เฉลิม นาคีรักษ์

นายเฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตกรรม) พ.ศ. ๒๕๓๑
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

โรงเรียนเพาะช่าง หรือในนามปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง เป็นสถาบันการศึกษาศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งได้สร้าง ศิลปิน และช่างฝีมือที่มีความสามารถสูงและประสบความสำเร็จมาแล้วนับคนไม่ถ้วน ศาสตราจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติท่านที่ผมจะได้นำเสนอในฉบับนี้ ก็เป็นศิลปินอีกท่านหนึ่งที่มีความผูกพันธ์กับสถาบันแห่งนี้อย่างแนบแน่นมาเป็นเวลายาวนาน เริ่มต้นตั้งแต่ในฐานะนักเรียน เมื่อเรียนจบแล้วก็ได้เข้ารับราชการเป็นครูผู้น้อย จากนั้นก็ได้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานโดยลำดับ จนได้เป็นผู้อำนวยการของสถาบันนี้จนเกษียณอายุราชการ ตลอดระยะเวลาตั้งแต่แรกเริ่มเข้ารับราชการ ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอาจารย์ และผู้บริหารอย่างดีที่สุด เป็นที่เคารพนับถือของศิษย์และผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก ทั้งยังเป็นศิลปินที่ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมที่ดีเด่นมากมายในเวลาเดียวกัน นับเป็นศิลปินแห่งชาติที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่งอีกท่านหนึ่ง

ศาสตราจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๐ ที่อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันอายุ ๘๓ ปี ท่านได้รับการศึกษาจนจบระดับมัธยม ที่โรงเรียนในจังหวัดบ้านเกิด ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่มีความสนใจในทางศิลปะเป็นพิเศษมาตั้งแต่เด็กๆ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อเข้าเรียนวิชาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ ท่านได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา ๔ ปี จนสำเร็จจึงได้เข้าศึกษาต่อวิชาครูประถมที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมพระนครอีก ๑ ปี จากนั้นก็ได้ไปเข้ารับการอบรมวิชาทฤษฎีศิลปะกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร อีก ๖ เดือน ก่อนที่จะเข้ารับราชการในตำแหน่งครูจัตวา สอนศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ในระหว่างที่รับราชการ ท่านยังได้เคยมีโอกาสเดินทางไปดูงานด้านศิลปะที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้ท่านได้สั่งสมประสบการณ์อันเป็นประโยชน์แก่การนำกลับมาถ่ายทอดแก่ลูกศิษย์ลูกหาในเวลาต่อมา ท่านได้ทุ่มเทสติปัญญาความสามารถถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์อย่างเต็มที่ ทั้งยังได้ปฏิบัติงานศิลปะควบคู่กันไปโดยตลอด

งานศิลปะที่ท่านทำโดยหลักนั้นคืองานจิตรกรรม ซึ่งมีทั้งแนวสากลสมัยใหม่ และแนวประเพณีประยุกต์ ส่วนเทคนิคที่ใช้มีทั้งสีน้ำมัน สีน้ำ สีฝุ่น และสีพลาสติก ส่วนเนื้อหาและเรื่องราวที่ท่านเขียนนั้นมีหลากลหาย ตั้งแต่ภาพหุ่นนิ่ง ภาพทิวทัศน์ ภาพบุคคล และภาพเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ผลงานสำคัญที่ท่านได้สร้างสรรค์ไว้ได้แก่พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระมหากษัตริย์และเจ้านายในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ ซึ่งประดิษฐานไว้ในสถานที่สำคัญต่างๆ หลายแห่ง ด้านการเขียนภาพสีน้ำ ก็เป็นงานที่ท่านรักและทำได้ดีเป็นพิเศษ จนได้รับคำชมเชยจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี งานประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพทิวทัศน์ที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ท่านได้เดินทางไปพบเห็นและเกิดความประทับใจ

ส่วนผลงานแนวประเพณีประยุกต์นั้น นับเป็นผลงานดีเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน ผลงานเหล่านี้นอกจากจะสามารถถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชนบทได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังให้ความรู้สึกของความสดใสสนุกสนาน มีรายละเอียดที่ซับซ้อนน่าสนใจไปทั่วทุกตารางนิ้วของผลงาน อันเกิดจากการรวมตัวกันของแนวความคิดสร้างสรรค์ องค์ประกอบทางศิลปะ และฝีมือชั้นครูของท่านด้วย

อาจารย์เฉลิมได้จัดแสดงผลงานเดี่ยว และส่งผลงานร่วมแสดงในงานแสดงผลงานศิลปะหลายครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ต่อเนื่องเรื่อยมาและได้รับรางวัลเกียรติคุณหลายครั้งอาทิ

-ได้รับรางวัลจิตรกรรม จากงานประกวดศิลปในงานฉลองรัฐธรรมนูญ

-ได้รับรางวัลในการประกวดผลงานศิลปกรรมซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

ความประทับที่สำคัญที่สุดในชีวิตของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ คือการที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสสำคัญ ๒ โอกาสๆ แรกเข้าเฝ้าฯพร้อมคณะศิลปินเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ เพื่อเขียนภาพถวายให้ทอดพระเนตร และได้ร่วมโต๊ะเสวยด้วย ส่วนครั้งที่ ๒ ได้ร่วมคณะไปกับอธิบดีกรมศิลปากร และอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรอีกหลายท่าน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายคำวิจารณ์ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ทรงไว้ อันเป็นโอกาสสำคัญซึ่งท่านถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นศิริมงคลสูงสุด

อาจารย์เฉลิม นาครักษ์ ได้ปฏิบัติตนในฐานะของครูศิลปะ และให้ให้บริการในทางวิชาการแก่สงคมมาเป็นเวลายาวนาน เป็นศิลปินที่มีผลงานดีเด่น ตลอดจนเป็นผู้ที่สร้างสรรค์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาติมาโดยตลอด ทั้งยังบำเพ็ญตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงามไม่เคยด่างพร้อย นับเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกๆ ด้าน ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑

ผมได้รับความกรุณาเป็นพิเศษจากอาจารย์กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) เมื่อวันที่ผมไปถ่ายภาพท่าน โดยท่านได้รับที่จะติดต่อทาบทามอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ให้ผมถ่ายภาพ เนื่องจากท่านเป็นศิษย์รักคนหนึ่งของอาจารย์เฉลิมที่วิทยาลัยเพาะช่างเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่ออาจารย์เฉลิมยินดีรับแล้ว อาจารย์กมลก็ได้กรุณาพาผมไปพบอาจารย์เฉลิมด้วยตนเอง ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังได้ถ่ายภาพขณะที่ผมกำลังถ่ายภาพอาจารย์เฉลิมซึ่งผมได้ขอนำภาพดังกล่าวมาลงเป็นภาพเบื้องหลังในฉบับนี้ด้วย

ในปัจจุบัน ด้วยวัย ๘๓ ปี ประกอบกับปัญหาทางด้านสุขภาพ ทำให้อาจารย์เฉลิมจำต้องวางมือจากเขียนภาพอันเป็นงานที่ท่านรักไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ท่านก็ยังคงเก็บรักษาบริเวณที่ท่านใช้ปฏิบัติงานเขียนภาพของท่านเอาไว้เหมือนเดิมทุกประการ เสมือนกับว่าท่านยังคงเขียนรูปอยู่ตามปกติ บนขาหยั่งตั้งภาพ ก็มีภาพที่ดูเหมือนกับเพิ่งเขียนเสร็จตั้งอยู่ ยังไม่ได้นำไปใส่กรอบ นอกจากนั้นบรรยากาศโดยรวมในห้องนั้นก็ดูอบอุ่น ชวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ เนื่องจากตัวบ้านของท่านนั้นเป็นเรือนไม้อย่างเก่าที่หาดูได้ยากแล้วในสมัยนี้ เครื่องเรือนก็เข้ายุคกับตัวบ้าน ทั้งยังมีภาพสวยๆ ผลงานของท่านเอง ติดประดับอยู่โดยทั่วไป เพิ่มเสน่ห์ให้สตูดิโอในบ้านได้ไม่น้อย ผมถูกใจกับมุมนี้ในทันทีที่ได้เห็น และใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการขยับตำแหน่งสิ่งของต่างๆ เพียงไม่มากให้ลงตัว ก็สามารถลงมือถ่ายภาพได้ ในเรื่องแสงสว่างที่ใช้ในการถ่ายภาพนั้น เนื่องจากในห้องนี้ มีหน้าต่างอยู่ทางด้านซ้าย เลยจากขอบภาพที่เห็นเพียงเล็กน้อย ที่ส่งแสงสว่างเข้ามา ให้แสงที่สวยงาม แต่แสงนั้นไม่มากพอที่ผมจะใช้ถ่ายภาพได้ ผมจึงได้จัดไฟเลียนแบบแสงหน้าต่างนั้นในตำแหน่งและทิศทางเดียวกับแสงธรรมชาติที่ส่องเข้ามา ในเบื้องต้น อาจารย์ธานี นาคีรักษ์ บุตรชายคนโตผู้สืบทอดความเป็นศิลปินจากบิดา ด้วยการเป็นอาจารย์ที่เพาะช่างและเป็นจิตรกรเหมือนกัน ได้ช่วยเป็นแบบแทนอาจารย์เฉลิมให้ผมทดลองถ่ายภาพ ก่อนที่จะถ่ายจริงๆ ทำให้การถ่ายภาพอาจารย์เฉลิมง่ายขึ้น และใช้เวลาไม่มาก ผมจัดท่าให้ท่านดังที่เห็นเพื่อให้ดูแตกต่างจากจิตรกรท่านอื่นๆ ที่ผ่านสายตาท่านผู้อ่านไปแล้ว จุดที่เป็นพระเอกในภาพดังกล่าวนอกจากตัวท่านศิลปินอาวุโสผู้มีเรือนผม คิ้ว และหนวดสีขาวแล้ว ก็คือภาพเขียนแนวประเพณีประยุกต์ ที่ตั้งบนขาหยั่งอันเป็นภาพที่แสดงเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างชัดเจน ตามแนวทางที่ท่านถนัด ซึ่งภาพดังกล่าว นอกจากจะมีเส้นสายที่งดงามอ่อนช้อย และองค์ประกอบที่ลงตัวแล้ว ยังมีโครงสีที่ดูกลมกลืนกับบรรยากาศโดยรวมของห้อง พลอยช่วยให้ภาพถ่ายของผมภาพนี้มีโครงสีที่สวยไปด้วยโดยอัตโนมัติ

แม้ทุกวันนี้อาจารย์เฉลิม นาครักษ์จะแขวนพู่กันของท่านไปแล้ว แต่ผลงานของท่านยังคงแสดงความสดใส งดงามคงทน ทรงคุณค่าอยู่เสมอ และจะยังคงรักษาความงามอยู่ได้อีกนานไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด เช่นเดียวกับชื่อเสียงและเกียรติคุณอันดีงามของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ซึ่งจะได้รับการจากรึกอยู่คู่วงการศิลปะของไทยตลอดไปอย่างแน่นอน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.