รองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๔๓
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เราเพิ่งได้ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรมคนใหม่สดๆ ร้อนๆ คือ รองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก ผู้ซึ่งเป็นสถาปนิกที่สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมไทยดีเด่นมากมาย อีกทั้งยังเป็นอาจารย์ และนักวิชาการผู้มีผลงานอันเป็นที่ยอมรับในวงการสถาปัตยกรรมไทยมาเป็นเวลายาวนาน
รองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ ที่กรุงเทพมหานคร สำเร็จการศึกษาปริญญาศิลปบัณฑิต (เกียรตินิยม) ทางสถาปัตยกรรมไทย จากมหาวิทยาลัยศิลปากร และประกาศนียบัตรชั้นสูงทางสถาปัตยกรรมไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์โท ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกเหนือจากงานการสอนอันเป็นงานหลักในหน้าที่แล้ว ท่านยังได้ทำงานทางด้านการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการและสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรมไปพร้อมๆ กัน
ผลงานทางวิชาการของรองศาสตราจารย์ฤทัย ที่ทำมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน มีทั้งงานด้านการวิจัย งานเรียบเรียงเอกสารทางวิชาการ งานเขียนบทความทางวิชาการ ฯลฯ ผลงานทางวิชาการที่ดีเด่นได้แก่
ทำการวิจัยและวิเคราะห์เรื่อง “เรือนไทยเดิม” ซึ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น จากสภาวิจัยแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๑๗
เรียบเรียงเอกสารทางวิชาการเรื่อง “บ้าน” ในโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนโดยพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เรียบเรียงเอกสารทางวิชาการเรื่อง “สถาปัตยกรรมไทยกับพระพุทธศาสนา” ในวารสารหน้าจั่ว
เรียบเรียงเอกสารทางวิชาการเรื่อง “คนไทยอยู่อย่างไรในอดีต”
เรียบเรียงเอกสารทางวิชาการเรื่อง “เครื่องใช้ไม้สอยของพวกโซ่ง” ลงในวารสารเมืองโบราณ
เรียบเรียงเอกสารทางวิชาการเรื่อง “เยี่ยมเรือนไทยใหญ่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน” ลงในวารสารสถาปัตยกรรมของสมาคมสถาปนิกสยาม
เขียนบทความทางวิชาการลงในหนังสือรายปีของสมาคมสถาปนิกสยาม
ร่วมสัมมนาปรับปรุงหลักสูตรของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ฯลฯ
ส่วนการสร้างสรรค์ทางด้านสถาปัตยกรรมนั้น รองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก ได้ออกบแบบงานทางสถาปัตยกรรม ที่มีเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยอันสมบูรณ์ทั้งด้านความงามและประโยชน์ใช้สอย ผลงานการออกแบบที่เด่นๆ ได้แก่
ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสาคร
ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง ศูนย์วัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐมซึ่งได้รับรางวัลผลงานที่สมควรจัดแสดงและเผยแพร่อย่างยิ่ง จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ออกแบบพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองกำแพงเพชร ในโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกและงานฉลองราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
ออกแบบศาลหลักเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ออกแบบพระอุโบสถวัดป่าชัยรังษี จังหวัดสมุทรสาคร
ออกแบบพระอุโบสถวัดญาณเวศกวัน ที่ตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ออกแบบอนุสาวรีย์หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกองเพล จังหวัดหนองบัวลำพู
ฯลฯ
นอกจากงานการปฏิบัติราชการในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดจนงานทางวิชาการ และงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมแล้ว รองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก ยังได้ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์อีกหลายด้าน อาทิ เป็นอาจารย์พิเศษและกรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ในสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่งของทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นวิทยากรและผู้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตยกรรมไทยให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกรรมการในคณะทำงานที่เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมของชาติ หลายคณะ และเข้าร่วมการสัมมนาเกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมไทยอย่างสม่ำเสมอ
ด้วยความรู้ความสามารถอันดีเด่น และด้วยกำลังกายและใจที่ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ ทำให้รองศาสตราจารย์ฤทัยได้รับรางวัลและเกียรติคุณหลายประการ อันได้แก่
รางวัลงานวิจัยดีเด่นอันดับ ๓ ประจำปี พ.ศ.๒๕๑๗ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
รางวัลผลงานที่สมควรจัดแสดงและเผยแพร่อย่างยิ่งของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
เป็นนักศึกษาเก่าดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๕ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร
เป็นนักศึกษาเก่าดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๖ และ ๒๕๓๙ ของสมาคมนักศึกษาเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รางวัลผลงานการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมไทย ประเภทกิจกรรมและโครงการดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๙ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงเกียรติคุณทั้งปวงที่ รองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก ได้สั่งสมมา จึงได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะสถาปัตยกรรม ประจำปี ๒๕๔๓
ผมได้พบกับ อาจารย์ฤทัย ใจจงรัก โดยบังเอิญในวันหนึ่งขณะที่ผมไปทำกิจธุระที่มหาวิทยาลัย
ศิลปากร จึงได้รีบ่เข้าไปทำความเคารพท่านและเล่าเรื่องโครงการภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติเพื่อขอนัดถ่ายภาพท่านในทันที หลังจากนั้นไม่นานอาจารย์ฤทัยก็ได้นัดหมายให้ผมไปถ่ายภาพท่านที่เรือนไทยของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อันเป็นผลงานการออกแบบชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของท่าน ผมได้แวะไปดูสถานที่ล่วงหน้าเพื่อหามุมถ่ายภาพและดูทิศทางของแสง และได้ข้อสรุปว่าเวลาที่เหมาะสมกับมุมที่ผมเลือกนั้น จะต้องเป็นเวลาเช้า เนื่องจากแสงอาทิตย์ที่ส่องมาจากทางทิศตะวันออก จะส่องมาทางด้านหน้าของศาลาซึ่งเป็นมุมที่ผมเลือกไว้พอดี ผมไปรับอาจารย์ฤทัยที่บ้านย่านบางขุนนนท์ เวลา ๘.๐๐ น. พอดีและขับรถไปถึงมหาวิทยาลัยมหิดลในเวลาประมาณ ๘.๓๐ น. ในขณะนั้นอากาศสดใสเป็นพิเศษ เหมาะกับการถ่ายภาพงาน
สถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง แม้ว่าแสงจะดูแข็งไปสักนิดสำหรับถ่ายภาพบุคคล เนื่องจากเป็นฤดูร้อน ดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วมากทำให้แสงสว่างจัดมาก ซึ่งหากจะให้ได้แสงที่อ่อนนุ่มกว่านี้ คงจะต้องถ่ายเร็วกว่านี้สักครึ่งชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ทิศทางของแสงก็ยังอยู่ในองศาที่พอเหมาะ ไม่สูงเกินไปเพียงแต่ทำให้อาจารย์ฤทัยต้องตากแดดที่ร้อน และมีอาการตาหยีไปบ้างเท่านั้น นอกจากมุมที่ผมเลือกไว้แล้ว ผมยังได้เดินหามุมถ่ายภาพอาจารย์ฤทัยอีกหลายมุมจนเป็นที่พอใจจึงพาอาจารย์ฤทัยไปส่งที่บ้าน เป็นอันได้ภาพศิลปินแห่งชาติมาให้ชมกันอีกท่านหนึ่งนี่แหละครับ
จากผลงานดีเด่นที่ รองศาสตราจารย์ฤทัย ใจจงรัก ได้พากเพียรสร้างสรรค์มาจนเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ท่านเป็นบุคคลสำคัญในวงการสถาปัตยกรรมไทยยุคปัจจุบันผู้มีส่วนธำรงรักษา สร้างสรรค์ และสืบทอดเอกลักษณ์ของชาติทางด้านนี้ให้คงความสง่างามอยู่บนแผ่นดินไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย