นายยก ชูบัว

นายยก ชูบัว

นายยก ชูบัว ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) พ.ศ. ๒๕๓๐
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

การแสดงโนราหรือ “มโนราห์” เป็นนาฎศิลป์พื้นเมืองเก่าแก่ของภาคใต้ที่นับวันจะหาดูได้ยากเต็มที เพราะในปัจจุบัน มีกิจกรรมบันเทิงรูปแบบใหม่แผ่นอิทธิพลเข้ามาแทนที่ศิลปะการแสดงพื้นบ้านดั้งเดิม ดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่อย่างยากที่จะด้านทานได้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงนี้ ยังคงมีศิลปินโนราท่านหนึ่งที่ได้พยายามรักษานาฎศิลป์แขนงนี้ให้คงอยู่ โดยการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโนราให้แก่ผู้คนทั่วไป ทั้งยังได้ถ่ายทอดวิชาแก่ลูกศิษย์ลูกหามากมายอย่างทุ่มเททึงกายและใจมากเป็นระยะเวลายาวนานจนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ศิลปินท่านนี้คือ นายยก ชูบัว หรือที่เป็นที่รู้จักกันในยามของ “โนรายก”

โนรายกเกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๕ ที่บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ปัจจุบันอายุ ๗๘ ปี ท่านจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๖ จากโรงเรียนวัดทะเลน้อย ได้เริ่มหัดรำโนรากับโนราเลื่อน พงษ์ชนะมาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ และได้อยู่ร่วมคณะกับโนราเลื่อนจนถึงอายุ ๑๖ ปี จึงได้แยกตัวออกมาตั้งคณะของตนเอง โดยให้ชื่อว่า คณะ “โนรายก ทะเลน้อย” ออกแสดงโนราในเขตจังหวัดภูเก็ตและพังงา ยามที่ว่างจากงานแสดง ท่านก็ได้ไปฝึกรำบทกับโนราวัน ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเวลา ๖ เดือนจนชำนาญ จากนั้นจึงได้อุปสมบทอยู่หนึ่งพรรษา เมื่อลาสิกขาบทแล้ว ก็ได้เข้ารับราชการตำรวจอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองพัทลุงเป็นเวลา ๒ ปี จึงลาออกจากราชการ มารำโนราเป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว และย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลามาจนปัจจุบันนี้

โนรายกมีความสามารถรอบตัวทั้งด้านการรำ การร้องกลอน และบทตลก จึงมีผู้ว่าจ้างให้นำคณะโนราไปแสดงในที่ต่างๆ ทั้ง ๑๔ จังหวัดภาคใต้อย่างสม่ำเสมอ ทำให้ได้มีโอกาสประชันกับโนราที่มีชื่อเสียงท่านอื่นๆ โดยตลอด ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มเติมประสบการณ์ที่ดีที่สุด

โนรายกได้เคยรำโนราในงานสำคัญๆ เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรำถวายหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระศรีนครนิทราบรมราชชนนี เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกาะอาดัง และรำเผยแพร่ทางวัฒนธรรมในระดับชาติอีกหลายครั้ง นอกจากนั้นยังได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ผู้ที่มาขอฝากตัวเป็นศิษย์ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้รับเชิญให้เป็นครูสอนโนราแก่นักเรียน นักศึกษา ของสถาบันต่างๆ หลายแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งท่านได้ปั้นลูกศิษย์ขึ้นคณะหนึ่งที่สามารถรวมตัวเป็นคณะโนราที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

จุดเด่นที่ทำให้โนรายกเป็นที่ยอมรับนับถือและยกย่องในระดับชาตินั้นนอกเหนือจากความสามารถพื้นฐานอันครบเครื่องดังที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มักจะสอดแทรกการส่งเสริมศีลธรรมในบทร้องอยู่เสมอ มีไหวพริบปฏิภาณเป็นเลิศ สามารถร้องกลอนสดได้อย่างทันทีทันควันไม่มีติดขัด แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี ทั้งยังรุ่มรวบมุขตลอดอย่างหาตัวจับได้ยาก มีความสนใจในความเป็นไปของสังคมอยู่เสมอทำให้เป็นผู้ที่ทันสมัยตลอดเวลา และมีความคิดสร้างสรรค์เป็นเยี่ยม ในด้านการให้ความรู้แก่ศิษย์นั้น ท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นครูที่มีศิลปะในการถ่ายทอดเป็นพิเศษ มีจิตวิทยาในการสอนและมีความอดทนสูง และที่สำคัญที่สุดคือเป็นผู้ที่ไม่หวงวิชาความรู้ ตรงกันข้าม ท่านจะมีความสุขมากและทุ่มเทอย่างเต็มที่หากเห็นศิษย์คนไหนเอาจริงเอาจัง ทำให้เป็นครูผู้ที่ได้รับความเคารพรักเป็นอย่างสูงจากบรรดาศิษย์ทั้งหลาย

โนรายก ชูบัว ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ขณะที่ท่านอายุ ๖๕ ปี

จักรกฤษณ์และผมเดินทางไปถึงอำเภอระโนดจังหวัดสงขลาเมื่อเย็นวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๓ หลังจากที่เสร็จภารกิจการถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติ ๒ ท่านคือนายจูเลี่ยม กิ่งทอง และนายสร้อยดำแจ่มที่จังหวัดสุราษร์ธานี และนครศรีธรรมราชตามลำดับ นับเป็นครั้งแรกที่ผมถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติ ๓ ท่านในวันเดียวกัน อันที่จริง ตามกำหนดเวลาที่ผมวางไว้ในวันนั้น ผมตั้งใจจะถ่ายเพียง ๒ ท่านแรก แต่เนื่องจากมีเวลาพอเพียง ประกอบกับเส้นทางการเดินทางที่เราใช้ ต้องผ่านอำเภอระโนดอยู่พอดีผมจึงได้โทรศัพท์ไปเรียนโนรายกว่าท่านจะขัดข้องหรือไม่ หากผมจะขอเลื่อนนัดเร็วขึ้นหนึ่งงันจากกำหนดเดิม ซึ่งท่านก็ยินดี

เมื่อไปถึงผมก็ได้สนทนากับท่านอยู่ครู่หนึ่งก่อนที่จะลงมือถ่ายภาพท่านในครั้งนี้ ผมได้ขอความกรุณาให้ท่านแต่งชุดโนราและแต่งหน้า โดยท่านลงมือแต่งหน้าด้วยตนเองอย่างคล่องแคล่ว ผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะถ่ายใน ๒ ลักษณะ โดยลักษณะแรกเป็นภาพท่านกำลังรำโนรา โดยใช้ฉากกระดาษสีขาวเป็นฉากหลัง และจัดแสงในลักษณะเล่นเงา ส่วนอีกลักษณะหนึ่งก็คือภาพที่ผมเลือกมาลงนี่แหละครับ ภาพลักษณะแรกที่กล่าวตอนต้น เป็นการถ่ายแบบตรงไปตรงมา ไม่มีเทคนิคซับซ้อนนอกจากการจัดแสงจากมุมต่ำ เพื่อให้เกิดเงาทอดย้อนขึ้นไปบนฉาก ส่วนรูปที่เลือกมาลงนี้ มีเทคนิคง่ายๆ ที่ผมใช้ช่วยให้ภาพเกิดความน่าสนใจขึ้น ท่านจะเห็นได้ว่าภาพนี้ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ ๒ ส่วน คือส่วนที่เป็นโนรายกในลักษณะไม่สวมเสื้อ และไม่แต่งหน้าเพื่อแสดงความเป็นตัวท่านแท้ๆ อีกส่วนหนึ่งคือภาพของท่านเช่นกัน แต่แต่งตัวในชุดโบรายกครบเครื่อง

ผมได้ถ่ายภาพทั้ง ๒ ส่วนแยกกันทีละภาพ กะประมาณตำแหน่งที่ผมต้องการเอาไว้โดยใช้ฉากกำมะหยี่สีดำเป็นฉากหลัง ภาพที่เป็นใบหน้าชัดเจนของท่านนั้น ผมถ่ายให้ชัดตามปกติ แต่ภาพที่ท่านแต่งชุดโนรานั้น ผมจงใจปรับภาพไม่ให้คมชัด เมื่อล้างฟีล์มเรียบร้อยแล้ว ผมได้นำฟีล์มทั้ง ๒ มาซ้อนประกบกัน ยึดให้ติดกันด้วยเทปกาว แล้วนำไปใส่เครื่องขยายภาพ จึงได้ภาพที่เห็นนี่แหละครับ

ที่ผมเลือกใช้เทคนิคนี้ เนื่องจากต้องการให้ภาพที่ถ่ายมีหลายๆ แนวแปลกออกไปจากเดิมบ้าง เพราะการถ่ายภาพศิลปินนับร้อยท่านนั้น หากเป็นแนวเดียวกันเสียหมดก็จะดูน่าเบื่อ ภาพนี้แสดงถึงแนวความคิดง่ายๆ คืออาภรณ์ใดๆ ที่ประดับร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่สมมติขึ้นไม่ใช่ของถาวรหรือจิรังยั่งยืน เมื่อเลิกราการแสดงแต่ละครั้งก็ต้องปลดเปลื้องออกไป แต่เนื้อแท้ของคุณค่า อยู่ที่ภูมิปัญญาความสามารถ และคุณงามความดีต่างหาก แม้จะไม่มีเครื่องปรุงแต่งเหล่านั้นก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าลดลงไปแต่อย่างใด คนดูทั่วไปที่เคยเห็นท่านแสดง อาจคุ้นหน้าท่านในเครื่องโนราแต่ผมต้องการให้ภาพของผมแสดงใบหน้าที่แท้จริงของท่านมากกว่า

อันป่าใหญ่ที่เต็มไปด้วยสิงห์สาราสัตว์นาพันธุ์นั้น นานๆ ทีจึงจะหาช้างเผือกได้สักเชือกหนึ่งฉันใด ในจำนวนผู้คนนับล้านของเมืองได้ จะหาโนราฝีมือเลิศเช่นโนรายก ชูบัว ท่านนี้ได้สักคนหนึ่งก็แสนจะยากเย็นฉันนั้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.