นายคำ กาไวย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้านช่างฟ้อน) พ.ศ. ๒๕๓๕
เส้นทางเดินสู่ความสำเร็จของศิลปินแห่งชาติและท่านจะแตกต่างกันบ้างก็เพียงในรายละเอียดปลีกย่อยและวิถีแห่งการดำเนินชีวิต แต่โดยรวมแล้วส่วนใหญ่มักจะได้รับการปูพื้นฐานในวิชาชีพของตนมาเป็นอย่างดีจากครูบาอาจารย์ซึ่งตั้งใจถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ตั้งแต่วัยเยาว์ แต่เส้นทางเดินของพ่อครูคำ กาไวย์นั้น ออกจะแตกต่างจากศิลปินแห่งชาติ ท่านอื่นๆ ในสาระสำคัญ คือในระยะแรกที่ท่านเริ่มฝึกฝนศิลปะการแสดงของท่านนั้น ท่านหาได้มีครูบาอาจารย์เป็นตัวตนเหมือนคนอื่นไม่ หากแต่ท่านต้องอาศัยวิธีครูพักลักจำ แล้วนำมาฝึกฝนด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญแต่ก็สามารถมุ่งไปสู่ความสำเร็จที่สง่างามได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร
พ่อครูคำ กาไวย์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๗ ที่อำเภอหางดงจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันอายุ ๖๖ ปี ในวัยเด็ก ท่านได้เล่าเรียนเพียงระดับประถมศึกษาเหมือนเช่นเด็กๆ ทั่วไปในชนบทยุคนั้น เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ท่านก็ได้ทำงานเป็นลูกจ้างและมีโอกาสออกตระเวณท่องเที่ยวไปตามงานบันเทิงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวัด ทำให้มีโอกาสได้พบเห็นการแสดงพื้นเมืองล้านนาในรูปแบบต่างๆ เสมอๆ ในบรรดาการแสดงอันหลากหลายนั้น มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ท่านให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือการตีกลองสะบัดชัย ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็น ท่านก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้หัดตีกลองสะบัดชัยบ้าง แต่ก็ไม่มีโอกาส เพราะยังเป็นเด็กอยู่มาก และไม่มีช่องทางที่จะฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านผู้ใด จนกระทั่งครั้งหนึ่ง เจ้าอาวาสวัดเอรัญทุกวัน อันเป็นวัดใกล้บ้านที่พ่อครูคำเคารพศรัทธา มีความประสงค์จะจัดตั้งคณะช่างฟ้อนประจำวัดขึ้นเพื่อไม่ให้น้อยหน้าวัดอื่น จึงได้ไปว่าจ้างนักตีกลองสะบัดชัยแห่งบ้านหนองหวาย อำเภอสันป่าตองนามว่า “หนานตา” มาเป็นครูสอนให้กับสามเณร ศิษย์วัด ตลอดจนชาวบ้านที่สนใจ โดยเก็บเงินค่าเล่าเรียนรายคน เมื่อพ่อครูคำทราบข่าวนี้ก็อยากจะเรียนบ้าง แต่ก็ไม่สามารถเรียนได้ เพราะความยากจน ไม่มีเงินที่จะสมัครเรียน พ่อครูคำเล่าให้ผมฟังถึงเหตุการณ์ขณะนั้นว่า
“ผมเป็นเด็กยากจน อยากเรียนกับเขา แต่ก็ไม่มีเงินเรียน ไปดูใกล้ๆ เขาก็ไล่เอา เพราะเห็นว่าเป็นเด็กมาเล่นเกะกะ เลยได้แต่แอบดูเขาฝึกซ้อมกันห่างๆ ในลักษณะครูพักลักจำ ถึงจะไม่ได้เรียนกับหนานตาโดยตรง แต่ผมก็ถือว่าเขาเป็นครูของผม”
ขณะหามุมถ่ายภาพหลบหลอดไฟนีออนและสายไฟหน้า พระอุโบสถวัดหางดง
หลังจากนั้นทางวัดก็มีคณะช่างฟ้อนเต็มคณะอยู่ระยะหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนในคณะต่างก็ค่อยๆ แยกย้ายกันออกไปประกอบอาชีพของตนทีละคน สองคนทำให้คณะการแสดงไม่สามารถแสดงได้เต็มที่ตามปกติ และต้องเลิกคณะไปในที่สุด ต่อมาเจ้าอาวาสองค์ใหม่ซึ่งมีนามว่าพระอุทา อุตมปัญโญ มีความประสงค์ที่จะจัดตั้งคณะแสดงของวัดขึ้นมาอีกครั้ง จึงได้ประกาศรับสมัครนักแสดงรวมทั้งนักตีกลองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็มีคนมาสมัครกันหลายคนรวมทั้งพ่อครูคำด้วย ปรากฏว่าผู้ที่ชนะเลิศผ่านการคัดเลือกก็คือพ่อครูคำ กาไวย์นี่เอง ท่านได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการรวบรวมนักแสดงต่างๆ จนครบคณะ และได้รับชื่อคณะจากท่านเจ้าอาวาสว่า คณะไวเอรัญ ซึ่งคำว่า ไว ก็มีที่มาจากนามสกุลของพ่อครูคำ กาไวย์นั่นเอง
จากนั้นมา ไม่ว่าทางวัดจะจัดให้มีการแสดงในงานสำคัญๆ ต่างๆ ครั้งใด พ่อครูคำก็ได้นำคณะไวเอรัญเข้าร่วมแสดงด้วยเสมอ ท่านได้มีโอกาสแสดงความสามารถอย่างเต็มที่จนเป็นที่ชื่นชมของผู้ชมโดยทั่วไป เป็นที่กล่าวขานกันไปปากต่อปาก ทำให้มีโอกาสได้ออกแสดงในงานสำคัญๆ มากขึ้นตามลำดับ จนในที่สุดก็มีโอกาสได้ไปแสดงให้แขกบ้านแขกเมืองระดับสูงที่มาเยือนจังหวัดเชียงใหม่อย่างสม่ำเสมอนับครั้งไม่ถ้วน ครั้นถึงปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ ได้มีการจัดการประกวดศิลปะพื้นเมืองแขนงต่างๆ ขึ้นที่พุทธสถานกลางเมืองเชียงใหม่ คณะไวเอรัญก็ได้เข้าร่วมประกวดด้วย ปรากฏว่าพ่อครูดำสามารถตีกลองสะบัดชัยได้ตำแหน่งชนะเลิศ นับว่าเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญของท่าน แต่ท่านก็หาได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ ตรงกันข้าม ท่านได้พยายามหาความรู้ในเชิงการแสดงด้านอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหลายด้าน สิ่งที่ท่านความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนั้นคือการฟ้อนดาบ ซึ่งท่านเคยได้เห็นในงานบวชเณรที่วัด และเกิดความประทับใจมาตั้งแต่เด็กๆ ท่านได้เสาะแสวงหาผู้ที่มีวิชาในละแวกบ้านของท่านเพื่อขอความรู้และเริ่มฝึกหัดในขั้นพื้นฐานจนสามารถฟ้อนได้ จากนั้นก็มีผู้แนะนำว่าหากต้องการฝึกให้ได้ท่าทางที่ดีกว่าเดิม ก็ต้องไปฝึกฝนหาวิชาความรู้จากพวกไทยใหญ่ เพราะทั้งลีลา ท่าทางและชั้นเชิงของชนเผ่าไทยใหญ่นั้นเหนือกว่าของเชียงใหม่ เมื่อทราบดังนั้น พ่อครูคำจึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์กับครูดาบชาวไทยใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยใช้แรงานเข้าแลกแทนค่าตอบแทนครู ด้วยความที่เป็นผู้ที่มีพรสวรรค์ และมีพื้นฐานทางด้านการฟ้อนแน่นหนามั่นคงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้พ่อครูคำสามารถรับการถ่ายทอดวิชาฟ้อนดาบแบบไทยใหญ่มาได้ในระยะเวลาเพียงเดือนเศษ ในระยะนั้น ท่านได้อาศัยคลุกคลีอยู่กับชาวไทยใหญ่โดยตลอด จึงได้มีโอกาสชมการแสดงการแสดงชนิดหนึ่งที่เรียกว่า มองเซิง ซึ่งเป็นการแสดงที่สนุกสนานครื้นเครง ท่านจึงได้จดจำเอาไว้ และเมื่อกลับมายังบ้านที่หางดงแล้ว ท่านก็ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ได้มาให้กับเพื่อนร่วมคณะ ทำให้คณะไวเอรัญมีความสามารถในการแสดงหลากหลายรูปแบบจนเป็นที่เลื่องลือ และมีผู้มาว่าจ้างไปแสดงไปงานต่างๆ มากมาย และที่น่าภาคภูมิใจที่สุด ก็คือการที่ได้มีโอกาสแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวที่ทรงต้อนรบพระราชอาคันตุกะที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย
พ่อครูคำ กาไวย์เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์อันเป็นเลิศ ท่านได้คิดค้นออกแบบท่าฟ้อนรำแบบล้านนาขึ้นมาใหม่หลายชุด อันได้แก่ ฟ้อนสาวไหมชาย-หญิง ฟ้อนเครื่องเขินและฟ้อนดาบเป็นต้น ท่านเคยได้รับเชิญให้ไปแสดงความสามารถทางด้านการตีกลองสะบัดชัย และการฟ้อนรำแบบล้านนายังต่างประเทศหลายครั้ง ได้แก่ ประเทศอิตาลี เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ และประเทศมาเลเซีย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๓ นอกจากนั้นแล้ว ท่านยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรสาธิตการแสดงพื้นเมืองล้านนาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ หลายแห่ง ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์สอนศิลปะพื้นเมืองล้านนา ประเภทฟ้อนดาบ กลองสะบัดชัย กลองปูเจ่ (กลองก้านยาว) และมองเซิงที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ เชียงใหม่ ในส่วนของคณะไวเอรัญนั้น พ่อครูคำ กาไวย์ ก็ยังคงรับหน้าที่หัวหน้าคณะอยู่ตราบจนทุกวันนี้ แม้ว่าตัวท่านเองและเพื่อนๆ ร่วมคณะต่างก็ย่างเข้าสู่วัยชรากันทุกท่านแล้วก็ตาม นอกเหนือจากความสามารถที่กล่าวมาแล้ว พ่อครูคำยังมีความสามารถในการทำกลองสะบัดชัยเพื่อใช้เองและจำหน่ายตามที่มีผู้มาว่าจ้างอีกด้วย
พ่อครูคำ กาไวย์ ได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ด้วยความสามารถและเกียรติคุณที่ท่านสร้างมาอย่างแท้จริง
ผมได้ติดต่อขอถ่ายภาพพ่อครูคำ กาไวย ์ ในลักษณ์ที่ค่อนข้างจะเป็นการ “จู่โจม” อยู่สักหน่อย คือเมื่อคราวที่ขึ้นไปถ่ายภาพศิลปินแห่งชาติที่เชียงใหม่เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ผมไม่ได้บอกกล่าวให้ท่านทราบล่วงหน้า แต่ได้เดินทางไปยังอำเภอหางดงและใช้โทรศัพท์มือถือโทรฯไปหาท่านในตอนเช้าและขอถ่ายภาพท่านในช่วงสายวันเดียวกันนั้นเลยแต่บังเอิญท่านไม่อยู่บ้านเพราะติดภารกิจต้องไปเป็นวิทยากรหลายแห่ง ทางบ้านแจ้งให้ทราบว่ากว่าจะกลับมาก็คงจะเป็นช่วงบ่าย จักรกฤษณ์กับผมจึงได้ไปเดินเล่นซนที่หมู่บ้านถวาย ซึ่งเป็นแหล่งผลิตงานหัตถกรรมไม้แหล่งใหญ่ในอำเภอหางดงเพื่อฆ่าเวลา จักรกฤษณ์ ผู้ซึ่งกำลังตกแต่งบ้านหลังใหม่อยู่ ดูจะเพลิดเพลินกับการดูและซื้อของซึ่งราคาย่อมเยาว์กว่าในเมืองเป็นอย่างมากจนเวลาผ่านไปรวดเร็วอย่างไม่รู้ตัว กระทั่งถึงเวลาบ่ายจึงได้โทรศัพท์ไปที่บ้านพ่อครูคำอีกครั้ง ซึ่งขณะนั้นท่านก็ได้กลับมาแล้วจึงได้สอบถามเส้นทางและเดินทางไปพบท่านในทันที ระหว่างทาง ผมก็ได้คิดแนวทางในการถ่ายภาพเอาไว้ว่าอยากจะถ่ายภาพท่านที่วัดโบราณสักแห่ง ซึ่งตามเส้นทางผ่านที่มุ่งไปสู่บ้านท่านนั้น ก็มีวัดอยู่หลายวัดแต่ก็ยังไม่ได้แวะเข้าไปดูแต่ประการใด เมื่อไปถึงบ้านพ่อครูคำแล้ว ผมจึงได้เรียนความประสงค์ของผมให้ท่านทราบ พ่อครูคำจึงได้กล่าวว่ามีวัดเก่าแก่ซึ่งมีพระอุโบสถไม้โบราณสวยงามอยู่แห่งหนึ่งชื่อวัดหางดง ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านท่านมากนัก น่าจะเป็นที่ๆ จะถ่ายภาพได้สวยงาม เราจึงตกลงในทันทีว่าจะไปถ่ายภาพพ่อครูคำกันที่นั่น แต่ปัญหาก็คือจะต้องนำเอากลองสะบัดชัยของท่านไปด้วย โชคดีที่รถตู้คันเก่งของจักรกฤษณ์สามารถบรรทุกกลองดังกล่าว ซึ่งมีขนาดใหญ่และออกจะเก้งก้างไปได้อย่างทุลักทะเลแต่ก็ถึงจุดหมายได้อย่างดีไม่บอบช้ำ
เมื่อไปถึงวัดหางดง ผมก็ได้พบพระอุโบสถโบราณหลังงามสมจริงดังคำกล่าวของพ่อครูคำทุกประการ ผมได้เดินดูโดยรอบเพื่อเลือกมุมสวยที่จะใช้เป็นฉากหลังภาพพ่อครูคำแต่ก็เลือกไม่ได้ดังใจนักเพราะแสงอาทิตย์ในขณะนั้นอยู่ในตำแหน่งซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการถ่ายภาพนัก อีกทั้งที่หน้าบันที่สวยงามนั้น ก็ถูกประดับด้วยหลอดไฟฟลูโอเรสเซนท์ สายไฟ และแผงสวิทช์ไฟฟ้าเอาไว้อย่างโดดเด่นอันเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งกับความงดงามที่จะเกิดขึ้นบนภาพถ่ายของผม มีวิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้คือการหลบมุมไม่ให้เห็น ทำให้การเลือกมุมกล้องยิ่งมีข้อจำกัดขึ้นอีก อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ได้ก้มๆ เงยๆ จนครบทุกมุมแล้ว ก็สามารถหามุมเหมาะจนได้ แต่ภาพที่ผมเลือกใช้เป็นภาพหลัก กลับเป็นภาพที่ผมถ่ายด้านข้างพระอุโบสถ ที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมมากนัก เนื่องจากผมชอบองค์ประกอบ และลักษณะของแสงในภาพนี้มากกว่า โดยในภาพ ผมได้เลือกมุมกล้องที่ต่ำเกือบจะถึงพื้นดิน แล้วถ่ายเงยขึ้นไปเพื่อเสริมความสง่างามให้แก่ท่านผู้เป็นแบบโดยผมได้จัดให้พ่อครูคำตั้งท่าในลักษณะนั่งชันเข่า เป็นทีว่ากำลังพักจากการตีกลองสะบัดชัยของท่าน แสงแดดยามเย็นที่ทอดลงมานั้นดูอบอุ่น เงาศีรษะของพ่อครูคำทอดลงบนหน้ากลองหนังสีนวล สร้างลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นเสน่ห์แก่ภาพ ในส่วนฉากหลังของภาพนั้นแม้จะไม่เห็นชัดเจนว่าเป็นพระอุโบสถเก่าตามที่ผมตั้งใจไว้ แต่ก็ให้บรรยากาศที่ดูขรึม และอบอุ่น ตัวพ่อครูคำเองแม้จะมีวัยล่วงเข้าปีที่ ๖๖ แล้วแต่ก็ยังคงดูทะมัดทะแมง อ่อนกว่าวัยจริงของท่านนับสิบปี ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ผมก็ดูภาพท่านประกอบไปด้วยและเพิ่งจะสังเกตว่าเฉพาะจากมุมที่ถ่ายนี้ ใบหน้าของท่านช่างละม้ายคล้ายกับอดีตรองนายกท่านหนึ่งเสียเหลือเกิน ส่วนจะเป็นใครนั้นก็เดากันเอาเองนะครับ งานนี้ไม่มีรางวัลให้แต่ประการใด
ประวัติชีวิตของพ่อครูคำ กาไวย์คงจะเป็นตัวอย่างอันดีของผู้ที่ด้อยโอกาส แต่ก็ได้มุ่งมั่น วิริยอุตสาหะเพื่อที่จะก้าวไปยังจุดหมายปลายทางอันสดใส และท่านก็ได้พิสูจน์ให้คนเห็นแล้วว่าคำกล่าวที่ว่า ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ยังคงเป็นสัจจธรรมอันอมตะอยู่เสมอ
ขอขอบคุณ