นายสมพงษ์ พงษ์มิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแสดง)พ.ศ. ๒๕๔๐
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
เมื่อกล่าวถึงชื่อ”สมพงษ์ พงษ์มิตร” แล้ว อาจกล่าวได้ว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ยกเว้นแต่เพียงเด็กๆ รุ่นใหม่ ที่เกิดและเติบโตขึ้นมาภายหลังจากที่คุณลุงสมพงษ์ได้ห่างเหินจากวงการบันเทิงไปแล้วเท่านั้น เพราะคุณลุงสมพงษ์เป็นนักแสดงที่มีผลงานที่น่าประทับใจ และผ่านการแสดงมาอย่างโชกโชน ให้ความบันเทิงคนไทยมายาวนานกว่า ๖๐ ปี
คุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตรเป็นชาวบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิดท่านเกิดเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี ครอบครัวของท่านย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพเมื่อท่านอายุได้ ๗ ปี ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดสุทัศน์จนกระทั่งถึงชั้นประถมปีที่ ๓ จึงได้หันมาหัดลิเกกับครูบัว หัดลิเกอยู่ได้ เพียงระยะสั้นๆ คุณลุงสมพงษ์ก็ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของแม่ครูหมันเพื่อหัดโขน ท่านได้หัดโขนอย่างจริงจังเป็นประจำทุกวันโดยในระยะแรกเล่นเป็นตัวหนุมาน และต่อมาจึงเปลี่ยนไปเล่นเป็นตัวเสนาที่วิกลิเกย่านบางลำพู จนกระทั่งเข้าสู่วัยหนุ่ม จึงกลับไปแสดงลิเกโดยได้รับบทเป็นพระเอกหลังจากที่คุณลุงสมพงษ์แสดงลิเกอยู่ประมาณ ๕ ปี แล้ว ก็ได้ไปสมัครเข้าราชการที่กรมศิลปากรโดยการช่วยฝากฝังของแม่ครูหมันเพื่อฝึกเป็นนักแสดงโขน แต่ต่อมาไม่นาน กรมศิลปากรในยุคนั้น มีนโยบายเลิกการแสดงโขน ทำให้บรรดานักแสดงโขนทั้งหลายในสังกัดต้องเปลี่ยนไปหัดเครื่องดนตรีสากลแทน คุณลุงสมพงษ์ซึ่งไม่มีความชอบทางด้านนี้ จึงได้ลาออกจากราชการเพื่อกลับไปแสดงลิเกดังเดิม
นอกเหนือจากการแสดงลิเกและโขนแล้ว คุณลุงสมพงษ์ซึ่งโดยบุคลิกเป็นคนที่ สนุกสนาน เฮฮาก็ ได้ไปสมัครเล่นจำอวดกับคณะเอกะสิงห์ ซึ่งมีดาราจำอวดที่มีชื่อเสียงอยู่หลายคน เช่น ก๊กเฮง ทองแถม ฯลฯ แสดงเป็นประจำที่โรงละครเฉลิมบุรี ต่อมาได้ไปสมัครเล่นละครเร่กับคณะคุณหนูตระเวนแสดงตามต่างจังหวัดอยู่เป็นเวลานานหลายปี
หลังจากที่ได้เลิกการแสดงละครเร่กับคณะคุณหนูแล้ว คุณลุงสมพงษ์ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ ตั้งคณะจำอวดชื่อ”คณะเบญจศิลป์ พงษ์มิตร” ขึ้น รับงานแสดงทั่วประเทศจนเริ่มมีชื่อเสียง วิถีชีวิตของคุณลุงสมพงษ์คงจะรุ่งโรจน์ขึ้นเป็นอย่างมากในขณะนั้นหากไม่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้นเสียก่อน ผลจากสงครามทำให้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต้องงานแสดงของคณะจำอวดที่เพิ่งตั้งขึ้น และต้องเลิกราไปในที่สุด คุณลุงสมพงษ์จึงต้องดิ้นรนหาทางเลี้ยงชีพด้วยการทอดปาท่องโก๋ขายอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งนายจุมพล ปัทมินทร์ ซึ่งเป็นนักแสดงรุ่นน้องได้มาชักชวนให้ไปแสดงละครกับคณะลูกไทย ซึ่งมีนักแสดงจำอวดที่มีชื่อเสียงอย่างจอก ดอกจันทน์ ร่วมแสดงอยู่ด้วย
ด้วยความที่เป็นนักแสดงที่มีความสามารถรอบตัว คุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตรก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีงานแสดงไหลมาเทมาอย่างไม่ขาดสาย นอกจากการแสดงร่วมกับคณะลูกไทยแล้ว คุณลุงสมพงษ์ยังได้ร่วมแสดงกับคณะละครและจำอวดอีกหลายคณะอาทิ คณะศิวารมณ์ เอกะสิงห์ และอัศวินการละคร เป็นต้น จุดที่ทำให้คุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตร มีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเริ่มต้นจากการที่ได้รับบทเป็น”นายอ่อน” ในละครเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ ของคณะอัศวินการละคร จากบทนายอ่อน ซึ่งเป็นตัวชูโรงของละครเรื่องดังกล่าว คุณลุงสมพงษ์เล่นได้ดีเป็นพิเศษ จนทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนดูเป็นอย่างยิ่งและได้รับฉายาว่า”ตัวเล็กเสียงดัง” ซึ่งต่อมาเมื่อเมื่อได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ขึ้น คุณลุงสมพงษ์ก็ได้ร่วมแสดงด้วย ทำให้ชีวิตของท่านก้าวเข้าสู่วงการจอเงินอย่างเต็มตัวตั้งแต่นั้นมา
ในด้านการบริการสังคมนั้น คุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตร ได้อุทิศตนปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมมาอย่างสม่ำเสมอ ท่านเคยรับใช้ชาติด้วยการรับราชการทหารสังกัดกองดุริยางค์ทหารบกในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์เป็นเวลานานถึง ๑๐ ปี แม้จะลาออกจากราชการแล้ว ทุกครั้งที่มีผู้มาขอความร่วมมือให้ช่วยแสดงในละคร ภาพยนตร์ หรือจำอวดเพื่อการกุศล คุณลุงสมพงษ์ก็มักจะช่วยเหลืออย่างเต็มใจด้วยจิตใจอันเป็นกุศลเสมอ ทั้งยังได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกอาสาสมัครของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือสังคมด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ในยามที่ประเทศชาติประสบภัยจากการคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ คุณลุงสมพงษ์ก็ได้สมัครเข้ารับราชการในกองดุริยางค์ กรมตำรวจ เพื่อทำหน้าที่โฆษก และนักแสดงเพื่อกล่อมขวัญ และสร้างความบันเทิงแก่บรรดาตำรวจตระเวรชายแดนทั่วประเทศ และในขณะที่รับราการอยู่ที่กองดุริยางค์ กรมตำรวจนี้เอง คุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตรได้มีโอกาสแสดงละครและจำอวดถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทอดพระเนตรที่พระราชวังไกลกังวล หัวหินถึง ๓ ครั้ง ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระราชดำรัสชมเชยในความสามารถของคุณลุงด้วย ซึ่งคุณลุงสมพงษ์ถือเป็นเกียรติยศสูงสุดที่ไม่อาจลืมได้ คุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตร ได้ลาออกหลังจากที่ได้รับราชการตำรวจมาเป็นเวลา ๑๐ ปีเพื่อกลับมาประกอบอาชีพนักแสดงอย่างเต็มที่ โดยรับงานแสดงทั้งละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ ซึ่งการแสดงโดยหลักของท่านมักจะเป็นบทตลก สร้างความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์แก่คนทุกเพศทุกวัย
คุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตร ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักแสดง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ซึ่งเท่ากับเป็นการตอบแทนของสังคมไทยแค่ศิลปินผู้ที่สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่คนไทยหลายสิบล้านคนมาเป็นเวลาช้านาน
ภาพในอดีตเมื่อแสดงภาพยนตร์ เรื่อง”เกียรติศักดิ์ทหารเสือ” จากซ้าย จอก ดอกจันทน์ ส.อาสนจินดา และสมพงษ์ พงษ์มิตร
ผมไม่ได้เห็นคุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตรเล่นละคร ภาพยนตร์ หรือแสดงตลกไม่ว่าจากสื่อใดๆ มาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อได้มาไปพบท่านในคราวที่ถ่ายภาพครั้งนี้จึงได้ทราบว่าท่านมีปัญหาเกี่ยวกับสายตาและสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนแต่ก่อน แต่จากการพูดคุยกับท่าน ผมก็ยังรู้สึกว่าท่านยังคงเป็น”สมพงษ์ พงษ์มิตร” ดาวตลกคนเดิมที่ผมคุ้นหน้าจากภาพยนตร์และโทรทัศน์มาตั้งแต่เริ่มจำความได้ เพียงแต่ดูสูงวัยขึ้น เศร้า และช้าลงไปกว่าเดิมเท่านั้น ท่านดูจะมีความสุขกับการที่ได้เล่าเรื่องราวในอดีตเก่าๆ ให้พวกเรา อันได้แก่จักรกฤษณ์ ผม และกฤษดาเพื่อนเก่าแก่ของผมที่คราวนี้ขอติดตามมาดูดาราด้วยฟัง อีกทั้งชี้ชวนให้ดูรูปภาพเก่าๆ ที่ประดับอยู่โดยรอบในห้องรับแขกเล็กๆ ของบ้านนั้น พร้อมกับอธิบายถึงที่มาของรูปภาพต่างๆ เหล่านั้นอย่างตั้งอกตั้งใจ เมื่อคุยกันถึงการถ่ายภาพของผมๆ ก็ได้เล่าว่าผมได้ไปถ่ายภาพป๋าต๊อกมาแล้ว ซึ่งคุณลุงสมพงษ์ก็ได้เล่าตอบว่าป๋าต๊อกกับตัวคุณลุงเองนั้นเป็นเพื่อนร่วมสาบานกัน เคยร่วมงานและเกื้อกูลกันมาโดยตลอดจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ผมคุยกับคุณลุงสมพงษ์อยู่ได้ครู่หนึ่งจึงขอตัวไปจัดเตรียมการถ่ายภาพภายนอกห้องกับจักรกฤษณ์ ปล่อยให้กฤษดาสนทนากับคุณลุงสมพงษ์อย่างออกรสต่อไป
ผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะถ่ายภาพคุณลุงสมพงษ์ในหลายๆ อิริยาบถทำนองเดียวกันกับที่ถ่ายป๋าต๊อก แต่ต้องการให้มีความแตกต่างออกไป จึงได้คิดถ่ายภาพเป็นภาพขาวดำจำนวนถึง ๓๖ ภาพเพื่อให้ได้อิริยาบถที่หลากหลาย โดยใช้ฉากหลังเป็นกระดาษแข็งสีขาว แล้วนำมาคัดเลือกให้เหลือรูปที่ถูกใจ ๑๗ ภาพ จัดวางในลักษณะที่แตกต่างไปจากรูปของป๋าต๊อกที่ได้ผ่านตาท่านผู้อ่านไปแล้ว นอกจากนั้น เพื่อให้เกิดชีวิตชีวาขึ้นมาในภาพขาวดำ ผมได้ใส่สีด้วยเทคนิคการอัดรูปเข้าไปในภาพแต่ละภาพให้แตกต่างกัน ด้วยความที่คุณลุงสมพงษ์นั้นเป็นนักแสดงตลกระดับปรมาจารย์ จึงทำให้การถ่ายภาพเป็นไปอย่างสนุกสนานปราศจากอุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น คุณลุงสมพงษ์ได้แสดงท่าทางต่างๆ ที่สร้างความครื้นให้กับคณะของเราอย่างคล่องแคล่วและการทำงานของเราก็เสร็จสิ้นลงด้วยดีในระยะเวลาอันสั้นจนได้รูปที่ผมนำมาอวดกันดูนี่แหละครับ
ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์อย่างใด นักแสดงตลกก็ต้องเก็บความรู้สึกส่วนลึกของตนเองเอาไว้ และแสดงออกแต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนทั่วไปมีความสุขและรอยยิ้มแม้ว่าตนเองอาจจะกำลังอยู่ในความทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัสก็ตาม ทำให้ใครๆ อาจคิดว่าดาวตลกเป็นคนที่ไม่มีความทุกข์ ผมเองรู้สึกอย่างจริงใจว่าคุณลุงสมพงษ์กำลังมีความทุกข์กับโรคภัยที่เบียดเบียนท่าน และเท่าที่ดูจากความเป็นอยู่ของท่านก็ค่อนข้างจะขัดสนไม่ได้สุขสบายสมกับที่ควรจะเป็น คนในสังคมที่เคยได้รับความสุขจากการแสดงของคุณลุงสมพงษ์ พงษ์มิตรมาก่อน น่าจะเหลียวแลท่านมากกว่านี้ ยังดีที่สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีสวัสดิการที่คอยช่วยเหลือศิลปินแห่งชาติอยู่บ้าง แม้จะไม่มากก็ตาม ก็ได้แต่หวังว่าท่านผู้มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ได้โปรดคงงบประมาณส่วนนี้เอาไว้ตลอดไปอย่าได้ตัดทอนลงไปเลย คิดเสียว่าเป็นการตอบแทนพระคุณของผู้ที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและประชาชนมามากแล้วเถิดครับ