นายชำเรือง วิเชียรเขตต์

นายชำเรือง วิเชียรเขตต์

นายชำเรือง วิเชียรเขตต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ พ.ศ. ๒๕๓๙
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย
อันที่จริงที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ด้านประติมากรรมมาแล้วหลายท่าน ตั้งแต่อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ อาจารย์ชิต เหรียญประชา และอาจารย์พิมาน มูลประมุข แต่ทั้ง ๓ ท่านได้ด่วนจากไปก่อน ผมจึงไม่สามารถถ่ายภาพท่านเหล่านั้นมาให้ชมกันได้ ยังคงมีอีกเพียง ๒ ท่าน ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังคงสร้างสรรค์งานประติมากรรมอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ และคุณอินสนธ์ วงศ์สาม เรื่องราวและภาพคุณอินสนธ์นั้นคงได้ผ่านสายตาของท่านไปแล้ว ฉบับนี้ผมจึงได้นำภาพ และประวัติความเป็นมาของอาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์มาเสนอบ้างครับ

อาจารย์ชำเรือง วิเชียร์เขตต์เกิดเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันอายุ ๖๙ ปี ท่านได้รับการศึกษาตั้งแต่เบื้องต้น จนจบระดับมัธยมที่จังหวัดกาฬสินธุ์บ้านเกิดนั่นเอง ความสนใจในทางศิลปะของอาจารย์ชำเรือง เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กโดยท่านได้แสดงฝีมืออย่างโดดเด่นในการเรียนวิชาศิลปะที่โรงเรียนทั้งงานวาดเขียนและงานปั้น โดยเฉพาะงานปั้นนั้น ท่านทำได้ดีเป็นพิเศษจนได้รับคำชมเชยจากอาจารย์ศิลปะเสมอ

แม้ว่าอาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์จะมีความรักและสนใจในงานศิลปะมากเพียงใดก็ตาม แต่ในเบื้องต้นนั้น ท่านก็ยังไม่ได้คิดที่เอาจริงเอาจังศึกษาต่อในทางนี้และยึดเป็นอาชีพต่อไป เนื่องจากในสมัยนั้น วิชาชีพทางศิลปะยังไม่ได้รับการยอมรับนับถือเท่าที่ควร ผลตอบแทนที่ได้รับก็น้อย ค่านิยมทางสังคม ยังให้ความสำคัญกับการเลือกศึกษาเล่าเรียนในสาขาที่จบออกไปแล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคนมากกว่า ดังนั้น ครั้งหนึ่งอาจารย์ชำเรืองจึงเคยมีความตั้งใจ ที่จะเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามกระแสความนิยมดังกล่าว แต่ในที่สุด หลังจากที่ได้ชั่งน้ำหนักด้วยเหตุและผลแล้ว ท่านก็ได้ตัดสินใจเลือกทางเดินครั้งสำคัญในชีวิต โดยการเข้าศึกษาที่วิทยาลัยเพาะช่างตามความปรารถนาจากส่วนลึกในจิตใจของท่านเอง ท่านได้ศึกษาพื้นฐานความรู้ทางศิลปะที่วิทยาลัยเพาะช่างอยู่เป็นเวลา ๓ ปี แล้วจึงได้ไปสมัครสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ที่นั้นเอง ท่านได้รับการศึกษาอบรมทางศิลปะอย่างเข้มข้นจากบรรดาปรมาจารย์ทางศิลปะของเมืองไทย โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และศิษย์เอกของท่านหลายคน อาทิ อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์พิมาน มูลประมุข อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์สิทธิเดช แสงหิรัญ อาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ และอาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นต้น ทุกท่านที่กล่าวมานี้เป็นศิลปินคนสำคัญที่มีชื่อเสียง และผลงานอันเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างสูงในวงการศิลปะทั้งสิ้น

อาจารย์ชำเรือง ได้ตั้งใจศึกษาและฝึกฝนฝีมือ ตลอดจนพัฒนาแนวความคิดสร้างสรรค์ในทางศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านงานประติมากรรมที่ท่านมีความถนัดเป็นพิเศษอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นเวลา ๕ ปีจนสำเร็จการศึกษา จากนั้น ท่านก็ได้สมัครเข้าเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่โรงเรียนศิลปศึกษา ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวิทยาลัยช่างศิลป์ พร้อมกับสร้างสรรค์งานประติมากรรมไปด้วยโดยตลอด ครั้นถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ ท่านจึงได้ย้ายไปสอนที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร สถานศึกษาเดิมของท่านเอง ท่านสอนอยู่ที่คณะนี้เป็นเวลา ๑๔ ปี จากนั้นก็ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์สอนในภาควิชาประยุกต์ศิลป์ศึกษา คณะมัณฑนาศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งลาออกจากราชการเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๑ เพื่อที่จะได้มีเวลาทำงานศิลปะได้อย่างเต็มที่ แต่แม้ว่าจะได้ลาออกจากราชการมาแล้ว ท่านก็ยังได้ทำงานสอนสอนในฐานะอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่งจนกระทั่งปัจจุบัน รวมเวลาการเป็นอาจารย์สอนศิลปะทั้งสิ้นกว่า ๔๐ ปี

ในด้านผลงานศิลปะของท่านนั้น งานที่ท่านทำเป็นหลักก็คืองานประติมากรรม โดยในช่วงแรกๆ ของท่าน เป็นงานประเภทเหมือนจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพคน เมื่อเวลาผ่านไป ท่านก็ค่อยๆ คลี่คลายผลงานของท่านไปเป็นรูปแบบนามธรรมในที่สุด ท่านเคยได้ส่งผลงานประติมากรรมเข้าประกวดหลายครั้งและได้รับรางวัลสำคัญๆ มากมาย รางวัลสำคัญที่สุดที่ท่านได้รับคือรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง จากผลงานประติมากรรมชื่อ “กลุ่ม” จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๖ นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๒ เหรียญเงิน ๘ รางวัล และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๓ เหรียญทองแดง ๒ รางวัล จาการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในปีต่างๆ นับตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ จนถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๒

นอกจากการส่งผลงานเข้าประกวดแล้ว อาจารย์ชำเลือง วิเชียรเขตต์ ยังได้จัดแสดงผลงานเดี่ยว และเข้าร่วมการแสดงผลงานกับศิลปะท่านอื่นๆ ทั้งภายในประเทศ และในต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักศึกษา มาจนทุกวันนี้ ทั่งยังมีผลงานที่ได้จัดแสดง และติดตั้งเป็นการถาวรในสถานที่ต่างๆ ทั้งที่เป็นสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ และบริษัทห้างร้านของเอกชนหลายแห่ง อาทิ

-งานประติมากรรมกลางแจ้ง ที่สวนจตุจักร ซึ่งท่านได้เป็นตัวแทนศิลปินจากประเทศไทยเข้าร่วมงานแสดงประติมากรรมอาเซียน ครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ โดยในครั้งนั้น ได้มีตัวแทนประติมากรจากทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมกลางแจ้ง ที่สวนจตุจักร ซึ่งผลงานเหล่านั้นยังคงติดตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่จนทุกวันนี้

-งานประติมากรรมถาวรที่อุทยานเบญจศิริ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕

-งานประติมากรรมที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาลำปาง

-งานประติมากรรมที่อาคารสภาวิจัยแห่งชาติ

-งานประติมากรรมที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

-งานประติมากรรมที่อาคารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

นอกจากผลงานสำคัญที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว ในขณะนี้ อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ กำลังอยู่ในระหว่างการสร้างสรรค์งานประติมากรรมขนาดใหญ่ชื่อ “ความร่วมเย็น บริสุทธิ์ สดใส ใต้ร่มองค์พระประมุข พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙” ในโครงการณ์เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๖ รอบ ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรค์ทุนและเชิญชวนศิลปินชั้นนำในแขนงต่างๆ ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อนำไปติดตั้งในทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศ รวม ๗๖ จังหวัด สำหรับผลงานของอาจารย์ชำเรืองชิ้นนี้ จะนำไปติดตั้งที่หน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านเองในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ นี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพิพิธภัณฑ์ และหอศิลปะในต่างประเทศหลายแห่งได้ซื้อผลงานของท่านได้จัดแสดงอีกด้วย

นอกจากตัวท่านเองแล้ว สมาชิกในครอบครัวทุกๆ คน อันได้แก่ อาจารย์เสาวภาภรรยาของท่าน ตลอดจนอาจารย์ญาณพล อาจารย์นิธิ และคุณนที วิเชียรเขตต์ บุตรชายทั้ง ๓ ล้วนแต่ทำงานศิลป์ด้วยกันทั้งสิ้น จึงนับว่าครอบครัวของอาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ เป็นครอบครัวศิลปินอย่างแท้จริง

อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์เป็นประติมากรแนวนามธรรมคนสำคัญของเมืองไทยผู้ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีคุณค่ามากมาย ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งยงเป็นอาจารย์ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิลปินรุ่นหลังๆ ด้วยประสบการณ์และวิญญาณแห่งความเป็นครูอย่างแท้จริง ท่านยังได้เป็นผู้ที่ให้ความร่วมมืในด้านการบริการสังคมในกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ตลอดมา ทั้งยังเป็นผู้ที่ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอย่างเคร่งครัด คุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมาสอดคล้องกับคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าข่ายได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติทุกประการ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จึงประกาศยกย่องให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประติมากรรม เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๙)

อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ เป็นศิลปินแห่งชาติท่านที่ผมรู้จักดีที่สุดท่านหนึ่ง เนื่องจากท่านเป็นอาจารย์สอนวิชาประติมากรรมแก่ผมมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ผมเข้าศึกษาในปีแรกๆ ที่คณะมัณฑนาศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากตัวท่านแล้ว อาจารย์เสาวภา ภรรยาของท่านก็เป็นอาจารย์ของผมเช่นกัน ส่วนอาจารย์ญาณพล บุตรชายคนโตของท่านเป็นรุ่นพี่ แก่กว่าผม ๑ รุ่น และอาจารย์นิธิ บุตรชายคนกลางนั้นก็เป็นรุ่นน้อง แม้จะหลายรุ่น แต่ก็ได้รู้จักสนิทสนมกันเป็นอันดี จึงนับได้ว่า ผมมีความคุ้นเคยกับครอบครัววิเชียรเขตต์นี้เป็นอย่างดีในการถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติของผมนั้น ผมมักจะเลือกถ่ายท่านผู้อาวุโส และท่านที่ติดต่อได้ยากๆ ก่อน จึงยังไม่ได้ติดต่ออาจารย์ชำเรืองตั้งแรกเพราะคิดอยู่ตลอดเวลาว่าสามารถติดต่อท่านได้โดยง่าย

พอดีวันหนึ่ง อาจารย์ญาณพลได้โทรศัพท์มาหาผมด้วยธุระอื่น ผมจึงได้เรียนทาบทามขอถ่ายภาพอาจารย์ชำเรืองในโอกาสนั้น ซึ่งท่านก็กรุณาตอบรับในทันทีอันที่จริง ผมเคยถ่ายภาพท่านมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อราว ๑๐ ปีก่อน แต่การถ่ายภาพครั้งนั้น ผมไปถ่ายท่านที่บ้าน ซึ่งมีอุปสรรคเล็กน้อยในเรื่องสถานที่ ที่แคบเกินไป ทำให้ทำงานได้ไม่สะดวกนัก มาครั้งนี้ ผมจึงได้เรียนเชิญท่านให้มาถ่ายภาพที่สตูดิโอของผม เพื่อที่ผมจะได้ถ่ายภาพของท่านได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องข้อจำกัดใดๆ

ในการนี้ ผมได้ขอให้ท่านนำผลงานชื่อ “กลุ่ม” ที่ท่านได้รับรางวัลที่ ๑ ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติเมื่อปี ๒๕๐๘ มาถ่ายร่วมกับท่านด้วย งานชิ้นนี้ เดิมทีเป็นงานหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ ยังไม่ได้หล่อเป็นสำริด แต่ท่านเพิ่งนำมาหล่อเป็นสำริดในระยะหลังนี้เอง ผมได้จัดฉากเตรียมถ่ายภาพท่านเอาไว้ล่วงหน้า โดยการใช้ไม้อัดเต็มแผ่น ๒ แผ่น ทาสี และติดขาตั้งในแนวสูงโดยแผ่นหนึ่งตั้งอยู่ข้างหน้า ส่วนอีกแผ่นตั้งถัดเข้าไปด้านหลัง จากนั้นได้นำรูปปั้นที่มีน้ำหนักมหาศาลขนาดที่ชายฉกรรจ์ ๔ คนยกแล้วยังต้องหอบ วางลงบนแท่นตั้งรูปที่ท่านเตรียมมาด้วย จากนั้นก็ขอให้อาจารย์ชำเรืองลองมายืนในตำแหน่งต่างๆ จนเป็นที่ลงตัว ก่อนที่จะจัดไฟถ่ายภาพในลำดับต่อมา เนื่องจากเป็นการถ่ายภาพในสตูดิโอของผมเอง ผมจึงสามารถจัดไฟได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระในการขนอุปกรณ์เหมือนเวลาออกไปถ่ายนอกสถานที่

ในการนี้ผมจึงใช้ไฟถ่ายภาพถึง ๔ ดวง โดยนอกจากไฟหลัก และไฟเสริมที่ใช้อยู่เป็นปกติแล้ว ผมได้เพิ่มไฟอีก ๒ ดวง โดยดวงหนึ่งซ่อนไว้ข้างหลังฉากไม้ช่วยเพิ่มแสงสว่างให้กับรูปปั้นที่มีสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ ไม่ให้จมหายไปในความมืด ส่วนอีกดวงหนึ่งตั้งเอาไว้ทางด้านขวาของภาพเยื้องไปทางด้านหลัง เพื่อเพิ่มแสงอีกด้านหนึ่งของรูปปั้น และเป็นไฟดวงที่ทำให้เกิดแสงสว่างบริเวณขอบใบหน้าไล่ลงมาจนตลอดลำตัวของท่านนั่นเอง

ก่อนที่จะถ่ายภาพนี้ ผมได้ขอให้อาจารย์ชำเรืองลองตั้งท่าต่างๆ อยู่หลายท่า แต่ในที่สุดก็พบว่าท่ากอดอกนี้ดูดีที่สุด เมื่อตอนที่ถ่ายภาพนี้ ผมถ่ายทั้งฟิล์มสี และขาวดำ แต่เมื่อดูรูปแล้ว ผมเลือกใช้เป็นรูปขาวดำเนื่องจากจุดเด่นของภาพนี้ไม่ใช่เรื่องของสี ส่วนประกอบในภาพส่วนใหญ่เป็นโทนน้ำตาล เทา และดำมีเพียงใบหน้าและมือเท่านั้นที่เป็นสีเนื้อ ดังนั้นการเน้นที่น้ำหนักดำขาวน่าจะดูน่าสนใจกว่า

อีกประการหนึ่ง ผมได้เอาใจท่านผู้อ่านที่ชอบภาพสีมาหลายฉบับติดกันแล้ว หากจะคั่นด้วยภาพขาวดำตามความชอบของผมเองบ้าง ก็ไม่ควรถูกตำหนิแต่ประการใดใช่ไหมครับ ส่วนจักรกฤษณ์ไม่ได้มาในวันนั้น ผมจึงต้องขอความกรุณาให้อาจารย์ญาณพลที่มาเป็นเพื่อนคุณพ่อช่วยถ่ายภาพเบื้องหลังแทน

ย้อนหลังกลับไปเมื่อราว ๕๐ ก่อน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อาจารย์ชำเรือง วิเชียรเขตต์ต้องเลือกเส้นทางชีวิต หากทานเลือกเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามกระแสความนิยมในเวลานั้น เราก็อาจได้ข้าราชการที่เปี่ยมคุณธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งท่านประสบความสำเร็จมากน้อยเท่าใด ไม่มีใครทราบได้ แต่เพราะท่านได้ตัดสินใจเลือกศิลปะ เป็นเส้นทางเดินแห่งชีวิต เราจึงมีศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพเป็นอย่างสูง และได้สร้างคุณูปการแก่วงการศิลปกรรมไทยอย่างมากมายจนทุกวันนี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.