นายชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๔๑
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
หากท่านผู้อ่านได้ติดตามอ่านคอลัมน์นี้มาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเห็นได้ว่ามีศิลปินเพลงลูกทุ่งหลายท่าน ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ให้ความสำคัญกับศิลปะการแสดง ซึ่งได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความบันเทิงให้คนไทยมาเป็นเวลายาวนานแขนงนี้เป็นอย่างยิ่ง
ในฉบับนี้ ผมขอนำภาพและประวัติความเป็นมาของ ครูชัยชนะ บุญนะโชติ นักร้องและนักแต่งเพลงลูกทุ่งชั้นครูอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศมาเป็นเวลายาวนานแล้ว แต่อาจมีเกร็ดประวัติบางส่วนของท่านที่น่าสนใจ แต่คนทั่วไปยังไม่เคยทราบมาเล่าสู่กันฟังครับ
ครูชัยชนะ บุญนะโชติ เกิดเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๕ ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันอายุ ๕๙ ปี ได้รับการศึกษาในเบื้องต้นที่โรงเรียนประชาบาลวัดสามร่ม จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ก็จำต้องเลิกเรียนด้วยเหตุที่ทางบ้านยากจน ไม่สามารถส่งเสียให้เรียนต่อไปได้
ครูชัยชนะมีนิสัยชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ จึงได้อาศัยพรสวรรค์ทางด้านนี้ออกร้องเพลงตามงานบวชและงานแต่งงาน ซึ่งก็มักจะได้รับรางวัลเป็นสินน้ำใจตอบแทนจากเจ้าภาพที่พออกพอใจในเสียงเพลงของท่านเสมอ ครั้งหนึ่ง ท่านได้มีโอกาสไปร้องเพลงที่ร้านเกษตร ซึ่งได้ไปออกร้านขายอาหารในงานประจำปีของวัดโสธร ฉะเชิงเทรา ปรากฏว่าได้สร้างความพอใจให้คนดูเป็นอย่างยิ่ง และในจังหวะนั้นเอง คุณบุญยง สาคลียะ เจ้า
ของวงดนตรี “ลูกทุ่งตะวันออก” ซึ่งได้นำคณะมาแสดงดนตรีอยู่ในงานนั้นด้วย ได้มายืนฟังครูชัยชนะร้องเพลง ก็เกิดความพอใจว่าเสียงดี จึงได้ชักชวนให้เป็นนักร้องร่วมวง ครูชัยชนะจึงตอบตกลง ซึ่งจุดนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักร้องอาชีพของท่านอย่างแท้จริง
ครูชัยชนะ บุญนะโชติ ได้ติดตามวงดนตรีลูกทุ่งตะวันออก ได้ออกตระเวนแสดงดนตรีไปทั่วภาคตะวันออก เพลงที่ท่านร้องในช่วงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเพลงในแนวของ คุณคำรณ สัมปุณณานนท์ จนชาวบ้านพากันติดใจและขนานนามให้ท่านว่า “คำรณน้อย”
ต่อมาประมาณช่วงปี ๒๕๐๑ วงดนตรีลูกทุ่งตะวันออก ได้เข้าประกวดวงดนตรีลูกทุ่งที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ในวันนั้น ครูชัยชนะเป็นผู้ร้องเพลงในแนวชีวิตของ คุณคำรณ สัมปุณณานนท์ ตามแนวที่ถนัด คุณเตียง โอศิริ ผู้จัดการฝ่ายขายแผ่นเสียงของห้างกมลสุโกศล ซึ่งได้ชมรายการนั้นอยู่ด้วยก็ติดใจในน้ำเสียงของครูชัยชนะ และต่อมาไม่นาน เมื่อครูพยงค์ มุกดา ได้แต่งเพลง “ของเขาไม่เอา ของเราไม่ให้” มาเสนอขยาย คุณเตียงจึงนึกถึงครูชัยชนะขึ้นมาและได้ชักชวนให้มาร้องเพลงนี้บันทึกแผ่นเสียง นับเป็นการร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกของครูชัยชนะขณะที่ท่านอายุได้เพียง ๑๖ ปี หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็มีงานอัดแผ่นเสียงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาทิเพลง บางกอกน้อย แตงร่มใบ ล่องใต้ กระท่อมปลายนา ใจนางเหมือนทางรถ ดอกดินถวิลฟ้า ชายสามโบสถ์ ฯลฯ จากผลงานดังกล่าวนี้ ทำให้ท่านก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องลูกทุ่งชั้นนำที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
นอกจากความสามารถทางด้านการขับร้องเพลงแล้ว ครูชัยชนะ บุญนะโชติ ยังมีผลงานด้านการแต่งเพลงลูกทุ่งอีกมากมายหลายสิบเพลง ทั้งที่แต่งเพื่อร้องเอง และแต่งให้นักร้องคนอื่นร้อง อาทิเพลง “สามปีที่ไร้นาง” แต่งให้ คุณไวพจน์ เพชรสุพรรณ “ทุ่งร้างนางลืม” แต่งให้ คุณชินกร ไกรลาศ “มาลัยจากนักเพลง” แต่งให้คุณรุ่งเพชร แหลงสิงห์ และ “เมื่อฉันขาดเธอ” แต่งให้คุณ เพชร พนมรุ้ง เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังมีความสามารถในด้านการแหล่ทำขวัญนาค ลำตัด เพลงอีแซว และลิเกอีกด้วย
ด้วยความสามารถเป็นเอกในด้านเพลงลูกทุ่ง จึงมีผู้มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครูชัยชนะ บุญนะโชติ เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้น มีหลายท่านประสบความสำเร็จเป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ คุณไวพจน์ เพชรสุพรรณ คุณชัยณรงค์ บุญนะโชติ คุณเยี่ยม โยธะกา และ คุณแดน ดอนเจดีย์ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อ “ไวพจน์ เพชรสุพรรณ” นั้น ครูชัยชนะก็เป็นผู้ตั้งให้คุณไวพจน์ด้วย
ครูชัยชนะเคยได้รับรางวัลเกียรติคุณจากความสามารถของท่านหลายครั้งดังนี้
– ได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณ จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
– ได้รับพระราชทานเหรียญ ภ.ป.ร. ในงานสังคีตมงคล
– ได้รับพระราชทานโล่จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๑ จากเพลง แตงร่มใบ เมื่อปี ๒๕๓๒
– ได้รับพระราชทานโล่จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ ๒ จากเพลง ชายสามโบสถ์ เมื่อ ๒๕๓๔
– ได้รับเกียรติบัตรเนื่องในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งสืบสานวัฒนธรรมไทย จากเพลง บ้ากัญชา เมื่อปี ๒๕๓๗
จากเกียรติประวัติที่ได้กล่าวมา สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ ครูชัยชนะ บุญนะโชติ เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐
ผมได้นัดภาพครูชัยชนะ บุญนะโชติ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วยอาการที่เรียกกันตามภาษาวัยรุ่นว่า “หมดมุข” หรือหากจะอธิบายให้ท่านที่พ้นผ่านวัยรุ่นอย่างผมไปแล้วเข้าใจได้โดยง่ายก็คือการมาถึงทางตันที่จะค้นคิดหาความแปลกใหม่มาใช้ถ่ายภาพ เนื่องจากการที่ผมถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติมาแล้วเกือบๆ ร้อยบาท ด้วยมุมมองและแนวความคิดที่หลากหลาย พอมาถึงท่านหลังๆ ก็จะเริ่มคิดยากขึ้นจนกระทั่งคิดไม่ออกในที่สุด เพราะไม่ว่าจะคิดออกมาในแนวทางไหน ก็จะต้องซ้ำเดิมเข้าสักวันหนึ่งจนได้ ผมจึงคิดว่าวิธีการเลือกใช้ฉากถ่ายภาพอย่างหนึ่งที่สามารถใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แม้จะไม่น่าสนใจหวือหวา แต่ก็ไม่เคยเชย ก็คือการถ่ายภาพบุคคลด้วยฉากสีขาวเรียบๆ ธรรมดา ภาพในลักษณะนี้จะดึงดูดความสนใจของผู้ดูไปที่ใบหน้าของผู้ที่เป็นแบบเพียงอย่างเดียว (เพราะไม่มีอย่างอื่นจะให้ดู) อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้พยายามให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่นๆ อันจะช่วยส่งเสริมการเป็นนักร้องลูกทุ่งของท่านอันได้แก่เสื้อผ้าที่ท่านสวม เพราะมันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะมองเห็นในภาพ ในกรณีนี้ผมนึกถึงเสื้อลายดอกสีสันสดใส ซึ่งครูชัยชนะก็ได้นำเสื้อของท่านออกมาให้ผมเลือกหลายตัวจนกระทั่งพอใจ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ผมก็เริ่มถ่ายภาพท่านด้วยฉากกระดาษสีขาวที่เตรียมมาในแง่มุมต่างๆ ไว้เผื่อเลือกหลายภาพ และหลังจากที่เสร็จแล้ว ผมก็ขอถ่ายภาพท่านภายนอกบ้านที่มีฉากหลังเป็นต้นไม้ และที่ว่างที่มีต้นหญ้าสูงขึ้นปกคลุมอยู่ด้วยหวังว่าอาจจะได้ภาพที่ดูเป็นลูกทุ่งที่ดูดีสักภาพ แต่เมื่อภาพออกมาแล้ว ก็รู้สึกว่าภาพนั้นดูธรรมดาเกินไปจึงได้เลือกภาพที่ท่านอยู่นี้มาเป็นภาพหลักของฉบับนี้ครับ
การที่เพลงลูกทุ่งอยู่ยงคงกระพันคู่กับวิถีชีวิตของคนไทยทั้งประเทศมายาวนานกว่า ๖๐ ปีแล้วนั้น ก็ด้วยภูมิปัญญาและความสามารถของบรรดาศิลปินนักร้องและนักแต่งเพลงที่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถผูกใจผู้คนได้ทุกระดับ และหนึ่งในศิลปินผู้เป็นหลักสำคัญของวงการนี้ ก็คือครูชัยชนะ บุญนะโชติ ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ ท่านนี้แหละครับ
ขอขอบคุณ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ