นายแมนรัตน์ ศณีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พุทธศักราช ๒๕๓๕
วงการดนตรีสากลในบ้านเราเริ่มเติบโตและเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก ตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่แล้ว คือช่วงก่อนปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ไม่นานเป็นต้นมา และนับวัน วงการนี้ก็ยิ่งคึกคักมีชีวิตชีวา และเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว การที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เนื่องมาจากเรามีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมากมายหลายท่าน ที่ได้ช่วยกันพัฒนาวงการดนตรีสากลอย่างจริงจังจนก้าวขึ้นเทียบเทียมมาตรฐานสากล และถูกต้องตามหลักวิชาการอย่างแท้จริง หนึ่งในท่านเหล่านั้นก็คือ อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ศิลปินแห่งชาติผู้ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจยิ่ง
อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ ๗๒ ปี ท่านมีความสนใจทางด้านดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะบิดาเป็นนักดนตรีที่มีฝีมือสูง แต่แทนที่ท่านจะเรียนดนตรีกับบิดาโดยตรง ท่านกลับแอบนำเครื่องดนตรีของบิดามาฝึกหัดเองจนเกิดความชำนาญ เครื่องดนตรีที่ท่านถนัดที่สุดและเล่นได้ดีเป็นพิเศษก็คือเปียโน
อาจารย์แมนรัตน์มีความรักและกระตือรือร้นในการเล่นดนตรีเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นรวมตัวกับเพื่อนๆ ที่ชอบดนตรีด้วยกันตั้งวงดนตรีชื่อ “คีตเสวี” ขึ้นโดยตัวท่านเองรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวง นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังได้ถวายงานทางดนตรีแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยร่วมเล่นเปียโนกับวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ ที่ทรงก่อตั้งและทรงร่วมบรรเลงดนตรีเป็นประจำที่สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต อาจารย์แมนรัตน์ยังคงถวายงานด้านนี้อย่างสม่ำเสมอมาตราบจนปัจจุบัน
แม้ว่าอาจารย์แมนรัตน์จะมีความรักในทางดนตรีเท่าใดก็ตาม ท่านก็หาได้มีความตั้งใจที่จะยึดดนตรีเป็นอาชีพหลักไม่ ท่านได้เข้าทำงานในบริษัทน้ำมันหลายแห่ง ได้แก่ เชลล์ ม้าบิน เอสโซ่ และโมบิล ตามลำดับ โดยเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรกอย่างสม่ำเสมอตลอดมา แต่เมื่อหน้าที่การงานมากขึ้นทำให้เวลาในการเล่นดนตรีต้องลดน้อยลง ท่านจึงต้องเลิกวงคีตเสวี และยกวงดนตรีนี้ให้เพื่อนไปดำเนินการแทน โดยได้เปลี่ยนชื่อวงเสียใหม่ว่าวง “คีตวัฒน์”
เมื่ออายุได้ ๓๕ ปี หลังจากผ่านชีวิตการทำงานในบริษัทน้ำมันถึง ๔ แห่งแล้ว อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ ก็มีความรู้สึกว่าอยากจะหันมาเอาดีทางดนตรีอย่างจริงจัง ท่านจึงได้ลาออกจากงาน และในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเอง ท่านก็ได้รับทุนให้ไปศึกษาทางดนตรีที่ Berkley School of Music สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ๒ ปี จึงได้เดินทางกลับมาและเริ่มต้นอาชีพทางด้านดนตรีอย่างเต็มตัว โดยได้เข้าร่วมงานกับบริษัทสยามกลการ จำกัด จัดตั้งโรงเรียนดนตรีสยามกลการขึ้น และได้สอนดนตรีรวมทั้งเป็นผู้บริหารโรงเรียนดนตรีแห่งนี้อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่เป็นเวลา ๒ ปี ก่อนที่จะเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ อีก ๑๔ ปี จนเกษียณอายุจึงได้กลับเข้าทำงานที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการอีกครั้งและดำรงตำแหน่งบริหารมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากการเป็นนักดนตรีแล้ว อาจารย์แมนรัตน์ยังเป็นทั้งนักแต่งเพลง อาจารย์ดนตรี และนักแยกและเรียบเรียงเสียงประสานที่มีผลงานดีเด่นเป็นจำนวนมากอีกด้วย
ผลงานการประพันธ์เพลงของอาจารย์แมนรัตน์มีมากกว่า ๑๐๐ เพลง ซึ่งมีเพลงประเภทต่างๆ หลากหลายประเภททั้งเพลงรัก เพลงปลุกใจ เพลงสนุกสนาน ฯลฯ เพลงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปได้แก่ รักเอย ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ ชั่วฟ้าดินสลาย ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงเงิน จับปูดำขยำปูนา รักลวง จากยอดดอย ฯลฯ
ในด้านการแยกและเรียบเรียงเสียงประสานนั้น อาจารย์แมนรัตน์มีผลงานจำนวนมาก ที่สำคัญก็คือท่านเป็นคนแรกที่นำเอาหลักสูตรการแยกและเรียบเรียงเสียงประสานเข้ามาเปิดสอนในประเทศไทย โดยเริ่มต้นหลักสูตรนี้ที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนมีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงทางด้านการแยกและเรียบเรียงเสียงประสานมากมาย
ในส่วนของงานด้านวิชาการและการสอนนั้น อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เริ่มสอนดนตรีเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุเพยง ๒๐ ปีเศษ โดยเป็นอาจารย์พิเศษสอนดนตรีที่โรงเรียนจิตรลดาอยู่ระยะหนึ่ง ภายหลังจากที่กลับจากต่างประเทศก็ได้สอนที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ และเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นต้น อีกทั้งท่านยังได้รับเชิญให้เป็นกรรมการเกี่ยวกับการประกวดและแข่งขันดนตรีตลอดมา อาจารย์แมนรัตน์ได้เขียนตำราดนตรีให้กับโรงเรียนดนตรีสยามกลการหลายเล่ม และมีสถานการศึกษาหลายแห่งที่ได้นำเอาตำราที่ท่านเขียนไปใช้สอนในหลักสูตรดนตรีด้วย
นอกจากผลงานที่กล่าวมาแล้ว อาจารย์แมนรัตน์ยังมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในวงการดนตรีของประเทศไทย กล่าวถือ ท่านเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในระหว่างนั้น ท่านได้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการผลักดัน รวมทั้งเป็นกรรมการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ดนตรีกรรมจนสำเร็จ ทำให้สถานะของนักดนตรี ตลอดจนนักประพันธ์เพลงไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบดังเช่นแต่ก่อน อีกทั้งท่านยังได้ใช้ความรู้ความสามารถในทางดนตรีช่วยเหลืองานการกุศล และงานอันเป็นสาธารณประโยชน์ต่างๆ มิได้ว่างเว้น
อาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หาได้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จเฉพาะทางด้านหน้าที่การงานเท่านั้น หากแต่ท่านยังมีชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น อินทุอร และ ภาธร บุตรสาวและบุตรชายของท่านก็ได้เจริญรอยตามบิดาเข้าตำราลูกไม้หล่นไกลต้นอย่างแท้จริง อินทุอรนั้นเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศตั้งแต่วัยเด็ก ในฐานะของนักเปียโนอัจฉริยะตัวน้อยๆ จากความสามารถของเธอเองประกอบกับการสนับสนุนอย่างแข็งขันของบิดา ทำให้เธอพัฒนาทักษะทางเปียโนจนก้าวมาสู่แถวหน้าของประเทศอย่างน่าภาคภูมิใจยิ่ง ด้านภาธรก็ได้เอาดีทางดนตรีเช่นกันแต่เน้นไปในทางเครื่องเป่า ในปัจจุบันเขาก็เป็นนักแซกโซโฟนคลื่นลูกใหม่ ที่กำลังทะยานขึ้นมาในระดับแนวหน้าอย่างหาตัวจับได้ยากคนหนึ่งเช่นกัน
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้เล็งเห็นว่า าจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เป็นบุคลากรท่านสำคัญผู้ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ทั้งได้ทุ่มเทกายใจในการพัฒนาวงการดนตรีสากลของประเทศไทยอย่างแข็งขันมาเป็นเวลายาวนาน จนทำให้มาตรฐานของวงการดนตรีสากลในประเทศไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศดังเช่นทุกวันนี้ จึงได้พร้อมกันลงมติยกย่องให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕
ผมยังจำได้ดีว่าเมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ ขณะที่ผมยังเป็นนักเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนจิตรลาดนั้น บ้านเมืองอยู่ในยุคที่ประสบภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง บรรดาทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่เป็นรั้วของชาติต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการรบ เพื่อปกป้องประเทศชาติอย่างมากมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยและมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานกำลังใจแด่เหล่าทหารผู้เสียสละเหล่านั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯโปรดกระหม่อมให้ศิลปินเพลงหลายท่าน รวมทั้งอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ แต่งเพลงปลุกใจถวาย เพื่อนำออกเผยแพร่ให้คนไทยเกิดความสามัคคี และตระหนักในหน้าที่ของตนเอง ตลอดจนสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เหล่าทหารทั้งหลาย อาจารย์แมนรัตน์จึงได้แต่งทำนองเพลง “แด่ทหารหาญในสมรภูมิ” และ “จากยอดดอย” ขึ้น ทางโรเรียนจิตรลดาก็ได้นำเพลงทั้ง ๒ นี้ รวมทั้งเพลงอื่นๆ อีกหลายเพลงมาสอนให้พวกเราเหล่านักเรียนร้องหมุนเวียนกันไปทุกๆ เช้าหลังจากเคารพเพลงชาติ เพลงทั้ง ๒ นี้ยังอยู่ในความทรงจำของผมอย่างแม่นยำ จนทุกวันนี้
อันที่จริงอาจารย์แมนรัตน์เป็นศิลปินแห่งชาติท่านแรกๆ ที่ผมไปถ่ายภาพเมื่อผมเริ่มโครงการนี้ใหม่ๆ เมื่อประมาณปีครึ่งที่ผ่านมา ภาพที่ได้ในคราวนั้นก็พอใช้ได้แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของผมเท่าที่ควร จึงได้เรียนท่านว่าผมจะขอถ่ายภาพท่านใหม่อีกครั้ง หลังจากนั้นผมก็ได้ตระเวนถ่ายภาพศิลปินท่านอื่นๆ มากมาย โดยที่ยังมิได้นัดอาจารย์แมนรัตน์ใหม่แต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้ติดต่อขอถ่ายภาพท่านอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าอาจารย์แมนรัตน์ได้ป่วยเป็นงูสวัสดิ์ มีอาการค่อนข้างรุนแรงเพิ่งจะทุเลาลง แต่ก็ยังไม่หายดี ท่านจึงขอผลัดเวลาออกไปก่อน ครั้งถึงต้นเดือนมกราคม ผมจึงได้ติดต่อท่านอีกครั้งซึ่งท่านก็ได้แจ้งให้ทราบว่าท่านพร้อมที่จะให้ผมถ่ายภาพได้แล้ว จึงได้นัดให้ผมไปถ่ายภาพที่โรงเรียนดนตรีสยามกลการ ซึ่งท่านเป็นผู้บริหารอยู่ที่อาคารศูนย์การค้าดิ เอ็มโพเรี่ยม ปากซอยสุขุมวิ ๒๔ เมื่อบ่ายวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๔
สถานที่ที่ผมใช้ถ่ายภาพนี้ เป็นห้องเรียนเปียโนที่มีแกรนด์เปียโนตั้งอยู่ ซึ่งเป็นไปตามคำขอของผมเนื่องจากอาจารย์แมนรัตน์เป็นนักเปียโนฝีมือยอดเยี่ยม ผมได้เลือกมุมมองที่จะถ่ายภาพอาจารย์แมนรัตน์หลายมุมทั้งขณะกำลังเล่นเปียโนและในอิริยาบถอื่นๆ โดยพยายามหลีกเลียงที่จะถ่ายภาพท่านในมุมมองที่จะไปซ้ำกับศิลปินแห่งชาตินักเปียโนท่านอื่นๆ หลายท่านที่ผมเคยถ่ายมาแล้ว หลังจากที่ได้เลือกรูปอยู่นาน ผมก็ตกลงใจเลือกภาพที่ท่านยืนกอดอกพิงเปียโนท่าทางสบายๆ มาเป็นภาพหลักของฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ผมก็ได้นำเอาภาพอื่นๆ ทั้งที่ถ่ายเมื่อปีเศษที่ผ่านมาในลักษณะที่กำลังนั่งแต่งเพลง และภาพอื่นๆ ที่ถ่ายในคราวใหม่นี้มาให้ชมกันหลายภาพด้วยครับ
หากจะมองย้อนกลับไปถึงพัฒนาการของดนตรีสากลในประเทศไทย คงต้องยอมรับว่าอาจารย์แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งทั้งในฐานะของนักดนตรี นักประพันธ์เพลง นักแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน และในฐานะของครูบาอาจารย์ที่ได้ร่วมสร้างสรรค์วงการนี้จนแข็งแรง ท่านจึงเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องเป็นอย่างยิ่ง