นายหวังดี นิมา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) พุทธศักราช ๒๕๓๑
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
เมื่อกล่าวถึง “ลำตัด” เพลงพื้นบ้านภาคกลางซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป ผมเชื่อว่าผู้คนส่วนใหญ่จะต้องนึกถึงชื่อของ “หวังเต๊ะ” และ “แม่ประยูร” เป็นแน่ เพราะชื่อของท่านทั้ง ๒ นี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะการแสดงแขนงนี้ไปแล้ว เนื่องจากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ท่านทั้ง ๒ มีผลงานการแสดงลำตัดที่โดดเด่นอย่างชนิดที่ไม่มีใครเทียบได้ในฉบับนี้ จะขอนำภาพและประวัติความเป็นมาของลุงหวังเต๊ะมาเสนอก่อนครับ
ลุงหวังเต๊ะ หรือในชื่อและนามสกุลจริงว่า นายหวังดี นิมา เกิดในครอบครัวชาวนาเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๖๘ ที่จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันอายุ ๗๖ ปี ไดรับการศึกษาจนถึงชั้นประถมปีที่ ๖ จากโรงเรียนวัดหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
นอกจากการทำนาอันเป็นอาชีพหลักแล้ว บิดาของลุงหวังเต๊ะยังเป็นนักลำตัดที่มีชื่อเสียง ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดศิลปะทางด้านนี้จากบิดาอย่างละเอียดลึกซึ้งทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นลีลา ท่าทาง ตลอดจนถึงการแต่งเพลงที่ใช้ในการเล่นลำตัดจนเชี่ยวชาญ ยิ่งไปกว่านั้นมารดาของท่านก็เป็นละครชาตรีซึ่งก็ได้ถ่ายทอดการรำให้เป็นอย่างเต็มที่ จึงนับได้ว่าท่านได้รับเลือดศิลปินมาอย่างเต็มตัวตั้งแต่เล็กๆ
ในวัยเด็ก ลุงหวังเต๊ะมักจะติดตามบิดาซึ่งออกไปแสดงตามงานต่างๆ เสมอ จึงได้มีโอกาสศึกษาและซึมซับการแสดงลำตัดโดยอัตโนมัติ และก็ได้เริ่มแสดงลำตัดกับบิดาตั้งแต่อายุเพียง ๑๓-๑๔ ปีเท่านั้น นอกจากลำตัดแล้ว ท่านยังได้หัดร้องเพลงพื้นบ้านอื่นๆ อีกหลายอย่างเช่น เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย และเพลงขอทาน เป็นต้น โดยมักจะฝึกร้องขณะช่วยบิดามารดาทำนา
ครูทางการแสดงของลุงหวังเต๊ะหาได้มีเพียงบิดา มารดาของท่านเท่านั้น หากท่านยังได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้มาจากครูอีกหลายท่าน ได้แก่ ครูแก้ว ผมโป่ง ครูถนอม ท่าเกษม ครูจง สายสมอ ครูชะโอด ท่าไข่ ครูประยูร และแม่จรูญหน้าบาก เป็นต้น จากการที่มีครูผู้มีความสามารถสูงส่งทางด้านเพลงพื้นบ้านช่วยถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ กอปรกับความรักในศิลปะการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งลำตัดเป็นชีวิตจิตใจ และความขยันหมั่นเพียรในการฝึกซ้อม ทำให้ลุงหวังเต๊ะเป็นศิลปินที่เปี่ยมด้วยความสามารถทางด้านลำตัดอย่างยากที่จะหาผู้เทียบเทียมได้ ท่านได้แสดงให้สาธารณชนประจักษ์ถึงอัจฉริยภาพทางด้านการแสดงและการใช้ภาษาเฉียบคมลึกซึ้งจนเป็นที่กล่าวขวัญถึงโดยทั่วไป
ครั้นอายุได้ ๒๖ ปี ลุงหวังเต๊ะก็ได้ตั้งคณะลำตัดของตัวเองขึ้น ในการแสดงของท่านจะเน้นการแสดงไหวพริบปฏิภาณ ด้วยการใช้คำกลอนที่เชือดเฉือนคารมคมคาย และหลีกเลี่ยงการใช้สำนวนภาษาที่หยาบคายหรือลามกอนาจาร เพราะท่านถือว่าเป็นการทำงานที่ไม่มีศิลปะ และทำให้ภาพพจน์ของศิลปะการแสดงลำตัดเสียหาย ในด้านเนื้อหาและวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการแสดงนั้น ท่านก็ขยันศึกษาหาข้อมูลให้ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้การแสดงของท่านทันสมัย สนุกสนาน และมีสาระข้อคิดครบครันไม่เคยทำให้ผู้ชมผิดหวัง
ด้วยกิตติศัพท์ด้านลำตัดอันเลื่องลือของลุงหวังเต๊ะ ทำให้มีผู้มาขอฝากตัวเป็นศิษย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านก็เต็มใจช่วยถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างเต็มที่ไม่เคยหวงวิชา ยิ่งไปกว่านั้นทุกครั้งที่มีสถานศึกษาเชิญให้ไปบรรยาย ท่านก็มักจะรับเชิญเสมอ ทำให้วงการลำตัดที่แต่เดิมนับวันจะซบเซาลงทุกขณะถึงขั้นเกือบจะสูญไป กลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้ง และมีอนาคตที่สดใสขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนในด้านการทำงานเพื่อสังคม ลุงหวังเต๊ะยังได้ใช้ความสามารถของท่านช่วยเหลืองานเพื่อสาธารณะประโยชน์อย่างขันแข็งมาโดยตลอดอีกด้วย
คู่ประชันลำตัดฝ่ายหญิงของลุงหวังเต๊ะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือแม่ประยูร ยมเยี่ยม (ศิลปินแห่งชาติ) ซึ่งได้แสดงคู่กันมาเป็นเวลายาวนานจนเป็นที่คุ้นเคยของมหาชน นับได้ว่าเป็นคู่ลำตัดอมตะยอดนิยมที่ไม่มีคู่อื่นใดเทียบเทียมได้ ทั้ง ๒ ท่านนี้ได้ร่วมงานกันจนเกิดความสนิทสนมและแต่งงานอยู่กินกันจะมีบุตรด้วยกัน ๒ คน และแม้ว่าในที่สุดมีอันต้องแยกทางกัน ท่านก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันและยังคงร่วมงานและไปมาหาสู่กันเสมอ
จากผลงานดีเด่นทางด้านการแสดงลำตัด ทำให้ลุงหวังเต๊ะได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ นับเป็นนักแสดงลำตัดท่านแรกที่ได้รับเกียรตินี้
ผมเองก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไป ที่เมื่อกล่าวถึงลำตัด ชื่อของ “หวังเต๊ะ” และ “แม่ประยูร” ก็ลอยเด่นอยู่ในความคิดของผมอย่างแยกกันไม่ออก เพราะเท่าที่จำได้ตั้งแต่ผมเป็นเด็กๆ มาจนทุกวันนี้ ก็ได้ยินชื่อท่านทั้ง ๒ ควบคู่กันมาโดยตลอด และแม้จะเคยได้เห็นการแสดงของท่านอื่นๆ บ้าง แต่ก็หาได้ติดใจหรือจดจำได้เหมือนกับคู่ขวัญลำตัดคู่นี้ ดังนั้น เมื่อถึงคราวที่จะได้ถ่ายภาพท่านทั้ง ๒ ในฐานะที่เป็นศิลปินแห่งชาติ ความคิดแรกที่เกิดขึ้นก็คือต้องการถ่ายภาพท่านทั้ง ๒ ในลักษณะที่หยอกล้อกัน ทั้งนี้หาได้หมายถึงว่าเป็นการถ่ายภาพคู่ในภาพเดียวกันไม่ แต่หมายถึงการถ่ายภาพแต่ละท่านแยกกันท่านละรูป แต่เมื่อนำภาพทั้ง ๒ มาวางเคียงข้างกัน ก็จะเห็นได้ทันทีว่า ลุงหวังเต๊ะ และแม่ประยูรกำลังประชันลำตัดกันข้ามรูป โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างจุดสนใจให้กับงานนิทรรศการภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติของผมที่ผ่านไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ในการนี้ ผมต้องการให้บรรยากาศของภาพเป็นไปในลักษณะพื้นบ้านภาคกลาง จึงได้มองหาเรือนไทยสวยๆ ร่มรื่นสักแห่งที่จะใช้เป็นสถานที่ถ่ายภาพภาพนี้ จึงได้นึกถึงเรือนไทยของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นผลงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมไทยของ อาจารย์ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ซึ่งผมได้ไปถ่ายภาพท่านที่นั่นเมื่อไม่นานก่อนหน้านี้ ผมจึงได้ติดต่อขออนุญาตจากทางมหาวิทยาลัยมหิดลเจ้าของสถานที่ ซึ่งก็ได้รับความกรุณาให้ใช้สถานที่และได้อำนวยความสะดวกให้อย่างดียิ่งและเพื่อที่จะให้ภาพของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๒ ท่านดูแสดงออกอย่างเป็นธรรมชาติ ผมจึงขอนัดทั้งคุณลุงหวังเต๊ะ และแม่ประยูร ถ่ายภาพพร้อมกันโดยขอให้ท่านแสดงท่าประหนึ่งกำลังแสดงอยู่จริงๆ ด้วยกัน แต่ถ่ายภาพท่านไว้ทีละท่านจนเสร็จชุดหนึ่ง จึงเปลี่ยนไปถ่ายภาพอีกท่านสลับกันไป ระหว่างนั้นยอดหมอลำทั้ง ๒ ท่านก็ได้วาดลวดลายหยอกล้อกันเป็นที่สนุกสนานให้ผมถ่ายภาพจนสำเร็จลงด้วยดี เป็นที่น่าเสียดายว่าผมไม่สามารถนำภาพของศิลปินแห่งชาติทั้ง ๒ ท่านมาลงในหน้าสีคู่กันให้ท่านชมได้ ณ ที่นี้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องการจัดรูปเล่ม จึงต้องลงภาพลุงหวังเต๊ะให้ท่านชมก่อนในฉบับนี้ แล้วจึงจะลงภาพแม่ประยูรในฉบับต่อไป แต่อย่างไรก็ตามผมก็ได้ลงภาพทั้ง ๒ ท่านดังกล่าวในหน้าขาวดำให้ท่านชมเพื่อจะได้นึกภาพที่ผมกล่าวถึงออกด้วยครับ
ท่านผู้อ่านที่เคยได้ชมการแสดงของลุงหวังเต๊ะคงเห็นด้วยกับผมนะครับว่าท่านเป็นศิลปินลำตัดชายที่มีอัจฉริยภาพถึงขั้นสุดยอดยากที่จะหาผู้ใดเทียบเทียมได้ และในฉบับหน้าท่านก็จะได้พบกับเรื่องราวความเป็นมาของแม่ประยูร ยมเยี่ยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลำตัด) ฝ่ายหญิง ที่ก็มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจไม่แพ้กัน ติดตามอ่านกันให้ได้นะครับ
ขอขอบคุณ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ