วัดหลวงพ่อโสธร

หลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ แห่งภาคตะวันออก นั่นคือหลวงพ่อโสธร แห่งเมืองแปดริ้ว ซึ่งกล่าวกันว่าในอดีต ลอยมาตามแม่น้ำบางประกง ก่อนที่ชาวบ้านอัญเชิญขึ้น ณ.วัดโสธรแห่งนี้

เริ่มเดินทางจากกรุงเทพ ใช้เส้นทางบางนาตราด แล้วก็เลี้ยวที่แยกบางประกง เพื่อเลี้ยวซ้ายไปทางฉะเชิงเทรา ใช้เส้นทางนี้ไปจนถึงตัวเมือง สำหรับเส้นทางอื่นๆ ในการเดินทางนั้นก็ไปได้หลายเส้นทาง คือ  สายกรุงเทพฯ-มีนบุรี-ฉะเชิงเทรา ทางหลวงหมายเลข 304 สายกรุงเทพฯ-บางนา-บางบ่อ-บางปะกง ทางหลวงหมายเลข 34 เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 314 สายบางปะกง – ฉะเชิงเทรา สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ-บางปะกง ทางหลวงหมายเลข 3 ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 314 สายบางปะกง-ฉะเชิงเทรา

เมื่อมาถึงวัดหลวงพ่อโสธร ทางวัดได้จัดเตรียมที่จอดรถให้อย่างเป็นระเบียบ สำหรับดอกไม้ธูปเทียน ก็หาซื้อได้จากบริการของทางวัดได้เลย มีขายอยู่บริเวณที่จอดรถ และบริเวณหน้าโบถส์ครับ ทองที่ทางวัดขายจะเป็นทองเปลวแท้ เวลาไปติดที่องค์พระจะติดง่าย เราหาซื้อดอกไม้ธูปเทียนแล้ว ก็เตรียมตัวไปไหว้หลวงพ่อกันด้านใน เรามาฟังประวัติสักนิดว่า ประวัติของวัดนี้เป็นมาอย่างไร

วัดหลวงพ่อโสธรหรือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกงเดิมชื่อว่า “วัดหงส์” สร้างใน สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อโสธร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.65 เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง ตามประวัติ เล่าว่า ได้ปาฏิหาริย์ลอยน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทอง สำริดปางสมาธิ หน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้ เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิมไว้ จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน

หลวงพ่อโสธรองค์จริงๆ นั้นอยู่ในอุโบสถหลังใหม่ ซึ่งได้สร้างครอบอุโบสถหลังเก่า หลวงพ่อโสธรองค์ที่เราปิดทองกันปัจุบันนั้น เป็นองค์จำลองครับ อุโบสถหลังใหม่ที่เราเห็นนั้น สร้างได้อย่างสวยงาม ใหญ่โตมาก ช่วงสร้างใหม่ ได้รื้อหลังคาโบสถ์เก่า และนำมาสร้างเป็นหลวงพ่อโสธรองค์เล็กๆบ้าง ใหญ่บ้าง ให้สักการบูชาโดยทั่วไป ที่วัดเองก็ยังมีให้บูชาอยู่ ใครไปก็ลองถามพระในโบสถ์ดูครับ เป็นสิริมงคลอย่างดี

ในวันที่ผมไปนั้น สาธุชนหลั่งไหลมาทำบุญมากมาย ทั้งคนเฒ่าคนแก่ ส่วนหนึ่งไปแก้บน บ้างก็ไปบน สำหรับกิจกรรมที่วัดนั้น ส่วนใหญ่ก็ทำบุญตักน้ำมันถวายพระวัดเกิด ทำบุญปิดทอง บ้างก็นั่งสงบจิตใจภายในโบสถ์ก็มีครับ

ส่วนหนึ่งของการแก้บนที่พบเห็นกันก็คือ นางละครที่รำ จะเห็นรำกันได้แทบตลอดเวลา แสดงให้เห็นว่าผู้คนนิยมบนบานสานกล่าวด้วยการรำถวาย โดยที่ไม่ได้รำเอง แต่ให้นางละครที่มีประจำที่วัดรำให้ ผมสังเกตดูการรำแล้วถึงแม้จะดูเหนื่อยๆ เนื่องจากรำมาทั้งวัน แต่ก็แปลกตาดี น่าสนใจดีไม่น้อยเลยครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.