หลังจากที่คุณมองหาอะไรสักอย่างที่จะช่วยเติมเต็มช่วงเวลาอันว่างเปล่าจากการทำงาน และได้ตกลงใจที่จะชักชวนสมาชิกในครอบครัวทำสวนครัวสักแปลงหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อไม่ให้โครงการที่ตั้งไว้พังทลายลงมา บัญญัติ 10ประการต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่มือใหม่หัดปลูกทุกคนควรจะปลูกไว้ในใจให้หยั่งรากลึก เพื่อที่คุณและสมาชิกในครอบครัวจะพัฒนาเป็นหนึ่งในพวกมือเย็น
เตรียมอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการเริ่มต้น : หาเวลาว่างสักวันหนึ่ง แล้วเดินทางไปยังตลาดนัดจตุจักร หรือร้านขายอุปกรณ์ทำสวน เพื่อหาซื้ออุปกรณ์ที่คุณจำเป็นต้องมี ได้แก่ สายยาง, จอบ, ปุ๋ย, ถุงมือยาง, ฝักบัวรดน้ำต้นไม้ และที่สำคัญคือ เมล็ดพันธุ์ที่จะปลูกนั้นเอง อันที่จริงยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่น่าจะมีติดบ้านไว้ในฐานะคนสวนที่ดีในอนาคต แต่สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คือ อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องหาซื้อ (ถ้าไม่มี) หากคุณจะเริ่มต้น
ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป : ถ้าคุณไม่ค่อยแน่ใจในเวลาว่างของตนเอง รวมทั้งไม่ค่อยแน่ใจในความร่วมมือจากสมาชิกในครอบครัวละก็ เริ่มที่แปลงเล็ก ๆ ก่อน อาจจะปลูกใส่กระถาง หรือใส่กระบะไว้ หากมั่นใจแล้วค่อยขยับขยายต่อไป
ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง: สำรวจพื้นที่เสียหน่อย ว่าจุดที่คุณจะนำเมล็ดน้อย ๆ ไปหว่านนั้น ได้รับแสงแดดในปริมาณที่พอเพียงต่อการสังเคราะห์แสง ซึ่งโดยทั่วไป พืชควรจะได้รับแสงแดดวันละราว ๆ 8 ชั่วโมง แต่สำหรับพืชบางชนิดนั้นต้องการร่มเงาเล็กน้อย เช่น แตงกวา หรือผักกาดหอม ก็อาจจะปลูกไว้ข้าง ๆ ต้นมะเขือ หรือใต้หลักไม้เลื้อยอย่างตำลึง เป็นต้น
อย่าให้พืชขาดสารอาหาร: สารอาหารของพืชนั้นอยู่ในดิน คุณควรจะรู้สักนิดดีกว่า ว่าที่ดินของคุณนั้น อุดมสมบูรณ์เพียงพอหรือไม่ โดยการหาซื้อกระดาษลิตมัส (ที่คุณเคยใช้ทดลองวิทยาศาสตร์ในสมัยเด็ก ๆ นั่นแหล่ะ) เพื่อทดสอบความเป็นกรด-ด่างของผิวดิน และอุปกรณ์วัดปริมาณสารอินทรีย์ในดิน ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์การทำสวนทั้งหลาย ซึ่งใช้วิธีการเทียบสีกับแผนภูมิที่ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ แนบมา
การรู้จักสภาพดินที่มีอยู่นั้น จะช่วยให้คุณได้เตรียมปรับสภาพดิน เช่น หากดินมีฤทธิ์เป็นกรด ก็ต้องหาปูนขาวหรือกำมะถันมาช่วย หรือดินแปลงนี้ขาดสารอินทรีย์ที่จะให้พืชพอหรือไม่ หากขาด ก็ต้องนำปุ๋ยหมักมาลงเพื่อให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น
กรุยทางด้วยของถูกเสียก่อน: อย่าพยายามเริ่มต้นด้วยการขุดหลุมฝังเมล็ดพันธุ์ราคาแพง ๆ ควรจะเลือกที่ราคาย่อมเยามาปลูกก่อนเพื่อเป็นการพรวนดินให้ร่วนซุยขึ้นเสียก่อน
เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง: หาความรู้เสียหน่อยเกี่ยวกับพืชที่คุณคิดจะปลูก เช่น ควรปลูกช่วงไหน เพราะการเจริญเติบโตนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศด้วย เช่น หากคุณคิดจะปลูกมะนาวสักต้น ควรจะปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เป็นต้น
ผักพื้นบ้านทนทานกับอากาศแวดล้อม: การเลือกพันธุ์นั้น เลือกพันธุ์พื้น ๆ ที่ใกล้ตัวเสียก่อน เอาชนิดที่ดูแลรักษาได้ง่าย ในสภาพดินฟ้าอากาศของไทย เช่น การปลูกถั่วฝักยาว ซึ่งเป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างร้อน ฝนไม่ค่อยชุก หรืออาจจะปลูกมะกรูด มะนาว ซึ่งปลูกได้ดีในเขตร้อนเช่นกัน
อย่าลืมจดตารางนัดหมายกับต้นใหม่: ทุกครั้งที่ปลูกอะไรใหม่ก็ตาม ให้เช็คเวลาว่างเสียหน่อยว่ามีเพียงพอที่จะเอาใจใส่กับสมาชิกใหม่ของสวนครัวคุณไหม สัก 2 ชั่วโมงในแต่ละสัปดาห์ก็เพียงพอที่จะให้น้ำ ให้ปุ๋ย และภารกิจอื่น ๆ ที่จะตามมา
เตรียมคลังไว้เก็บผลผลิต: เป็นการเตรียมตัวเพื่อก้าวสู่ขั้นที่สองของการเป็นคนสวนนั่นเอง (ใช้ได้ในกรณีที่ค้นพบแล้วว่าสนุกกับการทำสวนจริง ๆ )
สอดส่องช่องทางหาเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มเติม: การค้นหาอะไรใหม่ ๆ มาลองเสมอ ๆ นั้น เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้คุณเพลิดเพลินกับงานอดิเรกของคุณมากยิ่งขึ้น เช่น เสาะหาปฏิทินดูแลต้นมะนาวให้ออกผลนอกฤดูกาล ซึ่งนอกจากจะท้าทายแล้ว ยังช่วยประหยัดในช่วงที่มะนาวราคาแสนแพงได้อีกต่างหาก
เมื่อนับข้อดีได้ครบสิบข้อแล้ว คุณพร้อมที่จะเป็นคนสวนแล้วหรือยัง