นายทองมาก จันทะลือ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พุทธศักราช ๒๕๒๙
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
ผมได้เคยนำเสนอภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติที่เป็นหมอลำมาแล้วหลายต่อหลายท่าน แต่ยังคงขาดยอดหมอลำคนสำคัญแห่งภาคอีสานอยู่อีกท่านหนึ่ง คือ หมอลำทองมาก จันทะลือ ซึ่งหากขาดภาพของท่านผู้นี้ไปแล้ว งานรวบรวมภาพถ่ายศิลปินแห่งชาติของผมคงจะด้อยคุณค่าลงไปมาก เนื่องจากท่านเป็นศิลปินหมอลำในระดับปรมาจารย์ผู้ได้รับความเคารพนับถือ และยกย่องจากคนในวงการหมอลำ และประชาชนทั่วภาคอีสาน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ท่านเป็นศิลปินหมอลำท่านแรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ดังนั้น ในฉบับนี้ นอกจากที่ท่านผู้อ่านจะได้เห็นภาพที่ผมได้ไปถ่ายมาแล้วท่านก็จะได้ทราบเรื่องราวความเป็นมาของศิลปินท่านนี้โดยละเอียดอีกด้วย
หมอลำทองมาก จันทะลือ เกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ที่จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันอายุ ๗๗ ปี เริ่มเข้าสู่วงการหมอลำเมื่ออายุ ๑๔ ปี โดยบิดาได้พาไปสมัครเรียนหมอลำกับพระรูปหนึ่งนามว่าพระอาจารย์อ่อนที่วัดประดู่น้อย โดยได้เรียนรู้ทั้งด้านกลอนลำ และพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่หมอลำจะต้องเรียนรู้อย่างละเอียด ท่านได้ร่ำเรียนอยู่กับพระอาจารย์อ่อนอยู่เป็นเวลา ๒ ปี จึงได้ลาไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกับครูหมอลำอื่นๆ อีกหลายท่าน อาทิ หมอลำคำอ้ายฯ อาจารย์คำผาย โยมา สิบตรีภิรมย์ฯ อาจารย์เคนฯ อาจารย์บัณฑิตฯ อาจารย์หลวยฯ และอาจารย์บุญคาฯ เป็นต้น ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านล้วนมีความชำนาญในด้านต่างๆ เกี่ยวกับหมอลำที่แตกต่างกันไป ทำให้หมอลำทองมากได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ของหมอลำอย่างกว้างขวางจนแตกฉาน
หมอลำทองมากได้ออกแสดงหมอลำเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๙๑ และค่อยๆ สร้างผลงานจนมีชื่อเสียงโด่งดังถึงขั้นที่เรียกว่า “แตกลำ” อันเป็นคำที่ใช้ในวงการหมอลำซึ่งหมายถึงว่ามีความสามารถลำกลอน ไม่ว่าจะเป็นกลอน ๗ กลอน ๘ และกลอน ๙ ได้สดๆ โดยไม่ติดขัด ต่อมาในปี ๒๕๐๐ ท่านก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมหมอลำอีสาน และได้เข้าประกวดหมอลำกลอนฝ่ายชายจนชนะเลิศได้รับประกาศนียบัตรหมอลำชั้นพิเศษ ๔ ดาว อันถือว่าเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดของหมอลำในสมัยนั้น และในช่วงนั้นเอง หมอลำทองมากก็ได้มีโอกาสจัดรายการวิทยุและเป็นโฆษกผู้โฆษณายาให้กับบริษัทโอสถสภาเต๊กเฮงหยูอีกด้วย โดยท่านได้นำเอาศิลปะหมอลำเข้าไปประยุกต์ใช้ในการโฆษณา ส่งผลให้ยอดขายของทางบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โฆษณาทางวิทยุชิ้นหนึ่งอันเป็นผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและติดหูของชาวอีสานในยุคนั้น ได้แก่โฆษณายาหม่องถ้วยทองที่มีถ้อยคำติดหูผู้ฟังทั่วไปว่า “ถูทา” ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกหมอลำทองมากว่า “พ่อถูทา” นับแต่นั้นมา
เมื่อมีชื่อเสียงแพร่หลายอย่างเต็มที่ในภาคอีสานแล้ว หมอลำทองมาก จันทะลือ ก็ได้จัดตั้งสำนักงานหมอลำของตนเองขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๑ เพื่อรับงานแสดงต่างๆ และต่อมาในปี ๒๕๑๔ ท่านก็ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เป็นหมอลำจำนวนมากร่วมกันจัดตั้งสหพันธ์สมาคมหมอลำแห่งประเทศไทยขึ้น โดยท่านเองได้รับเกียรติจากบรรดาสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งนายกสหพันธ์เป็นท่านแรก
หมอลำทองมาก จันทะลือ ได้รับรางวัลเกียรติคุณจากผลงานดีเด่นของท่านหลายครั้งอันได้แก่
– ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นเอกที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี ๒๕๐๐
– ชนะเลิศการประกวดหมอลำที่อำเภอมุกดาหาร เมื่อปี ๒๕๐๐
– ชนะเลิศการประกวดหมอลำชั้นหนึ่งที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี ๒๕๐๒
– ชนะเลิศการประกวดหมอลำคู่ ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี ๒๕๑๐
– ชนะเลิศการประกวดหมอลำในงานสงกรานต์ ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี ๒๕๑๑ และ ๒๕๑๒
– ได้รับรางวัลดีเด่นการผลิตผลงานเพื่อเยาวชนประเภทสื่อชาวบ้าน จากคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๒๔
– ได้รับรางวัลศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๒๘
เมื่อประสบความสำเร็จในวิชาชีพอย่างสูงจนเป็นที่ศรัทธารักใคร่ของชาวบ้านโดยทั่วไปแล้ว หมอลำทองมากก็ได้ตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี และก็ประสบความสำเร็จดังใจหมาย ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ สมัยเดียวกันกับที่ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดตรังในครั้งแรก ซึ่งหมอลำทองมากก็ได้ตั้งใจทำงานเป็นผู้แทนที่ดีของประชาชนตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนี้
หมอลำทองมาก จันทะลือ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษในเรื่องกลอนลำ ทั้งยังเป็นผู้ที่มีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างแตกฉาน มีน้ำเสียงดังกังวานและมีลีลาในการแสดงเป็นที่ถูกใจของผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อว่างจากงานการแสดงแล้ว ท่านก็ยังได้ช่วยถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านหมอลำให้แก่ลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ทั้งยังได้ใช้ความสามารถในทางหมอลำ เป็นสื่อช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ในโครงการต่างๆ ของทางการสู่ชาวบ้านอย่างได้ผลดียิ่งอีกด้วย
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งผลงาน ตลอดจนเกียรติประวัติอันดีงามที่หมอลำทองมาก จันทะลือ ได้บำเพ็ญมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน จึงได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) เมื่อปี พุทธศักราช ๒๕๒๙ นับเป็นศิลปินหมอลำท่านแรกที่ได้รับเกียรติยศอันสำคัญยิ่งนี้
เมื่อคราวที่ผมเดินทางตระเวนถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติทางภาคอีสานเมื่อเกือบ ๒ ปีที่ผ่านมาแล้วนั้น ผมได้ถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติเกือบจะครบทุกท่าน เว้นแต่เพียงท่านเดียวคือ หมอลำทองมาก จันทะลือ เนื่องจากท่านพำนักอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ไกลจากเส้นทางที่ผมเดินทางไปถ่ายภาพศิลปินท่านอื่นๆ ค่อนข้างมาก จึงตั้งใจไว้ว่าจะกลับมาถ่ายภาพท่านในภายหลัง จนเมื่อเวลาผ่านไปนาน ผมก็ได้ถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ ทั้งหมดจนครบ ยังคงเหลือเพียงหมอลำทองมากอีกท่านเดียวเท่านั้นก็จะเสร็จสิ้นโครงการ ผมจึงขึ้นเครื่องบินไปถ่ายภาพท่านที่จังหวัดอุบลราชธานีตามลำพัง และเนื่องจากผมต้องเดินทางคนเดียว (เพื่อประหยัดค่าเครื่องบิน) ผมจึงไม่สามารถขนอุปกรณ์ถ่ายภาพได้อย่างเต็มที่ดังเช่นเคย ได้แต่เพียงนำกล้องถ่ายภาพ และฉากผ้าสักหลาดสีดำผืนหนึ่งติดตัวไป โดยต้องพึ่งพาแสงแดดตามธรรมชาติแทนไฟถ่ายภาพ ซึ่งก็เป็นโชคดีของผม เนื่องจากในวันที่ผมเดินทางไปนั้น ท้องฟ้ามีเมฆบางๆ ปกคลุมทั่วไป ทำให้สภาพแสงเหมาะสมพอดีตามที่ผมคาดหวังไว้ คือไม่มีแสงเงาที่จัดจ้านแข็งกระด้างดังเช่นวันที่ท้องฟ้าโปร่ง เมื่อไปถึง ผมก็ได้ขึงฉากผ้าสีดำและขอให้หมอลำทองมากออกลีลาท่าทางของท่านเองตามธรรมชาติและเริ่มถ่ายภาพไปเรื่อยๆ หลายม้วนจนเป็นที่พอใจก็เป็นอันเสร็จพิธี ผมใช้เวลาอยู่ที่บ้านหมอลำทองมากไม่ถึง ๑ ชั่วโมงก็เสร็จงาน และบินกลับกรุงเทพฯในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง เมื่อนำภาพที่ถ่ายไว้ทั้งหมดมาเลือกดูแล้ว ก็ตัดสินใจเลือกภาพที่ผมชอบมากที่สุดมาลงให้ชมกัน ที่ผมชอบภาพนี้ ก็เพราะเป็นภาพที่หมอลำทองมากกำลังแสดงลีลาและอารมณ์ที่สนุกสนาน มีชีวิตชีวา ดูแล้วสบายใจ และภาพนี้ก็สามารถถ่ายทอดบุคลิกภาพอันน่ารักของท่านได้ดีพอสมควร
ด้วยวัย ๗๗ ปีในปัจจุบัน หมอลำทองมาก จันทะลือ ใช้ชีวิตอย่างสมถะอยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่นในสวนเกษตรของท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี แม้จะลดการแสดงหมอลำลงไปกว่ายุคที่ท่านยังคงหนุ่มแน่นเปี่ยมด้วยกำลังวังชา แต่ท่านก็ยังคงได้รับเชิญให้ไปแสดงเป็นครั้งคราว และยังคงมีผู้ที่มาขอความรู้จากท่านมิได้ขาด จากประสบการณ์ชีวิตอันยาวนาน และเกียรติคุณดีเด่นทั้งหมดนี้ ย่อมส่งผลให้ท่านได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ในฐานะปูชนียบุคคลทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างแน่นอน
ขอขอบคุณ
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เอื้อเฟื้อข้อมูล
บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนผลิตภัณฑ์ถ่ายภาพ
คุณบันลือ อุตสาหจิต แห่งบริษัทศรีสยามพริ้นท์แอนด์แพคก์ จำกัด อุปถัมภ์โครงการ