นางผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๕
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
เมื่อกล่าวถึงนักร้องลูกทุ่งแล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธว่า คุณผ่องศรี วรนุช เป็นยอดแห่งนักร้องลูกทุ่งหญิงในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดอย่างต่อเนื่องและยาวนานไม่มีใครเทียบได้ นับตั้งแต่เข้าสู่วงการเพลงเมื่ออายุเพียง ๑๔ ปี จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นเวลาถึง ๔๘ ปี ท่านได้แสดงให้คนทั้งประเทศเห็นถึงความสามารถ จนเป็นที่ยอมรับ และได้สร้างผลงานการขับร้องเพลงอันดีเด่นไว้มากมาย
คุณผ่องศรี วรนุช เกิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ ที่จังหวัดชัยนาท ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี ในวัยเด็ก ได้เรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ แต่เนื่องจากฐานะทางบ้านขัดสน จึงจำต้องลาออกจากโรงเรียนเพื่อหางานทำจุนเจือครอบครัว
นับตั้งแต่เล็กๆ คุณผ่องศรีมีความรักทางด้านการร้องเพลงเป็นพิเศษ ดังนั้น เมื่อสบจังหวะที่ละครเร่คณะของคุณหนู สุวรรณประกาศได้เดินสายไปแสดงที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท คุณผ่องศรีจึงได้ไปสมัครเพื่อขอทำงานกับคณะละครเร่นี้ ซึ่งคุณหนูก็มองเห็นว่าคุณผ่องศรีมีหน่วยก้านดีจึงได้เมตตารับไว้ใช้งานทั่วไปในคณะ ในระหว่างนั้น คุณหนูก็ได้ทราบว่าคุณผ่องศรีมีความสนใจในการร้องเพลงเป็นพิเศษ ทั้งยังมีน้ำเสียงที่ดีมาก จึงได้สนับสนุนให้มีโอกาสขึ้นร้องเพลงสลับฉากหน้าม่าน และเล่นเป็นตัวประกอบเป็นครั้งคราว ซึ่งคุณผ่องศรีก็ได้แสดงความสามารถอย่างโดดเด่น ทั้งยังกระตือรือร้นฝึกฝนการเต้นระบำประกอบเพลงจนแคล่วคล่องเป็นที่พอใจของคุณหนูเป็นอย่างยิ่ง ทำให้ค่อยๆ ขยับฐานะจากนักแสดงประกอบ เป็นตัวแสดงที่สำคัญขึ้น และกลายเป็นนางเอกประจำคณะในที่สุด นับเป็นนางเอกที่อายุน้อยที่สุดในคณะ
เมื่อคุณผ่องศรีร่วมงานอยู่กับคณะละครเร่กับคณะของคุณหนู อยู่ประมาณ ๒ ปี คุณวัลลภ วิชชุกร พระเอกประจำคณะก็ได้แนะนำว่าน้ำเสียงดีขนาดนี้ น่าจะเข้ากรุงเทพฯ เพราะอาจได้มีโอกาสร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง และรับปากว่าจะช่วยพาไปฝากกับครูมงคล อมาตยกุล ครูเพลงผู้โด่งดังในยุคนั้น เมื่อได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว คุณผ่องศรีก็ได้ตัดสินใจกราบลาคุณหนูหัวหน้าคณะ เพื่อไปหาความก้าวหน้าแก่ชีวิตของท่านเอง
เมื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯแล้ว คุณวัลลภ วิชชุกร ก็ได้พาคุณผ่องศรีไปหาครูมงคล อมาตยกุล ตามที่ได้รับปากเอาไว้ ซึ่งครูมงคลก็ได้ตกลงรับไว้เป็นศิษย์และได้ให้ขึ้นร้องเพลงตามงานต่างๆ เป็นครั้งคราว ทำให้คุณผ่องศรีมีรายได้เลี้ยงชีพ และสามารถเก็บเล็กผสมน้อยจนได้เงินจำนวนหนึ่ง และได้นำเงินก้อนนี้ไปซื้อเพลง “หัวใจไม่มีใครครอง” ของคุณสุรพล พรภักดี เพื่อบันทึกแผ่นเสียงของตนเองเป็นเพลงแรกในชีวิตเมื่อปี ๒๔๙๘ โดยมี ครูมงคล อมาตยกุล เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสานให้
เมื่อ ครูสุรพล สมบัติเจริญ ผู้ซึ่งกำลังเป็นนักร้องลูกทุ่งที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้นได้ฟังเพลง “หัวใจไม่มีใครครอง” ที่คุณผ่องศรีเป็นผู้ขับร้องแล้ว ก็เกิดความประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอให้ครูสำเนียง ม่วงทอง เขียนเพลง “ไหนว่าไม่ลืม” ให้คุณผ่องศรีร้องบันทึกแผ่นเสียงเพื่อเป็นเพลงแก้กับเพลง “ลืมไม่ลง” ที่ครูสุรพลได้ขับร้องเอาไว้แล้วก่อนหน้านั้น ปรากฏว่า เมื่อเพลงนี้ได้ออกเผยแพร่ทางวิทยุแล้วก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงยิ่ง ทำให้คุณผ่องศรีมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้ร้องเพลงกับครูสุรพลอีกหลายเพลง เช่น ครูสุรพลร้องเพลง หนาวจะตายอยู่แล้ว คุณผ่องศรีร้องแก้ในเพลง หนาวแล้วหรือพี่ ครูสุรพลร้องเพลง ลูกแก้วเมียขวัญ คุณผ่องศรีร้องแก้ในเพลง อาลัยรัก ครูสุรพลร้องเพลง น้ำตาผัว คุณผ่องศรีร้องแก้ในเพลง น้ำตาเมียหลวง เป็นต้น
จากนั้นมา นักร้องชายทั้งหลายต่างปรารถนาที่จะได้ร้องเพลงร่วมกับคุณผ่องศรีด้วยกันทั้งสิ้น เพราะโอกาสที่เพลงนั้นๆ จะดังตามเพลงของคุณผ่องศรีไปด้วยมีสูงมาก ทำให้มีนักร้องชายที่โด่งดังเกิดขึ้นในวงการมากมาย
ชีวิตของคุณผ่องศรีรุ่งโรจน์ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี ๒๕๐๘ ท่านได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานเป็นครั้งแรกจากการขับร้องเพลง “กลับบ้านเถิดพี่” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของ สมโภชน์ ล้ำพงษ์ เมื่อมีชื่อเสียงโด่งดังเต็มที่ และเป็นนักร้องลูกทุ่งหญิงยอดนิยมอันดับ ๑ ของเมืองไทยแล้ว คุณผ่องศรีก็ได้จัดตั้งวงดนตรีลูกทุ่งของตนเองขึ้น และประสบความสำเร็จได้รับการต้อนรับจากประชาชนอย่างอบอุ่นยิ่ง
ภายหลังจากที่ครูสุรพล สมบัติเจริญ ถูกลอบยิงจนเสียชีวิตเมื่อปี ๒๕๑๑ บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลายต่างพากันขนานนามเพื่อเป็นเกียรติแก่ยอดศิลปินเพลงลูกทุ่งผู้วายชนม์ท่านนี้ให้เป็น “ราชา เพลงลูกทุ่ง” และเนื่องจากครูสุรพล และคุณผ่องศรี วรนุช เป็นนักร้องคู่ขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเพลงลูกทุ่งไทย สื่อมวลชนจึงได้ขนานนามให้คุณผ่องศรีเป็น “ราชินีเพลงลูกทุ่ง” ไปด้วย
นอกจากรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานที่คุณผ่องศรีได้รับเมื่อปี ๒๕๐๘ แล้ว ท่านยังได้รับรางวัลที่เป็นเครื่องหมายแห่งความสามารถอีกมากมาย อาทิ
– ได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทานรางวัลอีกครั้ง จากเพลง “โธ่ผู้ชาย” เมื่อปี ๒๕๒๒
– ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน ๓ ปีซ้อน จากเพลง “กินข้าวกับน้ำพริก” เมื่อปี ๒๕๑๘ เพลง “เขาเมาทุกวัน” เมื่อปี ๒๕๑๙ และเพลงจันทร์อ้อน เมื่อปี ๒๕๒๐ ทำให้ได้รับรางวัลพระราชทานพิเศษจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะผู้ชนะเลิศรางวัลเสาอากาศทองคำ ๓ ปีซ้อน
– ได้รับรางวัลพระราชทานเนื่องในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยครั้งที่ ๑ จากเพลงไหนว่าไม่ลืม และครั้งที่ ๒ จากเพลง ฝากดิน
– ได้รับการประกาศเกียรติคุณในฐานะนักร้องผู้ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้องและชัดเจน เมื่อปี ๒๕๓๔
เมื่ออายุมากขึ้น คุณผ่องศรีก็ได้เลิกวงดนตรี และรับงานการแสดงน้อยลง แต่ยังคงออกแสดงในงานสำคัญต่างๆ เป็นครั้งคราว ทั้งยังได้ช่วยกิจกรรมการกุศลและสาธารณประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ
คุณผ่องศรี วรนุช นับเป็นผู้ที่ใช้พรสวรรค์ และความสามารถสร้างตนเองมาจากเด็กหญิงตัวเล็กๆ จนประสบความสำเร็จอย่างสุดยอด เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีผลงานเพลงยอดนิยมอันเป็นอมตะนับไม่ถ้วน เป็นนักร้องลูกทุ่งต้นแบบที่นักร้องหญิงรุ่นหลังยึดถือเป็นแบบฉบับ และพยายามเจริญรอยตาม เป็นผู้ที่ได้สร้างนักร้องชายจนมีชื่อเสียงโด่งดังมากมายหลายคน และเป็นศิลปินอาวุโสที่ได้รับความเคารพรักและยกย่องจากบุคคลทั้งในและนอกวงการเพลงโดยทั่วไป จากเกียรติคุณทั้งหมดนี้ ทำให้ท่านได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(นักร้องลูกทุ่ง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕
ผมได้เดินทางไปถ่ายภาพที่บ้านคุณผ่องศรี วรนุช เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้น ผมได้ไปเดินซื้อผ้าที่ย่านพาหุรัด เพื่อนำมาเป็นฉากสำหรับถ่ายภาพที่ผมคิดแบบเอาไว้แล้วในใจ โดยตั้งใจว่าอยากจะแสดงความเป็นนักร้องลูกทุ่งของท่านออกมาในภาพ ซึ่งตามปกติที่เราคุ้นเคยนั้น เรามักจะเห็นนักร้องลูกทุ่งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ปักเลื่อมระยิบระยับแพรวพราวสีสันสดใส จึงได้จับเอาจุดนี้มาเป็นจุดเด่น เมื่อเลือกซื้อผ้าทำฉาก ก็พยายามเลือกให้เป็นไปในทางเดียวกันด้วย ผมได้นำผ้าที่ซื้อมานั้นมาทำเป็นลักษณะเหมือนผ้าม่านและวางท่าให้คุณผ่องศรีดูเหมือนกับว่ากำลังเปิดม่านออกมาพบกับแฟนเพลง ท่านได้เปลี่ยนชุดให้ผมถ่ายภาพถึง ๓ ชุด เป็นชุดผาไหมไทย ๒ ชุด และเป็นชุดปักเลื่อมที่เห็นในภาพนี้อีก ๑ ชุด ซึ่งเมื่อดูโดยรวมแล้ว ผมชอบชุดที่ผมเลือกมานี้มากที่สุด เพราะเข้ากันกับฉากที่เตรียมไว้ และสื่อถึงความเป็นนักร้องลูกทุ่งได้อย่างดี ซึ่งคุณผ่องศรีก็สามารถวางท่าทางได้อย่างดูเป็นธรรมชาติยิ่ง ทำให้การถ่ายภาพเป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อย และสำเร็จลงด้วยดี
แม้ว่าในปัจจุบันนี้ คุณผ่องศรี วรนุช จะสูงวัยขึ้น และรับงานแสดงลดลงกว่าแต่เดิมมาก แต่ท่านก็ยังคงเป็นนักร้องที่อยู่ในหัวใจของแฟนเพลงอย่างไม่รู้คลาย สมกับฉายา “ราชินีเพลงลูกทุ่ง” อย่างแท้จริง
ขอเชิญเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติ ผลงานของนิติกร กรัยวิเชียร ณ หอศิลป์แห่งชาติ ถนนเจ้าฟ้า ในวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ในการนี้ได้รวบรวมภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติ และประวัติโดยย่อของศิลปินทุกท่านทั้งภาษาไทยและอังกฤษ จัดพิมพ์เป็นหนังสือปกแข็งเนื้อในพิมพ์ด้วยกระดาษคุณภาพสูงจำหน่ายเล่มละ ๘๐๐ บาท แต่หากท่านผู้อ่านสั่งจองผ่านทางคอลัมน์นี้ จะได้รับส่วนลด ๑๐% เหลือเพียงเล่มละ ๗๒๐ บาท (รวมค่าส่งโดยไปรษณีย์ลงทะเบียนแล้ว) หนังสือจัดพิมพ์จำนวนจำกัด โปรดสั่งจองด่วนโดยส่งธนาณัติสั่งจ่าย คุณบรรจง อุ่นกาศ ๗๒/๑๒ ซอยท่านผู้หญิงพหล ถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ โทร.๙๔๑-๒๑๒๑ หมายเหตุ หนังสือเล่มนี้เน้นภาพถ่ายเป็นหลัก มีประวัติศิลปินเพียงโดยย่อไม่ใช่เป็นการรวมเล่มของคอลัมน์นี้ หากท่านผู้อ่านต้องการฉบับรวมเล่มของคอลัมน์ “คนในภาพถ่าย ชุดศิลปินแห่งชาติ” นี้กรุณาอดใจรอนะครับ คาดว่าราวปลายปีคงจะจัดพิมพ์เป็นที่เรียบร้อย