นายอิ่ม จิตภักดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๐
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
ท่านที่เคยชมการแสดงหนังตะลุงหรือพอจะมีความรู้เกี่ยวกับหนังตะลุงอยู่บ้าง คงจะต้องรู้จักตัวตลกที่ชื่อ “ไอ้เท่ง” เป็นแน่ เพราะนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของหนังตะลุงแล้ว “ไอ้เท่ง” ยังเป็นตัวตลกอมตะประจำคณะหนังตะลุงทุกคณะที่ได้สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวใต้มาเป็นเวลายาวนานอีกด้วย ในฉบับนี้ผมได้นำภาพถ่ายของนายหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและโดดเด่นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงบทไอ้เท่ง จนได้รับฉายาว่า “หนังอิ่มเท่ง” มาให้ชมกัน และนำเรื่องราวของท่านมาเล่าสู่กันฟังอีกด้วยครับ
หนังอิ่ม จิตภักดี หรือ “หนังอิ่มเท่ง” เกิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๔ ที่จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ท่านมีความสนใจหนังตะลุงอย่างจริงจังมาตั้งแต่อายุเพียง ๑๒ ปี โดยได้เฝ้าติดตามดูและจดจำเทคนิคการแสดงหนังตะลุงของคณะต่างๆ ด้วยความใฝ่ฝันที่จะเป็นนายหนังตะลุงให้ได้
ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยหนุ่ม หนังอิ่มได้พยายามฝึกฝนการเล่นหนังตะลุงด้วยตนเอง โดยอาศัยวิธีครูพักลักจำ จนสามารถเล่นได้ ครั้นอายุได้ประมาณ ๒๗ ปี ก็ได้ไปขอสมัครเป็นศิษย์ของนายหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งนามว่าหนังหม้ง แห่งบ้านชะรัด กงหรา จังหวัดพัทลุง ซึ่งหนังหม้งก็ได้มองเห็นความตั้งใจแน่วแน่ของหนังอิ่ม จึงได้รับไว้เป็นศิษย์ และได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้อย่างเต็มที่ ทั้งยังได้ครอบครูให้ด้วย และในที่สุด ความฝันของหนังอิ่มที่จะเป็นนายหนังตะลุงก็ได้กลายเป็นความจริงสมดังปรารถนา จากนั้น ท่านก็ได้เริ่มออกเล่นหนังตะลุงเป็นอาชีพ และได้แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ของคนดู จนมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
หนังอิ่มมีความสามารถทางด้านการแสดงหนังตะลุงได้เป็นเลิศในทุกบทบาท แต่บทที่ท่านเล่นได้ดีเด่นเป็นพิเศษจนเป็นที่ติดใจของผู้ชมทั่วไปก็คือบท “ไอ้เท่ง” ตวตลกอมตะของหนังตะลุงจนได้รับการขนานนามจากพระครูวัดนาเกตุผู้ซึ่งติดใจในการแสดงบทดังกล่าวของหนังอิ่มว่า “หนังอิ่มเท่ง” จนเป็นนามที่ติดปากของคนทั่วไปแต่นั้นมา
เรื่องราวและเนื้อหาสาระที่หนังอิ่มเท่งนำมาใช้ในการแสดงหนังตะลุงมีทั้งเรื่องที่ท่านแต่งเอง เรื่องที่ผู้อื่นแต่ง และเรื่องที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงของท่านเอง ทั้งนี้ ท่านยังคงรักษาแนวทางการแสดงตามแบบฉบับดั้งเดิมของหังตะลุงรุ่นเก่าเอาไว้ได้เป็นอย่างดีเรื่องที่เล่นมักแนวจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องเกี่ยวกับนรก สวรรค์ และชาดกทางพระพุทธศาสนาที่สอดแทรกคติธรรมและคำสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน ไม่น่าเบื่อ และมีกลเม็ดในการนำตัวตลกต่างๆ มาเป็นตัวช่วยปรุงแต่งให้เรื่องราวที่นำเสนอน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้นำเอาเรื่องราวเด่นๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นๆ มาด้นกลอนสดพลิกแพลงให้สอดคล้องเข้ากับเหตุการณ์และผูกให้เข้ากับโครงเรื่องหลักที่เล่นอยู่ได้อย่างดีเยี่ยม
นับตั้งแต่ปี ๒๔๙๖ เป็นต้นมา ชื่อเสียงของหนังอิ่มเท่งก็ขจรขจายไปทั่วภาคใต้ และเลยไปถึงประเทศมาเลเซียด้วย ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีจากนั้นมาท่านก็มีงานแสดงอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทั้งยังได้เข้าแข่งขันประชันหนังตะลุงกับคณะอื่นๆ นับพันครั้ง คู่แข่งที่สำคัญได้แก่ หนังประทิ่น บัวทอง หนัง
เดี้ยม ตรัง หนังจู่ลี้ ตรัง หนังเชย เชี่ยวชาญ หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ หนังพร้อม อัศวิน หนังเคล้าน้อย และ หนังปรีชา สงวนศิลป์ เป็นต้น ท่านเคยได้รับรางวัลจาการแสดงหนังตะลุงหลายครั้ง ได้แก่รางวัล กลองทองคำ เสื้อสามารถ ถ้วยเกียรติยศ ฯลฯ และได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่น สาขาศิลปะการแสดง หนังตะลุง จากสมาพันธ์หนังตะลุงจังหวัดสงขลาเมื่อปี ๒๕๔๐ อีกด้วย ส่วนผลงานด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมนั้น ท่านได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์จนเป็นนายหนังตะลุงผู้มีความสามารถหลายคน
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ตระหนักถึงความสามารถและผลงานของหนังอิ่ม จิตภักดี หรือหนังอิ่มเท่ง ยอดนายหนังตะลุงแห่งภาคใต้ผู้ซึ่งได้เพียรพยายามฝึกฝนวิชาหนังตะลุงจนมีความสามารถในระดับแนวหน้าทั้งยังได้เป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการสืบสานศิลปะการแสดงแขนงนี้เอาไว้ให้คงอยู่ตราบจนทุกวันนี้จึงได้ประกาศยกย่องให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐
หนังอิ่มเท่ง เป็นศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่ง ที่ผมได้ไปถ่ายภาพเมื่อคราวที่เดินทางล่องใต้เพื่อถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว และเนื่องจากขณะที่ผมไปพบท่านนั้น ไม่ใช่ช่วงที่ท่านกำลังเปิดการแสดงอยู่ ผมจึงได้แต่เพียงถ่ายภาพท่านโดยปราศจากบรรยากาศของโรงหนังตะลุง เช่นเดียวกันกับเมื่อคราวที่ถ่ายภาพหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์
ดังที่ผมได้เล่าเอาไว้แล้วในตอนต้นว่าฉายา “หนังอิ่มเท่ง” ของท่านนั้น ได้มาจากการที่ท่านมักใช้ตัวตลกที่ชื่อ “ไอ้เท่ง” เป็นตัวดำเนินเรื่องได้อย่างดีเยี่ยมจนเป็นที่ชอบอกชอบใจของคนดูและกลายมาเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของท่านในที่สุด ผมจึงได้จับเอาจุดนี้มาเป็นแนวทางสำคัญในการถ่ายภาพครั้งนี้ โดยผมได้กำหนดล่วงหน้าว่าจะถ่ายภาพหนังอิ่มเท่งด้วยการเน้นให้เห็นสีหน้าที่ร่าเริงแจ่มใสเพื่อจะเอามาประกอบเข้ากับภาพไอ้เท่งกับสหายตัวตลกอื่นๆ ที่จะหามาถ่ายภาพในสตูดิโอภายหลัง ในครั้งนั้น ผมได้ภาพหนังอิ่มเท่งในอิริยาบถต่างๆ ไว้เผื่อเลือกพอสมควร ต่อมา เมื่อผมได้ตัวไอ้เท่งตัวจริงมาจากทางใต้พร้อมพลพรรคอันประกอบด้วยไอ้ทอง และหนูนุ้ยแล้ว จึงได้ตั้งโรงหนังตะลุงจำเป็นในสตูดิโอถ่ายภาพของผม โดยขึงผ้าขาวเข้ากับกรอบรูปขนาดใหญ่ แล้วจัดวางตัวหนังและจัดแสงเลียนแบบการเล่นหนังตะลุงจริงๆ โดยกะตำแหน่งเผื่อที่ว่างไว้สำหรับที่จะซ้อนภาพหนังอิ่มเท่งภายหลัง เมื่อจัดได้ตามที่ต้องการแล้ว ผมก็ได้ถ่ายภาพดังกล่าวไว้ แล้วนำฟิล์มไปล้างตามกระบวนการ เมื่อเสร็จแล้ว ผมก็ได้นำภาพหนังอิ่มเท่งทีถ่ายไว้โดยใช้ฉากสีขาวอัดลงบนกระดาษอัดรูปครั้งหนึ่งก่อน แล้วเปลี่ยนเอาฟิล์มหนังตะลุงที่ถ่ายภายหลัง อัดซ้อนลงไปบนกระดาษแผ่นเดียวกันในตำแหน่งที่เหมาะสม และนำกระดาษนั้นไปล้างในน้ำยาก็เป็นอันเสร็จพิธี (อันที่จริงเทคนิคดังกล่าวเป็นเทคนิคโบราณ ซึ่งในยุคคอมพิวเตอร์นี้ แทบจะไม่มีใครทำอีกแล้ว แต่เนื่องจากผมเติบโตและเรียนหนังสือมาในช่วงที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์อันทันสมัยเหมือนยุคนี้ให้ใช้ จึงยังแต่งภาพด้วยคอมพิวเตอร์ไม่เป็น แต่ในขณะนี้ก็พยายามเร่งศึกษาอยู่ครับเผื่อจะเอามาใช้เพิ่มความหล่อให้ตัวเองบ้าง)
แม้ว่าทุกวันนี้ หนังอิ่มเท่งจะมีอายุถึง ๘๐ ปี และไม่ได้แสดงหนังตะลุงอย่างสม่ำเสมอเหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ท่านก็ยังคงเป็นนายหนังตะลุงที่ยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนในภาคใต้อย่างไม่เสื่อมคลาย และเมื่อใดก็ตามที่เห็นไอ้เท่งโลดแล่นอยู่บนจอหนังตะลุง ก็คงจะมีผู้ชมจำนวนไม่น้อยนึกถึงหนังอิ่มเท่ง ศิลปินในดวงใจของพวกเขาผู้เคยทำให้ตัวหนังฉลุสีดำๆ ตัวนั้นวาดลีลาราวกับมีชีวิตและจิตใจจริงๆ เป็นแน่
ขอขอบคุณ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ