนังสือในระดับประถม ที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์อันเป็นโรงเรียนเก่าของท่านอยู่ ๑ ปี จึงได้เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนสำเร็จปริญญาโทเกียรตินิยมทางภาษาฝรั่งเศสเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ จากนั้น อาจารย์ประคิณ ก็สามารถสอบชิงทุนของรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาต่อทางด้านวรรณคดีร่วมสมัยเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้เดินทางกลับประเทศไทยและเข้าเป็นอาจารย์สอนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ จึงได้ลาออกเพื่อไปทำงานกับบริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย โดยทำงานในแผนกประชาสัมพันธ์เป็นเวลา ๑๕ ปี ก่อนที่จะลาออกไปเป็นที่ปรึกษาการประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพจำกัด ตลอดระยะเวลาดังกล่าว อาจารย์ประคิณได้ใช้เวลาว่างจากงาน สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอย่างสม่ำเสมอ

อาจารย์ประคิณเป็นชาวคาทอลิกผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าอย่างแรงกล้า ท่านได้ประพฤติและปฏิบัติตนตามคำสอนที่มุ่งหน้าปลูกจิตสำนึกให้มีความรักในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และเสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ แม้ระหว่างที่ศึกษาอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสนั้น อาจารย์ประคิณก็ยังได้เป็นอาสาสมัครออกปฏิบัติงานช่วยเหลือคนยากคนจน และสอนหนังสือให้แก่เด็กๆ “ที่นั่นด้วย จากการที่ได้สัมผัสกับกลุ่มชนที่ด้อยโอกาสทางสังคมนี้เอง ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ อันพัฒนาไปเป็นแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกในส่วนลึกนี้ออกมาเป็นบทกวี เพื่อมุ่งหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นแก่สังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านได้พยายามมุ่งเน้นถึงเรื่องความเป็นธรรมในสังคม ความรักความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกันของมวลมนุษยชาติ และปลอบประโลมใจผู้ที่ตกอยู่ความทุกข์ยาก ให้เกิดความหวังและกำลังใจในการต่อสู้ชีวิตในมุมมองที่สร้างสรรค์ปราศจากความรุนแรงและก้าวร้าว ท่านได้ใช้นามปากกา “อุชเชนี” และ “นิด นรารักษ์” สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่ายิ่งหลายชิ้น จากการที่ได้ศึกษามาทางอักษรศาสตร์โดยตรง ภาษาที่ท่านใช้จึงสละสลวยงดงามแพรวพราวชวนอ่านสามารถน้าวโน้มใจให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการเหมือนดังเห็นภาพ และได้ยินเสียงแม้ว่างานของท่านจะเป็นเพียงตัวอักษรอยู่บนแผ่นกระดาษก็ตาม อันเป็นจุดเด่นที่สามารถดึงดูดใจให้เกิดอารมณ์ร่วมและคล้อยตามสาระที่ท่านต้องการเสนอได้เป็นอย่างดี

อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยามีผลงานวรรณกรรมที่รวมเป็นเล่มทั้งบทกวีและร้อยแก้วดังนี้

  • ขอบฟ้าขลิบทอง เป็นผลงานรวมบทกวี
  • อัษมา เป็นผลงานการแปลจากบทกวีนิทานพื้นบ้านของจีน
  • ดาวผ่องนภาดิน เป็นผลงานรวมบทกวี
  • เพียงแค่เม็ดทราย เป็นผลงานการประพันธ์ประเภทร้อยแก้ว
  • หิ่งห้อย เป็นผลงานการแปลจากบทกวีของ ระพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์ ชาวอินเดีย ซึ่งได้แปลร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.ระวี ภาวิไล

อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ด้วยเหตุผลที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศเกียรติคุณของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “เป็นกวีที่มีความเข้าใจในสมบัติวรรณศิลป์ของไทย ซึ่งเห็นความเสนาะเพริศแพร้วของเสียง ลำนำ จังหวะในกวีนิพนธ์ ด้วยการนำวรรณศิลป์ตามขนบนิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่มุ่งสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม มุ่งให้ความหวัง ให้พลัง ปลอบประโลม ให้ผู้อ่านมีกำลังใจต่อสู้ชีวิต มุ่งสร้างศรัทธาในพลังแห่งอุดมคติของมนุษย์ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างโลกนี้ให้สงบงดงาม ผลการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่ปรากฏ แสดงให้เห็นถึงความเป็นกวีผู้มีอัจฉริยภาพ ซึ่งใช้วรรณศิลป์เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมด้วยการส่งสารที่ทรงพลัง สร้างแรงบันดาลใจแก่กวีรุ่นหลังต่อมา”

ผมได้เคยพยายามติดต่อเพื่อขอถ่ายภาพอาจารย์ประคิณมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ท่านได้ขอผลัดเวลาไปก่อน เนื่องจากในช่วงนั้น ท่านกำลังจะเดินทางไปเยี่ยมบุตรสาวที่ไปทำงานประจำอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งท่านมักจะเดินทางไปทุกปีและอยู่ครั้งละนานๆ ระหว่างนั้น ผมจึงได้ออกตระเวณถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ “จนเวลาได้ล่วงเลยมานานพอสมควร จึงได้ลองติดต่อไปใหม่ ซึ่งครั้งนี้ท่านก็ได้กรุณานัดให้ผมไปถ่ายภาพที่บ้านเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ ที่ผ่านมา ผมได้คิดแนวทางในการถ่ายภาพอาจารย์ประคิณเอาไว้ในลักษณะที่ท่านกำลังพักผ่อนอิริยาบถด้วยการนั่งอ่านหนังสือในสวนที่บ้าน โดยเน้นความร่มรื่นเย็นสบาย และต้องการทำให้ภาพมีสีสันสดใส มีชีวิตชีวาเพราะถูกต่อว่ามามากจากแฟนๆ “ผู้อ่านว่าผมชอบถ่ายแต่ภาพขาวดำที่ดูทึบๆ ทึมๆ ไม่สดใสเอาเสียเลย ซึ่งแม้ตัวผมเองจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำวิจารณ์นั้น แต่ก็ไม่อาจละเลยเสียงของผู้มีอุปการะคุณได้

ในวันนั้นเมื่อผมเดินทางไปถึงก็ได้พบว่าที่บ้านของท่านนั้นไม่ได้มีต้นไม้มากเท่าที่ผมคิดไว้ อย่างไรก็ตาม ที่บริเวณระหว่างริมรั้วบ้านกับถนนภายในบ้านมีต้นไม้ปลูกประดับเอาไว้ แม้ไม่มากนัก แต่ก็เพียงพอที่ผมจะหลอกมุมกล้องให้ดูประหนึ่งว่าอาจารย์ประคิณกำลังนั่งอยู่ในสวนอันร่มรื่นและกว้างขวางได้อาจารย์ประคิณได้ออกมาต้อนรับจักรกฤษณ์และผมอย่างยิ้มแย้มแจ่มใส โดยสวมใส่ชุดสีออกโทนเทา ผมได้อธิบายความต้องการของผมให้ท่านทราบพร้อมทั้งต้องกราบรบกวนให้ท่านเปลี่ยนชุดใหม่ให้มีสีสันสดใสกว่าเดิม ซึ่งท่านก็แย้งว่า

คุณนิติกรทราบไหมว่า ดิฉันอายุ ๘๑ ปีแล้ว จะต้องให้ใส่ชุดที่มีสีสันขนาดไหน?

ผมจึงเรียนท่านไปว่าจากสายตาของๆ “ผมคาดไม่ถึงเลยว่าท่านจะอายุขนาดนี้ เพราะท่านยังดูแข็งแรงแจ่มใสมาก อย่างไรก็ตามผมก็เห็นว่าการใส่ชุดสีสันสดใสก็ไม่น่าจะขัดแย้งกับวัยของท่านแต่ประการใด ท่านจึงยอมเปลี่ยนเป็นชุดสีแดงตามใจช่างภาพจนได้ การหาจุดวางกล้องถ่ายรูปของผมค่อนข้างจะทุลักทุเลอยู่สักหน่อย เนื่องจากมุมมองที่ดีที่สุดนั้น ท่านจะต้องนั่งอยู่บริเวณลานซักผ้าข้างโรงรถพอดี ซึ่งเมื่อผมได้ขยับตำแหน่งสิ่งของต่างๆ “ในบริเวณนั้นเล็กน้อย ทุกอย่างก็ลงตัวพร้อมที่จะถ่ายภาพกันได้ บริเวณดังกล่าวเป็นบริเวณที่อยู่ในร่มเงาของต้นไม้ ซึ่งมีแสงสว่างตามธรรมชาติที่สวยงามและพอเพียงแก่การถ่ายภาพได้ ผมจึงไม่ต้องใช้อุปกรณ์ไฟถ่ายภาพช่วยเสริม แต่ได้ใช้แผ่นสะท้อนแสงทรงกลมขนาดใหญ่ ช่วยสะท้อนเพิ่มแสงสว่างให้บริเวณใบหน้าของท่าน โดยให้จักรกฤษณ์เป็นผู้ถือเอาไว้ การถ่ายภาพใช้เวลาไม่นานก็

เสร็จเรียบร้อยได้ภาพศิลปินแห่งชาติมาอวดกันอีกท่านหนึ่งดังที่ได้เห็นอยู่นี่แหละครับ

แม้อาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา จะเป็นเพียงกลไกเล็กๆ “ของสังคมขนาดใหญ่โตมโหฬารที่สับสนและยุ่งเหยิง แต่ท่านก็ได้ทุ่มเทกายใจ ด้วยศักยภาพอันสูงยิ่งในทางกวีนิพนธ์ สร้างสรรค์ผลงานอันเปี่ยมทั้งคุณค่าทางวรรณศิลป์ และ สาระในเชิงสร้างสรรค์สังคมมาเป็นเวลายาวนาน จนได้รับการยอมรับนับถือโดยทั่วไปและได้รับการจัดเข้าสู่ทำเนียบศิลปินแห่งชาติอย่างสง่างาม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.