เป็นนายของตัวเอง

ลูกจ้างหรือนายจ้าง คุณอยากเป็นแบบไหน ไตร่ตรองสักนิด เพื่อชีวิตและงานที่ดีกว่า

สังคมการทำงานในยุคนี้ มีรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ นั่นก็คือ จำนวนผู้เป็นเจ้าของกิจการเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้แบ่งแยกว่าต้องเป็นกิจการลักษณะไหน ถึงจะเปิดเป็นช้อปเล็กๆ เปิดท้ายขายของตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ หรือเปิดกิจการแบบรถเข็น ฯลฯ ก็นับว่าเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัวหมดนั่นแหละครับ

ทางเลือกของคนในยุคปัจจุบัน ถ้าไม่อยากเป็นมนุษย์เงินเดือน ก็ยังมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการส่วนตัวได้ ยังมีช่องว่างให้ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ทำในสิ่งที่ไม่เหมือนใคร อย่างเช่น ผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการเกษตร ส่งไปตีตลาดต่างประเทศ หรืองานศิลปะต่างๆ ซึ่งใครที่มีไอเดียเจ๋งๆ อย่างนี้ ก็น่าที่จะเปิดกิจการส่วนตัวทำรายได้มากกว่ามนุษย์เงินเดือน และเหล่านี้ยังรวมถึงการหารายได้อย่างเช่น การลงทุนในบิทคอยด์ หรือ Forex ก็ได้เหมือนกันนะครับ

อย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่กำลังจะบอกเล่าต่อไปนี้ เป็นแนวทางในการตัดสินใจสำหรับคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่างคุณ ว่าระหว่างการเป็นเจ้าของกิจการ กับการดำรงชีพเป็นมนุษย์เงินเดือน มันมีความแตกต่างกันอย่างไร อย่างน้อยก็น่าจะพอช่วยให้การตัดสินใจ เลือกที่จะเป็นนายหรือลูกน้องมันง่ายขึ้นกว่าเดิม ถ้าฝีมือดี ความคิดดี ไอเดียแปลกใหม่ ทำตลาดได้แน่นอน

หากอยากลองพิสูจน์ตัวคุณเอง วันนี้ก็ยังพอมีช่องว่างให้แทรกตัวและเติบโตได้ครับ ลองพิจารณาและไตร่ตรองปัจจัยเหล่านี้ดูครับ…

1.อยากเป็นอิสระ

เชื่อว่าพนักงานกินเงินเดือน ที่อยู่ในระดับบริหารหรือระดับปฏิบัติการ อาจรู้สีกเบื่อหน่ายกับกฏระเบียบของบริษัท หรือแม้กระทั่งการนำเสนอความคิดเห็นตามสไตล์หนุ่มไฟแรง มักจะไม่ได้รับความเห็นชอบจากเจ้านายสักเท่าไหร่ ผ่านการอนุมัติยากแสนเข็น ทั้งที่คุณคิดว่าเป็นไอเดียที่ยอดเยี่ยม ทำตลาดได้แน่นอนก็ตาม

แน่นอน ถ้าคุณออกมาเปิดกิจการส่วนตัว รับรองว่าต้องมีอิสระทางความคิดแน่ แต่ขณะเดียวกัน คุณก็ต้องดูด้วยว่าตนเองมีความพร้อมแค่ไหนที่จะกางปีกบินเอง ต้องคำนึงถึงเงินทุน ช่องทางการตลาดใหม่ๆ รวมทั้งการบริหารงาน การจัดการต่างๆ ถ้าแน่ใจว่าทำได้แน่ๆ ก็ลองดูสิครับ แต่อย่าลืมความรู้สึกนี้เวลามีลูกน้องด้วยก็แล้วกัน

2. ทำเงินได้มากขึ้น

รายได้จากเงินเดือนอาจไม่เพียงพอ เลยทำให้คุณคิดการใหญ่อยากมีเงินใช้เยอะกว่าเก่า แต่อย่าลืมว่า การลงทุนเปิดกิจการส่วนตัวมีความเสี่ยงสูง และต้องใช้เวลาในการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคทางธุรกิจ มากกว่าการเป็นลูกจ้างด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือน อย่างน้อยคุณก็สามารถคำนวณได้ว่ารายได้และรายจ่ายในแต่ละเดือนเท่าไหร่ มันง่ายกว่าการเป็นเจ้าของกิจการ ที่ต้องคำนวณรายรับและรายจ่ายเช่นกัน แต่การคำนวณหนักหน่วงกว่า

ถ้าลองทำเงินติดลมแล้ว ก็ถือว่าโชคดีครับ แต่ถ้าเผื่อขาดทุนหล่ะ ต้องคิดในมุมกลับด้วย อย่ามองมุมเดียว อาจผิดหวังได้ ที่สำคัญ การลงทุนทำกิจการส่วนตัว ต้องมีเงินสำรองเผื่อไว้สำหรับใช้ในช่วงขาดทุน หรือช่วงที่กำลงัฟักไข่ด้วย ไม่มีเงินหมุนเลยก็อาจไปไม่รอดเหมือนกัน

3.เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย

อาการเบื่อของลูกจ้างประจำมีหลายสาเหตุ เบื่องานที่ทำ เบื่อการถกเถียง เบื่อเพื่อนร่วมงานที่ก้าวหน้าไป ทั้งที่ไม่ได้ทำงานอะไร นอกจากตามเจ้านายต้อยๆ

ความเบื่อหน่ายของคนมีขีดจำกัด ทนได้ก็ทนต่อไป ยิ่งถ้าคุณไม่มีหนทาง โอกาสหรือจังหวะที่ดี ผลีผลามไปก็อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ ยกเว้นเสียแต่ว่า คุณทนกับสภาพแวดล้อมไม่ได้จริงๆ และคิดว่าบริษัทไหนๆ ก็เหมือนกัน

ถ้าคุณยังคงเป็นแค่มนุษย์เงินเดือน ก็ลองหาแนวทางดีๆ มองหาลู่ทางที่จะทำกิจการส่วนตัว เตรียมรับภาระการบริหารที่หนักหนากว่าการเป็นพนักงาน แล้วก็โดดไปเลยซิครับ

4.ไม่อยากมีเวลาว่าง

สำหรับผู้ที่บริษัทจ้างไว้ทำงาน เหมือนกับเกรงใจว่างานจะหนัก หรือทำให้คุณมีเวลาว่างมากเสียจนรู้สึกรำคาญตัวเอง ทั้งเวลาว่างหรือการทำงานที่ซ้ำซากเหมือนเดิมทุกวัน การสร้างกิจการส่วนตัวแก้ปัญหานี้ได้ครับ รับรองว่าคุณจะยุ่งวุ่นวายชนิดที่ความเครียดเกาะติดไม่ไปไหน ไม่มีเวลาว่างให้ใคร ทั้งในช่วงที่วุ่นวายที่สุด หรือช่วงที่ไม่มีงานก็ยังคงวุ่นอยู่ ในช่วงที่งานไม่มี มันก็จะวุ่นวายกับการหางานเข้าบริษัทไงหล่ะครับ ขืนไม่หา เงินก็ไม่เข้าบริษัท อดตายกันทั้งนายทั้งลูกน้องนั่นแหละครับ

5.อยากมีชื่อเสียง

เข้าทำนอง…เป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางราชสีห์ เลยหาทางดิ้นรนออกมาเปิดกิจการส่วนตัว เพื่อสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง ถ้าทำรุ่งก็ยังมีหน้ามีตา ใครต่อใครก็อยากสัมภาษณ์ลงหนังสือหรือเชิญไปงานสังคม แต่ถ้าทำแล้วร่วง ก็คงต้องหลบหน้าหลบตาไปเลียแปผลใจแทนนะซิครับ

ลองคำนวณก่อนการตัดสินใจดีกว่า ว่าคุณพร้อมกับการเป็นเจ้านายตัวเอง และเจ้านายคนอื่นๆ หรือยัง ถ้ายัง ก็จงยินดีที่จะเป็นมนุษย์เงินเดือน รักกงานที่ทำ และรับผิดชอบงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

Image by StartupStockPhotos from Pixabay

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.