นายเสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะการละคร) พุทธศักราช ๒๕๓๑
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนโขน ละคร ของกรมศิลปากร คงต้องคุ้นเคยกับชื่อเสียงเรียงนาม และผลงานด้านต่างๆ ของ อาจารย์เสรี หวังในธรรม เป็นอย่างดี เพราะท่านเป็นศิลปินคนสำคัญที่หากจะกล่าวว่าเป็นสัญลักษณ์ของโรงละครแห่งชาติ ก็ไม่เกินความจริงแต่อย่างใด แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จในวันนี้ ท่านก็ได้ผ่านวิถีแห่งชีวิตที่น่าสนใจมาไม่น้อย ดังที่จะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้ครับ
อาจารย์เสรี หวังในธรรม เกิดเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี ได้รับการศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนศรีจรุง จากนั้นก็ได้ไปศึกษาต่อชั้นประถมที่โรงเรียนปิยะวิทยา ชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนชิโนรส แล้วจึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร ตามลำดับ ณ ที่นั้น ท่านได้ศึกษาศิลปะการแสดงแขนงต่างๆ ทั้งดุริยางค์ไทยและสากล คีตศิลป์ไทย ศิลปะการแสดงละคร และโขน เป็นต้น เมื่อจบการศึกษา ในปี ๒๔๙๗ แล้ว ท่านได้เข้ารับราชการในแผนกดุริยางค์ไทย กองการสังคีต กรมศิลปากร จนกระทั่งถึงปี ๒๕๐๕ ท่านก็ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอีสต์เวสต์เซนเตอร์ มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๓ ปี จึงได้กลับมารับราชการต่อที่ต้นสังกัดเดิม
ตั้งแต่เริ่มต้นเข้ารับราชการจวบจนปัจจุบัน อาจารย์เสรี หวังในธรรม นับเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างสูงยิ่ง ทั้งในฐานะ นักแสดง นักประพันธ์ นักดนตรี นักร้อง นักพูด นักบรรยาย ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับการแสดง และนักบริหารที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนสร้างความบันเทิง และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย ให้เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่คนไทย และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ในด้านการแสดงนั้น ท่านศิลปินผู้มีความสามารถหลากแขนง และหลายบทบาท ทั้งบทพระ นาง ยักษ์ ลิง กษัตริย์ ฤษี พราหมณ์ ขุนนาง ตัวดี ตัวโกง ตัวตลก ฯลฯ จนเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้ชมและถือเป็นตัวชูโรงของละครกรมศิลปากรมาเป็นเวลายาวนาน บทบาทดีเด่นที่เป็นที่กล่าวขวัญของคนดูได้แก่ บท “พระมหาเถรกุโสดอ” ในละครเรื่องผู้ชนะสิบทิศ “เถรขวาด” ในเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน “ชูชก” ในเรื่อง พระเวสสันดร “ท้าวเสนากุฏ” ในเรื่อง สังข์ศิลปชัย “นางมณฑา” ในเรื่อง สังข์ทอง ตอน มณฑาลงกระท่อมหาเนื้อหาปลา ฯลฯ
ส่วนในด้านการประพันธ์ ท่านก็ได้แต่งบทโขน ละคร ลิเก เพลงไทยสากล บทอวยพร และบทเบ็ดเตล็ดอีกเป็นจำนวนมาก ดังจะขอหยิบยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้
บทโขน ได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์ทุกตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ และบทโขนที่แต่งจากเรื่องนารายณ์สิบปาง และบทโขนตามตำนานพื้นเมืองของจังหวัดลพบุรี เป็นต้น
บทละคร ได้แก่ บทละครใน ละครนอก ละครพันทาง ละครเสภา ละครพูด เรื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดเรื่องหนึ่ง ได้แก่ บทละครพันทาง เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ
บทลิเก ได้แก่ เรื่องจันทโครพ และพระหันอากาศ เป็นต้น
บทเพลงไทยสากล ได้แก่ เพลงรอยเบื้องยุคลบาท สถิตในหทัยราษฎร์ กล่อมพระขวัญเพื่อผู้มีดนตรีการ เราคือคนไทย สมเด็จพระมิ่งแม่ มหาวชิราลงกรณ์ สมเด็จพระปิยชาติ อิฐเก่าก้อนเดียว ฯลฯ
บทอวยพร ได้แก่ บทถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ในมงคลวโรกาสต่างๆ
นอกจากผลงานในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว อาจารย์เสรี หวังในธรรม ยังเป็นศิลปินที่มีความคิดริเริ่มดีเด่น และมี ‘ไฟ’ ในการทำงานที่โชติช่วงอยู่ตลอดเวลา โดยท่านได้ริเริ่มจัดทำรายการแสดงประเภทต่างๆ ที่ให้ทั้งสาระประโยชน์และความบันเทิง เช่น รายการชุด ดนตรีไทยพรรณนา ซึ่งเป็นรายการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยในแง่มุมต่างๆ รายการชุดนาฏยาภิธาน อันเป็นรายการที่ว่าด้วยเรื่องการแสดงละครแบบต่างๆ รายการชุดขับขานวรรณคดี อันว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับวรรณคดีต่างๆ ที่นำมาจัดทำเป็นบทนาฏกรรม ทั้งยังได้คิดริเริ่มจัดทำรายการ ศรีสุขนาฏกรรม ซึ่งเป็นรายการที่ประกอบการละเล่นต่างๆ เช่น โขน ละคร ลิเก ฟ้อน รำ ระบำ เซิ้ง ในรูปแบบสารพันบันเทิงจนเป็นรายการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง รวมทั้งรายการธรรมะบันเทิง ซึ่งเป็นรายการแสดงที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมะ และศีลธรรม อันล้วนแต่ยังประโยชน์แก่ส่วนรวมทั้งสิ้น
ในด้านการเป็นนักบริหารนั้น อาจารย์เสรี หวังในธรรม ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในตำแหน่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งผู้อำนวยการกองการสังคีตอยู่เป็นเวลานานปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าว ท่านได้บริหารราชการด้วยความสามารถจนงานในหน้าที่รุดหน้าไปเป็นอย่างดี สร้างชื่อเสียงให้แก่กรมศิลปากรเป็นอันมาก งานสำคัญในหน้าที่ที่รับผิดชอบดังกล่าว ได้แก่ การจัดการแสดงในวโรกาสและโอกาสสำคัญต่างๆ ของชาติ การนำคณะนาฏศิลป์ไทยไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในต่างประเทศหลายครั้ง และการจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ในการส่เงสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
จากเกียรติประวัติดังกล่าว ทำให้ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะการละคร) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑
ผมได้ยินชื่อเสียงและได้ชมผลงานการแสดงของอาจารย์เสรีมาตั้งแต่เด็กๆ และยังคงเห็นท่านออกแสดงในสื่อต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่หากจะถามว่าเมื่อพูดถึง อาจารย์เสรี หวังในธรรม แล้ว ผมจะนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก ก็คงต้องตอบว่าผมนึกถึงโรงละครแห่งชาติ เพราะที่นั่นเป็นที่ที่ผมเห็นอาจารย์เสรีเป็นครั้งแรก ขณะที่ท่านกำลังแสดงอยู่บนเวที ตั้งแต่ที่ผมยังเป็นนักเรียนชั้นประถมอยู่ แต่จะเป็นการแสดงเรื่องอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว และยิ่งเมื่อได้ศึกษาชีวิตและงานของท่าน ก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นอีกว่าชีวิตของท่านกับโรงละครแห่งชาตินั้น มีความผูกพันกันอย่างแยกไม่ออกทีเดียว ดังนั้น เมื่อจะต้องถ่ายภาพอาจารย์เสรีในฐานะศิลปินแห่งชาติในครั้งนี้ ผมจึงตั้งใจแน่วแน่ที่จะถ่ายภาพท่านภายในโรงละครแห่งชาติ โดยนึกวาดภาพในใจให้ท่านนั่งหรือยืนในโรงละคร และมีม่านลายเทพนมอันสวยงามวิจิตรบรรจงเป็นฉากหลัง ซึ่งผมมั่นใจว่าภาพดังกล่าวจะสามารถบอกเรื่องราวในตัวเองได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากผมไม่ได้เข้าไปในโรงละครแห่งชาติมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ไม่ทราบว่าม่านเวทีลายเทพนมเดิมนั้น ถูกเปลี่ยนด้วยม่านชุดใหม่เสียแล้ว ซึ่งผมเพิ่งจะมาทราบเพียง ๑ วันก่อนที่จะถึงวันนัดถ่ายภาพอาจารย์เสรีในครั้งนี้ ในวันนั้น ผมได้เข้าไปดูสถานที่ภายในโรงละครแห่งชาติเพื่อเตรียมวางแผนถ่ายภาพอาจารย์เสรี เมื่อได้เห็นม่านปัจจุบันที่ติดตั้งอยู่ ก็รู้สึกตกใจ เพราะม่านดังกล่าวนั้น ไม่สามารถเทียบความงามของม่านชุดเดิมได้เลยแม้แต่น้อย ลวดลายที่ปรากฏอยู่ดูหลวมๆ และหยาบ ทำให้รู้สึกสะท้อนใจยิ่งนัก จึงสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสถานที่ว่าม่านรูปเทพนมเดิมนั้นหายไปไหนเสียแล้ว ก็ได้รับคำตอบว่าม่านชุดเดิมนั้นชำรุดทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา จึงต้องเปลี่ยนใหม่ แต่การจะทำม่านให้สวยงามดังเดิมนั้นต้องใช้เงินมาก ซึ่งงบประมาณของทางราชการมีไม่เพียงพอ จึงทำได้เพียงเท่าที่เห็นนี้ เมื่อทราบดังนั้น ผมก็รู้สึกว่าไม่อยากถ่ายภาพอาจารย์เสรีที่นั่นเสียแล้ว จึงได้พยายามลองเดินหามุมอื่นๆ ภายในบริเวณโรงละครแห่งชาติ ก็ไม่พบมุมใดที่ถูกใจ จะหาที่ใหม่ทดแทนหรือจะเตรียมการเป็นอย่างอื่นก็คงไม่ทันการเป็นแน่ เนื่องจากในวันรุ่งขึ้นก็จะถึงวันนัด ครั้นจะขอเลื่อนนัดอาจารย์เสรีออกไปอีก ก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะคิดทำ เนื่องจากกว่าที่จะนัดท่านได้ในครั้งนี้ ก็ยากเย็นแสนเข็ญ เพราะภารกิจของท่านรัดตัวจนแทบจะเจียดเวลาไม่ได้เลย และในขณะที่ถ่ายภาพนี้ ก็ใกล้เวลาที่ผมจะเปิดนิทรรศการภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติ และจะต้องปิดต้นฉบับหนังสือศิลปินแห่งชาติที่ผมจัดทำเพื่อให้ทันเสร็จในวันงานดังกล่าวเต็มที่แล้ว จึงจำใจต้องถ่ายภาพท่านตามที่กำหนดไว้แต่เดิม
ผมได้จัดให้อาจารย์เสรีนั่งบนพนักที่นั่งคนดูภายในโรงละครแห่งชาติ มีฉากหลังเป็นม่านเวทีที่กล่าวถึงในเบื้องต้น โดยพยายามทำให้ม่านดังกล่าวไม่ชัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ และถ่ายภาพท่านในอิริยาบถต่างๆ จนเสร็จสิ้น ผมต้องขอสารภาพว่าภาพที่ได้นี้ไม่ได้ดังใจเลย เนื่องจากได้คิดวาดภาพเอาไว้เสียเลิศหรู แต่ก็อดหวังไม่ได้ว่า สักวันหนึ่งในระยะเวลาอันใกล้ จะมีท่านผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ หรือหน่วยงานเอกชนที่มีจิตศรัทธา มองเห็นความสำคัญ จัดการสร้างม่านเวทีใหม่ให้ดูสมกับศักดิ์ศรีของความเป็นโรงละครที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยกว่าที่เป็นอยู่นี้ และเมื่อถึงเวลานั้น ผมจะขอโอกาสอาจารย์เสรีเพื่อถ่ายภาพท่านอีกครั้ง คงจะได้ภาพที่งดงามกว่านี้เป็นแน่
ต้องนับพวกเราคนไทยนี้โชคดีที่มีศิลปินแห่งชาตินามว่า อาจารย์เสรี หวังในธรรม ผู้ซึ่งได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับงานศิลปวัฒนธรรมทางด้านการแสดงของชาติอย่างเต็มที่มาเป็นเวลายาวนาน และแม้ทุกวันนี้ ท่านจะเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่ท่านก็ยังคงได้รับความไว้วางใจให้ทำงานในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรอยู่อย่างกระฉับกระเฉง เข้มแข็ง ทำให้พวกเราชาวไทย ได้มีโขน ละคร และการแสดงดีๆ ดูกันอย่างสม่ำเสมอ ท่านผู้อ่านล่ะครับ กลับไปเยือนโรงละครแห่งชาติของเราครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ หรือลืมสถานที่แห่งนี้ไปเสียแล้ว
ขอขอบคุณ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ