ประหยัด พงษ์ดำ

ประหยัด พงษ์ดำ

ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) พ.ศ. ๒๕๔๑
โดย นิติกร กรัยวิเชียร

ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำ เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ที่จังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี ได้รับการศึกษาในระดับประถมที่โรงเรียนประชาบาลวัดกุฎีทอง จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมที่โรงเรียนนาคประดิษฐ์วิทยาลัย และโรงเรียนสิงหวัฒนาพาหะตามลำดับ ความสนใจในศิลปะของท่านนั้นมีมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยท่านชอบวาดรูปเล่นเสมอๆ ในยามว่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปสัตว์ต่างๆ

ดังนั้นท่านจึงให้ความสนใจกับวิชาศิลปะที่โรงเรียนมากเป็นพิเศษ ซึ่งส่งผลให้ท่านมีพื้นฐานทางศิลปะที่มั่นคง และสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเพาะช่างได้เมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยม ท่านได้ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างเป็นเวลา ๒ ปี ก็สามารถสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ การเรียนของท่านดำเนินไปด้วยดีจนได้รับความไว้วางใจจากท่านศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรีให้ช่วยสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปะในขณะที่ท่านยังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ ๕ และเมื่อท่านจบการศึกษาแล้ว ท่านก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่นั่นอย่างเต็มตัว ท่านได้ทำงานสอนอยู่ระยะหนึ่งก็สามารถสอบชิงทุนไปศึกษาศิลปะที่ประเทศอิตาลีได้ ด้วยพื้นฐานอันมั่นคงที่ได้รับมาเมื่อยังศึกษาอยู่ที่เมืองไทย และความความสามารถเฉพาะตัวในเชิงศิลปะ ตลอดจนผลงานอันโดดเด่นที่เป็นประจักษ์ของคณาจารย์ที่นั่น ศาสตราจารย์ประหยัดจึงได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเริ่มเรียนในชั้นปีที่ ๑ และ ๒ เหมือนคนอื่น แต่ให้ข้ามไปเรียนในชั้นปีที่ ๓ เลย ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการศึกษาท่านได้สร้างความประทับใจ เป็นที่ชื่นชมแก่คณาจารย์เป็นอย่างยิ่ง โดยสามารถทำคะแนนสอบวิชาศิลปะดีเด่นและมีผลงานจำนวนมากที่ได้รับรางวัล ท่านสำเร็จการศึกษาและเดินทางกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรดังเดิมเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ หน้าที่การงานของท่านเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ โดยได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ตั้งแต่หัวหน้าภาควิชาศิลปภาพพิมพ์จนถึงตำแหน่งคณบดี และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ระดับ ๑๐ นอกเหนือจากงานสอนศิลปะอันเป็นงานหลักแล้ว ศาสตราจารย์ประหยัดยังได้เป็นกรรมการและอนุกรรมการในทางวิชาการของทั้งภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร และสถาบันการศึกษาอื่นๆ หลายๆ แห่งเป็นประธานกรรมการและกรรมการตัดสินการประกวดศิลปกรรมที่สถาบันต่างๆ จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปะของภาครัฐและเอกชนหลายคณะ และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาศิลปภาพพิมพ์ในสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง

ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำเกษียณอายุราชการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๗ และแม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้ว ท่านก็ยังคงรับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์มาจนปัจจุบันนี้ นอกเหนือจากงานทางวิชาการที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังผลงานภาพพิมพ์ และงานจิตรกรรม อีกทั้งท่ายังเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในการพัฒนาการออกแบบแสตมป์ไทย ให้ทันสมัยเป็นสากลโดยการนำเอาลักษณ์ของไทย ที่มีแบบอย่างในทางศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม มาออกแบบเป็นดวงแสตมป์ ที่ได้ใช้ติดจดหมายและไปรษณีย์ภัณฑ์ ไปยังทั่วทุกมุมโลก อันเป็นการเผยแพร่เอกลักษณ์อันดีงามของชาติไทยที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งด้วย

ศาสตราจารย์ประหยัดเคยจัดงานแสดงผลงานหลายครั้งที่ภายในประเทศและต่างประเทศ และได้รับรางวัลในการแสดงและการประกวดผลงานศิลปะดังนี้

– รางวัลจิตรกรรมจากแคว้นราซาโน อิตาลี

– รางวัลจิตรกรรมจาแคว้นกูบิโอ อิตาลี

– รางวัลจิตรกรรมจากสถาบันศิลปะกรุงโรม อิตาลี

– รางวัลประเภทภาพพิมพ์ จากเวียดนาม

– รางวัลที่ ๓ ประเภทมัณฑนศิลป์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๔๙๙

– รางวัลที่ ๒ ประเภทจิตรกรรม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๖๐๑

– รางวัลที่ ๒ ประเภทเอกรงค์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๐๑

– รางวัลที่ ๓ ประเภทจิตรกรรม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๐๑

– รางวัลที่ ๓ ประเภทมัณฑนศิลป์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๐๑

– รางวัลที่ ๒ ประเภทเอกรงค์ จาการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ พ.ศ.๒๕๐๒

– รางวัลที่ ๒ ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๒ พ.ศ.๒๕๐๔

– รางวัลที่ ๒ ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ พ.ศ.๒๕๐๕

– รางวัลที่ ๑ ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ พ.ศ.๒๕๐๖

– รางวัลที่ ๓ ประเภทมัณฑนศิลป์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ พ.ศ.๒๕๐๖

– รางวัลที่ ๓ ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแหงชาติครั้งที่ ๑๕ พ.ศ.๒๕๐๗

– รางวัลที่ ๓ ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๒๕

– รางวัลที่ ๑ ประเภทภาพพิมพ์ จากการแสดงสิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๒๗

งานที่ภาคภูมิใจที่สุดงานหนึ่งในชีวิต ของศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำคือการที่ได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท่านเขียนภาพประกอบในหนังสือมหาชนด้วยท่านหนึ่ง หลังจากนั้น ท่านก็ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ออกแบบและเขียนภาพเพดานโบสถ์ วัดหลวงพ่อโสธร ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพระราม ๙ ร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา เถาทองอีกด้วย นอกจากนั้น ท่านยังได้รับเกียรติคุณอีกนานาประการ ที่สำคัญคือท่านได้รับเลือกเป็นศิลปินเกียรติยศ สาขาภาพพิมพ์ จากสถาบันศิลปะกรุงฟลอเรนส์ อิตาลี โดยรัฐบาลอิตาลี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ ได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติในประเทศไทย และได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ศาสตราจารย์ประหยัด พงษ์ดำได้รับการยกย่องว่าเป็นทั้งครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่ศิษย์อย่างความเสียสละด้วยวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง และเป็นศิลปินที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะทั้งระดับชาติและระดับสากล อีกทั้งยังอุทิศตนทำงานเพื่อวงการศิลปะและสังคมอย่างสม่ำเสมอ ท่านจึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๑

โดยส่วนตัว ผมเคยได้รู้จักท่านอาจารย์ประหยัดมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา แต่ก็เพียงแสดงความคารวะท่านเมื่อเวลาเดินสวนกันภายในมหาวิทยาลัยในฐานะผู้น้อยกับผู้ใหญ่เท่านั้น ไม่เคยมีโอกาสได้สนทนาหรือเล่าเรียนกับท่านเลยเพราะอยู่กันคนละคณะ แต่ท่านก็ยังกรุณาจำผมได้ดีเมื่อเวลาที่ผมโทรศัพท์ไปเรียนขออนุญาตที่จะถ่ายภาพท่านครั้งนี้ ในระยะแรกที่ติดต่อไปนั้น ท่านอาจารย์ติดภารกิจ จึงได้ขอเลื่อนเวลาไปจนกระทั่งท่านพร้อม และนัดกันได้ในวันที่ ๑๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ เมื่อจักรกฤษณ์และผมไปถึงที่บ้านของท่านๆ ก็ได้พาชมรอบๆ บริเวณ รวมทั้งบริเวณที่ท่านใช้ทำงานภาพพิมพ์ซึ่งเป็นที่ซึ่งผมใช้ถ่ายภาพนี้ด้วยในบริเวณดังกล่าว มีทั้งผลงานที่ท่านทำค้างอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งงานที่เสร็จสมบูรณ์ใส่กรอบวาง และประดับเอาไว้หลายภาพ ผมจึงตัดสินใจเลือกสถานที่นี้ถ่ายภาพท่าน โดยจัดให้ท่านนั่งบนโต๊ะทำงานที่แวดล้อมไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานภาพพิมพ์อย่างครบครัน เพียงแต่ขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งสิ่งของต่างๆ ให้เหมาะสมและจัดแสงไฟที่ผมเตรียมมา ผสมผสานกับแสงสว่างตามธรรมชาติ ที่สาดส่องผ่านหน้าต่างด้านข้างและช่องแสงที่หลังคาลงมาก็ได้ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี่แหละครับ ท่านอาจารย์ประหยัดปรารภกับผมว่า โดยส่วนตัวท่านชอบภาพขาวดำมากกว่าภาพสี เพราะมีความคงทนถาวรมากกว่า และให้ความรู้สึกของความ คลาสสิค ดีกว่าผมจึงเลือกเอาภาพขาวดำมาลงเป็นภาพหลักแม้ว่าจะถ่ายไว้ทั้งสีและขาวดำก็ตาม อันที่จริงก็มีเพื่อนฝูงที่สนิทชิดชอบติมาเหมือนกันครับว่าทำไมผมจึงชอบลงภาพขาวดำบ่อยนัก ดูไม่มีชีวิตชีวาเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องนานาจิตตัง ซึ่งผมก็จะได้พยายามเอาใจท่านผู้อ่านเฉลี่ยๆ กันไปก็แล้วกันครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.