ประวัติเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งแน่นอนว่าเครื่องตีจะต้องเกิดขึ้นก่อน นับตั้งแต่การตบมือเป็นต้นมา แล้วจึงถึงเครื่องเป่า ซึ่งการผิวปากเป็นต้นกำเนิด ต่อมาก็ถึงเครื่องดีด แล้วจึงเกิดเครื่องสี ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเครื่องตีเกิดจนครบแล้วจึงมีเครื่องเป่า เครื่องดีด และเครื่องสี แต่หมายเพียงแต่ว่าเครื่องอันแรกที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ขึ้นในประเภทนั้นๆ
๑. เครื่องตี
เครื่องตีที่เปลี่ยนแปลงมาจากการตบมือนั้น มีแยกออกได้หลายสาขา คือ
- แยกไปเป็นกรับ เกราะ โกร่ง กระบอกกระทุ้งอย่างที่พวกข่าเล่น อังกะลุง ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเหล็ก ระนาดทอง ในจำพวกกรับด้วยกันยังแยกกันออกไปได้อีก เช่น กรับเสภา กรับพวง
- แยกไปเป็นฉาบ ฉิ่ง ลูกพรวน กระดิ่ง ระฆัง ระฆังใบบัว เหม่ง ฆ้องโหม่ง ฆ้องคู่ ฆ้องระเบ็ง ฆ้องวง (ใหญ่ และเล็ก) ฆ้องวงนี้กล่าวกันว่าไทยเอาแบบมาจากมอญ แต่ฆ้องวงของมอญวงโค้งขึ้นไปทั้งสองข้าง เวลานั้นมโหรีไทยใช้ผู้หญิงเล่น เมื่อผู้หญิงสมัยนั้นห่มผ้าสไบเฉียงไม่เหมาะแก่การตีฆ้องเช่นนั้น จึงได้เปลี่ยนมาเป็นวงราบล้อมรอบตัวเสีย แต่ว่าฆ้องชวาก็วางราบเช่นเดียวกัน ผิดแต่ว่ามิได้เป็นวงล้อมรอบตัว ใช้วาง ๒ แถวข้างหน้าคนตี ดูลักษณะฆ้องชวาน่าจะเอาอย่างฆ้องคู่ของไทย ซึ่งอุดมอยู่ทางปักษ์ใต้
- แยกไปเป็นกลองขึ้นหนังหน้าเดียว กลองขึ้นหนังสองหน้า ใช้สายหนังโยงกลองขึ้นหนังหน้าเดียวกลึงด้วยหมุด
๒. เครื่องเป่า
เครื่องเป่าที่เปลี่ยนแปลงจากการผิวปากนั้นก็แยกได้เหมือนกัน คือ
- เป่าหลอดไม้, เขาควาย, สังข์, แตร, ขลุ่ยต่างๆ
- เป่าใบไม้, ปี่อ้อ, ปี่ไฉน,ปี่ชวา (ปี่ต่างๆของฝรั่งก็น่าจะอยู่ในสายนี้) ส่วนปี่ใน (นอก และกลาง) คงแยกตอนปี่อ้อ และเชื่อใจว่าเป็นของไทยโบราณแท้ด้วย เพราะลักษณะ และวิธีเป่าไม่มีเหมือนของชาติใดเลย ธรรมดาเครื่องเป่าแบบนี้ของทุกๆชาติในเสียงสามัญ ถ้าเรียงเสียงนิ้วจะต้องเรียงด้วย แต่ปี่ไทยนี้การเป่าเรียงเสียงนิ้วจะสลับสับสนกันโดยมาก
- จ้องหน่อง, เพี้ย, เรไร, นอ, ต้น, แคน, ปี่ซอ (ออร์แกนต่างๆก็น่าจะอยู่ในสายนี้เหมือนกัน) เครื่องต่างๆในสายนี้ลิ้นเหมือนกันทั้งสิ้น จ้องหน่องนั้นใช้เชือกกระตุกเรียกว่าชัก เพี้ยนั้นใช้หัวแม่มือกดตรงหัวเรียกว่าดีด ส่วนเพี้ยเหล็กนั้น พวกก็อยู่เรียกว่า “จองนอง”
๓. เครื่องดีด
เครื่องดีด นั้นได้เคยพบอยู่อย่างหนึ่งซึ่งชาวบ้านป่าเล่นอยู่ เรียกกันว่า “จะเข้ป่า” ทำด้วยไม้กระบอกทั้งปล้อง กรีดเอาผิวนอกขึ้นมาเหลาเป็นสายแล้วเอาไม้ซีกเล็กๆหนุนให้สายตึง ดีดเป็นเสียง บางทีก็สายเดียว บางทีก็สองสาย แต่ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “เงาะป่า” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงบรรยายถึงเครื่องดนตรีของพวกก็อยู่ว่า “จะเข้สองสายทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีก” และจะเข้นี้ในเรื่องตอนนางลำหับดีดก็เรียกว่า “จะเข้ป่า” เหมือนกัน คำว่าจะเข้ป่านี้คงเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นภายหลังเมื่อมีจะเข้แล้ว แต่เดิมมาน่าจะยังไม่มีชื่อหรือมีก็คงเป็นชื่ออื่น อย่างไรก็ตาม จะเข้ป่านี้ น่าจะเป็นต้นสายของเครื่องดีดได้ เพราะเป็นของที่ทำขึ้นโดยง่ายๆใช้ของที่ธรรมชาติสร้างไว้นั้นเอง ฉะนั้นจึงเป็นดังนี้ จะเข้ป่า (๑ สาย แล้ว ๒ สาย) พิณน้ำเต้า, พิณ ๒ – ๓ สาย, กระจับปี่, จะเข้, พิณนั้นมีมากสายขึ้นทุกๆที และมีชื่อเรียกต่างๆกัน ในบาลีกล่าวว่าพิณของพระปัญจสิขร (ปัญจสีขร) มีถึง ๕๐ สาย ซึง และเจ้งของจีนก็คงมาจากสายนี้ ฮาร์ปของฝรั่งก็มีตั้งแต่น้อยสายจนถึงมากสายเหมือนกัน ขิมของจีนซึ่งเป็นเครื่องตีก็จริง แต่ก็ดูเหมือนกลายไปจากเครื่องดีดนี้ แล้วจึงกลายไปเป็นเปียโนของฝรั่งอีกชั้นหนึ่ง
๔. เครื่องสี
เครื่องสีนั้นย่อมเป็นที่แน่นอนว่ามิได้เกิดขึ้นโดยตนเอง เป็นสิ่งแปลงมาจากเครื่องดีดอีกชั้นหนึ่ง เดิมทีเดียวก็เป็นซอ ๒ สาย ๓ สาย แล้วจึงเป็น ๔ สาย ซอ ๒ สายของไทยทั้งซอด้วง และซออู้นัยว่าเปลี่ยนแปลงมาจากจีน (ดูเป็นกำกงกำเกวียนอยู่หน่อย) ส่วนวอ ๓ สายนั้น มีทั้งของไทย ขอม มอญ ชวา และอินเดีย ล้วนแต่มีรูปร่างคล้ายคลึงกันทั้งนั้น ตามความเข้าใจเห็นว่าอินเดียน่าจะเป็นต้นกำเนิด กล่าวโดยเฉพาะซอ ๓ สายของไทยเรา คงถอดแบบจากขอม ซึ่งขอมเอาอย่างจากอินเดียมาก่อนแล้ว