นายพินิจ สุวรรณะบุณย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(การออกแบบประยุกรต์ศิลป์) พ.ศ. ๒๕๓๖
ท่านที่เป็นนักสะสมเหรียญกษาปณ์ และเหรียญที่ระลึกต่างๆ ของไทยเคยทราบบ้างไหมครับว่าท่านผู้ใดบ้างเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความงดงามของเหรียญเหล่านี้ ในฉบับนี้ ผมจะได้นำเสนอเรื่องราวของศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่งซึ่งเป็นผู้ออกแบบเหรียญที่ท่านสะสมไว้ ทั้งยังเป็นผู้ที่มีผลงานการออกแบบประเภทต่างๆ อีกมากมาย ท่านที่ผมกำลังกล่าวถึงนี้คือ อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบประยุกต์ศิลป์) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๖ ครับ
อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ เกิดเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ท่านได้เข้าศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนหอมทวนลม จากนั้นได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุขจนกระทั่งจบชั้นมัธยมปีที่ ๔ จึงได้เข้าศึกษาต่อทางด้านวิจิตรศิลป์ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม แผนกช่างของกรมศิลปากร ขณะที่มีอายุเพียง ๑๔ ปี ในการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนของอาจารย์พินิจในครั้งนั้น ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ผู้ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการสอบได้กำหนดให้เขียนลายเส้นภาพเหมือนเหรียญเหรียญหนึ่ง ซึ่งแม้ว่าอาจารย์พินิจจะไม่มีประสบการณ์ทางศิลปะมามากนัก แต่ท่านก็ได้ใช้ความพยายามเขียนอย่างเต็มที่ จนได้ผลงานเป็นที่น่าพอใจ ท่านจึงได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียน นับเป็นเรื่องแปลกที่ในเวลาต่อมา การออกแบบเหรียญกลายมาเป็นงานที่สร้างชื่อเสียงให้อาจารย์พินิจเป็นอย่างมาก อาจารย์พินิจใช้เวลาศึกษาอยู่ที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรมอยู่ ๔ ปี ก็สำเร็จการศึกษา จากนั้นศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ก็ได้สนับสนุนให้ท่านเข้ารับราชการที่แผนกหัตถศิลป์ (ต่อมายกฐานะขึ้นเป็นกอง) กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร แต่เนื่องจากในขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๑๗ ปี ยังไม่ครบเกณฑ์ที่จะเข้ารับราชการได้ จึงได้อยู่ช่วยงาน ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ระยะหนึ่งเพื่อเป็นการทดแทนพระคุณและสร้างสมประสบการณ์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน จนกระทั่งอายุครบจึงได้เข้ารับราชการในตำแหน่งช่างจัตวาประจำแผนกหัตถศิลป์ กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จนมีตำแหน่งหน้าที่การงานที่เจริญก้าวหน้าขึ้นโดยลำดับ
นอกเหนือจากงานประจำที่แผนกหัตถศิลป์แล้ว อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ ยังได้ช่วยงานราชการในทางอื่นๆ อีกหลายประการได้แก่
- เป็นอาจารย์แผนกช่างสิบหมู่ โรงเรียนศิลปศึกษา
- เป็นอาจารย์พิเศษในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
- เป็นกรรมการในการออกแบบ และบูรณปฏิสังขรณ์งานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมของชาติอย่างสม่ำเสมอ
- เป็นกรรมการจัดสร้างเหรียญกษาปณ์และเหรียญที่ระลึกร่วมกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
- เป็นกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมของราชบัณฑิตยสถาน
- เป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ ของกรมศิลปากร เป็นต้น
ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะนั้น อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ ได้เริ่มปฏิบัติอย่างจริงจังเมื่อเข้าศึกษาที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนเข้ารับราชการ ซึ่งในระยะที่รับราชการนั้น ผลงานหลักที่ได้รับมอบหมาย คือการออกแบบเหรียญกษาปณ์ เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ เข็มที่ระลึก ดวงตรา เครื่องหมาย และดวงตราไปรษณียากร ผลงานที่ท่านออกแบบมีมากมายดังจะขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนดังนี้
- เหรียญและเสมาที่ระลึกในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป
- เหรียญพิทักษ์เสรีชน
- เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี
- เข็มเครื่องหมายอักษรพระปรมาภิไธยย่อ รัชกาลที่ ๖
- เข็มพระนามาภิไธย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ
- เหรียญที่ระลึกในวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๓ รอบ
- เหรียญที่ระลึกในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์ครบ ๒๕ ปี
- เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ ๕ ซึ่งกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ
- เหรียญพระแก้วมรกต ภปร. สามฤดู ในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี
- เหรียญรางวัลการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ ๑๓ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
- ตราหน้าหมวกกองทัพบกไทย
- ตราและธงประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ดวงตราประจำจังหวัดอุทัยธานี
- ดวงตราประจำจังหวัดต่างๆ อาทิ อุทัยธานี ยโสธร และศรีสะเกษ
- ตราสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
- ตราสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู
- ตราสำนักงานปลัดบัญชีกองทัพบก
- ตรากรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย
- ตรากรมตรวจเงินแผ่นดิน
- ตราไปรษณียากร “ช้างแดง” ในชุดกล้วยไม้ไทย
- ตราไปรษณียากร หนังใหญ่
- ตราไปรษณียากรที่ระลึกครบรอบ ๒๕ ปี วันทหารผ่านศึก ฯลฯ
นอกเหนือจากงานออกแบบที่กล่าวมาแล้ว อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ ยังมีผลงานประเภทงานจิตรกรรม สถาปัตยกรรม และงานตกแต่งอีกมากมาย ส่วนหนึ่งในผลงานดีเด่นของท่านได้แก่
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานมนทิราราม ในพระบรมมหาราชวัง
- ออกแบบทรงสะพัก ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- เขียนลายปักผ้าคลุมพระแท่นบรรทมรูปตราจักกรี
- ออกแบบปรับปรุงพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบริเวณโรงละครแห่งชาติ
- ออกแบบอินทรธนู พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- ออกแบบอินทรธนู และเครื่องหมายแสดงสังกัดของผู้พิพากษาสมทบ
- ออกแบบเสาหลักเมืองของจังหวัดต่างๆ อาทิ อุบลราชธานี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี จันทบุรี และอ่างทอง
- ออกแบบพัดที่ระลึกในงานต่างๆ
- ออกแบบฉากบังเพลิงงานพระเมรุมาศ เนื่องในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ฯลฯ
อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ ได้รับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และขยันขันแข็งมาโดยตลอดจนได้รับการยกย่องให้เป็นข้าราชการตัวอย่าง ท่านได้ลาออกจากราชการก่อนครบเกษียณอายุ ๘ เดือน รวมเวลาที่อยู่ในราชการถึง ๔๒ ปี ผลงานที่ท่านได้สร้างไว้เป็นประจักษ์พยานอันดีที่สุดที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในเชิงศิลปะที่โดดเด่น ทั้งยังอุทิศตนทำงานเพื่อการอนุรักษ์และสืบต่อศิลปะแบบประเพณีอย่างต่อเนื่องและแม้จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทางราชการมานานแล้ว แต่ท่านก็ยังคงทำงานศิลปะอย่างสม่ำเสมอ ทั้งยังได้ช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ส่งผลให้ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบประยุกต์ศิลป์) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๖
อาจารย์พินิจ สุวรรณะบุณย์ เป็นศิลปินที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายสมถะ การทำงานของท่านเป็นไปในลักษณะที่เงียบๆ ไม่โฉ่งฉ่าง แต่ในทางตรงกันข้าม ผลงานแต่ละชิ้นของท่านมักจะเป็นงานที่สำคัญ และได้รับการเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะในวงกว้าง และผลงานเหล่านั้นหลายชิ้นได้กลายเป็นผลงานอมตะ และจะเพิ่มความอมตะยิ่งขึ้นในทุกวันเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไป