นายฉิ้น อรมุต

นายฉิ้น อรมุต

นายฉิ้น อรมุต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พุทธศักราช ๒๕๓๒
โดย นิติกร กรัยวิเชียร
ที่มา สกุลไทย

หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ของประเทศไทยที่สำคัญและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมาเป็นเวลาช้านาน แต่ในปัจจุบันนี้ อนาคตของหนังตะลุง กำลังตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากถูกความบันเทิงในรูปแบบใหม่ๆ อันหลากหลาย เข้ามาแย่งความสนใจจากผู้ชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ๆ ไปเป็นอันมาก ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงอันน่าวิตกนี้ ยังคงมีนายหนังตะลุงหลายท่านที่พยายามรักษาศิลปะการแสดงเก่าแก่นี้เอาไว้อย่างเต็มกำลัง โดยมุ่งหวังที่จะสืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพบุรุษนี้ไปถึงชั่วลูกชั่วหลานให้ได้ หนึ่งในท่านเหล่านั้นก็คือนายฉิ้น อรมุต ผู้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีของคนทั่วภาคใต้ในนาม “หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์”

หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๔ ที่จังหวัดสงขลา ปัจจุบันอายุ ๗๐ ปี จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดธรรมโฆษณ์ เมื่อปี ๒๔๘๖ และได้อุปสมบทเมื่อปี ๒๔๙๖ อยู่ ๑ พรรษา จนสอบได้นักธรรมตรี

ตั้งแต่วัยเด็ก หนังฉิ้นมีความรักในการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีหนังสือธรรมะ และ วรรณกรรมอมตะของนักประพันธ์ชั้นเยี่ยมของไทยเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้เป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านต่างๆ อย่างลึกซึ้ง และอีกสิ่งหนึ่งที่ท่านมีความชอบเป็นพิเศษ ก็คือหนังตะลุงนั่นเอง ถึงขั้นประดิษฐ์ตัวหนังด้วยกระดาษแล้วเอามาเล่นในหมู่เพื่อนฝูง แต่ก็ถูกบิดาห้ามปรามไม่ให้เล่น และนำตัวหนังเหล่านั้นไปเผาจนหมดสิ้น แม้กระนั้นก็ดี หนังฉิ้นก็หาได้ละความชอบในหนังตะลุงลงแม้แต่น้อย โดยได้สร้างตัวหนังขึ้นใหม่ และแอบไปเล่นที่กุฏิพระในวัดธรรมโฆษณ์ใกล้บ้าน จนชาวบ้านที่ไปวัดเห็นเข้า และพากันออกปากชมว่า หนังฉิ้นมีแววจะต้องได้เป็นนายหนังตะลุงในอนาคตอย่างแน่นอน

เมื่อบิดาทราบเรื่องที่หนังฉิ้นได้แอบไปเล่นหนังตะลุงอีก และเห็นแล้วว่าท่านมีความรักและความพยายามอย่างจริงจังยากที่จะขัดขวางได้ จึงหันมายอมรับ และให้การสนับสนุนภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหนังฉิ้นจะต้องตั้งใจเรียน และจดจำกลอนที่บิดาผู้ซึ่งมีความสามารถในทางการแต่งกลอนเป็นพิเศษ สอนให้ ซึ่งหนังฉิ้นก็ตั้งอกตั้งใจเล่าเรียนและท่องจำกลอนของบิดาทุกวันจนสามารถจำได้อย่างขึ้นใจมากมาย และยังคงเล่าเรียนต่อเนื่องจนบิดาจากไปด้วยวัยชรา

หลังจากบิดาถึงแก่กรรมแล้ว หนังฉิ้นได้พยายามขวนขวายหาความรู้ทางด้านการแสดงหนังตะลุงโดยการติดตามไปดูหนังตะลุงคณะต่างๆ ทั้งหน้าโรงและหลังโรงในทุกโอกาสที่จะทำได้ และพยายามจดจำแบบอย่างที่เห็นว่าดี นำกลับมาฝึกฝนเองทีละเล็กทีละน้อย จนพัฒนาความสามารถขึ้นโดยลำดับ นายหนังตะลุงที่หนังฉิ้นศรัทธาในความสามารถและยึดถือเป็นแบบอย่างเป็นพิเศษมี ๒ ท่านคือ หนังขับ บ้านดีหลวง นายหนังอาวุโสผู้มีความสามารถสูงจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนลอยฟ้าโพยมหน ซึ่งหนังฉิ้นได้ไปขอให้เป็นนายหนังขึ้นครู และได้รับการถ่ายทอดความรู้มาอย่างมากมาย และอีกท่านหนึ่งคือ หนังกั้น ทองหล่อ (ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๒๙) ซึ่งหนังฉิ้นก็ได้ไปฝากตนเป็นศิษย์เช่นกัน

ในระยะเริ่มต้น หนังฉิ้นได้รับการสนับสนุนจากพระภิกษุ ๒ รูป คือ พระพุ่ม และพระครูธรรมโฆษิต (คง โกกนุตโต) ผู้ซึ่งได้ร่วมกันสร้างเครื่องหนังตะลุงพร้อมเครื่องดนตรีประกอบให้อย่างครบชุด แล้วเริ่มต้นการแสดงด้วยการจดจำเรื่องราวหนังตะลุงที่เคยได้เห็นมา นำมาเล่นให้ชาวบ้านที่มาช่วยงานวัดดู เมื่อเล่นบ่อยๆ เข้า ก็สามารถจับจุดการสร้างเรื่องได้ ต่อมาจึงได้ลองแต่งเรื่องเองบ้างซึ่งก็สามารถทำได้อย่างดีเด่น จากนั้นมา หนังฉิ้นก็ได้เขียนบทหนังตะลุงเอง จนมีผลงานที่แต่งเรื่องเองและนำออกแสดงมากมาย หนังฉิ้น ได้ยึดถือแนวทางในการเขียนบทหนังตะลุงตามแบบอย่างโบราณ ซึ่งเน้นการเปิดเรื่องและดำเนินเรื่องด้วยกลอนอันแตกต่างกับการเขียนบทของนักเขียนบทรุ่นใหม่ที่นิยมการบรรยายแบบละคร นอกจากนั้น หนังฉิ้นยังฝึกฝนการว่ากลอนสดจนสามารถดำเนินเรื่องอย่างสดๆ ไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ด้วยไหวพริบและปฏิภาณอันเป็นเลิศ

หนังฉิ้นได้สร้างตนเองจากนายหนังสมัครเล่นในระยะเริ่มต้น สู่การเป็นนายหนังตะลุงผู้มีชื่อเสียงไปทั่วภาคใต้อย่างเต็มภาคภูมิด้วยความสามารถรอบด้านในการแสดง ตั้งแต่การวางเค้าโครงเรื่องที่สนุกน่าสนใจ การใช้ถ้อยคำและภาษาที่งดงาม เข้าใจง่าย ในทุกบทบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเรื่องราวที่ส่งเสริมศีลธรรมและคุณธรรมอันดีงามมาสอดแทรกในการแสดงได้อย่างแนบเนียน และแม้กระทั่งบทตลกซึ่งเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของหนังตะลุง หนังฉิ้นก็สามารถสร้างความขบขันและสนุกสนานให้กับผู้ชมได้โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำที่สกปรกหรือหยาบคาย นอกจากความสามารถในการแสดง และการเขียนบทหนังแล้ว หนังฉิ้นยังได้ฝึกฝนการสร้างตัวหนังด้วยตนเอง จนในระยะหลัง ได้สร้างตัวหนังของตนเองเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย

หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ มีประสบการณ์ในการเล่นหนังตะลุงมาเป็นเวลายาวนาน ท่านได้ออกตระเวนเล่นหนังทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย ตลอดจนเล่นแพร่ภาพทางโทรทัศน์วิทยุมาโดยตลอด ที่สำคัญที่สุด คือการได้เล่นหนังตะลุงถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตร ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อปี ๒๕๑๗ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้พระราชทานนามคณะหนังตะลุงของหนังฉิ้นว่า “หนังอรรถโฆษิต” อันหมายถึงคณะหนังตะลุงที่ประกาศความดี ยังความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจแก่หนังฉิ้นเป็นล้นพ้น

เมื่อหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในวิชาชีพแล้ว ท่านก็ได้ใช้ความสามารถและศักยภาพของความเป็นนายหนังตะลุงยอดนิยม ช่วยเหลืองานทางสังคมต่างๆ ฐานะสื่อที่ช่วยเผยแพร่ข่าวสารและเสริมสร้างศีลธรรมอันดีงามในสังคม ส่วนในด้านการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหนังตะลุงนั้น ท่านก็ได้ทำการบันทึกการแสดงเอาไว้ทั้งที่เป็นภาพถ่าย เทปบันทึกเสียง และเทปบันทึกภาพ ตลอดจนเอกสารที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด แล้วนำไปมอบให้เป็นสมบัติของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสงขลา วิทยาลัยครูสงขลา เพื่อให้เป็นข้อมูลและหลักฐานสำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ที่สนใจและเป็นวิทยากรรับเชิญในหลายโอกาส

จากประวัติการทำงานอันดีเด่นทำให้หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ได้รับการประกาศให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ และในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านก็ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) นับเป็นนายหนังตะลุงคนที่ ๒ ที่ได้รับเกียรติยศนี้ ซึ่งท่านแรกก็คือหนังกั้น ทองหล่อ ครูของท่านเองผู้ล่วงลับไปก่อนแล้ว

อันที่จริง ผมได้เดินทางไปถ่ายภาพหนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เดินทางล่องใต้เพื่อตระเวนถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติเมื่อปีกว่าที่ผ่านมา แต่เหตุที่นำภาพของท่านมาเสนอล่าช้าก็เนื่องจากว่าเมื่อคราวที่ผมไปถ่ายภาพนั้น ไม่ใช่ช่วงที่ท่านกำลังแสดงหนังตะลุงอยู่ ดังนั้น อุปกรณ์ต่างๆ ที่โรงหนังตะลุงของท่านทั้งฉาก และตัวหนังก็จึงไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมแสดง ผมจึงทำได้เพียงถ่ายภาพตัวท่านเอาไว้ โดยตั้งใจว่าจะหาตัวหนังตะลุงมาจัดฉากถ่ายภาพในสตูดิโอของผมเองแล้วนำมาซ้อนกับภาพศิลปินในภายหลังด้วยวิธีการเดียวกันกับกรณีของ ครูจำเรียง พุธประดับที่เคยอธิบายเอาไว้ในฉบับที่แล้ว นอกจากหนังฉิ้นแล้ว ยังมีหนังจูเลี่ยม กิ่งทอง และหนังอิ่ม จิตภักดี ที่จะต้องใช้วิธีการเดียวกันนี้เช่นกัน ในครั้งนั้น ผมไม่มีเวลาพอที่จะหาซื้อตัวหนังดีๆ ที่จะนำมาถ่ายภาพได้ จึงได้ฝากเพื่อนที่เป็นคนนครศรีธรรมราชให้ช่วยเสาะแสวงหาตัวหนังดีๆ ชนิดที่นายหนังตะลุงใช้เล่นกันจริงๆ มาให้ ซึ่งเขาก็ได้ไปถึงแหล่งผลิต และซื้อตัวหนังอันงดงามมาให้ผม ๕ ตัว หลังจากเวลาผ่านไปปีเศษ ผมก็เพิ่งได้มาจัดฉากหนังตะลุงเพื่อนำมาใช้ในภาพนายหนังทั้ง ๓ ท่านนี้

ผมพยายามที่จะถ่ายภาพนายหนังทั้ง ๓ ท่านให้ดูแตกต่างกันโดยยึดถือบุคลิกลักษณะและจุดเด่นของนายหนังทั้ง ๓ ท่านเป็นสำคัญ ในกรณีของหนังฉิ้นนี้ ผมจัดอารมณ์ของภาพท่านให้ดูขรึมๆ ตามบุคลิกภาพของท่านในสายตาของผม ในเรื่องการจัดแสงเมื่อตอนถ่ายภาพท่านนั้น ผมก็ได้พยายามเลียนแบบแสงไฟที่ใช้ฉายตัวหนังด้านหลังจอหนังตะลุง โดยเป็นไฟที่ส่องมาจากมุมที่ค่อนข้างต่ำ และเมื่อนำมาประกอบเข้ากับตัวหนังที่ถ่ายทีหลัง ก็ได้ภาพออกมาดังที่ท่านได้เห็นนี้ มีหลายคนติงผมว่าภาพนี้ดูออกจะน่ากลัวไปหน่อย ซึ่งอาจเป็นด้วยลักษณะของแสง และเนื้อหาในภาพ แต่ผมมองว่าภาพนี้ให้ความรู้สึกตามที่ผมตั้งใจไว้แต่แรก อันเป็นมุมมองของผมเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างจากคนอื่นๆ ก็เป็นได้ครับ

ในปัจจุบัน แม้หนังฉิ้น ธรรมโฆษณ์ จะมีอายุย่างเข้าปีที่ ๗๐ แล้ว แต่ท่านก็ยังคงเป็นนายหนังผู้เป็นที่ยอมรับนับถือในคุณธรรมและความสามารถอย่างไม่เสื่อมคลาย และยังคงมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ศิลปะการแสดงหนังตะลุงตามแบบฉบับดั้งเดิม อันเปรียบเสมือนชีวิตจิตใจของท่านให้คงอยู่สืบไปชั่วกาลนาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.