ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกลุไทย ฉบับที่ 2482 ปีที่ 48 ประจำวัน อังคาร ที่ 14 พฤษภาคม 2545
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๖ มกราคม ที่ผ่านมา เราได้สูญเสียท่าน ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ปูชนียบุคคลท่านสำคัญที่เคยดำรงตำแหน่งสูงสุดทั้งทางด้านราชการในพระองค์ ด้านการบริหารประเทศ ด้านตุลาการ และด้านการศึกษา ผู้ซึ่งได้สร้างคุณูปการให้ประเทศชาติไว้เป็นเอนกประการ ในฉบับนี้ผมจึงได้นำภาพที่ผมได้ถ่ายท่านเอาไว้เมื่อราว ๑๓ ปีที่แล้วขณะที่ท่านยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรีมาลงไว้เพื่อเป็นการรำลึกถึงและเชิดชูเกียรติคุณของท่านในโอกาสอันน่าเศร้าสลดนี้ครับ
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๐ ที่กรุงเทพมหานคร ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน ๓ คน ของพระยาธรรมสารเวทย์วิเศษภักดี ศรีสัตยาวัตตา พิริยพาหะ กับ คุณหญิงชื้น ท่านได้เข้าเรียนหนังสือในเบื้องต้นที่โรงเรียนทวีธาภิเศก เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ แล้วจึงย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ จากนั้นใน ปี พ.ศ.๒๔๗๐ ก็ได้อุปสมบทที่วัดเบญจมบพิตร และได้ศึกษาพระธรรมวินัยที่สำนักเรียนวัดเบญจมบพิตร จนสอบไล่นักธรรมชั้นตรีได้ที่ ๑ ท่านได้เข้าเรียนวิชากฎหมายและสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตไทยจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๑ หลังจากนั้นประมาณ ๑ ปี ท่านก็สามารถสอบชิงทุน “รพีบุญนิธิ” ไปศึกษาต่อทางด้านกฎหมายที่ The Middle Temple, กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕
เมื่อเดินทางกลับสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ แล้ว ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาในกระทรวงยุติธรรม และได้เลื่อนตำแหน่งหน้าที่ขึ้นโดยลำดับจนได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในวงการตุลาการคือประธานศาลฎีกาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่เป็นเวลา ๕ ปี จนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ หลังจากที่เกษียณอายุราชการแล้ว ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี และในระยะเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๑๔ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภายหลังจากเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กราบถวายบังคมลาออก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าแก้ไขปัญหาอันยิ่งใหญ่ของชาติ ภายหลังวิกฤติการดังกล่าว ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๒ สมัยติดๆ กัน โดย สมัยแรกตั้งแต่วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๑๕๑๖ และท่านได้กราบถวายบังคมลาออกเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๗ จากนั้นก็ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๗ จนกระทั่งถึงวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นองคมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อ หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้นถึงแก่อสัญกรรมลง ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี และท่านก็ได้รับราชการถวายใต้เบื้องพระยุคลบาทในตำแหน่งนี้เป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี กระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๔๑ จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากขณะนั้นท่านมีอายุถึง ๙๑ ปี ประกอบกับมีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรี แต่ยังคงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรีต่อไปตราบจนท่านถึงแก่อสัญกรรม
นอกเหนือจากงานสำคัญต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ยังได้สร้างคุณประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านศึกษานั้น ท่านเป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่ปราดเปรื่องและรับการเคารพยกย่องเป็นอย่างสูงว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านการถ่ายทอดวิชาความรู้เป็นเลิศ ทั้งยังได้เขียนตำรากฎหมายอันทรงคุณค่าและเป็นหลักให้กับวงการกฎหมายไทยหลายเล่ม ในด้านพระศาสนานั้นก็เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า และได้อุทิศตนเพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากคุณูปการข้อนี้ทำให้ท่านได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๒๗ ถึง ๒๕๔๑
ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นับเป็นปูชนียบุคคลที่ได้สร้างคุณงามความดีแก่ประเทศชาติมาตลอดชีวิตอันยาวนานของท่าน ทั้งยังเป็นผู้ที่ครองตนอย่างงดงามเป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนทั้งประเทศตลอดจนเป็นหลักสำคัญของบ้านเมือง และเป็นแบบอย่างของบุคคลที่เราสามารถกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ การถึงแก่อสัญกรรมของท่านจึงนับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของประเทศไทยซึ่งยากที่คนไทยจะลืมเลือน