ชาย เมืองสิงห์

ชาย เมืองสิงห์ – สมเศียร พานทอง

นายสมเศียร พานทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๓๘
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

“สมเศียร พานทอง เป็นใคร ชื่อไม่คุ้นหูเลย” หลายท่านอาจคิดเช่นนี้เมื่อได้เห็นเพียงชื่อของศิลปินแห่งชาติประจำฉบับนี้ แต่หากผมบอกว่าท่านเป็นคนๆ เดียวกันกับนักร้อง นักแต่งเพลงลูกทุ่งยอดนิยม “ชาย เมืองสิงห์” แล้ว ท่านผู้อ่านทุกท่านคงถึงบางอ้อ และที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ก็คือประวัติความเป็นมาของยอดนักร้องและนักแต่งเพลงคนสำคัญในประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งไทยท่านนี้ครับ

คุณชาย เมืองสิงห์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๘๒ ที่จังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี เริ่มต้นเรียนหนังสือจนจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดหัวว่าว และจบการศึกษาชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนสิงหะวัฒนพาหะ จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อปี ๒๔๙๙

ด้วยความที่มีใจรักในทางศิลปะ ภายหลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว คุณชายจึงเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง นอกจากชอบศิลปะเป็นชีวิตจิตใจแล้ว ท่านยังเป็นคนที่ร่าเริงและรักเสียงเพลงเป็นที่สุด และมักจะอาศัยการร้องเพลงเป็นเครื่องแก้ความเหงาและความเครียดอยู่เสมอ แม้ในยามขัดสนเนื่องจากทางบ้านส่งเงินมาช้า ท่านก็ได้เคยไปรับจ้างร้องเพลงเชียร์รำวงหาเงินพอประทังชีวิตไปได้

แต่เมื่อเรียนที่เพาะช่างไปได้เพียง ๔ ปี ยังไม่ทันจบการศึกษา ก็จำใจต้องลาออกกลางคัน เนื่องจากทางบ้านประสบปัญหานาล่มไม่สามารถส่งเสียต่อไปได้ เมื่อเกิดความผกผันในชีวิตเช่นนั้น คุณชายจึงต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง โดยการออกหางานสุจริตทำ ชนิดหนักเอาเบาสู้ ตั้งแต่รับจ้างตากผักสำหรับทำผักกาดกระป๋อง หรือแม้กระทั่งเป็นกรรมกรตอกเสาเข็ม และต่อมาก็ได้งานรับจ้างเขียนป้าย วาดรูป แกะสลักต่างๆ ตามความถนัดที่ได้ร่ำเรียนมา

ครั้งหนึ่งท่านได้ไปทำงานเขียนป้ายและคัทเอ๊าท์ต่างๆ ที่โรงหนังศรีตลาดพลู จึงได้รู้จักกับ คุณอารมณ์ คงกะพัน ผู้กว้างขวางที่ขายของอยู่ในบริเวณนั้น คุณอารมณ์ได้แสดงน้ำใจให้ความช่วยเหลือเกื้อหนุนคุณชายมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นผู้ที่เห็นความสามารถทางด้านการร้องเพลงของคุณชายจึงได้พาไปหางานร้องเพลงเชียร์รำวงในที่ต่างๆ และส่งเสริมให้ไปประกวดร้องเพลงชิงรางวัลต่างๆ อยู่เสมอ

ต่อมาในช่วงประมาณปี ๒๕๐๔ วิถีชีวิตได้ชักพาให้คุณชายมีโอกาสพบกับ ครูมงคล อมาตยกุล หัวหน้าวงจุฬารัตน์ ซึ่งเป็นวงดนตรีลูกทุ่งที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น จึงได้ขอสมัครเข้าเป็นนักร้องประจำวง ซึ่งในตอนแรก ครูมงคลยังไม่ยอมรับ แต่เกี่ยงว่าถ้าอยากเป็นนักร้องของวงจุฬารัตน์ ก็ให้ไปลองแหล่ตอบโต้สดๆ กับ คุณพร ภิรมย์ นักร้องลูกทุ่งแถวหน้าของประเทศในขณะนั้น โดยออกอากาศสดๆ ซึ่งคุณชายก็ได้พิสูจน์ความสามารถด้วยลีลาและน้ำเสียงอันแปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร จนครูมงคลยอมรับเข้าวงในที่สุด และตั้งชื่อสำหรับใช้ในการเป็นนักร้องให้ว่า “ชาย เมืองสิงห์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยความที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านน้ำเสียงและลีลาอันแหวกแนว มีลูกบ้ามากกว่านักร้องคนอื่นๆ และมีความสามารถเฉพาะตัวในการแสดงหน้าเวทีเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ในเวลานั้น กอปรกับได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากครูมงคล และครูเพลงท่านอื่นๆ ให้ได้มีโอกาสร้องเพลงอัดแผ่นเสียงเผยแพร่ และออกแสดงตามงานต่างๆ ไม่ว่างเว้น คุณชาย เมืองสิงห์ จึงมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีแฟนเพลงลูกทุ่งคลั่งไคล้นิยมชมชอบคอยติดตามผลงานอยู่ทั่วประเทศ และด้วยหน้าตาที่หล่อเหลา จึงมีคนตั้งฉายาให้ว่า “อเลน เดอลองก์ ออฟ ไทยแลนด์” และ “แมน ซิตี้ ไลออน” อันแปลตรงตัวมาจากชื่อ ชาย เมืองสิงห์ นั่นเอง

นอกจากความสามารถในด้านการร้องเพลง และลีลาการแสดงแล้ว คุณชาย เมืองสิงห์ ยังเป็นผู้ที่มี

อัจฉริยภาพในด้านการแต่งเพลงทั้งเนื้อร้อง และทำนองเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้แต่งเพลงเอาไว้ไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ เพลง ในจำนวนนี้มีทั้งที่แต่งเองร้องเอง รวมทั้งแต่งให้นักร้องคนอื่นร้องจนมีชื่อเสียงไปหลายคน เพลงที่ท่านแต่งนับเป็นสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการเพลงลูกทุ่งขณะนั้น ทำให้ติดอันดับยอดนิยมมากมายหลายเพลง ได้แก่ เพลงชมสวน พ่อลูกอ่อน เสน่ห์นางไพร ลูกสาวใครหนอ มาลัยดอกรัก แก่นแก้ว หยิกแกมหยอก พระรถเมรี มนต์เมืองสิงห์ สิบห้าหยกๆ เรือล่มในหนอง แม่ขนตางอน จุ๋มจิ๋ม เมียพี่มีชู้ กอดแก้กลุ้ม มันยกร่อง จ่ำม่ำ ฯลฯ

คุณชาย เมืองสิงห์ ได้อยู่ร่วมงานในฐานะนักร้องนำของวงดนตรีจุฬารัตน์เป็นเวลากว่า ๕ ปี กระทั่งถึงปี ๒๕๑๐ จึงได้ลาออกมารับรับเชิญร้องเพลงตามงานทั่วๆ ไป ต่อมาในปี ๒๕๑๑ จึงได้จัดตั้งวงดนตรีเล็กๆ ขึ้น โดยตั้งชื่อว่า “วงหลังเขาประยุกต์” จากนั้นไม่นาน ก็ได้ขยายวงขึ้นเป็นวงดนตรีขนาดมาตรฐาน และเปลี่ยนชื่อวงเป็น “วงจุฬาทิพย์” เพื่อเป็นการรำลึกถึงวงจุฬารัตน์ที่เคยได้สร้างท่านมาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง ในช่วงนั้น ท่านได้ปกครองดูแลลูกน้องเป็นอย่างดี และได้สร้างนักร้อง นักเต้น โฆษก ดาวตลก และนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายคน อาทิ หนุ่ม เมืองไพร ระพิน ภูไท ดาวไทย ยืนยง ดี๋ ดอกมะดัน ดู๋ ดอกกระโดน สีหนุ่ม เชิญยิ้ม เพชร โพธิ์ทอง ถนอม จันทร์เกตุ และ โชคดี พักภู่ ฯลฯ

วงดนตรีจุฬาทิพย์เจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณ ๑๐ ปี ก็มีอันต้องเลิกวงไป เนื่องจากมรสุมชีวิตในด้านต่างๆ ได้โหมกระหน่ำเข้าสู่คุณชาย เมืองสิงห์ นับตั้งแต่บิดา และมารดา ผู้เป็นเสมือนหลักชัยในชีวิต ถึงแก่กรรมลงในเวลาที่ห่างกันไม่นาน ทั้งยังมีปัญหาครอบครัวและเรื่องทุกข์ร้อนใจอีกมาก ทำให้ท่านขาดกำลังใจในการทำงาน จากนั้น ชื่อ “ชาย เมืองสิงห์” ก็ค่อยๆ ห่างหายจากวงการเพลงลูกทุ่งไปเรื่อยๆ ไม่มีงานอัดแผ่นเสียงอีก จะมีก็แต่งานร้องเพลงรับเชิญเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สามารถปฏิเสธเจ้าภาพได้เท่านั้น แล้วท่านก็หันไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกร ทำไร่นาสวนผสมอยู่ประมาณ ๑๐ ปี จนกลายเป็นเกษตรกรดีเด่นของจังหวัดสิงห์บุรี

แต่แล้วในที่สุด คุณชาย เมืองสิงห์ ก็กลับมาผงาดอยู่ในยุทธจักรเพลงลูกทุ่งอย่างสง่างามได้อีกครั้งอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด กล่าวคือเมื่อมีการจัดงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ ๑ ขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๒ ท่านได้รับรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง ๔ รางวัล ในการกลับมาครั้งนี้ ท่านได้นำผลงานเพลงเก่าๆ และที่แต่งขึ้นมาใหม่ออกเผยแพร่สู่ตลาดเพลงมากมาย ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับจากแฟนเพลงอย่างอบอุ่นไม่เปลี่ยนแปลง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า คุณชาย เมืองสิงห์ เป็นศิลปินเพลงที่มีอัจฉริยภาพรอบด้าน ทั้งการขับร้องและประพันธ์เพลง ท่านจึงได้รับรางวัลสำคัญระดับชาติมากมาย ได้แก่

– โล่รางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๑ เมื่อปี ๒๕๓๒ จากการแต่งเอง ร้องเอง จากเพลงพ่อลูกอ่อน และ ทำบุญร่วมชาติ รวม ๔ รางวัล

– โล่รางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๓๔ จากการแต่งเอง ร้องเอง จากเพลงลูกสาวใครหนอ ซึ่งแต่งเอง ร้องเอง เช่นกัน รวม ๒ รางวัล

– รางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในฐานะนักร้องและนักแต่งเพลงผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน เมื่อปี ๒๕๓๔

– ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม (สาขาศิลปะ และการช่างฝีมือ) ประจำภาคกลางตอนบน เมื่อปี ๒๕๓๕

– รางวัลเกียรติคุณพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษสืบสานคุณค่าวัฒนธรรมไทย ภาคพิเศษ เมื่อปี ๒๕๓๗ จากเพลงทุกข์ร้อยแปด

ฯลฯ

นอกจากการสร้างความบันเทิงให้แฟนเพลงมาเป็นเวลายาวนานแล้ว คุณชาย เมืองสิงห์ ยังเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการอนุรักษ์เพลงลูกทุ่งไทย ตลอดจนใช้ความสามารถของท่านทำงานช่วยเหลือสังคมส่วนรวมมาโดยตลอด ท่านจึงได้รับการพิจารณายกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้อง-นักแต่งเพลง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘

ผมไปเยี่ยม คุณชาย เมืองสิงห์ ที่บ้านในซอยวัดเชิงหวายย่านบางซื่อ เพื่อถ่ายภาพในฐานะศิลปินแห่งชาติ โดยก่อนที่จะไปถึงนั้น ยังคิดไม่ออกว่าจะถ่ายภาพท่านในแนวทางอย่างไร แต่เมื่อผมได้ไปถึงบ้านท่าน ก็ได้สะดุดตากับภาพถ่ายเก่า สมัยที่ท่านยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยวอยู่ภาพหนึ่ง การวางท่าในภาพนั้นก็เป็นแบบโบราณที่นิยมทำกันในยุคหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว ผมก็เกิดความคิดว่าจะถ่ายภาพท่านโดยเลียนแบบท่าทางในภาพเก่านั้น ผมได้ถ่ายภาพ คุณชาย เมืองสิงห์ ในลักษณะดังกล่าว และในท่าทางอื่นๆ อีกหลายภาพจนเป็นที่พอใจ แล้วอยู่สนทนากับท่านอีกครู่หนึ่งจึงได้ลากลับ

แน่นอนว่าเมื่อเวลาที่ถ่ายภาพคุณชาย เมืองสิงห์ทั้ง ๒ ภาพ ต่างกันเกือบ ๔๐ ปี จากวัยยี่สิบต้นๆ ในภาพเดิม สู่วัย ๖๐ ต้นๆ ในภาพใหม่ ความเปลี่ยนแปลงในภาพย่อมต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่งไปกว่าเรื่องของรูปธรรมหว่างภาพทั้ง ๒ ก็คือ ในภาพเก่านั้น ท่านยังคงเป็นนักร้องหนุ่มน้อย รูปหล่อ เสียงดี มีอนาคตไกล ส่วนในภาพใหม่ แม้จะไม่หล่อเหลาเท่าเดิม แต่ท่านก็เป็นถึงศิลปินแห่งชาติผู้เป็นที่ยอมรับและชื่นชมของคนทั้งประเทศ

ขอขอบคุณ

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล

บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ

คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.