นายสมนึก ทองมา

นายสมนึก ทองมา

นายสมนึก ทองมา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช ๒๕๔๒
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

เพลงลูกทุ่งนับเป็นศิลปวัฒนธรรมอันสำคัญที่สื่อแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของคนไทยทั้งที่อยู่ในชนบท และที่เข้ามาทำมาหากินอยู่ในกรุงเทพมหานครได้อย่างดีที่สุด จุดเด่นประการสำคัญของเพลงลูกทุ่งก็คือการใช้ถ้อยคำที่จริงใจตรงไปตรงมาเข้าใจง่าย แฝงด้วยลีลาการประพันธ์ที่แหลมคม สามารถชักนำให้ผู้ฟังคล้อยตามอารมณ์เพลงจนเห็นเป็นภาพได้อย่างชัดเจน เพลงลูกทุ่งที่ดีจึงนับเป็นผลผลิตทางภูมิปัญญาที่เปี่ยมด้วยอัจฉริยภาพของผู้ประพันธ์อย่างแท้จริง ในฉบับนี้ผมจะได้พาท่านไปรู้จักกับครูผู้ประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงลูกทุ่ง ที่มีผลงานยอดนิยมมากที่สุดท่านหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่งไทย ผู้มีนามจริงว่า นายสมนึก ทองมา หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในนามของ “ชลธี ธารทอง” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ประจำ ๒๕๔๒

คุณชลธี ธารทอง เกิดเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ ที่จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันอายุ ๖๔ ปี ท่านสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

นับตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นมา ครูชลธีมีความรักและสนใจในการขับร้องเพลงลูกทุ่งเป็นพิเศษ และเคยเป็นนักร้องเพลงเชียร์ที่โรงเรียนด้วย เมื่อเรียนจบระดับมัธยมแล้ว จึงได้ไปสมัครเป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงอยู่กับหลายคณะ ต่อมาด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งอาชีพให้ได้ ท่านจึงไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูสำเนียง ม่วงทอง หัวหน้าวงดนตรีรวมดาวกระจาย ซึ่งครูสำเนียงก็ได้สนับสนุนให้ท่านได้เป็นนักร้องนำในวงดนตรีลูกทุ่งสมดังหวัง พร้อมทั้งตั้งชื่อ “ชลธี ธารทอง” ให้อีกด้วย ต่อมาครูชลธีก็ได้ย้ายไปร้องเพลงกับวงดนตรีลูกทุ่งอื่นๆ อีกหลายคณะ เช่น วงดนตรีของ ผ่องศรี วรนุช และวงดนตรีของ สุรพล สมบัติเจริญ เป็นต้น แต่หลังจากที่ได้เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งระยะหนึ่ง ครูชลธีก็รู้สึกว่า ท่านเองไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จึงได้เปลี่ยนงานไปจัดรายการวิทยุ และแสดงภาพยนตร์แทน

ครูชลธี ธารทอง ได้หวนกลับสู่วงการเพลงลูกทุ่งอีกครั้งหลังจากที่ได้หันเหชีวิตไปประกอบอาชีพอื่นอยู่เป็นเวลานาน แต่ในครั้งนี้เป็นการกลับมาในฐานะของนักแต่งเพลงลูกทุ่ง หาใช่ในฐานะของนักร้องดังเดิมไม่ ย้อนหลังกลับไปเมื่อครั้งยังเรียนหนังสืออยู่ ครูชลธีมีความสนใจและให้ความสำคัญกับวิชาภาษาไทยเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประพันธ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ดังนั้นท่านจึงมีพื้นฐานทางด้านนี้เป็นอย่างดี ส่งผลให้เพลงที่ท่านแต่งตั้งแต่เพลงแรกคือเพลง “พอหรือยัง” ซึ่งขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ โด่งดังขึ้นมาทันที และพลอยทำให้ศรคีรี ศรีประจวบ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก กลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปด้วย

จากนั้นมา ครูชลธีก็ได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง และด้วยความสามารถในการประพันธ์ที่หลากหลายรูปแบบทั้งเนื้อร้องและทำนองเพลงที่ไพเราะสละสลวย และเปี่ยมด้วยความหมายที่หยั่งลึกถึงจิตใจผู้ฟัง ทำให้เพลงของท่านเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง นับจนถึงปัจจุบันมีผลงานเพลงที่ท่านประพันธ์มากกว่า ๒,๐๐๐ เพลง ในจำนวนนี้มีนับร้อยเพลงที่โด่งดังไปทั่วประเทศ และหลายเพลงได้ส่งผลให้นักร้องที่นำเพลงของท่านไปร้องมีชื่อเสียงขึ้นมามากมายหลายคน อาทิ

– ศรคีรี ศรีประจวบ จากเพลง พอหรือยัง
– สายัณห์ สัญญา จากเพลง ลูกสาวผู้การ กินอะไรถึงสวย จำปาลืมต้น วานนี้รักวันนี้ลืม ฯลฯ
– ยอดรัก สลักใจ จากเพลง จดหมายจากแนวหน้า รักสาวไกลบ้าน ฯลฯ
– เสกสรร ภู่กันทอง จากเพลง ทหารอากาศขาดรัก
– สดใส รุ่งโพธิ์ทอง จากเพลง หน้าอย่างเธอจะรักใครจริง ฯลฯ
– เสรีย์ รุ่งสว่าง จากเพลง จดหมายจากแม่ คนกล่อมโลก ไอ้หนุ่มรถซุง
– เอกพจน์ วงศ์นาค จากเพลง รักเพราะรอยยิ้ม แอบฝัน ฯลฯ
– บุษบา อธิษฐาน จากเพลง โอ้โฮบางกอก
– สุนารี ราชสีมา จากเพลง มือถือไมค์ไฟส่องหน้า เรารอเขาลืม แฟนฉันไม่ต้องหล่อ ฯลฯ

จากผลงานอันดีเด่น ทำให้ ครูชลธี ธารทอง ได้รับรางวัลและเกียรติคุณต่างๆ มากมาย อันได้แก่
– ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำจากเพลง “น้ำตาอีสาน” เมื่อปี ๒๕๑๘
– ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำจากเพลง “ใต้ถุนธรณี” เมื่อปี ๒๕๒๑
– ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณเนื่องในงานมหกรรมเพลงอาเซียน ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จากเพลง “อีสาวทรานซิสเตอร์” เมื่อปี ๒๕๒๔
– ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำจากเพลง “อีสาวทรานซิสเตอร์” เมื่อปี ๒๕๒๕
– ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำจากเพลง “ห่มธงนอนตาย” เมื่อปี ๒๕๒๙
– ได้รับรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย รวม ๔ รางวัล จากเพลง “ไอ้หนุ่มตังเก ไม้เรียวครู สาวใต้ไร้คู่ และอีสาวทรานซิสเตอร์ เมื่อปี ๒๕๓๒
– ได้รับรางวัลชนะเลิศแต่งเพลงประเพณีสงกรานต์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด เมื่อปี ๒๕๓๓
– ได้รับรางวัลพระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ภาค ๒ รวม ๓ รางวัล จากเพลง “ล้นเกล้าเผ่าไทย” “เทพธิดาผ้าซิ่น” และ “แรงงานข้าวเหนียว” เมื่อปี ๒๕๓๔
– ได้รับรางวัลเพลงลูกทุ่งดีเด่นส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ๓ เพลง คือ “หนาวใจชายแดน” “พบรักนครพนม” และจงทำดี

จากเกียรติประวัติที่กล่าวมา ทำให้ครูชลธี ธารทอง ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๒

จักรกฤษณ์และผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวจังหวัดกาญจนบุรีอีกครั้งเพื่อถ่ายภาพ ครูชลธี ธารทอง ซึ่งได้ย้ายรกรากไปอยู่ที่นั่นเมื่อ ๗ ปีก่อนด้วยเหตุผลที่ท่านเป็นผู้ที่รักธรรมชาติเป็นชีวิตจิตใจ วันที่ผมโทรศัพท์ไปทาบทามขอถ่ายภาพครูชลธีนั้น ผมก็ได้ทราบจากคุณศศิวิมล ภรรยาของท่านว่า ขณะนั้นท่านได้ออกไปแต่งเพลงข้างนอกซึ่งเป็นกิจวัตรที่ท่านปฏิบัติเป็นประจำ โดยคุณศศิวิมลได้ขยายความให้ฟังว่าตามปกติเวลาที่ต้องการแต่งเพลง ครูชลธีไม่ชอบที่จะแต่งที่บ้านหากแต่ชอบที่จะออกไปหาธรรมชาติที่สวยงามเช่นป่าเขา ชายทะเล ท้องนา ฯลฯ เพื่อที่จะหาแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงมิเช่นนั้นแล้วมักจะแต่งไม่ออก เมื่อผมได้ยินดังนั้น ก็เกิดความคิดว่าหากได้ไปถ่ายภาพครูชลธีในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติเช่นนั้นก็น่าจะสื่อให้เห็นความเป็น “ชลธี ธารทอง” ได้ดี เมื่อแจ้งความประสงค์ของผมผ่านทางคุณศศิวิมลแล้ว คุณศศิวิมลก็รับปากว่าจะนัดครูชลธีให้ ทั้งยังแนะนำว่าหากต้องการถ่ายภาพท่านกับธรรมชาติก็น่าจะไปที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ จังหวัดกาญจนบุรี เพราะเป็นสถานที่อันร่มรื่นสวยงามไปด้วยบรรยากาศของป่าเขาลำเนาไม้ และที่สำคัญก็คือสถานที่แห่งนี้เป็นที่ซึ่งครูชลธีมักจะไปหามุมสงบเพื่อแต่งเพลงเป็นประจำ ซึ่งผมก็เห็นดีด้วยตามนั้น

ครั้นถึงวันนัดหมาย เราได้ไปพบครูชลธีที่บ้านในตอนสาย และสนทนากันอยู่ครู่ใหญ่ จากนั้นครูชลธีก็ได้กรุณาพาจักรกฤษณ์และผมไปเลี้ยงอาหารที่ร้านอาหารริมแม่น้ำแควใหญ่จนอิ่มหนำสำราญ ก่อนที่จะพาไปสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีในระยะที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๒๐ นาที

เมื่อไปถึง ครูชลธีได้พาพวกเราตรงเข้าไปข้างในบริเวณหน้าที่ประดิษฐานพระรูปหล่อของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นบริเวณที่ร่มรื่นสวยงามยิ่ง ผมได้เดินดูโดยรอบเพื่อหามุมเหมาะที่จะใช้ถ่ายภาพ โดยเน้นหาต้นไม้สวยๆ ที่จะให้ครูชลธีนั่งพิงเพื่อถ่ายภาพ หลังจากเดินสำรวจอยู่ครูหนึ่ง ก็ได้มุมที่ถูกใจ แม้บริเวณดังกล่าวจะเป็นลานปูนซีเมนต์ปูด้วยหินกาบซึ่งจากสายตาที่มองในมุมกว้างขณะนั้นจะดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่ผมก็ได้พยายามเลือกมุมกล้องที่มองดูแล้วทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าท่านอยู่ท่ามกลางแมกไม้ธรรมชาติจริงๆ ผมได้ขอให้ครูชลธีนั่งตามสบายบนเก้าอี้พลาสติกที่ท่านนำติดรถยนต์ไปด้วยเหมือนดังเช่นเวลาที่ท่านนั่งแต่งเพลงจริงๆ โดยใช้พุ่มไม้ที่ปลูกประดับไว้ เป็นฉากหน้าของภาพเพื่อบังไม่ให้เห็นส่วนล่างของภาพที่เป็นเก้าอี้และเท้าของครูชลธี แล้วเริ่มถ่ายภาพไปเรื่อยๆ ตามท่าทางที่เปลี่ยนไปโดยธรรมชาติของท่านเอง ขณะที่ถ่ายภาพผมสังเกตเห็นว่าใบหน้าท่านดูเครียดไปหน่อยจึงได้ติงท่านไป แต่ท่านก็บอกว่า “เวลาแต่งเพลงต้องใช้ความคิดมากคิ้วเลยขมวดเป็นธรรมดา” ในวันนั้นท้องฟ้ามีเมฆปกคลุมโดยทั่วไป ทำให้แสงธรรมชาติในบริเวณนั้นนุ่มนวลไม่แข็งกระด้างเหมือนวันที่มีแดดจัด ซึ่งคนจำนวนมากมักมีความเข้าใจว่าการถ่ายภาพบุคคลที่ดีควรจะถ่ายกลางแจ้งที่มีแดดจัด แท้ที่จริงแล้ว ลักษณะแสงเช่นนั้นเป็นแสงชนิดที่จะถ่ายภาพบุคคลให้ดูสวยงามนุ่มนวลได้ยาก เพราะจะทำให้เกิดเงาแข็งกระด้างบนใบหน้า ในทางตรงกันข้าม การถ่ายภาพบุคคลในสภาพแสงแดดอ่อนๆ หรือในสภาพที่มีเมฆบดบังแสงอาทิตย์อยู่นั้น กลับจะให้ภาพที่นุ่มนวลกว่าโดยไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นใดช่วยเลย เมื่อถ่ายกันไปได้ครู่หนึ่ง ก็มีฝนบางๆ ปรอยลงมา แต่ก็หาได้เป็นอุปสรรคไม่ เพราะต้นไม้ใหญ่อันร่มรื่นในบริเวณนั้น ได้ช่วยแผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมพวกเราเอาไว้ได้เป็นอย่างดี เราใช้เวลาถ่ายภาพกันไม่นานนักก็เสร็จเรียบร้อย จึงได้ลาครูชลธีและคุณศศวิมลมุ่งหน้ากลับกรุงเทพฯกันในทันที

ครูชลธี ธารทอง ได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่งที่ดีเด่นเอาไว้มากมายตั้งแต่วัยหนุ่มมาจนถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้แม้ว่าท่านจะเป็นหนุ่มใหญ่วัย ๖๔ แล้ว แต่ท่านก็ยังคงดูสดใสอ่อนกว่าวัยของท่านมาก และยังคงเปี่ยมด้วยพลังความคิดและจินตนาการที่จะสร้างสรรค์เพลงดีๆ ให้กับแฟนเพลงลูกทุ่งทั้งประเทศไปได้อีกนาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.